สอบโอเนตปี 2559 ใช้ข้อสอบแบบ PISA


ตัวอย่างข้างต้นทำให้น่าเป็นห่วงว่า การเรียนการสอนตามหลักสูตรก็จะอยู่ในลักษณะเดียวกันนี้คือ การเรียนการสอนมุ่งแค่ระดับจำได้ เข้าใจ ไปไม่ถึงระดับการนำความรู้ไปใช้

       หนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ (โพสต์ทูเดย์ 8กย57) มีข่าวว่าในปี 2559 การสอบโอเนต ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 จะใช้แนวข้อสอบตามรูปแบบข้อสอบของ PISA โดยการตั้งโจทย์คำถามเชื่อมโยงเนื้อหาสาระในแต่ละวิชาเข้ากับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน สร้างสถานการณ์ให้เด็กต้องนำความรู้จากหลักสูตรมาคิดวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อตอบข้อสอบ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ควรสนใจกับการเรียนรู้ในระดับการนำความรู้ไปใช้ และแบบทดสอบการเรียนรู้แบบนี้

         ประมาณสามปีมาแล้ว ผมไปกับคณะของสสส.ที่พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งหนึ่งทางภาคใต้ที่ทำโครงการอาหารปลอดภัย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่อยู่ใกล้ตัวเมือง โรงเรียนพาชมกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษของนักเรียน โรงเรียนมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอทำแปลงปลูกผักสำหรับนักเรียน และมีครูเกษตรให้คำแนะนำ กิจกรรมที่สองคือ อผส.น้อย จัดให้นักเรียนมาสาธิตวิธีตรวจสารปนเปื้อนในอาหารด้วยชุดการตรวจสำเร็จรูป กิจกรรมที่สามคือโครงการอาหารกลางวัน พาไปชมตรงเวลาอาหารพอดี มื้อนั้นนอกจากข้าวสวยร้อนๆ ก็มีแกงส้มปลาผักดูเหมือนจะเป็นกล่ำปลี และฟักทองผัดไข่ กิจกรรมทั้งสามจัดได้ดีเป็นที่ชื่นชมของคณะดูงาน

          อย่างไรก็ตาม ผมถามคุณครูผู้พาชมว่า ผักที่นำมาใช้ทำอาหารกลางวันนักเรียนมาจากแปลงผักที่ปลูกหรือเปล่า คุณครูตอบว่าเปล่า อ้าว แล้วผักที่ปลูกไปไหน ตอบว่าจัดเป็นตลาดนัด ผู้ซื้อส่วนมากเป็นผู้ปกครองและครู ได้เงินมาโรงเรียนแบ่งส่วนหนึ่งให้นักเรียนที่ปลูก

          ถามว่า แล้วผักที่ทำอาหารกลางวันมาจากไหน ตอบว่าซื้อจากตลาด ถามว่า การเลือกซื้อผักมีการตรวจสารปนเปื้อนหรือเปล่า ตอบว่าไม่ได้ตรวจ ถามว่า ทำไมจึงไม่ตรวจ ตอบว่า กลัวแม่ค้าว่าเอา

          เรื่องข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ของนักเรียนจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การปลูกผักปลอดสารพิษ และการตรวจสารปนเปื้อนอาหาร แม้จะดูว่าทำได้ดี แต่ก็มิได้เป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้จริง แม้ในสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของโรงเรียน เช่นอาหารกลางวัน ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ในความเป็นจริงโครงการจึงยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของอาหารปลอดภัย ที่ต้องการให้นักเรียนได้บริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น และเป็นผักผลไม้ที่ปลอดภัย ข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ คุณครูยังไม่ตระหนักว่ายังไปไม่ถึง และต้องไปให้ถึง

          ตัวอย่างข้างต้นทำให้น่าเป็นห่วงว่า การเรียนการสอนตามหลักสูตรก็จะอยู่ในลักษณะเดียวกันนี้คือ การเรียนการสอนมุ่งแค่ระดับจำได้ เข้าใจ ไปไม่ถึงระดับการนำความรู้ไปใช้

          ตอนต่อไปจะเสนอเหตุผลอีกประการหนึ่งว่า ทำไมจึงควรสนใจเรื่องแบบทดสอบการเรียนรู้ในระดับการนำความรู้ไปใช้

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

8 กันยายน 2557

หมายเลขบันทึก: 575882เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2014 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท