"ทัศนะกับการปรองดอง"


                                                                          



  "...ประเทศของเรารักษาเอกราช อธิปไตยและอิสระภาพให้ สมบูรณ์มั่นคงมาได้
จนถึงทุกวันนี้ เพราะคนไทย ทุกหมู่เหล่ารู้รักความสามัคคี และรู้จักทำหน้าที่ของ
แต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเส ริมกัน เมื่อทุกคนมุ่งใจปฏิบัติดังนี้ ความถูก ต้องเรียบร้อย 

ความพัฒนาก้าวหน้า และความมั่นคง เป็นปึกแผ่นจึงบังเกิดขึ้น..."

ลานพระราชวังดุสิต 3 ธันวาคม 2534

                                                -------------------------------------------------

                 สองสามปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เราได้ยินคำว่า "ปรองดอง" (Compromise) บ่อยๆ แต่ไม่เห็นเป็นรูปธรรม มีแต่ขายไอเดีย จนเสียเวลา เพราะอะไรหรือ เนื่องจากสังคมมนุษย์ทั่วโลก ล้วนแต่มีปัญหาด้านความขัดแย้งไปทั่วทุกมุมโลก จนทำให้โลกเหมือนมีระเบิด มีไฟไหม้ มีหลุมพรางภัย อยู่ทุกๆที่ ทำให้โลกเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง จนเกิดสงครามขึ้นได้

                 โลกคือ แดนแห่งความขัดแย้งกระนั้นหรือ หากถามคนที่มองโลกในแง่ดีอาจได้รับคำตอบว่า โลกคือ สวรรค์อันสวยงาม หากถามคนมองโลกในแง่ลบ อาจได้คำตอบว่า โลกคือ แดนมหันตภัยที่น่ากลัว สำหรับผู้เขียนกระเดียดไปทางอันหลังครับ เนื่องจาก โลกเต็มไปด้วยอันตรายที่เราเอาชนะได้และสามารถอยู่รอดได้ แต่นั่นคือ ภาพมายาครับ

                   มองให้รอบคอบและอาศัยประสบการณ์ต่อโลกเช่น คนผ่านโลกมา ย่อมเห็นความจริงของโลกทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนชี้ให้เห็นภัยอันตรายทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ชีวิตที่อาศัยในทะเลลึก ล้วนคราคร่ำไปด้วยภยันตรายมากมาย รอบตัว สัตว์ต่างๆ ในทะเลจึงต้องหาทางป้องกันตัวเอง 

                 ชีวิตบนบก ในป่า ในพื้นราบ ล้วนอุดมไปด้วยอันตรายมากมายเช่นกัน สัตว์บกจึงต้องหาทางเอาตัวรอด จนวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบัน กระนั้น พวกเขาก็ยังเสี่ยงในภัยต่างๆ มากมายอยู่ดี เราจึงพบว่า สัตว์ล่าสัตว์ พืชล่าสัตว์ เชื้อรา เชื้อโรค ล่าชีวิตอื่นๆ มากมาย

                ชีวิตบนอากาศก็มีอันตรายเช่นกันคือ ลมพายุ ฝน แดด อากาศหนาว สัตว์ใหญ่ สัตว์ที่แข็งแกร่ง การที่สัตว์บินได้ ก็เนื่องมาจากการหนีเอาตัวรอด เพราะมีภัยมากมาย จึงต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยการติดปีกบินหนี กระนั้น พวกเขาก็หนีไม่พ้น เช่น แมลงตัวเล็ก นกตัวเล็ก จึงต้องถูกล่าเป็นอาหารอยู่ประจำ

              สัตว์โลกจะหนีเอาตัวรอดอย่างไรครับ คำตอบคือ ๑) ต้องวิวัฒนาการตัวเอง ๒) ต้องเรียนรู้ปรับตัว ๓) พรางตัว ๔) สร้างอาวุธปกป้องตัวเอง ๕) ต่อสู้กับศัตรูแบบซึ้งๆหน้า ๖) หลบหนีให้พ้น ๗) ใช้วิธีข่มขู่ ๘) เรียนรู้อยู่อย่างระวัง ๙) สร้างบ้านหรือโพรงอยู่ ๑๐) จับมือกันกับศัตรูเพื่อการปรองดอง

             กล่าวโดยภาพรวมแล้วสังคมสัตว์โลกมีแต่อันตรายทั้งสิ้น เราจึงมักได้ยินคำนิยามชีวิตบ่อยๆว่า "ชีวิตคือ การต่อสู้" ต่อสู้กับอุปสรรคของโลก ของชีวิตที่อยู่รอบๆตัว ภัยต่างๆ ขอแบ่งเป็นสองชนิดคือ ๑) ภัยจากธรรมชาติ ๒) ภัยจากกิจกรรมของสัตว์เอง แล้วภัยของสัตว์โลกปรากฏอยู่ที่ใดบ้าง ขอกล่าวโดยรวมดังนี้

              ๑) ภัยอยู่กับพฤติกรรมของสัตว์โลกเองทุกชนิด คือ สัตว์โลกมีสัญชาตญาณในการต่อสู้ การเอาตัวรอด การหวงแหนที่อยู่ การสืบพันธุ์ การครองอำนาจ ผลประโยชน์ ฯ แรงขับดังกล่าวจะสร้างอิทธิพล เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น ต้องล่า ปกป้อง ชิงชู้กันเอง จนกลายเป็นอันตราย เป็นภัยต่อสัตว์อื่นหรือกลุ่มเดียวกันได้

              ๒) จากข้อ ๑ สืบไปสู่การสร้างกลุ่ม สร้างประเทศในกลุ่มเดียวกันขึ้นมา จากนั้นก็คอยปกป้อง ต่อสู้เพื่อให้ประเทศ ที่อยู่ของตนอยู่รอด ไม่มีภัยอันตรายต่อกลุ่มของตน เราจึงไม่แปลกใจใช่ไหมว่า แต่ละประเทศจึงต้องมีรั้วของชาติ มีอาวุธป้องกันตัวเอง มีเรือรบ มีเครื่องบิน มียุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อรักษาตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การท้าทาย การก่อสงครามได้

               ๓) ภัยศาสนา ศาสนาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะของตน เป็นกลวิธีที่สร้างกำลังใจให้กลุ่มของตนเองหึกเหิม กล้าแกร่ง จากนั้นจึงสร้างคัมภีร์ พิธีกรรมขึ้นมา เพื่อศึกษา เรียนรู้ในการดำเนินชีวิต ให้คนในกลุ่ม ในชาติ ในสังคมนั้น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงทำให้ผู้นับถือเชื่อมั่นในศาสนาของตนจนต้องปกป้อง รักษา ตอบโต้ หากใครดูหมิ่น ดูแคลน ซึ่งอาจเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามศาสนาได้เช่น สงครามครูเสด เป็นต้น

                ๔) ภัยเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ แต่ละประเทศในระยะแรกเริ่มก่อตัวขึ้นมา ล้วนมีเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติต่างๆ จำนวนมาก เมื่อรวมประเทศกัน อาจมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ได้ และกลายเป็นภัยสงครามเผ่าพันธุ์ได้ เช่น ในเยอรมันตะวันออก ตะวันตก เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ระวันดา แอฟริกา พม่า เขมร เวียดนาม และไทย ฯ ประเทศเหล่านี้ ล้วนมีชนกลุ่มน้อย กลุ่มใหญ่มากมาย ซึ่งกลุ่มเหล่านั้น อาจกลายเป็นปัญหาสงครามขัดแย้งกันจนไม่อาจประนีประนอมกันได้

                ๕) จากข้อ ๔ เมื่อเผ่าต่างๆ รวมกันเป็นประเทศ กลายเป็นเอกราชของตน ไม่ได้แปลว่าจะเป็นประเทศที่สงบสุขหรือไม่มีปัญหากัน ในสังคมภายในประเทศกลับมีกลุ่มก้อน ชุมชน แบ่งแยกเป็นอัตลักษณ์ เช่น แบ่งเป็นภาค เป็นจังหวัด เป็นชุมชน สังคมย่อยๆ ในประเทศนั้นๆ ย่อมนำไปสู่การขัดแย้งด้านต่างๆ ได้ เช่นไทย เกิดกลุ่มเสื้อแดง เหลือง เป็นต้น

                ๖) จากข้อ ๕ เป็นเหตุให้ผู้คนรู้สึกในกลุ่มก้อนว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องปกป้อง ดูแลให้ได้รับความผาสุกหรือตอบโต้กลุ่มใดๆ ที่กล่าวหา แก้ต่างๆ ปกป้องกลุ่มของตนเอง เช่น ในหมู่บ้านหนึ่งอาจถูกแบ่งเป็นชุมชน กลุ่มก้อน คุ้ม ซุ้ม ออกไปอีก ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกรัก หวงแหนกลุ่มก้อนเขตพื้นที่ของตน จนกลายเป็นปัญหาของหมู่บ้านได้ เช่น การเลือกผู้นำ เป็นต้น

                 ๗) ปัญหาครอบครัว เมื่อประชาชนอยู่กันในกลุ่มก้อนได้แล้ว ยังมีสังคมขั้นปฐมภูมิอีกคือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นกลุ่มสังคมขั้นพื้นฐานของประเทศ หากสังคมหน่วยย่อยนี้เกิดความขัดแย้ง ย่อมส่งผลต่อสังคมหมู่ใหญ่ได้ ความขัดแย้งอาจกลายเป็นผลที่เกาะกัดกุมจิตใจของสมาชิกได้ ที่สุดก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด นี่คือ ปัญหาความขัดแย้งเช่นกัน

                 ๘) ทัศนคติส่วนบุคคล มนุษย์มีพื้นฐานมาจากความคิด ความเห็น ความรู้สึกส่วนตัว หากมีปัญหาด้านความเห็น ทัศนคติใดๆ ที่ขัดแย้งย่อมส่งผลกระทบต่อคนอื่น หลักการอื่นได้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก สำหรับความเป็นเอกภาพ ความสามัคคีในครอบครัว สังคมและประเทศชาติ หากแก้ปัญหาด้านความขัดแย้งในส่วนปัจเจกบุคคลไม่ได้ อาจสร้างความเกลียดชังได้

                  ๙) ความขัดแย้งในด้านหลักการหรือทฤษฎี โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักบริหาร ย่อมมีหลักการ หลักธรรม ในการบริหาร จัดการเรื่องราวต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดแย้งด้านทัศนะ ความเห็นได้ มีความคิดแตกต่างกัน จนอาจเป็นชนวนเหตุไปสู่ความแตกสามัคคี การตอบโต้ โต้แย้งกันขึ้นมา จนร่วมงานกันไม่ได้

              ทั้งหมดคือ ที่กำเนิดแห่งความขัดแย้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมายต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติได้ สาเหตุที่สร้างความขัดแย้งดังกล่าวนั้น อาจมาจากองค์ประกอบเหล่านี้คือ ๑) ความคิดเห็นส่วนตัวแตกต่างกัน ๒) ประสบการณ์แตกต่างกัน ๓) มีพื้นฐานความไม่ชอบกัน ๔) ขัดผลประโยชน์กัน ๕) ว่ากล่าวตำหนิกัน ๖) รักษาชื่อเสียง ๗) เพื่อสร้างอำนาจ ๘) ต้องการปกป้องอนุรักษ์ ๙) ไม่รู้ข้อมูลดีพอ

               สำหรับประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมา เรามีความขัดแย้งกันในหลายมิติทางสังคม เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ท้องถิ่น ผลประโยชน์ การแบ่งแยก ความเห็นต่าง อำนาจ เพศ ฐานะ ธรรมชาติ พรมแดน จริยธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ความยุติธรรม เกษตรกรรม ภาษา วัฒนธรรม ละคร อิทธิพล ฯ ทำให้ชาวไทยทำร้าย ทำสงครามกันเองทั้งทางตรง (ฆ่า) และทางอ้อม (สื่อต่างๆ)

               ความขัดแย้งดังกล่าว เราไม่ยอมลดลาวาศอก มีแต่เพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ใช้วาจาว่ากล่าวตำหนิกันตามสื่อ ไปสู่การซ้องสุมสะสมอาวุธ ห้ำหั่นกัน ฆ่าแกงกันทุกวัน ทั้งทางภาคใต้ ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด เด็กเยวชน ก็ยกพวกตีกัน ตบตีแย่งแฟนกัน มีปัญหาเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า ทำให้ประชาชนอยู่แบบหวาดหวั่น กลัวเกรงกันและกัน แต่ละคนสงสัยกัน ไม่ไว้ใจกัน อาจอยากรู้ว่า มันเสื้อแดงหรือเหลืองวะ ลักษณะนี้ ทำให้คิดถึงสงครามล้างเผ่าพันธุ์เขมรปี ๑๘-๒๒ ที่ต่างก็สงสัยว่า "เป็นเขมรฝ่ายไหน" ทุกคนจึงไม่กล้าพูดคุยกัน

                อย่างไรก็ตาม รัฐและผู้เกี่ยวข้อง (ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี) ก็พยายามแก้ปัญหาอยู่ แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง ไม่มีใครเชื่อใคร ไม่มีใครยอมใคร จึงทำให้เพิ่มดีกรีความเกลียดชัง อย่างรุนแรงถึงขนาดเตรียมอาวุธจะฆ่าแกงกัน เหมือนจะแยกประเทศประมาณนั้น ทั้งๆที่เป็นคนไทยกันหมด และในที่สุดประเทศก็ต้องใช้วงจรเก่า ที่ประเทศนี้เคยปฏิบัติมาซ้ำๆ ซากๆ

               ดังนั้น การประนีประนอมหรือการสร้างความปรองดองนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย โดยไม่มีกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งแสวงหาประโยชน์ทีหลังจริงๆ ที่จริงเราน่าจะศึกษารากเหง้า รากแก้วของตัวเองเป็นพื้นฐานด้วย และต้องอาศัยสหทัศน์ทุกภาคส่วนร่วมกัน ซึ่งพอประมวลการแก้ไขได้ดังนี้

๑) โลกนี้เป็นโลกใบเดียว ไม่ได้แบ่งแยกตัวมันเอง ใยมนุษย์มาแบ่งแยกกัน ถามโลกก่อนไหมว่าโลกยอมแบ่งไหม ความหมายคือ เราควรร่วมมือกันแก้ปัญหาระกับโลกร่วมกันเช่น ภัยน้ำ ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติของโลกร่วมกัน

๒) เข้าใจคนอื่น เข้าใจตนเอง คนอื่นก็มีความรู้สึกเหมือนเรา เราก็มีความรู้เหมือนเขา จะต่างกันแค่ปริมาณและคุณภาพเท่านั้น

๓) ร่วมกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างวัฒนธรรมในชุมชนให้เกิดความรัก สามัคคีกัน

๔) สร้างจิตสำนึกในความรักชาติ ตั้งแต่วัยเด็ก ปลูกจิตสำนึกให้รู้ รัก สามัคคีในชาติให้เข้มข้น

๕) นำหลักศาสนามาประคองชีวิต มิให้ละเมิดสิทธิ กฏศีลธรรม เพื่อให้จิตใจมีเมตตา อาทรต่อกัน

๖) ฝึกให้อภัยคนอื่น เหมือนคนอื่นให้อภัยเรา

๗) รัฐต้องให้ความยุติธรรมแก่ทุกชุมชนเสมอเท่าเทียมกันทุกระดับชนชั้น

๘) ข้าราชการทุกคน ต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเป็นธรรมและเคารพสิทธิและความรู้สึกประชาชนอย่างนอบน้อม

๙) ส่งเสริมอาชีพพื้นบ้านหรือเกษตรกรรมท้องถิ่นให้อยู่ดี มีภูมิกันในครอบครัว ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง


               อย่างไรก็ตาม หลักการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกนั้น เป็นไปตามกาลสมัย ค่านิยมของสังคมนั้นๆ ไม่มีหลักหรือสูตรที่ตายตัว แต่ให้อยู่บนฐานใหญ่ๆ คือ ตัวเองอยู่รอด สังคมอุดมน้ำใจ ประเทศชาติสงบสุข มีระบบระเบียบและเคารพกฏกติกาสังคมให้อยู่ในกรอบของศาสนา กฏหมาย และสามัญสำนึกในชาติครับ

               ถ้าขัดแย้ง ก็แย้งในฐานเมตตาอารีย์ต่อกัน ถ้าปรองดองก็ปรองดองด้วยหลักคุณธรรม พยายามลดทิฏฐิความเห็นที่สุดโต่ง เราคงเห็นแล้วว่า คิดหวังอำนาจ จะมีชะตาขาดอย่างไร  อย่าให้เป็นเหมือนอีรัก เขมร เกาหลี อินเดีย แอฟริกา รัสเซีย จีน ฯ ที่ขัดแย้ง ห้ำหั่นกันด้วยลูกปืน ลูกระเบิดครับ

---------------------<๒๔/๖/๕๗>------------------------

คำสำคัญ (Tags): #ปรองดอง?
หมายเลขบันทึก: 570958เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2014 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ.... บทความดีดีนี้ค่ะ  .... ขอบจัง.. "ชีวิตคือ การต่อสู้" ต่อสู้กับอุปสรรคของโลก ของชีวิตที่อยู่รอบๆตัว ภัยต่างๆ ....

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท