วิจัยอย่างไรให้มีคุณภาพและสำเร็จ


ที่นั่งที่มีความสุขที่สุดคือที่นั่งในใจคน

๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗

สมัครเป็นสมาชิก go to know วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หลังจากฟัง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์  กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง วิจัยอย่างไรให้มีคุณภาพและสำเร็จ ที่ตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟังแล้วอยากเล่าต่อ  นอกจากเนื้อหาสาระซึ่งประกอบด้วยหลักการและประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งแล้ว ยังมีวิธีการบรรยายชวนติดตามแทรกเรื่องขำๆ เป็นระยะๆ สมกับที่เป็นอาจารย์หมอของนิสิตแพทย์ทั้งหลาย และเป็นอธิการบดี ผู้บริหารคณาจารย์ชั้นมันสมองของประเทศ

ถ้าจะให้ได้อรรถรสน่าจะถอดเสียงคำบรรยายของอาจารย์เป็นตัวอักษรให้อ่าน หรือโพสต์ไฟล์เสียงมาให้ฟังกันเลยแต่ไม่มีโอกาสที่จะทำได้ทั้งสองทางมีแต่เนื้อหาโดยสรุปมาให้อ่านกันดังนี้

กรอบของการวิจัยมี ๓ ประเด็นคือ

- Why การวิจัยเป็นการสร้างความรู้เพื่อชี้ทิศทาง/นโยบาย/ยุทธศาสตร์ และลดความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย/ที่จะสูญเสียโอกาสในการดำเนินการหรือพัฒนาให้ดีขึ้น/ที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลเสียนอกจากนี้การสอนด้วยกระบวนการวิจัยเป็นการสอนให้ผู้เรียนแสวงหาและสร้างความรู้เอง แทนที่การรับความรู้จากผู้สอนฝ่ายเดียว

- What การกระทำที่เป็นการวิจัยพิจารณาได้จากความสมบูรณ์ของกระบวนการ ความลึกซึ้งของการค้นคว้า และความใหม่ของความรู้ที่ได้

- How การวิจัยอย่างมีคุณภาพ มี ๙ ขั้น คือ

๑. ค้นหาเรื่องที่จะวิจัยได้จากการบริการวิชาการและการจัดการศึกษา ซึ่งกระทำแบบมีสติ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และตัดสินใจ

๒. พิจารณาแง่มุมที่จะทำวิจัย ตามอริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คือ อะไรเป็นปัญหา อะไรเป็นต้นเหตุของปัญหา กลวิธีในการแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหา

๓. พิจารณาความจำเป็นที่จะต้องทำวิจัย โดยศึกษาเอกสาร-วารสาร และแหล่งความรู้ต่างๆ ถ้าความรู้ที่มีอยู่แล้วสามารถตอบปัญหาได้ ก็ไม่ต้องทำวิจัยถ้าความรู้ที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือวิธีการแสวงหาความรู้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงควรทำวิจัย

๔. กำหนดโจทย์หรือคำถามการวิจัยให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นกลุ่มตัวอย่าง ในรูปแบบของสมมติฐาน โจทย์วิจัยจะต้องเป็นประเด็นที่ผู้วิจัยสนใจที่สุด

๕. ดำเนินการวิจัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง การออกแบบการวิจัย การบริหารจัดการ และจริยธรรม

การวิจัยที่สามารถตอบปัญหาของหน่วยงาน ชุมชน และสังคมได้ครบวงจรและมีคุณภาพ จะต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างศาสตร์และระหว่างหน่วยงานการบริหารงานวิจัยจึงมีความสำคัญยิ่งหัวหน้าโครงการวิจัยนอกจากจะต้องทำให้ผู้อื่นเชื่อมั่นในตัวผู้นำแล้ว ยังต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองด้วย โดยอาศัยคุณสมบัติที่สำคัญคือ จักขุมา (conceptual skill) วิธูโร (technical skill) นิสสยสัมปันโน (human relation skill) ที่นั่งที่มีความสุขที่สุดคือที่นั่งในใจคน ผู้นำในใจคนจะทำตัวเสมือนแม่น้ำ ยิ่งแม่น้ำสายใหญ่เท่าไร ต้องทำตนให้ต่ำ รองรับแม่น้ำสายเล็กๆ ที่จะไหลลงแม่น้ำสายใหญ่

การทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น จะต้องให้ผู้ร่วมวิจัยมีส่วนร่วมตัดสินใจและรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเต็มกำลังอย่าถือตัวว่าเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วจะมีความรู้มากกว่าเขา หน่วยงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานจะมีความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่มากกว่า

การเก็บข้อมูลการวิจัยควรใช้หลายๆ วิธี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เช่น ในการสำรวจการใช้มุ้งเคลือบยากันยุงกับการฉีดพ่นยากันยุงในอากาศข้อค้นพบจากแบบสอบถามพบว่าการฉีดพ่นยากันยุงได้ผลดีกว่า แต่เมื่อมีการสังเกตและสัมภาษณ์ประชาชน พบว่า การใช้มุ้งไม่ได้ผล เนื่องจากชาวบ้านไปนอนเฝ้าที่นาแล้วไม่ได้เอามุ้งไป

๖. เขียนโครงร่างการวิจัย โดยแสดงให้เห็นความสำคัญจำเป็นของเรื่องที่จะทำวิจัย (why) วัตถุประสงค์ของการวิจัย (what) และวิธีการวิจัย (why)

๗. สื่อสารผลการวิจัย โดยตอบคำถาม ๖ ข้อ คือ ทำไมต้องทำวิจัย มีวัตถุประสงค์อะไร มีวิธีการอย่างไร ผลการวิจัยเป็นอย่างไร หมายความว่าอย่างไร และมีอะไรใหม่หลักการเขียนบทความมี ๘ ประการ คือ วางกรอบความคิด เขียนต่อเนื่อง-อย่าทิ้งช่วง ใช้ภาษาง่าย
ไม่ยาวเกินไป แสดงให้เห็นจุดแข็ง เขียนเสร็จแล้วทิ้งไว้สอง-สามวันแล้วกลับมาอ่านทวนอีกครั้ง มีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเท่านั้นเลือกวารสารที่เหมาะสม

๘. การประยุกต์ผลการวิจัยไปใช้ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากร พฤติกรรมองค์การ พัฒนาระบบ พัฒนานโยบายสาธารณะ

๙. การต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 571465เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2014 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2014 06:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากให้เป็นผู้ชี้แนะด้านการวิจัยตลอดไป  มีประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท