หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม : กฏหมายกับวัฒนธรรมการดูแลป่าของภาครัฐและชุมชน (คณะนิติศาสตร์)


ผมแซวอาจารย์บางท่านว่า ปลูกต้นไม้อย่างเดียวไม่พอหรอกนะครับ อย่าลืมพานิสิตกลับมารดน้ำพรวนดินมันบ้าง รวมถึงลองทำค่ายเยาวชน หรือค่ายนิสิตในผืนป่าเหล่านี้ ชวนกันมาทำฐานการเรียนรู้พืชพันธุ์ไม้บ้างก็ดี จะทำกันเอง หรือประสานหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยกันก็ไม่ผิด

โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรมของคณะนิติศาสตร์ มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะเป็นคณะใหม่ แต่หัวใจแห่งการเรียนรู้ก็ไม่แพ้คณะอื่นๆ

ก่อนการกลั่นกรองโครงการ  ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมโสเหล่กับคณะทำงานที่คณะนิติศาสตร์ ด้วยความที่เป็นคณะใหม่ บุคลากรยังขาดประสบการณ์ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ชุมชน  แถมยังกำลังสาละวนอยู่กับการงานภายในหลากประเด็น  ผมจึงพยายามแนะนำให้จัดโครงการในแบบบูรณาการ   ซึ่งหมายถึงผสมผสานโครงการ “หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม” (ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) เข้ากับโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” (บริการวิชาการแก่สังคม)





เป็นตามความคาดหมาย  เพราะคณะนิติศาสตร์ปักธงการขับเคลื่อนกิจกรรมลงในพื้นที่เดียวกัน นั่นก็คือ “วนอุทยานชีหลง” ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย   หากแต่ระยะทางที่ไม่ไกลนั้น กลับเข้าไปถึงได้ยากยิ่ง  เพราะถนนหนทางแคบเล็ก  รถยนต์วิ่งสวนทางกันไม่ได้ ...มิหนำซ้ำยังเป็นถนนดินทรายลัดเลาะตามป่าเขาลำเนาไพร (ใจไม่แกร่งพอ มีหวังถอดใจเดินทางกลับเป็นแน่)

คณะนิติศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรมในชื่อ “บทบาทของวัฒนธรรมชุมชนในการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาผืนป่า”  ซึ่งฟังดูก็เข้าท่าเข้าทีอยู่มากโข  เพราะสื่อให้เห็นว่าประเด็นที่กำลัง “เรียนรู้คู่บริการ”  นั้นยึดโยงกับ “วิชาชีพ” (ศาสตร์) ของคณะอย่างชัดเจน





ผมเคยได้แลกเปลี่ยนว่าการขับเคลื่อนในงานพื้นที่วนอุทยานชีหลงนั้น  อาจารย์และนิสิต ควรวางหมุดหมายการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า  บริบทของพื้นที่ นับตั้งแต่ยุคก่อนการเป็น “วนอุทยาน”  ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ป่า  ภายในพื้นที่ป่ามีทรัพยากรใดบ้าง  มีการใช้ประโยชน์อย่างไร  มีประเพณีพิธีกรรมเชิงวัฒนธรรมอย่างไรในพื้นที่ป่า ฯลฯ

และเมื่อส่งมอบพื้นที่ป่าชีหลงให้กับภาครัฐเพื่อสถาปนาเป็นวนอุทยาน  ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ มีวิถีวัฒนธรรม หรือการจัดการร่วมเกี่ยวกับป่าอย่างไร –





ครับ, เอาให้ชัดก็คือ ผมเน้นย้ำให้อาจารย์และนิสิตได้ศึกษาอย่างจริงจังว่าพื้นที่ป่าในวนอุทยานชีหลงมีสถานการณ์จากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไร  ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการผืนป่าร่วมกันอย่างไร  ภายในป่ามีทรัพยากรใดคงอยู่ เสื่อมสลาย ทรุดโทรม และมีกิจกรรมใดที่ยังคงเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าผ่านมิติทาง “วัฒนธรรม-ภูมิปัญญา” หลงเหลืออยู่บ้าง...

เช่นเดียวกับการฝากย้ำให้อาจารย์และนิสิตบูรณาการเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับป่า-ต้นไม้เข้าไปให้ชัดเจน  เช่น  ต้นยางนามีกฎหมายใดที่คุ้มครอง  และในมิติวัฒนธรรม ต้นยางนาที่ว่านั้นช าวบ้านมองในมิติใด  เพราะในบางพื้นที่ถือว่าเป็น “พญาแห่งไม้”   และต้นยางนาที่ว่านี้  เกี่ยวโยงการพื้นที่ตั้งประวัติศาสตร์มหาสารคามอย่างไร –





ก่อนนั้น ผมแนะนำให้อาจารย์และนิสิตลงชุมชนพัฒนาโจทย์โครงการฯ ร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานอย่างจริงๆ จังๆ  เป็นเสมือนการปรับความคาดหวังร่วมกัน  เพราะพื้นที่มีความละเอียดอ่อน  ยิ่งในกระแสแห่งการอนุรักษ์ป่านั้น  ถือเป็นกระแสหลัก และเป็นชะตากรรมหลักที่ชาวไทยกำลังประสบอยู่

จากการลงพื้นที่ตามคำแนะนำที่ผมว่า-คณาจารย์สะท้อนให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า  ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ชาวบ้านส่งมอบผืนป่าให้รัฐมาร่วมสามสิบปี ปัจจุบันพื้นที่ป่ามีในราวๆ ประมาณ 119 ไร่ ชาวบ้านยังคงเข้ามาเก็บฟืน จับปลาได้อย่างปกติสุข  แต่ละปีมีกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย (ตบประทาย) ในผืนป่า ประหนึ่งผืนป่าเป็นดอนปู่ตาในอีกมิติหนึ่ง

ครับ, นอกจากนั้น อาจารย์ ยังสื่อสารกลับมาถึงความมุ่งมั่นว่าน่าจะเสริมแต่งการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าผ่านพิธี “บวชป่า” ได้  ซึ่งถือเป็นมิติทางวัฒนธรรมของการขับเคลื่อนโครงการ






กระทั่งวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘  ผมจึงมีโอกาสได้ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้กับคณาจารย์และนิสิตคณะนิติศาสตร์อย่างที่ใจมุ่งหวัง

กิจกรรมในวันนั้นประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ทำบุญตักบาตร สู่ขวัญต้นไม้ บวชป่า ปลูกต้นไม้ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์  เวทีเสวนา แห่ผ้าป่าถวายวัด และการแสดงดนตรี ...

โดยส่วนตัวผมชอบกิจกรรมที่บูรณาการ หรือสหกิจกรรมแบบนี้มากๆ เป็น “บันเทิง-เริงปัญญา” ที่ลงตัวไม่ใช่ย่อย

โดยภาคเช้ากิจกรรมเริ่มต้นจากการทำบุญตักบาตรในเขตพื้นที่วนอุทยานฯ ถัดจากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกัน เชื่อมโยงไปสู่การบวชป่าและสู่ขวัญป่า  ซึ่งห้วงกิจกรรมเหล่านี้ ได้สื่อให้เห็นถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวบ้าน (ชุมชน) และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งกิจกรรมทั้งปวงนั้น ตอบโจทย์ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอย่างชัดแจ้ง สะท้อนมิติของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในแบบฉบับชุมชน






ขณะที่กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไป ผมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนิสิตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนิสิตที่มาในวันนี้ส่วนใหญ่มาจากวิชา “สัมมนาปัญหาสังคมกับกฎหมาย”

ในหลายๆ จังหวะของกิจกรรมอาจขลุกขลักไม่ไหลลื่นอย่างที่คาดหวัง  แต่เห็นความพยายามของอาจารย์และแกนนำนิสิตที่ใจเย็นและอ่อนน้อมในการที่จะเรียนรู้โดยให้ชุมชนเป็น “ครู” อย่างชัดเจน  นับตั้งแต่การถวายภัตตาหาร จัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบพานบายศรี  ขาดเหลืออะไร  ชาวบ้านจะคอยบอกล่าวต่ออาจารย์และนิสิตเป็นระยะๆ เสมือนการ “สอนลูกสอนหลาน”  รวมถึงการพาทำพิธีบวชป่าก็เป็นในทำนองเดียวกัน  ถึงแม้จะมีกลิ่นอายเหมือนการสาธิตอยู่บ้าง  แต่ก็ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและความหมายอย่างมหาศาล






ในช่วงก่อนการปลูกต้นไม้นั้น  ผมมีโอกาสได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด  ทั้งอาจารย์และนิสิตยืนเป็นวงกลม หัวหน้าวนอุทยานได้อธิบายถึงการปลูกต้นไม้   ซึ่งผมถือโอกาสตั้งประเด็นการเรียนรู้เพิ่มเติม ด้วยการเรียนเชิญให้หัวหน้าฯ ได้บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของคำว่า “ชีหลง” ...

รวมถึงเรียนเชิญให้อธิบายถึงสภาพผืนป่าทั้งหมด ยึดโยงถึงคุณลักษณะ-สรรพคุณของต้นไม้ที่กำลังจะนำไปปลูก (สะเดา-ประดู่ ฯลฯ) กระทั่งการเชื่อมไปสู่สถานการณ์ของไม้ในเมืองไทยที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน ทั้งต้นยางนา ต้นสัก และพยุง

ครับ, ผมไม่ได้ด่วนดิบแทรกแซงกระบวนการหรอกนะครับ แต่สอบถามอาจารย์แล้วว่าประเด็นเหล่านี้ไม่มีในแผน -

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังชี้ชวนให้นิสิตกลุ่มใหม่ที่มาในวันนี้ได้เข้าใจว่าพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นพื้นที่เดียวกับที่คณะได้จัดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หรือกระทั่งการปลูกป่าเนื่องในโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ ของคณะนิติศาสตร์

นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนถึงประเด็นว่านิสิตสามารถบูรณาการวนอุทยานเป็นห้องเรียนอีกห้องของนิสิตได้ ทั้งในทางวิชาชีพ หรือการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้บริบทของวนอุยานเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ ---

ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเป็นอีกแรงกำลังหนึ่งในการหนุนเสริมให้วนอุทยานได้รับการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักกว้างขวาง หากทำได้ก็ควรช่วยกันผลักให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาของจังหวัดฯ





กระบวนการที่ผมกล่าวข้างต้น ใช้เวลาไม่นานนัก เป็นการยืนพูด ยืนฟัง ยืนแลกเปลี่ยนกันแบบสบายๆ เป็นกันเอง ซึ่งผมมองว่าเป็นหนึ่งในการปฐมนิเทศเล็กๆ ก็ไม่ผิด และผมเองก็ถือว่าเป็นเวทีการเรียนรู้ที่ข้ามไปไม่ได้ –

ครั้นเสร็จสิ้นการปลูกต้นไม้ ก็เป็นเวทีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน   ซึ่งนำพาอาจารย์ นิสิต ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่วนอุทยานมาเล่นเกมร่วมกัน สร้างความสนุกสนาน คึกคักสรวลเสเฮฮา น่ารัก เสมือนกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นคุ้นชินกันให้มากขึ้น เป็นการปูพรมก่อนเข้าสู่เวทีของการเสวนาร่วมกันในภาคบ่าย

เวทีการเสวนาในภาคบ่าย โยกย้ายจากวนอุทยานไปยังหมู่บ้านวังหว้า โดยมีชื่อประเด็นการเสวนาคือ “กฎหมาย วัฒนธรรม และการอนุรักษ์ป่า”

ครับ, ประเด็นการเสวนาดังกล่าว สื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโจทย์การเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน และจากชุมชนสู่มหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน  แทนที่จะจัดขึ้นแบบโดดๆ  แต่บูรณาการผ่านกิจกรมอื่นๆ มาเป็นระยะๆ ซึ่งถือว่าออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างมีเสน่ห์...





ครั้นเสร็จสิ้นจากเวทีเสวนา ก็มีการแห่ผ้าป่ารอบหมู่บ้าน  นำเงินที่ได้ถวายวัดเพื่อสมทบการพัฒนาชุมชน รวมถึงเล่นดนตรีสร้างความสัมพันธ์ โดยได้นิสิตจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาช่วยหนุนเสริมบรรยากาศ เป็นเหมือนการบูรณาการภาคีหน่วยงานในมหาวิทยาลัยฯ ในอีกมิต

ครับ, ถึงตรงนี้ ผมยังยืนยันว่าชื่นชอบกิจกรรมในทำนองนี้ การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของคณะ (มือใหม่) ทำได้เช่นนี้ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว เห็นพลังของอาจารย์และนิสิตจำนวนไม่น้อยที่กระหายต่อการเรียนรู้คู่บริการแล้วพลอยให้อบอุ่นใจเป็นที่สุด

เช่นเดียวกับการที่อาจารย์กับนิสิตได้เห็นมิติการมีส่วนร่วมของชุมชนกับภาครัฐในการดูแลผืนป่าร่วมกัน ยิ่งสุขใจ เพราะจะช่วยให้นิสิตได้เห็นอีกมุมหนึ่งของการบริหารจัดการป่าที่บูรณาการกันระหว่าง “กฎหมายกับวัฒนธรรม” ของชุมชน






ก่อนอำลาพาจาก ผมแซวอาจารย์บางท่านว่า ปลูกต้นไม้อย่างเดียวไม่พอหรอกนะครับ  อย่าลืมพานิสิตกลับมารดน้ำพรวนดินมันบ้าง  รวมถึงลองทำค่ายเยาวชน หรือค่ายนิสิตในผืนป่าเหล่านี้ ชวนกันมาทำฐานการเรียนรู้พืชพันธุ์ไม้บ้างก็ดี จะทำกันเอง หรือประสานหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วยช่วยกันก็ไม่ผิด

รวมถึงอย่าลืมชวนนิสิตถอดบทเรียนง่ายๆ ร่วมกัน  ทั้งในกลุ่มวิชาสัมมนาฯ  และในกลุ่มจิตอาสาทั่วไปว่าเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ได้เรียนรู้อะไรบ้างฯ

และนั่นอาจหมายถึงการนำไปสู่การสร้างแกนนำหลากวัยเพื่อร่วมอนุรักษ์และปกป้องผืนป่าผืนนี้ด้วยก็เป็นได้





เหนือสิ่งอื่นใด ผมยืนยันว่ามีความสุขกับการได้เข้าร่วมการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นอย่างมาก  ถนนหนทางที่ว่ายากลำบาก มิได้เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้เลยสักนิด

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมชอบโครงการฯ ที่ไม่ได้ทำเพียงเพื่อตอบตัวชี้วัดในระบบ  ไม่ได้ทำแค่ตูมเดียว วันเดียว (แล้วหายจ้อย) แ ต่คณะนิติศาสตร์ได้พยายามแล้ว-พยายามทำมาเป็นระยะๆ... และยังมีแผนที่จะขับเคลื่อนต่อไป

ผมให้กำลังใจ และจะตามเชียร์ต่อไป และต่อไป (นะครับ)




๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗
“บทบาทของวัฒนธรรมชุมชนในการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาผืนป่า”
(หนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม)
ณ วนอุทยานชีหลง-บ้านวังหว้า
ต.ท่าขอนยา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 575060เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2014 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2014 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ อาจารย์  แผ่นดิน   วันนี้ดีใจได้กลับมาอ่านบทความดีของอาจารย์อีก  เนี่องจากห่างหายไปนาน ด้วยเหตุผลจากสุขภาพ  หวังว่าอาจารย์คงจะสบายดีนะคะ

แวะมาดู  ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง...(ขอบพระคุณ..ที่มีบันทึก..เหล่านี้)...

สวัสดีครับ ครูทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะครับ
ผมเองก็สุขภาพย่ำแย่ไปร่วมเดือน...
การงาน ก็หนักหน่วงในทางความคิด
ใช้พลังมากมายกว่าจะกลับมาสู่พื้นที่แห่งนี้ได้

เป็นยังไงบ้างครับ สุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วใช่ไหมครับ
ให้กำลังใจ และส่งใจไปเชียร์ ทั้งกายและใจ นะครับ

สวัสดีครับ ยายธี

เป็นยังไงบ้างครับคุณยายธี
ผืนป่าแถวบ้านเกิด  มีคนดูแลให้หรือยัง ครับ

โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม ... ของคณะนิติศาสตร์.... อ่านแล้วชื่นใจ นะคะ  เห็นภาพ นศ.เข้ากับชาวบ้านได้ดี และรักผื่นป่า และยังนำเอาความเชื่อ..วัฒนธรรม ... วิถีชีวิต เข้ามาผนวกด้วย .... เยี่ยมจริงๆค่ะ  ชื่นชมค่ะ

เป็นโครงการ + ประสบการณ์ล้ำค่าของเยาวชนอนาคตของชาติจริง ๆ จ้ะ

ตามมาเชียร์นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ .... อย่างมีเสน่ห์   coach of the coach  ให้อาจารย์และนิสิตติดตัวการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนไปอย่างต่อเนื่องนะคะ

ทุกที่  ทุกเวลา  เกิดการเรียนรู้ได้จริง  ขอบคุณมากค่ะ อ.แผ่นดิน

ครับ พี่Dr. Ple

สิ่งที่ผมดีใจ สุขใจกับโครงการนี้ก็คือการบูรณาการมิติทางวัฒนธรรมของชุมชนเข้ากับกฏกมายของบ้านเมืองนี่แหละครับ  มันทำให้เราเห็นมิติที่มีชีวิตของความเป็นสังคมศาสตร์ได้ชัดและงดงามมากขึ้น

ยิ่งได้เรียนรู็วิถีความเชื่อ คติชนที่เป็นเกราะป้องกันผืนป่า ยิ่งชวนให้คิดและตีความไปยังสิ่งต่างๆ ได้อย่างมากมาย นี่คือโอกาสดีที่ว่าที่นักกฏหมายจะได้เข้าใจระเบียบโครงสร้างของสังคมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ครับ

ขอบคุณครับ คุณมะเดื่อ

ไม่ว่ายุคสมัยใด  เยาวชนก็ยังเป็นลมหายใจของปัจจุบันและอนาคตแห่งสังคม เสมอ
ให้กำลังใจเช่นกันนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท