หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เสมือนการปฐมนิเทศนิสิตก่อนลงสู่ชุมชน


การเรียนรู้ผ่านโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนนั้น จะช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ “รากชีวิต” (ตอกย้ำว่าเราล้วนมีที่มาที่ไป) – เรียนรู้หลักการแบ่งปัน – เรียนรู้ว่าชาวบ้านมีศักยภาพ (ชุมชนไม่ใช่ภาชนะว่างเปล่า : ชุมชนคือฐานการพัฒนาชาติ)

(๑)

ผมทักทายแรกเช้าก่อนการเปิดเวทีอย่างเป็นทางการกับนิสิต ชวนสนทนาทั่วไป พอนิสิตมาถึงในจำนวนพอสมควร จึงเกริ่นกล่าวให้นิสิตได้รับรู้เกี่ยวกับเจตนาของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน รวมถึงการสื่อสารให้นิสิตได้รู้ถึงความสัมพันธ์ของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนกับ “การบริการวิชาการแก่สังคม” อันเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น ยังรวมถึงการปลุกเร้าแบบนุ่มๆ เพื่อให้นิสิตได้รู้ถึงบทบาทและสถานะของตนเองที่มีต่อการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  ทั้งในมิติผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และในมิติของการฝึกทักษะต่างๆ ทั้งวิชาชีพและวิชาคน โดยมีกิจกรรมโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

ถัดจากนั้น จึงเปิดเวทีจากหนังสั้นเรื่อง “สามเณร”  ของอาจารย์ปรีชา สาคร ซึ่งเป็นอาจารย์ในสังกัดคณะวิทยาการสารสนเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในเวทีวันนี้

เหตุผลที่เลือกหนังสั้นเรื่องนี้  เพราะเห็นว่าเนื้อหาดีมาก  เป็นเรื่องราวของนักเรียนซุกซน เรียนๆ เล่นๆ  ในห้วงวัยของเขา  แต่พอบวชภาคฤดูร้อนในชุมชน  พฤติกรรมต่างๆ  ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสร้างสรรค์  ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้มีมิติของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งพฤติกรรมคน วิถีชีวิตของผู้คน ประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน ความเชื่อมโยงของ “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน”







(๒)



ถัดจากนั้น ผมก็เข้ามาทักทาย ชวนโสเหล่ถึงสิ่งที่ได้จากการดูหนังสั้น “ดูละคร ย้อนดูตัวเรา” -
ถัดจากนั้นจึงถามทักว่า “ใครเคยเข้าร่วมโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนมาบ้างแล้ว”
ครับ, โชคดีมากๆ เลย - มีนิสิต ๒ ท่านจากคณะสาธารณสุขศาสตร์  เคยเข้าร่วมโครงการหนึ่งหลักสูตร
หนึ่งชุมชนเมื่อปีที่แล้ว ณ ชุมชนบ้านหนองขาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

และด้วยความที่นิสิตทั้งสองคนมีประสบการณ์จริงภาคสนาม หรือเคยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมขน” มาแล้ว ผมเลยถือโอกาสเชิญให้บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับรู้รับฟังว่า “ทำอะไร อย่างไร และได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำ”



(๓)



ครั้นถึงช่วงทางการ อธิการบดี (รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต)  ได้เดินทางมาเปิดเวที พร้อมๆ  กับการให้โอวาทและให้ขวัญกำลังใจแก่นิสิต  รวมถึงการบอกเล่าถึง “นโยบาย” การพัฒนามหาวิทยาลัยและการ “วาดหวัง” กับนิสิตว่าต้องเติบโตขึ้นมาอย่างไร

สิ่งที่อธิการบดีสื่อสารนั้น ครอบคลุมปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  ทั้งปวงล้วนสอดรับกับการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างเสร็จสรรพ  และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเสมือนการย้ำหมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิตไปในตัว

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าสิ่งที่อธิการบอกเล่านั้นสำคัญมาก  เพราะเป็นการตอกย้ำให้นิสิตได้ตระหนักถึงทิศทางการเรียนรู้ของตนเอง  ทั้งเรียนรู้ในระบบและนอกระบบ  อันมีปลายทางที่รออยู่คือการ “รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม” (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)

นอกจากภาพรวมข้างต้นแล้ว  อธิการบดียังสะท้อนให้เห็น “พัฒนาการ” โครงการเชิงรุกภายใต้ภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ  นับตั้งแต่การตอบสนองนโยบาย ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย > ๑ คณะ ๑ ชุมชน > ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน และ ๑ คณะ ๑ ศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นการร้อยเรียงให้เห็นประวัติศาสตร์เล็กๆ  ของการขับเคลื่อนภารกิจแห่งการรับใช้สังคมและชุมชนบนฐานคิด “เรียนรู้คู่บริการ”





(๔)



ภายหลังจากอธิการบดีให้โอวาทและนโยบายแก่นิสิตเสร็จสิ้นลง ก็ถึงคราวที่ ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล  จะมาพบปะกับนิสิตในประเด็น “การเรียนรู้ชีวิตและชุมชนผ่านมิติการเรียนการสอนในโครงการหนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน” ซึ่ง ดร.กนกพร ฯ เป็นอาจารย์ในหลักสูตรการพัฒนาชุมชน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน รวมถึงผู้ประสานงานศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการเพื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม จึงนับได้ “คนหน้างาน” (ผู้ทรงคุณวุฒิ) ในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนอย่างไม่ต้องสงสัย




ดร.กนพรฯ เปิดเวทีทักทายด้วยการชวนให้นิสิตถามทักถึง “สถานะ” (หมุดหมายชีวิต) ของแต่ละคนว่า  “เป็นใคร-ทำอะไร-เพื่ออะไร”   จากนั้นจึงบอกเล่าถึงบทบาทและสถานะของมหาวิทยาลัยฯ  ที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ หากแต่ต้องสอน  หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นิสิตมีทักษะในการเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีค่า (มีความสุข) เช่น ทักษะการคิด  ทักษะการสร้างสรรค์  ทักษะการสื่อสารสร้างสรรค์  ทักษะความเข้าใจในมิติต่างวัฒนธรรม  ทักษะความเป็นทีม  ทักษะการเป็นผู้นำ ฯลฯ


นอกจากนี้ ดร.กนกพรฯ ยังเชื่อมโยงให้เห็นว่าโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือการปฏิรูปการเรียนการสอนในมิติการบูรณาการเข้ากับภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ ที่ประกอบด้วยการสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งห้องเรียนในมหาวิทยาลัยและห้องเรียนอันหมายถึง “ชุมชน” ซึ่งเป็นการเรียนรู้วิชาการและวิชาชีวิตบนสถานการณ์จริง เพื่อก่อเกิดทักษะต่างๆ...



ทั้งนี้ยังรวมถึงการสะท้อนมุมมองอย่างหนักแน่นว่า  การเรียนรู้ผ่านโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนนั้น จะช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ “รากชีวิต” (ตอกย้ำว่าเราล้วนมีที่มาที่ไป) – เรียนรู้หลักการแบ่งปัน – เรียนรู้ว่าชาวบ้านมีศักยภาพ (ชุมชนไม่ใช่ภาชนะว่างเปล่า : ชุมชนคือฐานการพัฒนาชาติ) และเรียนรู้ว่า “เราทำได้” เว้นแต่เรา “ไม่ลงมือ”

อย่าไรก็ดี ห้วงท้ายของการบอกเล่า-แบ่งปัน   ดร.กนกพรฯ ได้ฝากหลักคิดสำคัญๆ ของการลงสู่ชุมชนเพื่อ “เรียนรู้คู่บริการ”   โดยให้เริ่มต้นจากการ “เรียนรู้ตัวตน”  ซึ่งหมายถึง “รู้ตัวตน”  ว่าจะไปทำอะไร  ทำเพื่ออะไร รวมถึงการ “รู้ชุมชน” ว่าที่ไหน มีอะไรเป็นโจทย์ของการเรียนรู้คู่บริการ –

และที่สำคัญก็คือ การลงชุมชนต้องคิดคำนึงถึงเรื่อง “จังหวะ-กาละ” ของชุมชน ไม่ใช่จะลงชุมชนตอนไหนก็ลงได้ โดยไม่ใส่ใจว่าชุมชนอยู่ในภารกิจใดและเทศกาลใด   หรือชุมชนสะดวกที่จะจัดกิจกรรมร่วมกับนิสิตหรือไม่  ซึ่งต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อม ปรับความคาดหวังร่วมกัน ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน

รวมถึงที่สำคัญมากๆ คือ “การวางตัว” ฯลฯ

ถัดจากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังหลักคิดและวิธีการเก็บข้อมูลชุมชน วิธีการศึกษาชุมชนและวิเคราะห์ ตีความข้อมูลชุมชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน  ซึ่งจะช่วยให้นิสิตเข้าใจ “บริบท” ของชุมชนเชื่อมโยงมายังสิ่งที่ตนเองกำลังจะไป “เรียนรู้คู่บริการ”





ครับ, นี่คือเวทีภาคเช้าของการเรียนรู้...
จะเรียกได้ว่าการปฐมนิเทศนิสิตก่อนการลงสู่ชุมชนก็ไม่ผิด  

ส่วนภาคบ่าย จะเป็นเรื่องของการจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย และการเขียนเรื่องเล่าในมิติ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

.....

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : กลุ่มเป้าหมาย “นิสิต”
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
อาคารพัฒนานิสิต มมส.



หมายเลขบันทึก: 574661เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 12:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2014 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีผลการปฏิบัติ..(หรือย้ัง)...หรือเป็นแค่ทฤษฎี..บนเวที..เท่านั้น..(รู้ตน..รากชีวิต..สังคม..(บิ)...บริบท..)..

(อยากทราบเจ้าค่ะ)...

ยังเลยครับ คุณ ยายธี
นี่เป็นการปฐมนิเทศนิสิตก่อนการลงพื้นที่ครับ  ยังไม่ได้ลงสู่การปฏิบัติจริง
สิ่งที่วิทยากรพูด คือสิ่งที่วิทยากรเชื่อว่ากิจกรรมที่ทำ หากทำจริง เรียนรู้จริง  จะช่วยให้นิสิตได้ทบทวนตัวเองไปในตัวครับ  โดยใช้สถานการณ์จริลในชุมชนที่ไปจัดกิจกรรมเป็นเครื่องนำพา...

เข้ามาเรียนรู้ด้วยคนครับ ;)...

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn  

ตอนนี้เข้าภาคบ่ายแล้ว
อาจารย์ ดร.สมชาย  แก้ววังชัย กำลังบรรยายเรื่อง "การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย"  อยู่ครับ   เป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องของการใช้ภาพถ่าย/กล้อง เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลชุมชน  ...

"การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย"

หัวข้อ "ขลัง" มากครับ

น่าจะไปนั่งฟังด้วยจริง ๆ ;)...

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจจ้ะ

อาจารย์วัส Wasawat Deemarn   ผมว่าคอร์ดนี้  น่าจะไปบ่มเพาะครูเป็นเลิศได้ นะครับ

เพราะการถ่ายภาพ จะช่วยให้ว่าที่คุณครูนำไปเป็นเครื่องมือในการบันทึกการเรียนรู้และสร้างสื่อการเรียนรู้ได้.....

ว่ามั๊ยครับ
แต่ไม่ต้องให้ผมทำกระบวนการหรอกนะครับ
งานนี้เหมาะกับอาจารย์ฯ เป็นอย่างยิ่ง

ลงมือเลยครับ...

ครับ คุณมะเดื่อ

ส่วนหนึ่งของการบรรยายเรื่องนี้
ผมจะนำเข้าสู่กระบวนการบรรยายในชั้นเรียนของวิชาการพัฒนานิสิตด้วยเหมือนกันครับ
เพราะ จะเกี่ยวโยงกับการประเมินผลโครงการ (ผ่านภาพถ่าย) นั่นเอง ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท