ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_13 : การสอนส่งเสริมการคิดด้วย PBL บนฐานปัญหาชีวิตจริง (๒)


บันทึกที่ ๑ ...

ผม เขียนประสบการณ์ทำงานขับเคลื่อน PLC เพื่อพัฒนาครู ๑๒ โรงเรียน ในเขตพื้นที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต ๑ แบบตรงไปตรงมา เขียนในสิ่งที่ "เห็น" และ "เชื่อว่าเป็น" ด้วยความมุ่งมั่นว่า น่าจะมีประโยชน์กว่า "งานวิจัยเชิงปริมาณ" (แบบระเบียบวิธีวิจัยตะวันตก ทำให้เจตคติเกี่ยวกับ "การวิจัย" ซึ่งควรจะ "ง่าย และทำให้มีความสุขกับการพัฒนา" กลายเป็นเรื่อง "ทุกข์" และ "ยาก" ไม่อยากทำไปในปัจจุบัน) บันทึกนี้เป็นสรุปผลการ KM ที่เห็นจากการทำงานตลอด ๔ เดือนกับ สพป.กส.๑

ในรายงานฉบับสมบูรณ์ (ดาวโหลดที่นี่) ผมสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไขจากมุมมองของทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน จากบุคลากรจากเขตการศึกษา และจากข้อค้นพบของผู้วิจัย (ผมและอาจารย์มหาวิทยาลัยอีก ๓ ท่าน) โดยใช้กรอบกระบวนการในการพัฒนาครู ๕ ประการ ดังที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ตอนต้น ได้แก่

  • ๑) ผู้อำนวยการใช้กระบวนการเชิงราบ
  • ๒) นิเทศแบบกัลยาณมิตร Coaching, Mentoring, Counseling แบบตามติดต่อเนื่อง
  • ๓) ครูใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน
  • ๔) เน้นกระบวนการเรียนรู้ และ
  • ๕) การทำงานเป็นทีม สร้างชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community) หรือ PLC สรุปได้ดังนี้

ผู้อำนวยการใช้กระบวนการเชิงราบ

๑) ผู้บริหารและบุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษาสะท้อนปัญหาการมาสายและการไม่สอนของครูในขณะที่ครูสะท้อนว่าผู้บริหารก็มีปัญหาเดียวกัน ผู้บริหารต้องการให้ครูประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียน ในขณะที่ครูต้องการให้ผู้บริหารประพฤติตนเป็นแบบอย่างต่อตนเองเช่นกัน ปัญหานี้อาจเกิดในระบบการทำงานเชิงดิ่งแบบสั่งการ และมอบหมายหน้าที่ตามตัวชี้วัด โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและร่วมกันกำหนดวิธีการดำเนินการเท่าที่ควร

๒) ผู้บริหาร และบุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษามีความเห็นแตกต่างกันในระดับความรุนแรงของแต่ละปัญหา ตัวอย่างเช่น หลายท่านเห็นว่าปัญหาการมาสายเป็นปัญหาระดับไม่รุนแรง แต่หลายท่านเห็นว่าเป็นปัญหารุนแรง และมีอีกบางท่านที่เห็นว่ารุนแรงมาก แสดงถึงความไม่มีเอกภาพในด้านเป้าหมายหรือลำดับความสำคัญของเป้าหมายในการพัฒนาครูร่วมกัน

๓) ผู้บริหารและบุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษามีความเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนานักเรียนคือ ครูไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนและไม่เตรียมการสอน ในขณะที่ครูสะท้อนว่าภาระงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบมีมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทให้งานสอนและดูแลนักเรียนได้เต็มที่ สะท้อนถึงความไม่สมดุลของศักยภาพ ความยากง่าย และปริมาณงาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการบูรณาการและการทำงานเชิงราบ

๔) บางโรงเรียนมีวัฒนธรรมการทำงานแบบเชิงราบอยู่แล้วขึ้นอยู่กับบุคลิกและวิธีการทำงานของผู้บริหาร


นิเทศแบบกัลยาณมิตร

๑) ครูต้องการแรงจูงใจ และกำลังใจ ต้องการการเสริมแรงด้านบวกจากผู้บริหารและศึกษานิเทศก์

๒) ทั้งผู้บริหาร และครู เห็นตรงกันว่า ควรมีการนิเทศภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดย เฉพาะการนิเทศการเรียนและการสอน

๓) โรงเรียนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน แต่กิจกรรมความร่วมมือเป็นด้านการสนับสนุนงบประมาณมากกว่าด้านกิจกรรมการเรียนรู้

๔) ครูต้องการให้บุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษานำสิ่งใหม่ๆ มาแนะนำ เช่น สื่อนวัตกรรม เทคนิคการสอนใหม่ๆ

๕) ผู้บริหาร บุคลากรของเขตพื้นที่การศึกษา และครู มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างยิ่ง

๖) โรงเรียนมีความพึงพอใจต่อการทำงานของบุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษาด้านการนิเทศดูแล


ด้านการใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการพัฒนานักเรียน

๑) ครูมองว่าตนเองควรจะทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ปรับพฤติกรรมเป็นกัลยาณมิตรกับนักเรียน ดูแลนักเรียนรายบุคคล เตรียมการสอนและมีแผนการสอน และจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่างๆ

๒) ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่ตั้งใจเรียน หนีเรียน

๓) นักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เคารพครู กริยาไม่อ่อนน้อมถ่อมตน

๔) ผู้บริหารและเพื่อนครู เห็นว่าครูยังขาดจิตวิทยาการสอน เช่น การพูดจาไม่สุภาพ ดุด่า ด่าทอนักเรียน และทำโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขด่วน

๕) ครูยังไม่ได้นำหลักด้านจิตวิทยาการเรียนรู้มาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนอย่างจริงจัง

๖) การเตรียมความพร้อมนักเรียนด้วยการทำสมาธิ ทำบุญ บำเพ็ญประโยชน์ ยังไม่มีการนำกระบวนการพัฒนานักเรียนจากภายใน เช่น จิตศึกษา จิตปัญญาศึกษา มาใช้


ด้านจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการ

๑) ผู้บริหารและบุคลากรจากเขตพื้นที่การศึกษา เห็นร่วมกันว่า ปัญหาเร่งด่วนของครูคือ ไม่ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่มีสื่อ ไม่มีเทคนิคการสอน และไม่พัฒนาตนเอง

๒) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง

๓) การจัดการเรียนการสอนของครูยังเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาโดยยึดเนื้อหาตามหลักสูตร


ด้านการทำงานเป็นทีม และการสร้าง PLC

๑) การทำงานของครูยังเป็นแบบสอนเดี่ยว ทำงานแบบเดี่ยว ประเมินเดี่ยว กระบวนการทำงานเป็นทีมของครู หรือ PLC_ครู ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน

๒) ยังไม่มีกระบวนประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร่วมกันระหว่างโรงเรียน ยกเว้นการทดสอบจากส่วนกลาง เช่น O-Net ฯลฯ

๓) มีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและผู้ปกครอง แต่โดยมากเป็นลักษณะความร่วมมือด้านทรัพยากรสนับสนุน ยังไม่พบกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน


ข้อเสนอแนะ

ผมมีข้อสังเกตประการสำคัญคือ ในขั้นตอนการพัฒนาครู ได้รับผลสะท้อนจากครูว่า ได้เรียนรู้แนวทางและวิธีการต่างๆ ในการพัฒนานักเรียน แต่เมื่อไปนิเทศติดตามพบว่า ครูไม่ได้นำกลับไปใช้มากนัก แสดงว่าต้องมีข้อจำกัดบางประการ หรือสาเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ครูไม่สามารถนำไปใช้ได้

ผมมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาครู ดังนี้

๑) พัฒนาต่อเนื่องใน ๕ ประเด็นคือ การบริหารเชิงราบ การนิเทศแบบกัลยาณมิตร การใช้จิตวิทยาเชิงบวก การสอนเน้นทักษะและกระบวนการ และการสร้าง PLC เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

๒) พัฒนาให้มีระบบนิเทศภายในโรงเรียน โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอน

๓) พัฒนาให้มีระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติ โดยให้เป็นหน้าที่ของ PLC ซึ่งต้องมีครูเป็นผู้ออกข้อสอบ

๔) จัดให้มีเวทีถอดบทเรียนครูต้นแบบหรือแนวปฏิบัติที่ดี (BP)

๕) ส่งเสริมให้มีระบบพี่เลี้ยงและการนิเทศแบบกับยาณมิตรของพี่เลี้ยง

หมายเลขบันทึก: 572230เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2014 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบทสังเคราะห์ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติที่เป็นเลิศ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท