เหตุและผล : ก่อนดำเนินการสร้างมหาวิทยะเจดีย์(เจดีย์ไทย-พม่า) วัดโมกขธรรมาราม จังหวัดสุราษฏ์ธานี


ประมาณ ต้นปี พ.ศ. 2556 ได้มีพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ที่อาศัยอยู่บริเวณวัดศรีวณิชย์วนาราม ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในอาณาบริเวณใกล้เคียง ร่วมใจกันก่อสร้าง เจดีย์สถาปัตยกรรมแบบพม่าขึ้นมา ที่บริเวณวัดแห่งนี้

..

ภาพถ่าย: พระอุโบสถวัดศรีวณิชย์วนาราม ตำบลท่าอุแท อำเภอ กาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยมีเจดีย์พม่า ก่อสร้างอยู่ห่างออกไป  ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 

..

การดำเนินงานการก่อสร้างเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบพม่านั้นได้ดำเนินการเรื่อยมา... โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ และตลอดระยะเวลาในการก่อสร้างเจดีย์ จะมีพุทธศาสนิกชนชาวพม่าและชาวไทยบางส่วน แวะเวียนมาร่วมอนุโมทนาบุญและสมทบทุนสร้างเจดีย์ อยู่เป็นระยะ

แล้วอยู่มาวันหนึ่ง...การดำเนินงานก่อสร้างเจดีย์ ก็ได้ผ่านเข้ามาให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ด้วยเช่นกัน เหตุเพราะ..คนทำงานในสวนของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้นำการก่อสร้างเจดีย์ ได้เชิญชวนให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ร่วมทำบุญสร้างเจดีย์อยู่หลายครั้ง และในบางคร้ังหากข้าพเจ้ามีเวลาว่างก็จะขับรถพาครอบครัวเดินทางไปร่วมงานบุญนี้ด้วยเช่นกัน

..

ภาพถ่าย : พระป๊อบปาลามมะ ขณะกำลังก่อสร้างฐานเจดีย์พม่า ที่วัดศรีวณิชย์วนาราม ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

..

การก่อสร้างเจดีย์ดำเนินการเรื่อยไป  และวันหนึ่ง.... คนงานในสวนของข้าพเจ้าได้มาขอคำปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างเจดีย์ว่า..พวกเค้าได้พบเจอปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างครั้งใหญ่... จากกลุ่มคนไทยในชุมชนที่ได้ร่วมคัดค้านการก่อสร้างเจดีย์ดังกล่าว

สาเหตุหรือที่มาของปัญหานั้น.........ข้าพเจ้ามิอาจทราบในรายละเอียดลึก ๆ ได้ 

เพียงแค่ข้าพเจ้าได้ทราบข้อมูลข่าวสาร และปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนงานในสวนของข้าพเจ้า   ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  ข้าพเจ้ารับรู้ถึงการขาดที่พึ่งของกลุ่มคนพม่าที่สร้างเจดีย์กลุ่มนี้มากกว่า  และนี่คือ...มูลเหตุจูงใจอันดับแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ

เมื่อพอที่จะทราบปัญหาอย่างคร่าว ๆ ว่า  "เกิดอะไรขึ้น?        และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นพอจะมีแนวทางที่จะทำให้บรรเทาเบาบางลงได้บ้างมั้ย?  ซึ่งพอจะเป็นทางออกให้กับคนพม่ากลุ่มนี้ได้อย่างละมุนละม่อม"  ข้าพเจ้าคิดในใจ

..

และสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดนั่นคือ...แนวทางและวิธีการการแก้ปัญหาด้วยการเขียนโครงการสร้างเจดีย์พม่าแบบมีส่วนร่วม ของคนไทยและคนพม่าที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้  รวมถึงการเขียนหนังสือแจ้งให้เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธ) ทราบถึงการดำเนินงานก่อสร้างเจดีย์พม่า  ที่วัดศรีวณิชย์วนาราม  ซึ่งวิธีนี้...ข้าพเจ้าคิดว่า..น่าจะเป็นทางออกที่พอจะดำเนินการได้ก่อนในเบื้องต้น

เมื่อโครงการเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับหนังสือเรียนชี้แจงให้เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธ) ทราบ....เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   การเดินทางเพื่อเข้าเรียนชี้แจงให้กับเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธ) ทราบ.... จึงเริ่มขึ้น..

..

ภาพถ่าย : วันที่เดินทางเข้าพบพระราชไพศาลมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธ) ณ วัดโมกขธรรมาราม

..

วันที่ 29 เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2556 พระสมศักดิ์ ปุศญธรรมโม วัดศรีวณิชย์วนาราม ตัวแทนคณะกรรมการชาวพม่า และตัวข้าพเจ้า ได้เดินทางมากราบนมัสการท่านเจ้าคุณ พระราชไพศาลมุนี เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธ) เจ้าอาวาสวัดโมกขธรรมราม ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเรียนชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ท่านทราบ ....และท่านก็ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนที่คณะจะกราบลาท่าน ท่านได้พูดทิ้งท้ายไว้ว่า ...วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวันทำบุญของชาวบ้านในชุมชนที่วัดศรีวณิชย์วนารามนั้น ท่านจะเดินทางไปเพื่อรับฟังและรับทราบปัญหาจากกลุ่มไทยคนในชุมชนแห่งนี้ตัวของท่านเอง

..

หลังจากวันนั้น ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับ พระสมศักดิ์ และตัวแทนชาวพม่า ว่า...... ข้าพเจ้าจะเป็นธุระช่วยพูดเป็นปากเสียงแทนคนพม่ากลุ่มนี้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากเห็นว่า.... สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้น มันเป็นความศรัทธาความเลื่อมใส ที่พวกเขามีต่อพระพุทธศาสนา เฉกเช่นเดียวกับเราที่เป็นคนไทย

..

(โดยส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ามองว่า...หากข้าพเจ้าเป็นคนพม่ากลุ่มนี้  การร้องขอคำปรึกษาจากใครสักคนหนึ่งนั้น  นั่นเป็นเพราะเค้าไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร..และหากจะพูดจาด้วยหลักการและเหตุผลแล้วย่อมทำได้ยาก...  ภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารที่ต่างกัน คำพูดบางคำที่บางครั้งก็สื่อความหมายถึงกันอย่างไม่เข้าใจ  และที่สำคัญปัญหาที่เกิดขึ้นนี้   มันอาจเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากเกินกว่าที่พวกเขาจะพูดได้...) 

..

โครงการสร้างเจดีย์สถาปัตยกรรมแบบพม่า โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของคนไทยและคนพม่าในชุมชนแห่งนี้   สาระสำคัญที่ข้าพเจ้าคิดและเขียนไว้มีดังนี้

..

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น การขยายตัวของชุมชนมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น สืบเนื่องมาจากการมีผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้นนั่นเอง และหนึ่งในเหตุผลที่มีการย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น นั่นคือการเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

..

จากการที่มีผู้คนต่างถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนมากขึ้น ย่อมก่อให้เกิดความหลากหลายในการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนต่างเชื้อชาติ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญด้านหนึ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทางด้านภาษาและวัฒนธรรม   การติดต่อสื่อสารจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะก่อให้เกิดการผสมผสานกลมกลืนร่วมกันได้   ประกอบกับภายในปี พศ.2558   มติของประเทศประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ อันได้แก่ ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สหภาพพม่าและประเทศไทย ต่างมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีการส่งเสริมความก้าวหน้าและให้ความร่วมมือระหว่างกัน   วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียน ถือเป็นจุดสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงความศรัทธาของประชาชน ที่มีความแตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ และภาษา ให้มาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้ด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา

..

ประชาชนจากทั้งสองประเทศที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้นั้น ต่างมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นการสร้าง พระพุทธรูป หรือสถูปเจดีย์ เพื่อเคารพสักการะ ถือเป็นวัฒนธรรมที่มีมาช้านานแล้วของประชาชนทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนชาวไทย หรือประชาชนชาวพม่า และการนำสิ่งนี้มาร้อยเรียงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสร้างสรรค์ความร่วมมือกันระหว่างประชาชนจากทั้งสองประเทศ ได้เป็นอย่างดี  ก่อให้เกิดสันติภาพ โดยใช้ศาสนาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร โดยจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในชุมชนและสังคมแห่งนี้ สืบไป

..

วัตถุประสงค์ของการสร้างเจดีย์

1. เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมทางด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวพม่า

2. เพื่อเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวไทยและชาวพม่า อันจะนำมาซึ่งสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน ของชุมชน

3. เพื่อลดช่องว่างทางด้านการติดต่อสื่อสาร ก่อให้เกิดการผสมผสานกลมกลืนในการใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนร่วมกัน

..

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เจดีย์ที่สร้างแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและพุทธศาสนิกชนชาวพม่า

2. ก่อให้เกิดสันติภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาคมอาเซียน โดยใช้ศาสนาพุทธ เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ระหว่าง กัน และนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและพม่าในชุมชน

3. สามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของชาวไทยและชาวพม่า เนื่องจากบริเวณวัดติดถนนสายหลักที่มุ่งไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด เป็นการสร้างรายได้เพื่อทำนุบำรุงศาสนาให้กับวัด รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนจากนักท่องเที่ยวที่แวะมาเยี่ยมชมอีกทางหนึ่ง

4. เกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างชาวไทยและชาวพม่า และอยู่ร่วมกันในชุมชนได้อย่างมีความสุข

.....................................................................................................................................................................................

และนี่คือสาระสำคัญที่ข้าพเจ้าจะพูด ในโรงธรรม ของวัดศรีณิชย์วนาราม ตำบลท่าอุแท อำเภอ กาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

..

ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น ขอได้โปรดติดตามอ่านฉบับหน้า

หมายเลขบันทึก: 573389เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2014 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2014 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณที่นำเรื่องราวดี ๆ มาแบ่งปันกันจ้ะ

ขอบคุณครับที่แชร์เรื่องที่ละเอียดอ่อนนี้ไป

สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันคือการรับฟังกันด้วยเมตตาจิตครับ

บรรยากาศดีด้วย นะคะ ... ติดเขาด้วย นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท