"กรรม ในกายใน"


             ท่านคงได้ยินคำกล่าวว่า “สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม” คีย์เวิร์ดของประโยคนี่คือ "สัตว์โลกและกรรม" คำว่า “สัตว์โลก” หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหมด หมายเอาทั้งพืชและสัตว์ด้วย แต่ประโยคนี้ น่าจะเน้นเฉพาะสัตว์มนุษย์เท่านั้น เนื่องจากว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการกระทำทั้งหมดให้โลกย่อยยับหรือยุ่งเหยิง คำว่า “โลก” ในที่นี่หมายเอา สังคมโลกมนุษย์

               ถ้าสัตว์มนุษย์กระทำหรือแสดงออกอย่างอิสระในตัวเอง มีกัมมันตะในตัวเองอย่างเอกเทศ นั่นคือ หายนะ ของสังคมโลก เนื่องจากว่า การกระทำหรือการแสดงออกนั้นหาที่สิ้นสุดหรือที่ยุติไม่ได้ เพราะต่างคนก็จะอ้างตัวเองเป็นใหญ่ อ้างสิทธิในการแสดงหรือกระทำเป็นอันดับแรก แล้วถ้าคนหนึ่งล้านคนคิดหรือกระทำเช่นว่านี้ละ สังคมจะเกิดอะไรขึ้น

               ด้วยเหตุนี้ การกระทำจึงต้องมีขอบเขต มีกรอบ มีหลักในการจำเพาะพฤติกรรมของกันไว้ สังคมจึงต้องอาศัยกฎหมาย หลักศีลธรรม ระเบียบ ประเพณี กิริยา มารยาท ฯ เป็นเครื่องกรอง ประคองการกระทำ มิให้ละเมิดคนอื่นจนเกินไป อันจะนำมาซึ่งความวุ่นวายได้ ความเดือดร้อน ความทุกข์ ความรำคาญของคนอื่น คือ ความกดดันหรือความเครียด ที่แต่ละคนจะได้รับ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในด้านลบให้อีกฝ่ายได้

               อนึ่ง การกระทำเช่นนั้นได้ชื่อว่า สร้างผลกระทบต่อตัวเอง ๓ ทางคือ ๑) สร้างพื้นฐานที่ไม่ดีให้กับนิสัยตน จนชินชา เรียกว่า "อุปนิสัย" อันจะก่อผลกระทบต่อพฤิตกรรมตนเองต่อไปข้างหน้า ๒) เสี่ยงต่อการตอบโต้ (ผลสะท้อน) เอาคืนจากฝ่ายที่เดือดร้อน เพราะเขาอาจถือสิทธิส่วนบุคคลตอบโต้ได้ ๓) ผลการกระทำที่ดี และไม่ดี จะถูกสะสมไว้ในจิตสันดาน รอผลสนองต่อไป ๓ กาลคือ ปัจจุบันทันด่วนหรือทันที ผลข้างหน้าในชีวิตนี้ และผลปรโลกหน้า

               หากสืบสาวไปอีกจะพบว่า สัตว์โลก มีผลมาจากการกระทำของคนอื่นและผลของตนผสมผสานมาก่อน จึงตกมาสู่ชีวิตปัจจุบันให้เป็นไป เช่น กรณีพ่อแม่เป็นโรคกรรมพันธุ์ เชื้อพ่อแม่ ย่อมถ่ายเทไปสู่ลูกได้ อันนี้เรียกว่า ผลกรรมทางดีเอ็นเอ หรือกรณีปัจจุบัน พ่อแม่เป็นโรคเอดส์ เชื้อสามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ อันนี้จะโทษใครดี ระหว่าง กรรมของลูกตั้งแต่อดีต กับการกระทำของพ่อแม่ในปัจจุบันที่่ร่วมกันทำ

               ในทางชีววิทยาสัตว์ย่อมเกิดมาจากพ่อแม่ หากพ่อแม่มีเชื้อใด ลูกก็สืบทอดมาอย่างนั้นด้วย ดังนั้น ในตัว ในจิตของพ่อแม่ คือ “เซลล์กรรม” (Cell of Action) ที่สามารถแบ่งให้ลูกได้ เรามักจะเรียกว่า เลือดเนื้อเชื้อไข สันดาน จากพ่อแม่ด้วย นอกจากนั้น พฤติกรรมก็สามารถถ่ายเทไปสู่ลูกหลานได้เช่นกัน เช่น พ่อแม่ชอบดนตรี ชอบศิลปะ ชอบวิชาชีพอย่างใด อย่างหนึ่ง ในขณะลูกก็ซึมซับเอาทุกวัน จนชอบหรือฝังอยู่ในใจของลูกได้ นี่คือ ผลจากกรรมหรือพฤติกรรม ที่ถ่ายทอดกัน

                 ในขณะเดียวกัน เราทุกคนก็สามารถซึมซับเอาสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวไว้ด้วยเช่นกัน เราอาจเคยได้ยินว่า สังคม แวดล้อม ครอบครัว หมู่บ้านเป็นอย่างไร ก็จะสะท้อนออกมาทางผู้อาศัย เช่น คนป่าย่อมมีพฤติกรรมแบบหนึ่ง คนเมืองก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ชน ชั้น วรรณะ สถาบัน ฯ จึงสามารถหล่อหลอม ย้อมใจ ย้อมพฤติกรรม ให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมนั้นๆ


                 ดังนั้น สัตว์โลก ย่อมถูกหล่อหลอมจากหลายทาง กล่าวคือ ตัวเอง พ่อแม่ ครอบครัว หมู่บ้าน สังคม สิ่งแวดล้อม  ฯ ทั้งนี้มาจากการรับรู้ การกระทำ ที่ซ้ำๆ ซาก จนฝังเป็นภาพไอคอน ในสมอง จนกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมแตกต่างกันไป เมื่อกรอบการดำรงชีวิตติดอยู่ในกรอบโลกกลมๆ ใบนี้ สัว์โลกจึงหลีกหนีหรือหลบเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างกรรมร่วมกันและมีผลต่อกลุ่มกันเอง 

                เราจึงเห็นบ่อยๆ ว่า มนุษย์หรือสัตว์ ตายกันเป็นกลุ่มๆ เป็นจำนวนมากๆ เนื่องมาจากผลกลไกของกรรมที่กระทำร่วมกันหรือสภาพแวดล้อมที่เราสร้างไว้ จนนำไปสู่โศกนาฎกรรมหลายๆชีวิต มองในแง่กลไก เพราะเครื่องยนต์ชำรุด หรือเพราะการกระทำของมนุษย์ประมาท ทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างเป็นองค์ประกอบไปสู่การสร้างผลเสียร่วมกันทั้งสิ้น นี่คือ เรื่องที่คนรุ่นใหม่หรือยุคใหม่ไม่เชื่อกัน

               มองในแง่เหตุ ไปหาผล แน่นอน กลไก สาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์เอง ส่วนระบบธรรมชาติ เป็นกลไกอันบริสุทธิ์ ที่สัตว์โลกต้องเรียนรู้และหาทางหลบเลี่ยงเอง ต้องแสดงแบบแผนการป้องกัน การคิดอย่างรอบคอบ รอบด้านเอง หากไม่เรียนรู้เช่นนั้น ก็สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า สัตว์โลกไม่กระทำหรือไม่แสดงออกต่อสวัสดิภาพของตนเอง จึงปล่อยไปตามยถากรรม คือ ไม่คิดหาทางหลบเลี่ยง

                 จากหลักการและเหตุผลที่กล่าวนั้น สะท้อนให้เห็นว่า “การกระทำ” (Action) คือ กลไกหลักในการตอบสนองโลก และสิ่งแวดล้อม ให้ถูกต้องตามกลไกของธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเส้นทางกฏของธรรมชาติให้มากที่สุด การกระทำของระบบธรรมชาติที่ว่านี้ ยังสะท้อนออกมาในรูปของชีวิตด้วย กล่าวคือ สัตว์โลกทุกชนิด ย่อมมีกลไกการตอบสนอง การต้านทาน การป้องกัน การสร้าง การซ่อม ในตัวเองอยู่ตลอด การกระทำหรือการแสดงออกเช่นนี้ถือว่า เป็นการกระทำภายในตน เพื่อดำรงชีวิตให้รอด เรียกว่า “กัมมันตะ” ในตัวเอง

                 กระบวนการดังกล่าวนี้ คือ ร่างกายของเราเอง ที่มีระบบการกระทำหรือการแสดงออกอย่างน่าทึ่ง ที่สร้างกระบวนการกรรมภายในกาย เรียกว่า “กรรมในกายใน” (Act in Body) หมายความว่า การกระทำที่ร่างกายจัดสรร บริหาร จัดการตัวเอง ภายใน จนเกิดประสิทธิภาพให้ร่างกายแสดงออกมา ๓ ทางคือ ทางกายกรรม (ฺBody’s action) ทางวาทกกรรม (Speech’s action) และทางจิตกรรม (Mind’s action) ซึ่งมีดังนี้

                ๑) ในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาต้องมีวิญญาณหรือจิตมาจุติ จิตนี้มีเจตนำนง ที่ห่อหุ้มด้วยผลกรรม (Result) จากอดีตด้วยส่วนหนึ่ง มาสิงสู่ในครรภ์ แล้วพัฒนามาเป็นรูปร่างมนุษย์ นี่คือ แรงขับเคลื่อนเจตจำนงในการกำเนิด เรียกว่า “แรงส่งแห่งเจตจำนง” (Will’s action)

                ๒) มนุษย์เกิดมา ย่อมมีกลไกในการสร้างพลังขับเคลื่อนให้ร่างกายอยู่รอด การจะทำให้กายอยู่รอดต้องอาศัย “หัวใจ” (Heart)  เพื่อทำหน้าที่สูบเลือดไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ให้ได้เลือดอย่างสมส่วนและพอเพียง เหมือนคอมพ์ที่ต้องการกระแสไฟไปหล่อเลี้ยง 

                 ๓) ในการดำรงชีวิต ต้องอาศัยลมเป็นเครื่องเจือจานในเลือดของร่างกาย เพื่อให้เกิดการไหลเวียนที่บริสุทธิ์ เพื่อทำปฏิกิริยาให้อากาศไปจัดการเลือดไหลเวียนไปทุกเซลล์ได้ “ปอด” (Lung) จึงเป็นเครื่องเร่งการทำงานให้ร่างกายสมบูรณ์แบบ เหมือนน้ำที่ขาดอ๊อกซิเจน สัตว์น้ำย่อมจะหายใจลำบาก

                 ๔) “สมอง” (Brain) คือ ส่วนที่เก็บรวบรวมข้อมูล ข่าวสารต่างๆ เอาไว้ และยังทำงานในการควบคุมจัดการทุกระบบของร่างกายให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุด นอกจากนั้น สมองนี้เองคือ แหล่งในการจัดสรรพฤติกรรม จ่ายแรงเจตนา จ่ายน้ำหนัก เบาของการกระทำภายนอก (กาย วาจา) ด้วย

                 ๕) ต่อมา การทำงานของร่างกายทั่วไป ต้องอาศัยการประสาน ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นหลักคือ “ชีพจร” (Pulse) ที่ทำหน้าที่ขับไล่น้ำเลือด ตามจังหวะของหัวใจ จะเรียกว่า หัวใจน้อยก็ได้ นี่คือ กระบวนการหนึ่งในการสร้างกัมมันตะในตัวเอง จนสามารถรักษาร่างกายให้คงอยู่ได้

                ๖) ในร่างกายของเราเต็มไปด้วยเซลล์ประสาททั้งหมด เมื่อเราแทงเราจะรู้สึกได้ทั่วร่างกาย “ระบบประสาท” (Nerves) คือ ระบบการทำงานที่เชื่อมโยงกับของสมอง อวัยวะ และไขสันหลัง ทั้งหมดจะทำงานสื่อสาร ประสานกันอย่างเป็นเอกเทศที่สุด ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองเจตนาของเจ้าของชีวิตนั่นเอง

                  ๗) ร่างกายที่ก่อรูปตามแบบของดีเอ็นเอ ในสายพันธุ์มนุษย์ จึงมีรูปร่างหน้าตา แขน ขา เท้า ลำตัว ศีรษะ (Parts) เป็นเครื่องบ่งบอก อวัยวะเหล่านี้ จะทำหน้าเหมือนเป็นผู้ช่วยผู้ทำงานด้านในอีกที เมื่อสมองสั่งให้กายเคลื่อนไหว เท้าคือ ผู้ที่ต้องสนองการทำงานนี้ทันที ส่วนอื่นๆ ก็เช่นกัน

                  ๘) “การพูด” (Speaking) คือ การสื่อสารของร่างกาย ที่แสดงผ่านทางปาก โดยอาศัยภาษาที่เรียนรู้เป็นเครื่องสื่อนัยออกมาข้างนอก การพูด คือ การแสดงออก หรือการกระทำของเจตนาหรือความเคยชินอย่างหนึ่ง การพูด ยังแสดงออกถึงพลังอำนาจในการสั่งให้สิ่งของ คนอื่นเคลื่อนไหวได้ เช่น นานก. สั่งให้นายข.มาหา เจ้านายสั่งเลขามาพบ หรือการพูดด่าคนอื่น ก็ถือว่า เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง เป็นต้น 

                  ๙) “จิต” คือ ผลผลึกหรือผลรวมทั้งหมดที่สมองได้ข้อมูลมา แล้วคัด ตัด เสริม สร้าง ต้าน ตอบ สั่งการ จากการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมด จนสรุปลงมาเป็นผลงานเรียกว่า “จิต” จิตจึงเป็นกระบวนการต้น หรือเป็นแก่นของชีวิตหรือร่างกายที่สามารถขับเคลื่อน ชี้นำให้ไปตามที่จิตกำหนดไว้แล้ว นี่คือ การกระทำของจิตซึ่งมีลักษณาการต่างๆ เช่น โกรธ เศร้า สุข เฉยๆ 

                   ๑๐) “มวลกาย” หมายความว่า ชีวิตต้องมีร่างกายแบบสสาร ที่เป็นรูปธรรม ที่ประกอบมาจากธาตุต่างๆ ประกอบเป็นรูปร่างของมนุษย์ขึ้นมา ซึ่งจะกลายเป็นฐานให้เกิดการกระทำต่างๆ เช่น ยืน ดิน วิ่ง นอน  พูด คิด จนกระทั่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฯ ล้วนต้องอาศัยมวลกายทั้งหมดนี้ เป็นตัวกำหนดให้เกิดการกระทำขึ้นมา โดยผลลัพธ์จะลงที่มวลกายนี้ก่อน จากนั้นจึงถ่ายเทไปสู่จิตด้วย


                  ดังนั้น นี่คือ การกระทำหรือการสร้างกัมมันตะในตัวร่างกายเอง ซึ่งดูเหมือนมันจะทำงานเองโดยอัตโนมัติด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาศัยการตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ อาศัยปัญญา ฯ ของการฝึกฝนของมนุษย์อีกขั้น แล้วถ้ามนุษย์ขาดการคิดวิเคราะห์ ขาดปัญญา หลงง่าย เชื่อง่าย หรือเพราะฤทธิ์ของกิเลส ตัณหา ยาเสพติดละ เขาจะเป็นอย่างไร คำตอบคือ เป็นไปตามการกระทำภายในและภายนอกกำหนดเอง 

                 ด้วยเหตุนี้ มนุษย์และสัตว์โลก จึงตกอยู่กรอบกรรม (การกระทำ) ดังที่กล่าวมานี้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่า สังคมใดจะสร้างกลไก เส้นทาง วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนวิถี ฯ ขึ้นมาเป็นแบบแผนให้ดำเนินไปตามนั้น การกระทำเช่นนั้น ก็ถือว่า เป็นไปตามเส้นกรรมที่กำหนดไว้แล้วเช่นกัน ในขณะเดียวกันร่างกายยังสร้างกรรม (กระทำ) ภายในแบบสากลไปตามระบบกลไกของโลกคือ แรงโน้มถ่วง และกาลเวลาเสมอ จนสิ้นอายุไขไป

                 ส่วนผลจากการกระทำทั้งสองที่กล่าวนี้ ย่อมแตกต่างกันไป โดยทั่วไปย่อมได้อานิสงส์ทั้งสองคือ ด้านกรรมดี กรรมไม่ดี เช่น ถ้าพ่อแม่ดูแลตัวเองดี ไม่มีโรค ผลก็จะตกอยู่ที่ลูก ในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน ในสังคมใด หากสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร มีแนวโน้มที่พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์จะคล้อยไปตามนั้น เหมือน จิ้งจก นก กิ้งกา ปลา หรือพืช ปรับตัวเองไปตามสภาพที่อาศัย พฤติกรรมของสัตว์ก็เช่นกัน

                 ผลอีกอย่างที่ถือว่า หนักแน่นและแน่นอนคือ ผลทางเจตนาหรือเจตจำนง ที่มีแรงกรรมมากหรือมีน้ำหนัก ย่อมส่งผลต่อผู้คนแรงด้วย เช่น การที่นายเกม ฆ่าข่มขืนน้องแก้ม ผลมีหลายองค์ประกอบที่สนับสนุนให้ได้รับผลที่ตนทำ เริ่มตั้งแต่ชีวิต ร่ายกาย จิตใจ วิถีชีวิต กฎหมาย กฎระเบียบรถไฟ สื่อสาร (โชเชี่ยลมิเดีย) กระทบกระเทือนไปหมด นี่คือ “ปัจเจกกัมมันตะ” ที่สะท้อนออกมาสังคมภายนอก แล้วเขาก็ถูกจับ หมดอิสรภาพ หมดเสรีกรรมที่จะกระทำใดๆ ด้วยตัวเองอย่างอิสระต่อไปได้ มีแต่รอรับผลของกรรมตนอย่างเดียว

                ฉะนั้น เรื่องกรรมนี้ เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง เราอาจไม่เชื่อหรือเชื่อมั่นตนเองว่า ไม่ได้ทำกรรม อย่าลืมว่า “กรรมในกาย” (Act in Body) ยังคงมีต่อเราอยู่ตลอดเวลา มันอาจหยุดทำกรรมภายในได้ทันทีก็ได้ (ตาย) อยู่ที่ว่า เราจะมีปัญญา มีบุญผล มีสามัญธรรม ที่จะช่วยให้รู้ตัวดีแค่ไหนหรือจะประมาทไปหรือไม่ เท่านั้น

———————-(๒๕/๗/๕๗)————————-

คำสำคัญ (Tags): #กรรมใน
หมายเลขบันทึก: 573243เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2014 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท