“จะตายได้อย่างไร ....ยังไม่มีศิษย์รับวิชา”


          เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา  ยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย /หลับไม่ได้ผล  (ทั้งๆที่ให้เต็มที่แล้ว)  ทางหอผู้ป่วยโทรมาปรึกษาว่า  จะช่วยให้ผู้ป่วยสงบอย่างไรดี  ลูกๆและหลานทุกข์มาก  ฉันจึงขอให้ทางหอผู้ป่วยส่งข้อมูลความเจ็บป่วยมาพร้อมกับลูกๆและหลานมาพูดคุยกับฉันก่อน

           ผู้ป่วยชายไทย  อายุ 70 ปี  ศาสนาพุทธ  อาชีพทำสวน  ป่วยเป็นมะเร็งช่องปากและลำคอระยะสุดท้ายที่มีการลุกลามไปที่ปอด  ตับ  กระดูกสันหลัง  ลุงเดช (นามสมมติผู้ป่วย) มีอาการหนักไม่รู้สึกตัว  ใส่ท่อช่วยหายใจมีสายต่างๆออกจากร่างกาย  เช่น  สายให้เลือด/น้ำเกลือ/ยา   สายสวนปัสสาวะ  เป็นต้น

“สวัสดีครับ   ผมเป็นลูกลุงเดชมาจากหอผู้ป่วย  หู คอ จมูก”  ลูกชายของลุงเดชยกมือสวัสดีพร้อมยื่นจดหมายให้

“สวัสดีค่ะ เชิญทุกคนไปนั่งคุยกันในห้องประคองใจ”  ฉันยกมือไหว้ตอบพร้อมเชื้อเชิญลูกลุงเดช 2 คน  และหลานชาย อายุ 15 ปี  เข้าไปนั่งพูดคุยในห้องประคองใจ

พอจะบอกได้ไหม  ว่าสิ่งที่ทำให้ลูกๆ และหลาน  เป็นกังวลใจในขณะนี้  คืออะไรค่ะ”  ฉันถามเพื่อประเมินความรู้สึก

คุณพ่่อมีอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา  ยาเอาไม่อยู่  พวกผมกังวลว่าพ่อจะจากไปไม่สงบ”

คุณโจ (นามสมมติลูกชายคนโต)พูดด้วยเสียงเครือๆพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้า

“เข้าใจค่ะ  ตอนนี้ถ้าดูจากข้อมูลแล้ว  ประเด็นทางด้านร่างกาย  แพทย์  พยาบาลกำลังดูแลอยู่  สำหรับประเด็นเรื่องจิตใจ  ไม่ทราบว่าลุงเดชเป็นห่วงลูก/หลานคนไหนเป็นพิเศษบ้างไหมค่ะ”  ฉันถามเพื่อหาข้อมูล

“ไม่มีครับ  คุณพ่อจัดการเรื่องต่างๆ  เรียบร้อยหมดแล้ว  ไม่ว่าเรื่องทรัพย์สินบ้าน/ที่ดิน  และลูก/หลานทุกคนมาเยี่ยมพ่อและขออโหสิกรรมหมดแล้ว”  คุณโจตอบ

“พอจะทราบไหมค่ะ  ว่าสิ่งที่คุณลุงเดชภูมิใจ  และทำความดี  คืออะไร”  ฉันถามเพื่อค้นหาประเด็นด้านจิตวิญญาณ

........นอกจากลูกๆหลานๆแล้ว  ไม่น่าจะมีครับ”   เงียบสักครู่......คุณโจตอบ

มีครับ  ปู่เป็นหมอพราหมณ์ช่วยรักษาคน”  หลานชายอายุ 15 ปี ตอบ

แล้วคุณปู่รับวิชาหมอพราหมณ์มาจากอาจารย์อย่างไรค่ะ”   ฉันถาม

อาจารย์หมอพราหมณ์  ทำพิธีรับปู่เป็นศิษย์ได้  3 วัน ก็เสียชีวิต”  หลานชายตอบ

ตอนนี้ใครเป็นศิษย์ลุงเดช  มีการทำพิธีรับเป็นศิษย์แล้วหรือยังค่ะ”  ฉันถามต่อ

“น้าชายที่อยู่นครศรีธรรมราชครับ  ยังไม่มีการทำพิธีรับเป็นศิษย์”  หลานชายตอบ

“ดูแล้วคิดว่า  ลุงเดชน่ากังวลเรื่องวิชาหมอพราหมณ์ที่ยังไม่มีพิธีรับศิษย์  ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้  ให้คุณโจโทรบอกน้าชายที่อยู่นครศรีธรรมราช  ทำพิธีรับเป็นศิษย์พร้อมโทรบอกลุงเดชทางโทรศัพท์ก่อนและเดินทางมาหาลุงเดช ”  ฉันเสนอความคิดเห็น

        หลังจากพูดคุยวันนั้น  คุณโจได้โทรศัพท์บอกน้าชายและน้าชายก็โทรศัพท์บอกลุงเดชว่า  “กำลังทำพิธีรับเป็นศิษย์ที่นครศรีธรรมราช  เมื่อทำพิธิเสร็จจะรีบเดินทางมาคาระวะอาจารย์”

         สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นคือ  ลุงเดชมีอาการสงบ  ไม่กระสับกระส่าย  และไม่ต้องใช้ยาช่วย  เป็นเวลา  12  ชั่วโมง  ก่อนเสียชีวิตไปอย่างสงบ

          บางครั้งการประเมินทางจิตวิญญาณก็เป็นเรื่องยากในผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว  เพราะไม่ได้พูดคุยกันมาก่อน  สิ่งเดียวที่จะช่วยผู้ป่วยในช่วงเวลาที่จวนเจียนใกล้ตายคือ ประเมินจากคนใกล้ชิด

หมายเลขบันทึก: 574309เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย หลายครั้งผู้ป่วยถูกส่งตัวมาปรึกษาเมื่อจวนเจียน หรือไม่รู้สึกตัวเสียแล้ว การประเมินโดยอาศัย จึงจำเป็นต้องประเมินจากผู้ใกล้ชิด ด้วยความระมัดระวัง ว่า ผู้ใกล้ชิดคนนั้นเข้า(ถึง)ใจผู้ป่วยแค่ไหน 

ขอบคุณค่ะ

       บางครั้งผู้ใกล้ชิดก็ไม่ทราบในเรื่องบางเรื่่องค่ะ  สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อรู้จักผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มป่วยควรมีการประเมินทางด้านจิตวิญญาณ นอกจากประเด็นด้านร่างกาย  จิตใจ  และสังคมแล้ว  ส่วนใหญ่จะลืมประเด็นด้านจิตวิญญาณ  ทำให้ผู้ป่วยและญาติเสียโอกาสทำสิ่งดีๆร่วมกันในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท