"ทำงาน คือ งานธรรม"


                                                          

                  

                    ชีวิตคนเมืองถูกผูกมัดด้วยคำว่า "งาน" (Work) คือ ทีภาระหน้าที่ทำงาน ในที่แคบๆ ที่เรียกว่า "ออฟฟิช" (Office) ซึ่งเป็นฐานที่เรานำมาใช้เป็นคำว่า "ทางการหรือราชาการ" (Official) ส่วนผู้ทำหน้าที่นี้เรียกว่า "เจ้าหน้าที่" (Officer) บุคคลเหล่านี้ ทำงานอย่างซ้ำซาก ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด สาลวันอยู่กับเอการ คำสั่ง (นอก-ใน) คอมพิวเตอร์ ผู้คนที่มาติดต่อ ฯ ต้องเร่งรีบ แข่งขัน เคร่งเครียด จนเหมือนเครื่องจักรยนต์ บางทีก็เกิดโรคออฟฟิชซินโดรม ผู้เขียนอยากเรียกว่า "โรคหงิกหงอ"

                  หลังจากกลับจากทำงานก็ต้องมาเผชิญกับการเดินทางกลับบ้าน อยู่ในที่แคบๆ คือ บนถนนและอยู่ในรถของตนเอง จนทำให้เครียด ทำให้ต้องเห็นแก่ตัว ต้องแข่งขันในการครอบครองพื้นที่ถนน จนทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ด้วยเหตุนี้ บางทีก็เกิดเฉี่ยวชนกัน เพราะเร่งรีบ เคร่งเครียด และความอ่อนล้าจากการทำงาน

                 เมื่อถึงบ้านก็พอผ่อนคลายบ้าง กระนั้น บางครอบครัวที่อยู่ในที่คับแคบเช่น คอนโด อพาตเม้นต์ แฟลต หรือบ้านในเมือง ชานเมือง ซึ่งเป็นสถานที่แคบและแออัด ต้องเผชิญกับความเครียด ความอึดอัดทางจิตใจ เพราะความจำเป็น จำยอม ด้วยเหตุนี้ จึงต้องอยู่ด้วยความลำบากใจ จนเหมือนชีวิตจิตใจ ไม่ค่อยได้รับความปลอดโปร่งโล่งข้างใน จึงทำให้ชีวิต จิตใจหงิกงอหงอง่าย

                 ชีวิตในชนบทนั้น ก็มีความกดดันเช่นกัน แต่น้อยกว่าสังคมคนเมือง กล่าวคือ คนชนบทเองกลับเอาอย่างคนเมือง คือ หางาน หาเงิน มุ่งหมายความร่ำรวยเป็นที่ตั้ง  มีความฝันอยากมี อยากเป็นเหมือนคนเมือง เช่น มีรถ มีบ้าน มีงาน มีเงิน มีทอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ตัวเองมีสถานะที่ดี  จึงต้องทำงาน หางาน สร้างงานทำ ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้เงินมากขึ้น ชีวิตคนบ้านนอกจึงถูกงานครอบงำมากขึ้น

                 แต่การจัดการ บริหารของคนบ้านนอก มีความรู้ มีหลักการเหมือนคนเมืองหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องเป็นหนี้ เป็นทุกข์ ล้มเหลวเพราะความฝันของตนเอง กระนั้น แม้ชีวิตชาวโลกจะถูกกำหนดไปด้วยงานทำ เพื่อดำเนินชีวิตให้อยู่รอด มีอยู่ มีกินก็ตาม แต่ชาวบ้านจะรู้เท่าทันตนเองและสังคมหรือไม่ว่า ความสุขหรือความเป็นอยู่ที่เรียกว่า "คุณภาพชีวิต" (Quality of life) นั้นคือ อะไร 

                

                  ก่อนอื่นขอนิยามคำว่า "งาน" ก่อนว่า คือ อะไร? คำว่า "งาน" คือ กิจกรรมที่ทำ เป็นการใช้พลังงานของกาย เพื่อขนย้ายหรือจัดการวัตถุสิ่งของให้เคลื่อนไหวไปเรียกว่า "ใช้แรงงาน" อีกชนิดหนึ่ง หมายถึง งานที่ใช้แรงจักรกล เป็นการใช้กำลังยก ย้าย วัตถุสิ่งของให้เคลื่อนไหวไป เรียกว่า "ใช้แรงงานเครื่อง" นอกจากนี้ คำว่า "งาน" เป็นชื่อเรียกมาตรวัดพื้นที่คือ ๑๐๐ ตร.วา เท่ากับ ๑ งาน และเป็นชื่อเรียกกิจกรรมกลุ่ม ชุมชนอย่างหนึ่งเช่น งานวัด งานบุญ งานแต่ง งานบวช ฯ

                 สมาชิกโกทูโนว์ชื่อ ดร.แสวง รวยสูงเนิน เคยเขียนเรื่องนี้ครับ ท่านถามว่า งานคือ อะไร ท่านตอบเองว่า "งาน น่าจะแปลว่า การทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้หรือเปล่า เพราะแค่ทำให้ตัวเองพ้นทุกข์ยังไม่น่าจะเป็นงาน...การทำอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว" 

                 ไม่รู้ท่านแปล หรือว่าท่านถามกันแน่ ก็ยังดีที่ท่านยังขยายต่อว่า เพื่อประโยชน์ตนและคนอื่นทั้งระยะยาวและระยะสั้น กระนั้น ท่านก็ทิ้งเจตนาที่ถามไว้ว่า "ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร เรากำลังทำงานกันอยู่หรือเปล่า แล้วงานที่ (เรา)ทำจะมีประโยชน์หรือไม่อย่างไร" คำถามนี้เอง ที่ทำให้สมาชิกคนอื่นคอมเม้นต์ท่านเช่น คุณhandy (อ.เรียกว่า พินิจ) นิยาม "งาน" ว่าคือ หน้าที่ ซึ่งมี ๒ อย่างคือ ๑) ทำเพื่อตัวเอง ๒) ทำเพื่อผู้อื่น

                  ส่วนหลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า "การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม" หมายถึง  การทำให้เกิดความถูกต้อง เจริญงอกงาม ก้าวหน้าในทางธรรม เราก็พอใจที่จะทำ ก็เลยมีความสุขเมื่อทำ เมื่อทำอะไรเพื่อความถูกต้องที่จะมีวัตถุดี มีร่างกายดี มีจิตใจดี มีปัญญาดี แล้วเราก็พอใจไปหมด เป็นความสุขอยู่ทุกกระเบียดนิ้วที่ทำงาน หรือเรียกว่า ชีวิตก็ได้ มีชีวิตอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกอิริยาบถ เป็นความสุข เป็นความพอใจ ทำไมจึงพอใจ ก็พูดกันแล้วว่า นี้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง คือ เป็นการปฏิบัติธรรมะ

                  ในวิกิพิเดียให้ความหมายว่า การงาน การจ้างงาน งานคือ ฟิสิกส์ หมายถึง ปริมาณที่วัดได้ด้วยแรง x ระยะทาง นั่นคือ ปริมาณของพลังงานซึ่งถูกส่งมาจากแรงที่กระทำต่อวัตถุให้เคลื่อนที่ไปได้ระยะทางขนาดหนึ่ง

                 ดังนั้น คำว่า "งาน" จึงหมายถึง การทำกิจใดๆ ที่ใช้แรงเพื่อให้เกิดผล ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติตัวของมนุษย์ในชีวิตประจำวันให้พ้นทุข์ประจำวันไป

                

                งานเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร? งานให้ผลต่อการดำรงชีวิตอย่างไร?

                ปัญหาข้อแรก เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ว่า งานไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ คำว่า "งาน" คือ กิจกรรมประจำตัวในร่างกาย ในจิตใจ และกลายเป็นวิถีของมนุษย์ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

                 ๑) "งานในกรอบของกฎธรรมชาติ" งานประเภทนี้ คือ งานในร่างกายของมนุษย์ทั้งหมดทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาเช่น หัวใจ สูบเลือดหล่อเลี้ยงกาย ปอด ทำหน้าที่สูดลม ปล่อยลม กระเพาะ ทำหน้าที่ย่อยอาหาร สมอง ทำหน้าที่รับข้อมูลและย่อยข้อมูล จากนั้นก็ตอบโต้ และแย้งในตัวเอง ส่วนหนึ่งกัดตุนไว้ ส่วนงานทางกายภาพ เช่น ดวงอาทิตย์ส่องแสง โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ ชีวิตเกิด ดับ เป็นต้น

                ในกรอบนี้ เราไม่ได้ทำหน้าที่โดยตรง เราจะแทรกแซงมันไม่ได้ เพียงแค่ทำตามคำสั่งของมัน เช่น หาอาหารใส่ท้อง ปวดหนัก ปวดเบาเราก็หาทางบำบัด ร่างกายสกปรกก็ทำความสะอาด หน้าที่หลังนี้ เป็นกิจที่ของเราต้องทำต่อร่างกายหรือระบบธรรมชาติ ซึ่งหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติตลอดชั่วชีวิต ไม่อาจหยุดงานนี้ได้จนกว่าจะสิ้นลม เรียกงานนี้ว่า "งาน คือ ชีวิต"


                ๒) "งานในกรอบกิจกรรม"  งานชนิดนี้ เป็นงานภายนอกกาย แต่เกี่ยวข้องกับกายโดยตรง เพราะต้องใช้กาย พลังงานกายทำ เช่น งานก่อสร้าง งานบ้าน งานเรือน งานกิจกรรมต่างๆ งานนอกบ้าน ในบ้าน เป็นงานที่ต้องอาศัยการบริหาร ความรู้ หลักการ ประสบการณ์ ในการทำงาน เพราะเป็นงานที่เน้นผลเป็นที่ตั้งนั่นคือ ผลสัมฤทธิ์ มีสองอย่างคือ ผลของงานเอง (สำเร็จ) และผลที่ได้จากงาน (ค่าแรง) ที่่ได้จากงานอาชีพของการดำเนินชีวิตแบบโลกๆ

                 งานประเภทนี้เป็นงานที่หนัก เพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานทางกาย จึงทำให้ร่างกาย แรงกายสึกเสื่อม และหมดไป ผลคือ ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เร็ว หรือทำให้เกิดความเครียด กดดัน เป็นทุกข์ทางกาย ทางใจ ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากอยู่สบายตามอุดมคติของมนุษย์ เพราะชีวิตถูกงานบีบคั้นให้ทนทุกข์อยู่กับงานในชีวิตไม่ว่างเว้น มีเพียงอาหาร เงินทอง ข้าวของ ที่ได้จากแรงงานเท่านั้น เป็นเครื่องชโลมใจ ให้รางวัลแก่ตนเองสดชื่นต่อไป จึงเรียกงานนี้ว่า "งาน คือ เงิน"


                  ๓) "งานในกรอบของจิต" งานชนิดนี้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางกาย และกิจกรรม เป็นงานที่สนับสนุนงานทั้งสองให้ดำเนินไป อย่างมีพลัง เพราะงานนี้ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจิต อารมณ์ ความนึกคิด ความฝัน เจตจำนง ทัศนะ ความพอใจ ฯ ที่มีต่อการงานที่ทำ หากขาดใจ ขาดเยื่อใยใคร่ทำ หรือความปรารถนาอยากทำ การงานนั้นๆ ก็มิอาจสำเร็จด้วยความราบรื่น เนื่องจากว่า ขาดวิญญาณแห่งการกระทำ

                   งานทางจิต ยังรวมไปถึงการบริหาร การควบคุม การประพฤติธรรม การศึกษาอารมณ์ ของตน ที่เกี่ยวข้องกับงานด้วย งานนี้ถือว่า เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตตนเองให้สูงขึ้น เรียกในทางศาสนาว่า "ฐานของงาน" (กัมมัฏฐาน) ซึ่งอาจนำไปโยงกับงานภายนอกได้ เพื่อให้งาน (ภานนอก) นั้น มีความละเอียดและประณีตขึ้น เรียกว่า "งาน คือ จิตกรรม"


                ๔) "งานในกรอบของหน้าที่"  งานชนิดนี้ เกิดมาจากการเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มหรือหน่วยงานนั้นๆ ในฐานะเป็นกลไกของงานและกลไกของหน่วยย่อยงานนั้น เช่น เราเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ หน้าที่ของเราคือ ทำงานเพื่อตอบสนองตามนโยบายของหน่วยงานนั้น ในหน่วยงานนั้นๆ ยังมีหน่วยย่อย เป็นกรม กอง แผนก ย่อยลงไปอีก ซึ่งผู้ทำงานต้องทำงานตามหน้าที่ เช่น พนักงานทำงานตามหน้าที่ของผู้บริหาร เป็นต้น

                 งานดังกล่าวนี้ ยังมีอยู่ในตัวเราทุกที่ ทุกสถานด้วย กล่าวคือ ถ้าเราอยู่บ้านเราเป็นใคร หากเป็นพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ทำต่อลูกอย่างไร เป็นลูกมีหน้าที่อย่างไรต่อพ่อแม่ ถ้าเป็นครู ก็มีหน้าที่ต่อเด็กๆ อย่างไร ช้าราชการมีหน้าที่ต่อประชาชนอย่างไร เป็นพลเมืองมีหน้าที่ต่อประเทศอย่างไร เป็นศาสนิกชนนั้นๆ มีหน้าที่ต่อศาสนาของตนอย่างไร แม้เป็นมนุษย์ ก็ต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องทำตนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฯ งานนี้เรียกว่า "งาน คือ หน้าที่" 


                 ๕) "งานในกรอบของกรรม" เป็นงานที่หมายเอาเรื่อง กฎแห่งการกระทำหรือกรรม เป็นงานในกรอบของพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต (สัตว์) เป็นงานในกรอบของเจตจำนง สิ่งที่ปรากฏอยู่รอบๆ ตัวเรานั้น เราอาจไม่รู้ว่า มาจากไหน มีกลไกอย่างไร อยู่เบื้องหลัง แท้จริงแล้วคือ "กฎแห่งกรรม" ที่อยู่เบื้องหลังของสรรพสิ่งที่ดำเนินไปตามกระบวนของสรรพสิ่ง ในที่นี้ หมายเฉพาะวิถีชีวิตและวิถีจิตของสัตว์ ในมนุษย์เรามักจะถูกสอนว่า เราแสดงพฤติกรรม หรือการกระทำออกมาจากจิตที่ถูกฉาบทา ที่คลาคลุมไปด้วยกิเลสหรืออำนาจฝ่ายต่ำ

                  อำนาจดังกล่าวคือ แรงโน้มถ่วงของกรรม ที่ผลักดันหรือลิขิตให้เราแสดงออกอยู่เบื้องหลัง มันเป็นหน้าที่ เป็นงาน เป็นเส้นทางจำเป็นที่สัตว์โลกถูกกำหนดไว้แล้ว คตินี้ชาวคริสต์ทราบดีว่า ชีวิตมนุษย์ถูกพระเจ้ากำหนดไว้แล้ว ว่าจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับชาวฮินดูที่ถือว่า พระพรหมลิขิตเอาไว้แล้วทั้งหมด งานนี้ถูกกำหนดไว้ก่อน เรียกว่า "งานของพระเจ้า"


                    ดังนั้น งานที่กล่าวนี้ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตในด้านตัวงาน คือกิจกรรมต่างๆ งานกรรม คือ งานที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของตนเอง งานธรรม คือ งานที่เกี่ยวข้องกับการฝึกฝนตนเองให้ตรงตามหน้าที่นั้นๆ และงานกรรมที่ถูกกหนดไว้และตัวเองกำหนดเอง ส่วนในหลักการบริหารมักจะกล่าวกัน ๓ กรอบ ในการทำงานคือ ๑) การครองตน ๒) การครองคน ๓) การครองงาน

                  ปัญหาที่สอง คือ งานมีผลต่อชีวิตอย่างไรนั้น พอประมวลได้ดังนี้-

                  ๑) "งานให้ผลทางบวก"  เมื่อเราทำงานใดๆ งานนั้นอาจส่งผลให้เกิดผลดีกับวิถีชีวิตเราเรียกว่า งานดี มีเงิน มีสุข มีโชค มีดวงก็ได้ การค้าขายก็เจริญรุ่งเรือง การทำงานก็ราบรื่น ปลายผลของงานอยู่ที่หมุดหมาย ๓ อย่างคือ ๑) มีเงินมากขึ้น มีความอยู่ดี กินดี มากขึ้น ๒) มีตำแหน่ง มีชื่อเสียงสูงขึ้น และ ๓) ชีวิตมีความสุข 

                     งานที่จะออกมาดี ประสบผลทางบวกนี้ จะต้องอาศัยปัจจัยหลายประการสนับสนุน เช่น งานไม่ผิดกฎหมาย หน่วยงานอยู่ถิ่นที่ดี เหมาะสม ตัวเราทำงานด้วยจิตพอใจ และมีหลักธรรมคำหนุนในการทำงาน นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยส่วนตัวที่เราต้องใช้ความสามารถ ความรอบคอบ ไหวพริบ ความทุ่มเท วิริยอุตสาหะ อดทน มีไมตรีจิต มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อมวลชน อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพคนอื่น ฯ ในการทำงานด้วย จึงจะเกิดผลในทางบวกและยั่งยืนได้

                  ๒) "งานให้ผลทางลบ"  เมื่อเราทำงาน ผลที่ออกมาไม่ประสบผลสำเร็จ คือมีแต่ผลลบหรือผลร้ายต่อการทำงาน ความล้มเหลว ความไม่ประสบผลสำเร็จเช่นนี้ ในช่วงชีวิตเรามันเป็นไปได้สองทางคือ ไม่ลบก็บวก กระนั้นก็ตาม ก็ไม่ควรไปโทษตนนเอง หรือใครๆ ควรจะวิเคราะห์จิตใจตนเองว่า เราชอบงานนั้นหรือไม่ หน่วยงานนั้นถูกโฉลกกับเราเพียงใด มีบรรยากาศในการทำงานเหมือนอยู่ในดงสงครามหรือไม่

                     อย่างไรก็ตาม ความไม่ประสบผลสำเร็จของการทำงานนั้น มิใช่เครื่องวัดเส้นทางชีวิตทั้งหมดของเรา ควรมองให้เป็นฐานของการต่อสู้ และให้มองเห็นความโชคดี ในความโชคร้ายของตนว่า หากเราไม่ล้ม ก็คงไม่รู้คนที่เจ็บปวด หากเราไม่ทุกข์ เราคงไม่รู้ความสุขของชีวิต มองให้เป็นคุณดี ก็จะได้สติ ปัญญา ควรคิดใหม่ว่า ถ้าตัวไม่สูง ก็ต้องเขย่ง ถ้าไม่เก่ง ก็ต้องขยัน เมื่อเจอปัญหา จงฝ่าฟัน อย่ากดดัน และอย่าทำร้ายตัวเอง

                  ดังนั้น การงาน ย่อมมีผลดี ไม่ดี เป็นเรื่องปกติสามัญของสังคมสัตว์โลก นักวิทยาศาสตร์ ที่เก่ง ล้วนผ่านกระบวนการล้มเหลวมาแล้วอย่างชำนาญ จงส่องตัวเอง และส่องงาน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมของงานที่เกี่ยวข้อง เราทำหน้าที่ดีพร้อมสมบูรณ์แค่ไหน และมีหลักในการทำงานอย่างไร วิเคราะห์ โลก สังคม กลุ่ม นิสัย และลักษณะของงานที่เราเกี่ยวข้องให้ลึกแล้วจะลดความผิดพลาดลง

                  ๓) "งานให้ผลกลางๆ"  งานทุกชนิดมีผลทั้งสิ้น ซึ่งมีผล ๓ ทางคือ ๑) ทางบวก ๒) ทางลบ ๓) ไม่มีบวก ไม่มีลบ งานประเภทนี้ หมายถึง งานของพระอริยสงฆ์ หรืออริยบุคคล เป็นผลหมายของการทำงานในด้านอุดมคติ เช่น  งานของพระเจ้า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยบุคคล พระโพธิสัตว์ หรือของพ่อแม่ เป็นงานที่ไม่มีเงื่อนไขหรือไม่มีสิ่งตอบแทน

                      งานส่วนใหญ่มีหมุดหมายที่ปลายทางคือ ความสำเร็จเพื่อตัวเอง นั่นคือ เงินทอง ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผลที่ไม่มีความเป็นกลาง เพราะยังยึดถือตนเองเป็นฐานในผลงานนั้นๆ นอกจากนี้ หากจะยึดเอางานในปัจจุบันในกรอบนี้คงได้ นั่นคือ งานของกลุ่มที่มีจิตสาธารณ์หรือจิตอาสา ซึ่งไม่มีเป้าหมายในผลประโยชน์ตน แต่หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ท่านอย่างบริสุทธิ์ใจ งานเช่นนี้ อาจสร้างฐานจิตใจให้มั่นคงและมีใจกว้าง ไม่คับแคบ เป็นงานที่ควรยกย่องสรรเสริญ ที่มีเจตนาดีของคนกลุ่มนี้


                 ๔) "งานให้ผลส่วนตัว" ในบรรดางานทั้งปวง ส่วนใหญ่มีหลักชัยคือ เพื่อตัวเอง ยิ่งสังคมยุคใหม่ สังคมบีบคั้น ให้แต่ละคนล้วนแสวงหาประโยชน์ต่อตัวเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะงานทุกชนิด ล้วนถูกแลกด้วยเงินทอง หากไม่มีค่าแรง ค่าจ้าง งานนั้นดูเหมือนจะขาดความสนใจเข้าลักษณะว่า เหนื่อยลำบาก ปากก็แห้ง  งานที่เราวาดหวังประจำตัว คือ ความสำเร็จในด้านการศึกษา การงาน และความมั่นคงของชีวิต

                 ในสมัยก่อน ผู้คนมีฐานศรัทธาเป็นหลัก เวลามีงานส่วนรวม งานบุญ งานวัด งานวัง งานสาธารณประโยชน์ ผู้คนจะทุ่มเทด้วยจิตบริสุทธิ์ เพราะแรงศรัทธาของประชาชนร่วมกัน งานนั้นจึงออกมาด้วยศิลปะอันล้ำค่า และถาวร เช่น โบสถ์ วัด วัง เจดีย์ ศาลาพักร้อน สะพานเดิน ฯ

                     ดังนั้น งานส่วนตัวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นสิทธิและหน้าที่ผู้นั้นจะวางฐานตัวเองไว้ เพื่อการเลี้ยงชีวิตตน แต่ผลส่วนตัวในที่นี้ ยังหมายถึง ประโยชน์ตนถึงที่สุด กล่าวคือ การงานทั้งหมดยังไม่มีแก่นสารสำคัญเท่าการงานทางจิต คือ การนำพาตนให้หลุดพ้นจากวัฏฏะหรือวังวนของภพ ของชาติ เรียกว่า "ประโยชน์สูงสุดของตน"

                 ๕) "งานให้ผลส่วนรวม" งานประเภทนี้ เป็นงานแห่งอุดมคติของสังคมโลกมนุษย์ เพราะเป็นงานที่ฝึกหัดมนุษย์ให้ทำลายอัตตาตัวตนให้ลดลงหรือน้อยลง เหมือนที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ชาวต่างประเทศใช้คำเรียกแทนตัวเองว่า "ไอ" (I) หมายถึง อัตตา เป็นจิตวิญญาณแท้ของมนุษย์ เมื่อยึดตนเองมากเข้าก็ลืมที่มาจากพระเจ้า 

                 พระเยซูถูกตรึงด้วยไม้กางเขน (แขน) ไม้นี้จึงถูกนำมาเป็นปริศนาธรรมสอนคน ให้มนุษย์มองเห็นตัวตน ว่าไร้ตัวตน ด้วยการขีดทับตัวไอ จึงกลายเป็น "ไม้กางเขน" หมายถึง ไร้ตัวตน  ความหมายที่ซ่อนอยู่คือ เรามีไอ เหมือนไม้กางเขน ทำลายอัตตา เพื่อให้ระลึกถึงพระเจ้า

                     พระพุทธศาสนาก็สอนเรื่องรัก เรื่องเมตตาคนอื่นให้มาก เพื่อฝึกรักหักอัตตาตัวเองลง เพื่อมิให้ผูกติดกับตัวตนจนเกินไป แต่ครั้นจะสอนตรงๆ เช่นนั้น ก็อาจเข้าใจว่า ล่องลอย ไร้หลัก จึงสอนแนะให้ทำกิจกรรมสากลหรือสาธารณะส่วนรวม เพื่อมิให้วางหมุดหมายปลายอัตตาเป็นที่ตั้ง ฉะนั้น งานส่วนรวมจึงเป็นงาน ที่เราทำเพื่อคนอื่น และเพื่อประโยชน์เราด้วย เพราะถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ลำบากด้วย

                        งานทั้งหมดนั้น ผู้เขียนคิดว่า งานที่สมบูรณ์ต่อการดำเนินชีวิตของเราที่แท้จริงคือ งานที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ที่ต้องใช้สติ ปัญญา กำกับให้อิริยาบถทั้งน้อย ใหญ่ ให้ดำเนินไปอย่างรู้เท่าทัน ในทุกสรรพกิจกรรม ในชีวิตแต่ละวัน เช่น การดู การได้ยิน การสัมผัส การพูด การทำ การคิด แม้ในกิจกรรมในบ้านเรือน เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า ปลดทุกข์ กินข้าว ล้างจาน อาบน้ำ ทำงาน กวาดบ้าน นั่งเล่น เดิน นั่ง ฟัง จับ หลับ นอน ฯ ทั้งหมดนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ ตัวเอง เป้าหมาย และหลักธรรม

                  ดังนั้น   การทำงานคือ การทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับวิถีธรรมตามปกติ ทุกลมหายใจคือ ฐานธรรม การรู้จักงานที่ทำ และย้ำงานบนฐานธรรม นั่นคือ (การ) "ทำงาน คือ (ใน) งานธรรม" (The work as Dhamma does)

---------------------------(๑๐/๙/๕๗)----------------------------           

หมายเลขบันทึก: 576013เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2014 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2014 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สงบเย็น เป็นประโยชน์มากครับ

ขอบคุณครับ ^_^

ขอบคุณบันทึกนี้ค่ะ

หลังจากกลับมาทบทวน พบว่า " บางครั้งก็ทิ้งชีวิตไปกับงานซะเยอะ โดยเฉพาะงานที่ไร้สาระและความสุข ....."  จะกลับมาพิจารณาใหม่  หากเป็นไปได้ ........จะทำให้สิ่งที่รัก และจะรักในสิ่งที่ทำ หลีกเลี่ยงงานที่ฝืนใจค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน...มนุษย์เราต้องพึ่งหลักของ "ธรรม" ตลอดนะคะ...จะมีใครสักกี่คนที่รู้ซึ้งถึงเรื่องนี้...นอกจากคนที่มีประสบการณ์ใกล้วัด หรือคนที่มีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท