บทความ ภาพอนาคตของครูไทย


ครูไทย
ภาพอนาคตของครูไทย

     บทนำ

           ผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างดีที่ได้รับเกียรติให้เขียนบทความ เนื่องในโอกาสเปิดตัวของหนังสือพิมพ์วารสารวงการครูในครั้งนี้

           ความจริงเราทราบกันดีโดยทั่วไปแล้วว่า ครูนั้นเป็นบุคคลที่มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาของประเทศ ในอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบัน ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้ความสำคัญกับครูโดยถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างอนาคตของชาติ

           ผมเองนับว่าโชคดีอย่างยิ่ง เพราะตลอดชีวิตอยู่วงการครูมาโดยตลอด โดยเริ่มต้นในยุคที่ครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่อง ได้รับความสนใจ เป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวที่ต้องการจะเข้ามามีอาชีพเป็นครู คนเก่งๆจำนวนมากมุ่งมาเรียนครู

           ผมเลือกเดินเส้นทางที่จะมาเป็นครู ตั้งแต่จบชั้นมัธยมปีที่ 6 (มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปัจจุบัน) โดยสอบได้และได้รับทุนรัฐบาล มาเรียนครูที่วิทยาลัยครูบ้านสนเด็จ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูที่มีชื่อเสียงโดดเด่นมาก ในขณะนั้นอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง ตลอดเวลาที่สำเร็จการศึกษาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวเกือบ 40 ปี

           ในอดีตที่คนสอบเข้าครูได้ นอกจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จแล้ว ในระดับปริญญาวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ถ้าใครเข้าได้ถือว่าแน่มาก พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงถึงขนาดฆ่าวัวฆ่าควายกินเลี้ยงกันอย่างเอิกเกริก

           จนกระทั่งในปัจจุบัน วิชาชีพครู (ครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์) ไม่มีคนที่สอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หรือถ้าเป็นไปได้จะไม่มีคัดเลือกในลำดับต้นๆ จะเลือกเผื่อไว้ลำดับท้ายๆ วิทยาลัยคือสถาบันราชภัฏหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏปัจจุบันซึ่งเมื่อก่อนก็เคยสอนแต่ครูอย่างเดียว แต่ตอนนี้ครูก็เหลือเพียงสาขาเล็กๆ สาขาหนึ่ง ถึงแม้จะไม่มีคนเลือกเรียนลำดับต้นๆ แต่ครูที่ผลิตได้ก็เหลือมากมาย ในแต่ละปีคนที่จบการศึกษาทางครูได้บรรจุเป็นครูปีละไม่กี่คน

           ที่ผมว่าโชคดีก็คือ ได้มีโอกาสเห็นทั้งความเจริญรุ่งเรืองและความตกต่ำของวิชาชีพครู ซึ่งในปัจจุบันถ้าเราพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องยอมว่าวงการครูไทยในปัจจุบันนั้น ตกลงถึงขั้นเรียกว่าต่ำสุด แต่ในภาวะที่ตกต่ำที่สุดนั้น ก็มีครูจำนวนมากที่ยังมีไฟ มีพลังและมีความตั้งใจในอันที่จะทำงานที่ตนรักและที่ตนตั้งใจต่อไป

วิกฤตของวิชาชีพครู

           ปัญหาของครูเป็นปัญหาใหญ่และมีความซับซ้อนมากเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคน ถ้าเรามองครูในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชนจำนวนกว่าเจ็ดแสนคน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีจำนวนมากที่สุดปัญหาที่เกิดขึ้นของครูนั้นมีหลายประการ เช่น

           ประการที่ 1 เรื่องที่คนอยากมาเรียนครู ปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีคนที่เรียกกันว่าช้างเผือกเข้ามาเรียนครูอีกแล้ว ในอดีตคนที่มาเรียนครูส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกครู แต่ปัจจุบันเกือบจะไม่มีครูคนใดที่จะให้ลูกเรียนครูและมาตกระกำลำบากเช่นเดียวกับตนเอง

           ดังนั้นคนที่เรียนครู เราจึงพูดเสมอว่าคนที่ไปไหนไม่ได้แล้ว จึงมาเลือกเรียนครู ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตทางการศึกษาของชาติถ้าเราไม่สามารถเลือกเด็กที่เป็นคนเก่งและเป็นคนดีมาเป็นครูได้ ความหวังเมื่อครูเป็นคนดีคนเก่งในปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว จะเกิดการขาดช่วงคนที่มาเป็นครู ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตด่านแรกที่สำคัญที่สุด

           ประการที่ 2 ด้านการสอน ในปัจจุบันตามแนวการปฏิรูปการศึกษา ครูจำเป็นต้องสอนตามวิธีการใหม่ เพื่อให้เด็กเรียนรู้มากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาและภาระต่อครูมาก เพราะครูส่วนใหญ่คุ้นเคยกับวิธีการสอนที่ยืนอยู่หน้ากระดาน เป็นคนพูดเป็นคนบอกให้นักเรียนจดเพียงอย่างเดียว เป็นวิธีการสอนที่ง่าย การเปลี่ยนรูปแบบการสอนนี้จึงถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่สำคัญมากประการหนึ่งของวงการครูไทย

           ประการที่ 3 การพัฒนาอาจารย์ครู ในเรื่องของโอกาสและความก้าวหน้า จะพบว่าการทำอาจารย์ 3 ของครูนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากมาก โดยเฉพาะการประเมินเชิงประจักษ์ซึ่งครั้งแรกมีครูที่สมัครเข้ามาถึงหนึ่งแสนสองหมื่นกว่าคน แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่สมบูรณ์และความเข้าใจที่ถูกต้องการทำอาจารย์ 3 เชิงประจักษ์จึงเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาสร้างภาระ และความกังวลใจให้กับครูโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่หลายคนได้ลงทุนไปมากมาย มหาศาล กรรมการชุดที่หนึ่งซึ่งไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการสอนและกรรมการชุดที่สองที่เข้ามาตรวจก็จะเรียกร้องให้ทำแฟ้มเยอะๆ ซึ่งจุดนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไข

           ประการที่ 4 รายได้ของครู ถึงแม้ว่าในชนบท ครูยังถือว่าเป็นอาชีพที่ยังได้รับการนับหน้าถือตาอยู่ แต่ในเรื่องรายได้นั้นถือว่าต่ำมาก จากรายได้ที่ต่ำจึงทำให้ครูมีหนี้สินมากมายจำนวนหลายล้านล้านซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในเรื่องกำลังใจของครู เวลาที่จะอุทิศให้กับการเรียนการสอน ต้องหางานอื่นทำเพื่อช่วยเพิ่มรายได้

           การปฏิรูปครูตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

           การปฏิรูปการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้น คณะผู้ดำเนินการได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูป เพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่ของครูเป็นอย่างมาก โดยได้แยกเรื่องของครูไว้อีกหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ คือ เรื่องในหมวด 7 ว่าด้วยเรื่องของครู มีการพูดถึงว่าจะให้ครูนั้นเป็นบุคลากรวิชาชีพชั้นสูง

           ความหมายของวิชาชีพชั้นสูงนั้นหมายความว่า ไม่ว่าใครก็ได้มาเป็นครู ต้องมีการศึกษา มีการเรียนรู้ มีการพัฒนา และจำเป็นต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะ โดยหวังว่าเมื่อเราพัฒนาครูขึ้นเป็นวิชาชีพชั้นสูงได้แล้วสิ่งต่างๆ ที่เคยตกหล่นหายไปก็จะกลับมา เพราะว่าอาชีพอื่นๆ ที่มีใบประกอบวิชาชีพนั้น ก็ไม่มีอาชีพใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับครู เพื่อให้ครูได้รับการยกย่องเป็นวิชาชีพชั้นสูงจึงมีเรื่องต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาถึง 4 เรื่องคือ

           เรื่องที่หนึ่ง หลักสูตรการศึกษาและอบรม ปัจจุบันครูเรียนหลักสูตร 4 ปีเช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ ซึ่งจากการที่หลักสูตรมีเวลาเพียง 4 ปีนั้น ครูจำเป็นต้องเรียนสองเรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่งเรื่องหลักวิชาการศึกษา เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของคนที่เป็นครู และ สองเนื้อหาวิชาที่จะนำไปสอน เราพบว่าวิชาครูในปัจจุบันนั้น หรือคนที่จะเป็นครูในปัจจุบันนั้น ถ้าเรียนหลักสูตรเพียง 4 ปี เนื้อหาวิชาที่จะนำไปสอนนั้นไม่มากพอที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้สอนเอง และทำนองเดียวกันก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนว่า สิ่งที่ครูพูดนั้นจะถูกต้องเสมอไป

           ดังนั้นการขยายหลักสูตรขึ้นมาเป็น 5 ปี ด้วยความคาดหวังที่ว่าครูจะได้มีโอกาสเรียนรู้ และที่สำคัญก็คือ การฝึกปฏิบัติภายใต้การควบคุมดูแลของครูซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน เช่น ครูต้นแบบ หรือครูแห่งชาติ

           เรื่องที่สอง เมื่อครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีหลักสูตรการเรียนรู้มากขึ้น สิ่งที่ต้องดำเนินการให้ได้คือระบบเงินเดือนใหม่ ดังนั้นใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งนำไปสู่การทำพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่แยกในเรื่องของบัญชีเงินเดือนออกมาต่างหาก เงินเดือนครูมีจุดเริ่มต้นที่แยกต่างจากบุคลากรอื่นและมีโอกาสความก้าวหน้าที่แตกต่างจากบุคลากรอื่น โดยเฉพาะทุกคนยอมรับกันว่าครูดีครูเก่งสามารถที่จะพัฒนาความก้าวหน้าในเรื่องของเงินเดือนไปได้เร็ว ครูจะมีโอกาสขึ้นไปได้ระดับสูงของเงินเดือน เท่ากับข้าราชการระดับ 11 หรือศาสตราจารย์ 11 ในมหาวิทยาลัยซึ่งถือได้ว่าเป็นความพยายามและความตั้งใจที่เคลื่อนไหวมากที่สุดตั้งแต่มีครูขึ้นมาในประเทศไทย

           เรื่องที่สาม การพัฒนาครู ซึ่งแต่เดิมการพัฒนาครูมีการดึงครูออกมาจากห้องเรียน แต่แนวความคิดใหม่นั้น การฝึกอบรมจะเน้นที่การอบรมที่สถานศึกษาในลักษณะการฝึกอบรมโดยกัลยาณมิตร เพื่อที่จะให้ครูนั้นสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนการสอนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือขวัญและกำลังใจของครูนั้น

           เรื่องที่สี่ การยกย่องครูอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการมีตำแหน่งที่ใช้วิชาชีพชั้นสูง เช่นในปัจจุบันมีครูที่มีความตั้งอกตั้งใจที่จะทำงานอย่างดี ครูต้นแบบหรือก้าวมาถึงครูแห่งชาติ ซึ่งเป็นครูที่สามารถทำวิจัยศึกษาค้นคว้าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อประโยชน์ของวงวิชาการแต่ในอนาคตสิ่งที่เราหวังก็คือในสังคมไทยนั้นจะต้องให้ความสำคัญและยกย่องครูมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

           อนาคตครูอยู่กับรัฐบาล

           ปัญหาของครูนั้น ทุกคนพูดถึงตลอดเวลา แต่การดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังไม่ค่อยมีเพราะคนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น มีความรู้ความเข้าใจวิถีชีวิตของครูไม่ลึกซึ้งดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อแก้วิกฤตของครูจึงไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง และหลายครั้งดำเนินการผิดที่เพราะไม่มีความรู้ ความเข้าใจและบ่อยครั้งที่มีลักษณะพูดแต่ปาก (Lips Services) อย่างเดียว

           เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาครูจึงอยู่ในวังวนของปัญหาและดูไม่ออกว่าอนาคตจริง ๆ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับครูนั้นมีคนหวังดีมากมาย แต่คนที่ทำให้สำเร็จอย่างจริงจังดูเหมือนว่าในขณะนี้ยังไม่มี

           แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในปัจจุบันผมยืนยันได้ว่าครูมากกว่าร้อยละ 99 ยังเป็นคนดี เป็นคนมีความรู้เป็นคนมีความสามารถ และเป็นคนมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะพัฒนาการศึกษาของชาติ

           แต่ที่อยากจะเรียกร้องกับสังคมและรัฐบาลก็คือว่าคนดีคนเก่งเหล่านี้ กำลังจะอยู่ในภาวะที่สิ้นใจหรือสิ้นหวังคาดว่าโครงการแยกกันด้วยดีในเดือนเมษายนนี้ เราคงสูญเสียคนดีคนเก่งซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งในอดีตนั้นเป็นคนที่ความตั้งใจเดินทางเข้ามาในเส้นทางสายนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 2-3 หมื่นคนที่จำเป็นต้องแยกจากพวกเราและแยกจากเด็กออกไป ซึ่งดูเหมือนว่าความหวังที่จะปรับปรุงในเรื่องของครูก็ยิ่งจะริบหรี่และน้อยลง ผมขอฝากครูของชาติเอาไว้กับสังคมและรัฐบาลว่าภาระและวิกฤติของครูนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ไขและจะต้องช่วยกันให้ครูดี ๆ เหล่านี้หรือคนดี ๆ ที่จะเข้ามาเป็นครูในอนาคต สามารถที่จะมองเห็นอนาคตที่สดใส ตั้งอกตั้งใจที่จะเข้าเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาพัฒนาเยาวชนผู้ซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในอนาคต

 


     

จากหนังสือ ครูของแผ่นดิน ฉบับปฐมฤกษ์ 16 มกราคม 2547 หน้า 57-59      




-------------- go to TOP !


2001 CopyRight by N4sysnet.com


คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 57098เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท