SEEN มหาสารคาม _๑๓ : ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาดูนประชาสรรพ์ (๓)


บันทึกที่ ๑...
บันทึกที่ ๒...

หากพิจารณาให้ดี จะพบว่า "ความพอเพียง" มีหลายระดับ หากจะพัฒนาสู่ไปสู่ "ความยั่งยืน" ซึ่งเป็นคำสำคัญที่สุดในมิติของผลลัพธ์ในการขับเคลื่อนฯ จะต้อง "ระเบิดจากภายใน" ภายในตน ภายในคน ภายในชุมชน คือ  เป็นคน "รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้คน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้ชุมชน" (ปุริสธรรม ๗ ประการ) เพื่อให้สามารถ "พออยู่ พอกิน พอใช้ พอซื้อ พอขาย พอได้ พอมี พอดี พอให้ พอไป พอมา พอกับเวลาที่มี"  คำว่า "พอ" จึงเป็นเรื่องเฉพาะตน เฉพาะคน เฉพาะชุมชน เช่นกัน ดังนั้น การ "รู้จักตนเอง" จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ "พอประมาณ" ได้ 

ผมขอเสนอให้แยกพิจารณาเพื่อให้รู้จัก "อัตตภาพของตนเอง" หรือ "ตัวตนของตนเอง" ออกเเป็น ๒ ส่วน คือ "ส่วนตน" และ "ส่วนรวม" เพราะเป็นเสมือนต้นทางและปลายทางในการน้อมนำหลักปรัชญามาใช้  กล่าวคือ เมื่อ "พอเพียง" ในประโยชน์ตนแล้ว จะแบ่งปันเอื้อเฟื้อให้กับคนอื่น หรือก็คือประโยชน์ส่วนรวม

ในส่วนประโยชน์ตน ผู้บริหารและครูแกนนำ ควรออกแบบกิจกรรมการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมทั้ง  ๓ ฐานหลัก ได้แก่ ฐานคิด ฐานใจ และฐานกาย หรือ Head, Heart, Hand กล่าวคือ

  • ฐานคิด เช่น ระดมสมอง (Brain Storming), ใช้ผังความคิด (Mind Mapping), สะท้อน (Reflection), ถอดบทเรียน (After Learning Review), อภิปราย (disscussion) ฯลฯ
  • ฐานใจ เช่น เจริญสติ, ฝึกสมาธิ, ปฏิบัติธรรม, สุนทรียสนทนา (Dialouge), ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening), กิจกรรมจิตศึกษา หรือ จิตตปัญญาศึกษา, การสะท้อนความรู้สึก, ศิลปะ, ดนตรี ฯลฯ 
  • ฐานกาย เช่น กิจกรรมชุมนุม, การทำโครงการ, การทำโครงงาน, กีฬา, ทำอาหาร, ทำ Lab ในห้องปฏิบัติการ, กีฬา, การปั้น, งานฝีมือ ฯลฯ

ในส่วนประโยชน์ส่วนรวม อาจพิจารณาแบ่งหน้าที่ของคนออกเป็น ๓ บทบาท ได้แก่ "ผู้นำ ผู้ทำ ผู้ให้"  เพื่อฝึกให้นักเรียนแต่ละคน รู้จักหน้าที่ของตนเอง รับผิดชอบต่อบทบาทที่ตนเองกำหนดนั้น และ ดำรงตนเองให้เป็นผู้แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เป็นที่พึ่งในสิ่งที่ตนเข้าใจ มั่นใจ

  • ผู้นำ โดยสังเกตว่าอะไรที่เรามี "ฉันทะ" ประสบความสำเร็จ ภูมิใจ มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และต้องการจะเปลี่ยนแปลง "ส่วนรวม" ให้ดีขึ้นด้วยตนเอง ฯลฯ กล่าวคือ ผู้นำ ในที่นี้คือ "ผู้บุกเบิก" ควรเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนหลักวิชาการ วิทยาการต่างๆ มีความพากเพียรและกล้าหาญ ที่จะลองผิดลองถูกในการน้อมนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้กับตนเอง  ลักษณะสำคัญของ "ครูแกนนำ" คือ มี "พลัง ๕" (ตามบันทึกที่ ๒)ต่อ ปศพพ. และมี "ความมั่นใจในตนเอง"
  • ผู้ทำ หมายถึง ผู้เรียนรู้และผู้ตาม บทบาทของ "ผู้เรียน" คือผู้ลงมือคิด-ทำด้วยตนเอง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษามาใช้กับตนเอง ให้ความร่วมมือ โดยคำนึงถึงการไม่เบียดเบียนผู้อื่น และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
  • ผู้ให้ คือ ผู้ให้ คงไม่ต้องอธิบายสำหรับคนไทย "ให้" ตั้งแต่ อามิสทาน วิทยาทาน "กรรมทาน" (ช่วยด้วยแรงมือ) เพราะ สังคมไทยเป็นเด่นเป็นอักลัษณ์เรื่อง เอื้อเฟื้อแบ่งปันมาแต่บรรพบุรุษ อย่างไรก็ดี การให้ที่ไม่ดี ไม่มีปัญญา ่ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบตามหลัก ปศพพ. ก็สามารถก่อปัญหาบ้านเมืองได้อย่างที่เป็น...

รู้จักตนเอง

ผมขอให้ทุกคน หลับตา สำรวจใจ แล้วให้ยกมือขึ้นหาก "คิดว่า" ตนเองมีต่อไปนี้

  • ท่านใดที่มั่นใจว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า และจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างยิ่งถ้านำมาปฏิบัติ  ... ผลปรากฎว่า เกือบทุกคนยกมือ ...
  • ท่านใดที่มั่นใจว่าตนเองเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ... ปรากฎว่า ยกมือเพียง ๔-๕ คน ...  ผมอยากเสนอให้ทางโรงเรียนไปค้นภาพหรือวีดีโอที่บันทึกไว้ ใครที่ยกมือตอนนั้น ถือว่ามีความ "มั่นใจในตนเอง" เป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" 
  • ท่านใดที่รู้วิธีการขับเคลื่อนหลัป ปศพพ. ด้านการศึกษา ในสถานศึกษา .... มีคนยกมือประมาณ ๕ คน เช่นกัน.... ลองตามดูจากเทปบันทึก น่าจะเป็นคนเดียวกับที่ยกมือในคำถามที่ ๒ 

คำถามทั้ง ๓ ข้อนี้ สะท้อนระดับของความมั่นใจของกลุ่มเป้าหมายได้ว่า การฝึกอบรมควรเน้นไปที่ความเขาใจ เพื่อเสริมความมั่นใจ ในการขับเคลื่อนฯ

ผมมีความเห็นว่า "ความมั่นใจในตนเอง" เกิดจาก "ความภูมิใจในตนเอง" ซึ่งภูมิใจในตนเองก็ต่อเมื่อ "รู้จักตนเอง" รู้จักตนเองใน ๓ ประเด็น ได้แก่

  • รู้ศรัทธาและปัญญาของตนเอง คือ รู้จักความชอบ ความอยาก ความไม่อยาก ความถนัด ความสามารถ และ รู้จักศักยภาพ หรือขีดจำกัดของตนเอง ... ผมเสนอ ให้ครูแกนนำออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนทำความรู้จักตนเอง ด้วยการตั้งคำถามต่อไปนี้ 
    • กิจกรรมอะไรบ้างที่ทำให้ตนเอง "สนุก"  "สนุกตรงไหน ขั้นตอนใด เพราะเหตุใดจึงสนุก?" 
    • กิจกรรมเหล่านั้น อะไรที่ "ชอบที่สุด" "ชอบเพราะอะไร  ความชอบเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะอะไร?"
    • กิจกรรมหรือสิ่งที่ "ชอบที่สุด"นั้น อะไรที่ "ุถนัด" ทำได้ดี มีผลงานดีเยี่ยม มักทำได้ดีกว่าเพื่อน
    • หาก "ความชอบ" และ "ความถนัด" ตรงกัน สิ่งๆ นั้นมักจะกลายเป็น "ความภูมิใจ" เพราะ "จะมีความรู้ ทำเองได้ คิดต่อยอดได้ และแก้ไขพัฒนาได้" ซึ่งจะนำไปสู่ "ความภูมิใจในตนเองในที่สุด" 
  • รู้จักนิสัยใจคอของตนเอง  รู้ "จริต" ของตนเองว่าแต่ละด้านมากน้อยอย่างไร การรู้จักใจคอของตนเอง จะทำให้รู้จักนิสัยใจคอของคนอื่นไปด้วยพอสมควร ซึ่งจะทำให้ความรู้และทักษะทางมิติสังคมเพิ่มขึ้น "จริต ๖" ได้แก่ 
    • เป็นคนรักสวยรักงาม (ราคะจริต) สะอาด เรียบร้อย เป็นระเบียบ ชอบแต่งองค์ทรงสวย เสื้อผ้า หน้า ผม ต้องเป๊ะ 
    • เป็นคนมักโกรธ (โทสะจริต) โกรธงายหายเร็ว 
    • เป็นคนติดสุข (โมหะจริต) ชอบดูหนัง ฟังเพลง ปล่อยใจไปกับสิ่งเร้าภายนอก ห้ามใจตนเองไม่ได้ ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้  อยากได้รุนแรง ฯลฯ 
    • เป็นคนเชื่อง่าย (ศรัทธาจริต) เชื่อเร็ว ศรัทธายึดมั่นในตัวบุคคล 
    • เป็นคนคิดมาก (วิตกจริต) คิดเล็กคิดน้อย เรื่องน้อยนิดแต่เก็บมาคิดเป็นเรื่องราว จนเศร้าซึม  เวลาดีใจก็ดีใจมาก ใจพองโตเกินเหตุ
    • เป็นคนมีเหตุมีผล (พุทธิจริต) มักคิดเป็นเหตุเป็นผล ตัดสินใจด้วยหลักการ หลักฐาน และเหตุผล มีความสุขุม ลุ่มลึก รอบรู้ 
  • รู้รากเหง้า วัฒนธรรม ความเป็นมาของตนเอง สามารถบอกเหตุผลและความสำคัญของรากเหง้าภูมปัญญานั้นๆ ของตนเอง 
  • รู้จักทุนทางทรัพยากรของตนเอง เช่น สิ่งของ วัตถุ กำลังทรัพย์ ของตนเอง รวมทั้งรู้จักสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ตนเองอยู่หรือเกี่ยวข้องด้วย

ผมได้เรียนรู้และเข้าใจ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา" จาก ผอ.ระวี ขุณิกากรณ์ และ อาจารย์ฉลาด ปาโส เมื่อครั้งแรกๆ ที่ลงพื้นที่ไปเรียนรู้จากโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบัน ผอ. ระวี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ที่โรงเรียนอาจสามารถวิทยา จ.ร้อยเอ็ด ส่วนอาจารย์ฉลาด ยังเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนฯ ที่เดิม  ทั้งสองท่านจะเน้น "ความคิดความเข้าใจ" เป็นอันดับหนึ่ง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ใครจะมาขับเคลื่อนฯ หรือจะไปขับเคลื่อนสู่ใคร จะต้องมา "นั่งอธิบาย" จนเข้าใจอย่างดีเสียก่อน เพราะเป็นไปได้ยากที่จะเข้าใจโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติ  แต่หมายความว่า จะทำอะไร ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ จะเน้นการ "สะท้อน" "ถอดบทเรียน" "อธิปราย" ร่วมกัน ดังนั้น ทุกกิจกรรม หรืองานที่ลงมือทำ จึงเหมือน "การฝึกทำ เพื่อให้ได้ฝึกคิด" เพื่อความเข้าใจในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

ข้อเสนอแนะ

ขอเสนอให้ทุกโรงเรียน ให้ความสำคัญกับการพัฒนา "ความคิด ความเข้าใจ" ในการขับเคลื่อนฯ ทั้งที่ขับเคลื่อนในห้องเรียน ผ่านกิจกรรมเสริม หรือการเชื่อมโยงสู่ ๔ มิติในชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกฝนให้ทุกคนในโรงเรียน เรียนให้ "รู้จักตนเอง" โดยการเน้นกระบวนการต่อไปนี้

  • กิจกรรมพัฒนาภายใน ทั้ง ฐานคิด ฐานใจ และฐานกาย ด้วย กิจกรรรมหน้าเสาธงหรือกิจวัตร หรือ วัดในโรงเรียน หรือจิตศึกษา หรือ จิตตปัญญาศึกษา เพื่อพัฒนา "จิต" หนุนให้ "พลัง ๕" เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ 
  • กำหนดให้ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ ต้องทำกระบวนการ "สะท้อนการเรียนรู้" และ "ถอดบทเรียน"  และจัดให้มีการนำเสนอหรือเผยแพร่แลกเปลี่ยนผลสรุปของการเรียนรู้นั้นๆ เป็นรายลักษณ์อักษร หรือเป็น ชิ้นงาน 

ทั้งหมดที่เขียนนี้ เป็นเพียง "ความคิด" ของผมเท่านั้น ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ให้ทดลองนำไปทำดู เพราะข้อสังเกตและข้อเสนอข้างต้นนี้ เป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่มีคนนำไปทำแล้วได้ผลดี

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

บันทึกต่อไปมาว่ากันด้วย "ความเข้าใจ" ว่าอะไรคือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 571267เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท