อาศัยตัณหาละตัณหา และ ปัญหาของยถาสารุปปสันโดษ


สันโดษ เป็นทรัพย์อันเลิศเลิศกว่าทรัพย์ใดๆค่ะ เพราะเมื่อใจมีสันโดษแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าตนเองยากจน ตนเองขาด ไม่เดือดร้อนในสิ่งที่ผู้อื่นมีมากกว่า

สันโดษนั้น แปลว่าความพึงพอใจ ยินดีในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้โดยชอบ อรรถกถาจารย์แยกให้เป็น ๓ ค่ะ คือ

๑ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ ยินดีตามที่พึงได้ ตนมีโอกาสได้อะไรก็พอใจกับสิ่งที่ได้นั้น ไม่ปรารถนาในสิ่งที่ไม่พึงได้หรือได้โดยไม่ชอบธรรม และไม่เพ่งเล็ง อยากได้ของคนอื่น

๒ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังของตน คือมีกำลังกายที่จะหาได้เท่าใดก็พอใจเท่านั้น หรือ กำลังกายตนทำให้รับได้เท่าใด ก็พอใจเพียงเท่านั้น เช่น หากทานอาหารจนอิ่มแล้ว เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายแล้วก็ควรรู้จักพอ ไม่ทานต่อจนเกิดความไม่สบายใหม่คือความอึดอัน มาแทนความไม่สบายเก่าคือความหิว

๓ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควรกับตน คือยินดีในสิ่งที่เหมาะกับภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต จุดมุ่งหมายในการบำเพ็ญกิจของตน สันโดษลักษณะนี้ ในที่ต่างๆมักยกตัวอย่างด้วยพระ คือ เมื่อเป็นพระ ก็ควรพอใจกับปัจจัยต่างๆที่สมควรแก่สมณภาวะ เช่น เป็นพระไม่ควรปรารถนาในความหรูหราฟุ่มเฟือยแบบฆราวาส เป็นต้น

สันโดษนั้นต้องอบรมในทุกๆเรื่องค่ะ เช่น ในการปฏิบัติธรรม หากไม่มีการนำหลักสันโดษมาใช้ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้ เพื่อให้ชีวิตกับการปฏิบัติสอดคล้อง สภาวะแวดล้อมเป็นไปโดยปกติ เราจึงต้องแยกความอยากที่จะทำ ความอยากมีปัจจัยที่สนับสนุนการกระทำ และ ความอยากรับผลของการกระทำออกจากกัน

โดย ความอยากที่จะทำ  นั้น หากเป็นการกระทำที่ผลตรงกับเหตุ (เช่น หากเหตุคือการทำงาน ผลก็คืองานถูกทำ งานเสร็จ และอาจมีผลพลอยได้เป็นค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินไม่ใช่ทำงานเพื่อเงิน) น้อมลงสู่ความเห็นว่าไม่เป็นตน คลายความตระหนี่ ทวีเมตตา อันทำให้สามารถพบสุขภายในใจได้โดยลดการอาศัยปัจจัยภายนอก (เช่น สุขจากการพิจารณาเห็นกิเลสตนอันทำให้รู้ว่ามีกิจต่อไปอย่างไร สุขจากการที่จิตได้รับความสงบจากกรรมฐาน สุขจากการพิจารณาจนเห็นการจางคลายของกิเลส หรือ สุขจากการดับตัณหาได้เป็นครั้งๆ สุขจากการให้ ไม่ใช่สุขจากการเสพสิ่งล่อตาล่อใจ) โดยที่ความอยากที่จะทำนั้นต้องสัมพันธ์กับเพศ หน้าที่ความรับผิดชอบ และ วิถีชีวิต ต้องไม่สันโดษค่ะ เทียบกับคำตรัสที่ว่า ไม่สันโดษในกุศลธรรม และเมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลแล้วก็พึงทำสิ่งนั้นบ่อยๆ ทำความพอใจในสิ่งที่ทำ

สำหรับ ปัจจัยทีจะสนับสนุนการปฏิบัติ ต้องสันโดษตามที่พึงมีพึงได้ ตามกำลังตนที่ทำได้ อันจัดเป็นสันโดษในระดับต้น

แต่ ผลของการกระทำ ที่เรา( ผู้ยังคลายความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้) เป็นผู้รับนั้น เรากลับต้องสันโดษในระดับสูงสุด คือ ระดับเต็มความประสงค์ทีเดียวค่ะด้วยการไม่หวังผล เพราะเมื่อไม่หวัง ได้เท่าไรก็เต็มทันทีดังที่สมเด็จพระสังฆราชทรงอธิบายไว้

“เพราะฉะนั้น สันโดษในพุทธศาสนาจึงเป็นสันโดษที่ถูกต้อง และก็มีระดับของสันโดษตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง ก็คือเต็มความประสงค์ แต่ว่าความประสงค์ที่จะได้ความเต็มความประสงค์นั้น ในเมื่อยังมีความประสงค์อยู่ก็ยังไม่เต็ม เพราะฉะนั้น จึงต้องละความประสงค์ เมื่อปราศจากความประสงค์เสียได้นั่นแหละจึงจะเต็ม ก็คือ ปฏิบัติดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเมื่อยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ นอกจากไม่เต็มความประสงค์แล้ว ยังมีความหวั่นไหวไปต่างๆ อันปรากฏเป็นความทะเยอทะยานดิ้นรนไปต่างๆบ้าง ปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย หวั่นไหวไป หวาดระแวงไปต่างๆบ้าง”

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑

แม้สันโดษในระดับต้นจะเข้าข่ายการมีตัณหา แต่การมีตัณหานั้นใช่ว่าจะไม่ดีไปเสียทั้งหมดนะคะ ดังที่พระอานนท์กล่าวแก่นางภิกษุณีว่าให้ “อาศัยตัณหาละตัณหา” คือ อาศัยตัณหาที่อยากจะทำความดี ละความอยากที่จะทำในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งผลของการอาศัยตัณหาละตัณหานี้ ย่อมนำตนไปสู่ทางที่ดี มีความสุขในระดับหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อมีศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว มีฉันทะที่จะนำธรรมมาปฏิบัติในชีวิตแล้ว ในช่วงแรกเราส่วนใหญ่มักมีการตั้งความหวังในผลของการปฏิบัติอันเป็นตัณหากันค่ะ การตั้งเป้าหมายของการปฏิบัตินี้จำเป็นในระยะแรกเพราะเปรียบเหมือนเป็นการกำหนดเส้นทางเดินของรถ ควรสันโดษในผลการปฏิบัติ คือ พึงพอเท่าที่ทำได้ แต่เมื่อปฏิบัติไปได้สักระยะ ก็ต้องพิจารณาว่าความอยากนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือไม่ โกรธแค้นต่อสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือไม่ จัดการกับสิ่งที่เป็นอุปสรรคไปในทางที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ใหม่ซ้ำซ้อนขึ้นมาหรือไม่ ยึดถือมั่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกินไปหรือไม่

ในเรื่องของการยึดถือมั่น พระอาจารย์ชา กล่าวถึงไว้ในที่หนึ่งอย่างน่าจับใจค่ะ

“ในทางพุทธศาสนาท่านว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่น แต่เราฟังไม่จบไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือ มั่นนั้นคือว่าท่านให้ยึดอยู่แต่อย่าให้มั่น เช่นอย่างนี้ อย่างไฟฉายนี่นะ นี่คืออะไร ไปยึดมันมาแล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้วก็วางมัน อย่าไปมั่น ยึดแบบนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ยึด เราจะทำได้ไหม จะเดินจงกรมก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องยึดเสียก่อน ครั้งแรกจะว่ามันเป็นตัณหาก็ได้ แต่ว่าต่อไป มันเป็นบารมี”

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) นอกเหตุเหนือผล พิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๕ หน้า ๑๔๐-๑๔๑

เพื่อไม่ให้ความต้องการทำสิ่งดีๆกลายเป็นเหตุเกิดทุกข์ใน เราจึงต้องสันโดษในระดับเต็มความประสงค์ในเวลาต่อมา เพราะสันโดษในระดับต้นนั้นยังมีความหวังในอนาคตอยู่ เมื่อมีหวังที่ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างไรเสียก็เป็นตัณหา และตัณหานี้เองค่ะที่นำใจไปสู่ความไม่สันโดษสู่ความทุกข์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) รจนาไว้ในหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมว่า “ สันโดษ ๓ นี้ เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งมุ่งแสดงข้อปฏิบัติของพระภิกษุโดยเฉพาะ ปรากฏในอรรถกถาและฎีกามากมายไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่งคฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร

ขอตั้งข้อสังเกตสำหรับ ยถาสารุปปสันโดษ หน่อยค่ะ เกี่ยวกับประโยคที่ว่า คฤหัสถ์พึงพิจารณาประพฤติปฏิบัติตามสมควร

เพราะยถาสารุปปสันโดษนั้น อรรถกถาจารย์มุ่งแสดงข้อปฏิบัติสำหรับพระ มีการยกตัวอย่างเป็นพระอยู่เนืองๆ คนส่วนใหญ่จึงมักปักใจไปว่า ถ้ากล่าวถึงยถาสารุปปสันโดษเมื่อไร ก็ต้องนึกถึง สิ่งที่สมควรแก่สมณภาวะ ลืมไปว่ายถาสารุปปสันโดษใช่จะเหมาะใช้กับพระเท่านั้น ฆราวาสโดยทั่วไปก็ต้องนำมาใช้ด้วย เพราะหากฆราวาสมีความเข้าใจสันโดษ มีการไม่สันโดษในสิ่งที่ควรไม่สันโดษ สันโดษในสิ่งที่ควรสันโดษ ชีวิตฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะไม่พบกับความวุ่นวาย ชีวิตเป็นไปกับธรรม สอดคล้องกับธรรมอย่างเป็นธรรมชีวี

อย่างไรก็ดี สันโดษ ควรอบรมควบคู่ไปกับมักน้อยคือความพอใจแต่น้อยด้วยค่ะ เพราะถ้าสิ่งที่พึงมีพึงได้มีมากแต่ไม่มีความพอใจแต่น้อย เราก็เพลิดเพลินกับการเสพมากจนกลายเป็นการเสพด้วยความมัวเมา อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ความตระหนี่ ไม่สามารถตัดใจสละสิ่งที่มีเกินความจำเป็นของตนเพื่อผู้อื่น

ฆราวาสจึงควรอาศัยตัณหาละตัณหาในเบื้องต้น แล้วค่อยๆวาง ไม่ปล่อยให้ตัณหาพาเราไปไม่รู้จบ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ดังคำอธิบายของสมเด็จพระสังฆราชนี้นะคะ

“การปฏิบัตินั้น ก็พึงเป็นไปโดยลำดับ ไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดด้วยตัณหาอันเป็นความดิ้นรนทะยานอยาก ถ้าเป็นการปฏิบัติด้วยตัณหาแล้ว ตัณหานี้ก็เป็นเครื่องกั้นอีกไม่ให้บรรลุถึงได้”

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๗๑

หมายเลขบันทึก: 573902เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับสำหรับธรรมะที่สุข สงบมากครับ

 

มีดอกไม้มากราบสาธุ..ธรรม..เจ้าค่ะ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท