ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคม


การวางรากฐานของงานวิชาการรับใช้สังคม ต้องการการจัดการที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นการจัดการเชิงรุก ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง ผู้มีความมุ่งมั่นทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ผ่านงานวิชาการสายรับใช้สังคม สามารถคิดสร้างสรรค์และทดลองดำเนินการได้มากกว่าที่เสนอมา

ตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคม

ผมอยากเห็นหลักการเรื่องตำแหน่งวิชาการสายรับใช้สังคม เข้าสู่การปฏิบัติเกิดผลได้จริง ผลที่ว่านี้คือ เกิดแรงจูงใจให้นักวิชาการ ทำงานวิชาการโดยที่โจทย์มาจากฝ่ายผู้ใช้ แล้วมีการเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ สายรับใช้สังคม และเห็นว่า วารสารพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต น่าจะเป็นวารสารเล่มหนึ่งที่ทำหน้าที่นี้ได้

ผลที่แท้จริงคือ สังคมไทยใช้ความรู้และนวัตกรรมในการประกอบการทุกเรื่อง ทุกด้าน

จึงขอเสนอแนะให้ สกอ. สนับสนุนให้มีทีมงานทำงานขับเคลื่อนการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ สายรับใช้สังคม โดยน่าจะมอบหมายให้สถาบันคลังสมองฯ ทำหน้าที่จัดการการขับเคลื่อนนี้

กิจกรรมที่ควรดำเนินการได้แก่

  • การประชุมวิชาการสายรับใช้สังคมประจำปี เชิญผู้มีผลงานเด่นมานำเสนอ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (๑) วิธีหาโจทย์จากฝ่ายผู้ใช้ และวิธี “เหลาโจทย์” ให้แหลมคม ทำให้เป็นทั้งงานพัฒนาและงานวิจัยในขณะเดียวกัน (๒) วิธีดำเนินการวิจัย (๓) วิธีตีพิมพ์เผยแพร่ (๔) วิธีประเมินคุณค่าต่อผู้ใช้ (๕) วิธีทำให้ผลงานมีคุณค่าทางวิชาการ คือนำไปขอตำแหน่งวิชาการได้ (๖) เชิญฝ่าย “ผู้ใช้” มาบอกความต้องการ และความร่วมมือที่จะมีให้ (๗) อื่นๆ

นำประเด็นสำคัญๆ จากการประชุม ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ สายรับใช้สังคม

  • การประชุมปฏิบัติการ ระดมความคิด ในกลุ่ม reader ของผลงานที่ขอตำแหน่งวิชาการ สายรับใช้สังคม (เน้น knowledge application) เพื่อหาทางแยกแยะวิธีการตรวจสอบคุณภาพ ที่แตกต่างจากผลงาน วิชาการสาย “วิชาการพื้นฐาน” (เน้น knowledge discovery) การประชุมแบบนี้ควรจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ และควรจัดอย่างน้อย ปีละ ๒ ครั้ง นำผลของการประชุมลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการรับใช้สังคม
  • ประชุมปฏิบัติการ “ผู้ใช้พบนักวิชาการสายรับใช้สังคม” เพื่อแสวงหาโอกาสของ ความร่วมมือ ผลการประชุมนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสายรับใช้สังคม การประชุมแบบนี้ วารสารวิชาการรับใช้สังคมอาจจัดร่วมกับมหาวิทยาลัย

การวางรากฐานของงานวิชาการรับใช้สังคม ต้องการการจัดการที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นการจัดการเชิงรุก ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง ผู้มีความมุ่งมั่นทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ผ่านงานวิชาการสายรับใช้สังคม สามารถคิดสร้างสรรค์และทดลองดำเนินการได้มากกว่าที่เสนอมา

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 571799เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2014 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2014 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท