แนวโน้มการปกครองท้องถิ่นไทยในอนาคต (ช่วง 2540)


แนวโน้มการปกครองท้องถิ่นไทยในอนาคต (ช่วง 2540)

14 กรกฎาคม 2557

*** รายงานฉบับนี้ศึกษาช่วงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ (ก่อน พ.ศ. ๒๕๕๐)

ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 16 ฉบับโดยมีเพียง 6 ฉบับเท่านั้นที่บัญญัติถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ฉบับปัจจุบันนี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่นไว้มากที่สุด โดยได้บัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจไว้ในมาตราที่ 78 และยังได้แยกหมวดที่ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นโดยเฉพาะไว้อีกหมวดหนึ่งจำนวน 9 มาตราแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและความเท่าเทียมในเรื่องการปกครองท้องถิ่นไม่น้อยกว่าหมวดอื่นๆและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้ส่งผลให้การปกครองท้องถิ่นไทยมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านหลังจากบังคับใช้มา 5 ปีและยังจะส่งผลต่อไปในอนาคตในหลายประเด็นดังนี้

1. รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540ประเทศไทยมีการปกครองท้องถิ่นทั้งสิ้น 6 รูปแบบ คือ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาผลของมาตรา 285 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งหมายความว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องมีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นฝ่ายสภาเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร แต่ด้วยสุขาภิบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่โครงสร้างภายในใช้รูปแบบคณะกรรมการซึ่งไม่มีการแบ่งแยกอำนาจกันระหว่างนิติบัญญัติและบริหาร ดังนั้นรัฐสภาจึงได้ออกกฎหมายยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบลเมื่อ พ.ศ.2542 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญจึงส่งผลให้ประเทศไทยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ 5 รูปแบบนับแต่ปี พ.ศ. 2542


2. โครงสร้างภายในขององค์กรปกครองท้องถิ่น

มาตรา 285 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นอกจากจะกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ในสาระสำคัญยังกำหนดให้สภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือมาจากมติของสภาท้องถิ่น และให้สภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมีวาระ 4 ปี ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในและที่มาของสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในหลายประการคือ

(1) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างองค์การบริหารส่วนตำบลโครงสร้างขององค์กรบริหารส่วนตำบลก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 นั้นได้แบ่งเป็นฝ่ายสภาและคณะผู้บริหารอยู่แล้วแต่ที่มาของฝ่ายสภาและคณะผู้บริหารบางส่วนนั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นโดยตำแหน่ง ดังนั้นจึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญดังที่อธิบายไว้ข้างต้น นอกจากนี้การที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงได้นั้น จึงได้มีการเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่กำหนดให้ฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

(2) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงจากประชาชนนอกจากจะมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเช่นกัน ซึ่งองค์กรสำคัญที่ผลักดันเรื่องนี้คือสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้ร่างกฎหมายที่กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนได้เข้าสู่รัฐสภาแล้วหากรัฐสภาผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็จะส่งผลให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นกัน

(3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างเทศบาลเทศบาลนอกจากจะมีจำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 149 แห่งเป็น 1,129 แห่งเพราะการยกฐานะของสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลตำบลแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่มาของฝ่ายบริหารอีกด้วย กล่าวคือได้มีการผลักดันจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และในที่สุดรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวในปี พ.ศ.2543 โดยกำหนดให้เทศบาลแต่ละแห่งหากต้องการจะเปลี่ยนแปลงที่มาของฝ่ายบริหารให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เทศบาลนั้นต้องทำประชามติสอบถามความต้องการของประชาชน 1 ปีก่อนที่เทศบาลจะหมดวาระโดยบทบัญญัตินี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550แต่ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายเทศบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ดังกล่าวได้กำหนดให้เทศบาลนครและเทศบาลเมืองใดที่หมดวาระหลังการประกาศใช้กฎหมายนี้สามารถทำการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงจากประชาชนได้เลยโดยไม่ต้องทำประชามติ และขณะนี้ได้มีเทศบาลที่หมดวาระและเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงจากประชาชนแล้ว 14 แห่ง ดังนั้นขณะนี้เทศบาลจึงมีที่มาของฝ่ายบริหาร 2 ประเภทคือ หนึ่งมาจากมติของสภาเทศบาลและสองมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในเขตเทศบาล

แต่การเปิดโอกาสให้เทศบาลสามารถเลือกผู้บริหารโดยตรงจากประชาชนได้นั้น ขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นแล้วอย่างน้อย 2 เทศบาล แห่งแรกคือเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยองโดยฝ่ายนายกเทศมนตรีและฝ่ายสภาเทศบาล ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนเป็นคนละทีมกันและด้วยช่องว่างทางกฎหมายทำให้ฝ่ายสภาเทศบาลไม่ยอมประชุมสภาทำให้ฝ่ายนายกเทศมนตรีไม่สามารถแถลงนโยบายก่อนเข้ารับตำแหน่งได้ ส่งผลให้นายกเทศมนตรีไม่สามารถเข้าบริหารงานได้ สภาพการณ์เช่นนี้ดำเนินอยู่เกือบหนึ่งปีและในที่สุดกระทรวงมหาดไทยจึงประกาศยุบสภาเทศบาลดังกล่าวมีผลให้นายกเทศมนตรีและสภาเทศบาลต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยกันและต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ขณะเดียวกันสภาพการณ์ที่ฝ่ายสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีมาจากคนละทีมและสภาเทศบาลไม่ยอมประชุมเพื่อให้นายกเทศมนตรีแถลงนโยบายนี้กำลังเกิดขึ้นที่เทศบาลเมืองบ้านพรุ จังหวังสงขลาอีกด้วยสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่มีมาตรการบังคับสมาชิกสภาให้มาประชุมครบองค์หรือไม่ได้ให้อำนาจนายกเทศมนตรีสามารถเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเทศบาลกรณีใดก็ได้หากเห็นว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากสภาเทศบาล ไม่จำเป็นต้องเสนอยุบสภาเทศบาลได้เฉพาะกรณีที่ร่างงบประมาณไม่ผ่านสภาเทศบาลปัญหาดังกล่าวนี้ควรที่จะต้องมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต

(4) การเปลี่ยนแปลงในเมืองพัทยาเมืองพัทยาก่อนมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีโครงสร้างภายในแบบ สภา – ผู้จัดการโดยสภาเมืองพัทยามีสมาชิก 17 คน เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตเมืองพัทยา 8 คนและมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีก 7 คน และมีผู้จัดการซึ่งเรียกว่าปลัดเมืองพัทยามาจากการทำสัญญาว่าจ้างโดยสภาเมืองพัทยาเพื่อมาทำหน้าที่บริหารเมืองพัทยาตามนโยบายของสภาเมืองพัทยาจะเห็นว่าโครงสร้างของเมืองพัทยาขัดรัฐธรรมนูญอยู่หลายประเด็น ทั้งไม่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสภาและฝ่ายบริหารสมาชิกสภาบางส่วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดังนั้นรัฐสภาจึงแก้กฎหมายเมืองพัทยาให้มีโครงสร้างที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญคือให้มีสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่มาจากการเลือกตั้ง 24 คน และมีนายกเมืองพัทยาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน


3. ภารกิจหน้าที่และรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในส่วนของภารกิจหน้าที่นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติสาระที่เกี่ยวข้องไว้ในมาตรา 284 โดยได้กำหนดให้มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้มีคณะกรรมการไตรภาคีคณะหนึ่งมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งหรือจัดสรรอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและรายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเองซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ตราขึ้นและประกาศใช้ในปี พ.ศ.2542 ซึ่งกฎหมายนี้ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นไว้อย่างกว้างขวางโดยกำหนดให้ เทศบาล อบต.และเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ถึง 31 อย่างและกำหนดให้ อบจ. มีอำนาจหน้าที่ถึง 29 อย่างนอกจากนี้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ยังกำหนดให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดกรอบของงานและระยะเวลาที่ชัดเจนในการถ่ายโอนงานจากรัฐไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแผนปฏิบัติการนี้ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยและรายงานต่อรัฐสภาไปเมื่อปลายปี พ.ศ.2544 โดยแผนปฏิบัติการนี้ได้จัดแบ่งภารกิจที่รัฐต้องถ่ายโอนให้ท้องถิ่นออกเป็น 6 ด้าน จำนวน 245 เรื่องเป็นภารกิจที่ถ่ายโอนจากส่วนราชการ 50 กรมใน 11 กระทรวงซึ่งต้องถ่ายโอนให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีแต่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดยังไม่พร้อมที่จะรับการถ่ายโอนภายใน 4 ปี ให้ดำเนินการถ่ายโอนให้เสร็จภายใน 10 ปี

นอกจากการจัดสรรภารกิจหน้าที่แล้วพระราชบัญญัติกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ยังกำหนดให้รัฐต้องจัดสรรรายได้หรือภาษีและอากรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2544และเป็นร้อยละ 35 ภายในปี พ.ศ.2549

ข้อบัญญัติในมาตรา 284 ในรัฐธรรมนูญส่งผลให้ภารกิจและรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต


4. การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติถึงการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าต้องคำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นโดยให้มีคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีผู้แทนจากหลายฝ่ายเป็นผู้กำกับดูแลและเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรัฐสภาได้ตรากฎหมายระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ.2542 ขึ้นกฎหมายนี้ก่อให้เกิดคณะกรรมการเพื่อดูแลการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือนและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ระดับคือ หนึ่งระดับชาติซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางของทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สองคณะกรรมการกลางซึ่งดูแลบุคลากรแต่ละประเภทท้องถิ่น และสามคณะกรรมการจังหวัดเพื่อดูแลบุคลากรในจังหวัดจะเห็นว่าเรื่องการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นได้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะจากเดิมที่งานบุคลากรท้องถิ่นเป็นงานฝากอย่างหนึ่งของกรมการปกครอง และอาจกล่าวได้ว่าบุคลากรประจำทั้งหมดของท้องถิ่นเป็นคนของกรมการปกครองการกำหนดตำแหน่งการจัดการสอบคัดเลือกการเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือนอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมการปกครอง บุคลากรท้องถิ่นสามารถโยกย้ายไปอยู่ท้องถิ่นใดก็ได้ขึ้นอยู่กับกรมการปกครองซึ่งขัดกับหลักการของบุคลากรของท้องถิ่นที่ว่าเกิดที่ไหนตายที่นั่นซึ่งเป็นหลักที่ทำให้พนักงานท้องถิ่นรักและทุ่มเทให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองสังกัดอย่างเต็มที่ซึ่งต่างจากระบบในอดีตที่พนักงานท้องถิ่นสามารถย้ายไปที่ไหนก็ได้เพื่อให้ตนเองมีตำแหน่งสูงขึ้นดังนั้นบางท้องถิ่นจึงอาจเป็นเพียงทางผ่านเพื่อมากินตำแหน่งที่สูงขึ้นเท่านั้น

จะเห็นว่าในอนาคตระบบการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นจะมีอิสระจากกรมการปกครองมากขึ้นท้องถิ่นสามารถกำหนดและคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะกับท้องถิ่นเองได้มากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับหลักการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น


5. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการปกครองท้องถิ่นถึง 2 มาตรา คือ

(1) มาตรา 286 ที่เปิดช่องให้ประชาชนสามในสี่ของจำนวนประชาชนที่มาลงคะแนนที่มาใช้สิทธิสามารถลงมติเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเห็นว่าไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่ง แม้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการถอดถอนดังกล่าวจะประกาศใช้มากว่า 3 ปีแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2542แต่ก็ยังไม่เคยมีท้องถิ่นใดได้ทำการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเลย จุดนี้นักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ในการถอดถอนนั้นปฏิบัติได้ยากเพราะกฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องมาใช้สิทธิลงมติมากกว่ากึ่งหรือมากกว่าร้อยละห้าสิบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสามในสี่ของร้อยละห้าสิบดังกล่าวจึงจะถอดถอนได้ หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้แนวโน้มที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองว่าด้วยการถอดถอนคงเกิดขึ้นได้ยาก

(2) มาตรา 287 เป็นมาตราที่เปิดโอกาสให้ประชาชนจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อประธานสภาท้องถิ่น ในประเด็นนี้นักวิเคราะห์หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับมาตรา 286คือการตั้งเกณฑ์ของจำนวนประชาชนเพื่อริเริ่มกิจกรรมของท้องถิ่นเช่นการเสนอร่างกฎหมายที่สูงมากเช่นนี้ทำให้เป็นการยากที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ปัญหาดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นจริงๆ ก็คงเป็นการยากและคงอีกนานกว่าที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 287 นี้


อ้างอิง


http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/content/th/290/4103.doc

(หน้า ๖๓ – ๗๐)

สมคิด เลิศไพฑูรย์, การกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 15.

โกวิทย์ พวงงาม, การปกครองท้องถิ่นไทย หลักการและมิติใหม่ในอนาคต (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2544), หน้า 104.

อรรถ แพทยังกุล, “ปัญหาและอุปสรรคของการบริหารกรุงเทพมหานคร" ใน การบริหารเมือง: กรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ: โครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร สาขาบริหารรัฐกิจ (EPA) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 27.

ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ.2440 – 2540 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2540), หน้า 196 – 197.

สมคิด เลิศไพฑูรย์, การกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542, หน้า 19.

สมคิด เลิศไพฑูรย์, “การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540" ใน นรนิติ เศรษฐบุตร: 60 ปี กีรตยาจารย์ เล่มหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการปกครองท้องถิ่น (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 95.

ศูนย์ข้อมูลส่วนท้องถิ่น,กระทรวงมหาดไทย.“การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ" www.local.moi.go.th

เอนก เหล่าธรรมทัศน์, เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น ปัญหาการเมืองการปกครองระดับชาติที่มีสาเหตุมาจากการปกครองท้องถิ่นที่ไม่พอเพียง (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543), หน้า 7.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “การเมืองการปกครองท้องถิ่นของเทศบาลไทย: วิเคราะห์โครงสร้างภายนอก และปัญหาแวดล้อมบางประการ" ใน วารสารธรรมศาสตร์25: 3 (กันยายน – ธันวาคม, 2542), หน้า 51 – 82.

เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่http://www.ocsc.go.th

เว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย ที่www.local.moi.go.th/menu4.htm

หมายเลขบันทึก: 572484เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2014 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท