"ทฤษฎีกังหัน"


                                                                     

                                                                                   

                โลกเต็มด้วยปรากฏการณ์ (phenomena) ที่มองเห็นด้วยสายตาและการสังเกตเอาจากภาพรวม ปรากฏการณ์ หมายถึง การปรากฏตัว การแสดงตัวเอง การสะท้อนความเป็นจริงของตัวเองอยู่เสมอ เช่น โลกกำลังคลั่งไคล้สื่อเทคโนโลยีไปทั่วทุกทวีปหรือสังคมมนุษย์กำลังสนใจอะไรอยู่ตอนนี้

               ปรากฏการณ์เหล่านี้รวมไปถึงธรรมชาติ มนุษย์ สัตว์ พืชและกาลเวลา แนวคิดนี้มาจากทฤษฎีของค้านท์ (Kant) ที่มองว่า โลกนี้มีความจริง ๒ ประการคือ ๑) ความจริงที่เห็นทางสายตา (phenomena) ๒) ความจริงที่มองไม่เห็น (noumenon) อันแรกคือ ปรากฏการณ์ที่อยู่รอบๆตัวเราที่ดำเนินไปตามธรรมชาติหรือตัวมันเอง โดยเขาใช้คำว่า "things -in-themselve" อยู่ที่ว่าเราสังเกตมันหรือไม่ เราอาจเรียกรวมๆว่า "ธรรมชาติ"

                ส่วนอันหลัง เขามองว่าเมื่อมีปรากฏการณ์ภายนอก มันก็น่าจะมีปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ภายในด้วย เช่น โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ น่าจะมีอะไรบางอย่างผลักดันให้เป็นเช่นนั้น (หากอิงทางศาสนาแบบเทวนิยมเชื่อว่า สิ่งนี้เกิดมาจากพระเจ้า) เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีความจริงอะไรสักอย่างอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้นๆ

                อันที่จริง แนวคิดนี้เกิดมาก่อนค้านท์นานแล้ว ตั้งแต่เดโมเครตุส เพลโต อริสโตเติ้ล กาลิเลโอ จนมาถึงนิวตัน ไอสไตน์ รวมไปถึงศาสดาต่างๆ นักคิดทั้งก่อนและหลังค้านท์ก็มองเห็นสิ่งที่ปรากฏเหล่านี้อยู่ลางๆ และก็เรียกชื่อต่างกันไป อิทธิพลของนักคิดเหล่านี้ จึงเกิดต่อยอดเป็นสาขาวิชาความรู้มากมาย เช่น ฟิสิกข์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ กายวิภาค จิตวิทยา เทววิทยา ฯ

                 ส่วนปรากฏการณ์ที่ปรากฏต่อหน้า ต่อตา ในชีวิตประจำวันเช่น กลางวัน กลางคืน โลก ดวงจันทร์ ร้อน หนาว ฝนตก เครื่องยนต์กลไก มือถือ โทรทัศน์ เสียง อากาศ แผ่นดินไหว ฯ ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ มีเหตุ มีปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดขึ้นและดำเนินไปของมันเอง อยู่ที่ว่าใครจะสามารถเรียนรู้ ศึกษา สังเกต แล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตได้ การมองเห็นปรากฏการณ์ที่ว่านี้ เรียกว่า "ความจริงเชิงปรวิสัย" (subjective reality)

                ความจริงมิได้มีแค่ที่ปรากฏทางสายตาเท่านั้น ยังมีปรากฏการณ์ที่ปรากฏตามเส้นทางของมันอยู่ภายใน ที่ผลักดันให้ปรากฏออกมาภายนอกค้านท์เรียกว่า "ความจริงภายใน" (nuemenon) เป็นความจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหมด เราจะเรียกว่า "กฏธรรมชาติ" ก็ได้ เนื่องจากเป็นกฏสากล ที่สรรพสิ่งต้องเป็นไปตามกฏนั้นๆ เช่น การปรากฏอยู่ของการโคจรของดาวนพเคราะห์ รอบดวงอาทิตย์ กฏของการไหลเวียนของโลหิต กฏแห่งการแสดงออก เป็นต้น

               ดังนั้น เราจึงพอประมวลเอากฏหรือความจริงแฝงเหล่านี้ออกมาเผยให้รู้เพียง ๕ กฏ ด้วยกัน  ซึ่งประกอบด้วย (ซึ่งยังมีกฏอื่นๆ อีกมากมาย)

                ๑) "กฎแห่งการโคจร" เป็นกฏแห่งปฐมบทของสรรพสิ่งบนโลก ที่ต้องอนุวัตรตามวัฏนี้ เพราะความจริงหรือปรากฏการณ์นี้ได้ดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน ไม่ว่าสิ่งใด ผู้ใด ที่ปรากฏอยู่บนโลกใบนี้จะต้องได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น เช่น กลางวัน กลางคืน ซึ่งเกิดจากการโคจรรอบตัวเองของโลก และมีดวงอาทิตย์เป็นกระจกบอกให้รู้ว่า คุณเปลี่ยนตัวเองไปลักษณะใด และกฏที่อยู่เบื้องหลังของปรากฏการณ์เช่นนี้มาจาก "แรงดึงดูด" (Sun's gravity) ของดวงอาทิตย์ นั่นเอง

                ผลลัพธ์คือ ๑) ทำให้โลกต้องดำรงตัวเองภายใต้กฏสากลของดวงอาทิตย์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ๒) หากดวงอาทิตย์มีอาการไข้ขึ้น หรือผิดปกติเช่นไร โลกต้องได้รับผลข้างเคียงด้วยเสมอ ๓) ทำให้สิ่งต่างๆที่อาศัยโลกต้องพลอยปรับตัวเองไปตามโลกด้วย ๔) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ในกรอบรัศมีของโลกอีกหลายอย่างๆ เช่น ฝนตก ฤดูกาล เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของพืชและสัตว์ด้วย 

                เมื่อรู้ปรากฏการณ์ของสิ่งมีชีวิต (เราด้วย) เช่นนี้ เราไม่แปลกใจใช่ไหมว่า เราทำไมจึงแก่ชรา เจ็บป่วย ตาย ไม่อยากเติบโตก็อย่ามีกลางวัน กลางคืนครับ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ก็อย่ามาเกิดบนโลกนี้ครับ แล้วเราฝืนได้ไหม ห้ามได้ไหม เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องยึดกฏส่วนตัวไว้เสมอว่า "รู้ความจริง ทิ้งความจำ" ใช้ปัญญา และสติ ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทครับ (พร้อมเสมอที่จะไปจากโลกนี้)

                  ๒) "กฎแห่งวัฏ" เป็นกฏที่อ้างมาจากสองทางคือ ๑) มาจากวัฏแห่งการเวียนว่ายของชีวิตในภพน้อย (อายุสั้น) ภพใหญ่ (อายุยาว) ซึ่งศาสนาพราหมณ์เชื่อกันว่าอัตตาหรือวิญญาณจะพาจิตนี้สู่ปรมาตมันคือ คืนสู่บ้านเดิมและอยู่อย่างอมตะ ๒) มาจากกฏแห่งการดึงดูดของดวงอาทิตย์ที่เกี่ยวรั้งให้เกิดดาวบริวารต่างๆ โคจรรอบตัวเอง ซึ่งเกิดจากการระเบิดของเนบิวลาที่เป็นแก๊ส ฝุ่นผงธุลี น้ำ ฮีเลียม ฯ

                   เมื่อมวลสารในอวกาศเย็นลง ก็กลายเป็นดาวเคราะห์ ส่วนที่ยังไม่เย็นก็กลายเป็นดาวฤกษ์ เพราะมีมวลสารมากและมีน้ำหนักมากจึงเหมือนแน่นิ่ง (ที่จริงมันไม่นิ่ง) จึงมีแรงดึงดูดมาก ทำให้ดึงเอาดาวเคราะห์ที่อยู่รอบๆไว้ ในขณะเดียวกันก็มีการไหลเวียนไปของดาวต่างๆด้วย การดึงดูดในขณะแกว่งไปมาทำให้ดาวบริวารถูกผลักดันให้โคจรรอบดวงอาทิตย์ จนถึงปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นปฏิกิริยาแรงเฉื่อย

                  เมื่อเราเห็นที่มาแห่งการไหลเวียนหรือการหมุนรอบเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจกฏสากลจักรวาลมากขึ้นว่า แรงมากย่อมส่งผลต่อแรงน้อย แรงเฉื่อย ทำให้เกิดผลต่อไประยะหนึ่ง และชีวิตของเราก็ถูกวัฏตรงนี้ครอบงำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เมื่อเกิด-ตายบ่อยๆ จนซ้ำๆ ซากๆ เราก็ไม่รู้ที่มา เพราะมีสายตา สายปัญญาสั้นหรือมีรัศมีทัศน์แคบ แต่พุทธศาสนาสอนเรื่องภพ เรื่องชาติ ในแง่การเกิด-ตาย เป็นวัฏคือ วนเวียนเปลี่ยนภพน้อย ใหญ่ มาแล้วไม่รู้กี่ร้อย กี่ล้านชาติ หากไม่อยากเกิดแบบรีไซเคิล ก็อย่ามาเกิดอีกครับ ขอให้เป็นแบบ "One-stop being" ดีไหม

                  ๓) "กฎแห่งกระแสโลหิต" เป็นกฏแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เมื่อชีวิตกำเนิดบนโลกมิได้เกิดมาแบบฉับพลัน แต่ต้องอาศัยเวลาในการเตรียมตัว ลองผิด ลองความเหมาะสมกับบรรยากาศโลกก่อนหลายล้านปี จนทนทานต้านภัยต่างๆ ของโลกได้ จึงรอดพ้น และกลายเป็นวิวัฒนาการความอยู่รอด (เหมือนที่ดาร์วินกล่าวไว้ส่วนหนึ่ง) 

                   อย่างไรก็ตาม เมื่อชีวิตดำเนินอยู่ในกฏเกณฑ์ของโลก ก็ต้องผันผวน ปรับตัวให้อยู่ในกฏของโลกด้วย เนื่องจาก โลกมีแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงด้วย ดูดด้วย ทำให้สรรพสิ่งที่ปรากฏในโลกต้องถูกโลกจับมัดไว้ มิให้ลอยเคว้งคว้างไปไหน การที่โลกใช้แรงอิทธิพลพลังแม่เหล็กดึงสรรพสิ่งไว้ จึงเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตต้องต่อสู้กับแรงดึงดูดนี้ด้วยเช่นกัน 

                  ดังนั้น ในระยะแรกเริ่มสิ่งมีชีวิตจึงต้องสร้างวงจรส่วนตัวขึ้นท้าทายหรือต้านแรงโน้มถ่วงโลก วงจรนั้นคือ กระแสเลือด หากสิ่งมีชีวิตต้องการอยากให้อวัยวะทุกส่วนทำงานภายใต้อาณัติของตนเอง ก็ต้องส่งเสบียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนให้ได้ มิฉะนั้น ก็จะถูกโลกครอบงำหรือถูกดึงเอาไว้ จนไม่สามารถขยับได้ เพราะแรงของโลกจะรั้งไว้ 

                 ด้วยเหตุนี้ สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เช่น ไดโนเสาร์ สัตว์บก จึงต้องสร้างปั้มเลือดขึ้นมาเพื่อปั้มเลือดส่งไปยังอวัยวะต่างๆ เนื่องจากว่า ร่างกายของสิ่งมีชีวิตตั้งฉากกับโลกและเติบโตขึ้นแบบท้าทายโลก (สวนทางแรงดึงดูด) จึงต้องอาศัยหัวใจเป็นเครื่องปั้มน้ำเลือดส่งเลี้ยงตัว ยิ่งตัวใหญ่หัวใจก็ยิ่งทำงานหนัก โดยเฉพาะมนุษย์ตัวอ้วนๆ น่ารักๆ อิๆๆ ร่างกายจะต้องใช้พลังงานในการปั้มเลือดมาก หากร่างกายมีไขมันมาก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อหัวใจล้มเหลวมาก (เพราะไขมันเปรียบเหมือนสวะขวางทางน้ำไหล) อาจทำให้เครื่องปั้มทำงานหนักจนพังได้

                 ด้วยเหตุนี้ หากเข้าใจกฏการไหลเวียนหรือระบบส่งส่วยน้ำเลือดในร่างกาย อันเนื่องมาจากต้องต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงแล้ว เราก็ต้องหาทางป้องกันและต่อสู้แบบสมดุลกับโลก หมายความว่า อย่าตั้งป้อมสู้เกินไป เช่น ขึ้นที่สูงมาก จนร่างกายเหนื่อยล้า เพราะร่างกายไม่ไหว อย่าหักโหมมากเกินไป หรืออย่านิ่ง จนเฉื่อยชา ขี้เกียจไม่อยากออกกำลังกาย จนอาจทำให้ร่างกายไร้ภูมิต้านทานโลกได้

                  ๔) "กฏแห่งจิตวัฏ" เป็นกฏที่เกิดมาจากร่างกาย (ที่ได้มาจากวิวัฒนาการ) ซึ่งเราไม่รู้แน่ชัดว่า จิตทำงานหรือมาอยู่ในร่างกายได้อย่างไร แต่จิตมีพลังกลที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก กฏนี้ทำงานอย่างไร เรารู้กันทั่วแล้วว่า ร่างกายมีจิต แต่เรายังไม่รู้แน่ว่า มันปรากฏอย่างไร ทำงานอย่างไร เรามักจะเรียกตัวเองว่า "เรา ฉัน ผม กู หนู ข้า ฯ" แทนตัวเรา

                 ส่วนไหนที่เรียกว่า ของเราแท้ๆ ร่างกายหรือความนึกคิด จิตใจ มันยากที่จะตอบได้ เพราะว่า ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ แสดงบทบาทต่างกันและสัมพันธ์กัน จนเราแยกออกไม่ได้ว่า ใครกันแน่กำลังสั่งการอยู่ เดการ์ตบอกว่า หากกายเจ็บใจก็เจ็บด้วย ในขณะโยคาจารบอกว่า จิตเท่านั้นบอกได้ทุกอย่าง กายเป็นเพียงมายาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับคัมภีร์อุปนิษัทที่มองว่า โลกคือ มายา กายเกิดมาจากธาตุของโลก กายจึงเป็นมายาด้วย

                 แต่พุทธศาสนาบอกว่า "จิต" คือ กระบวนการใหญ่ในการกำอำนาจของทั้งหมดร่างกาย จริงหรือไม่? อย่างที่ผู้เขียนเคยพูดเรื่องจิตว่า จิตทำงานได้ เพราะอาศัยกายเป็นฐานคือ สมอง โดยมีข้อมูลคือ ตัวประเมินความเสี่ยงของมัน เมื่อกายดี (ระบบประสาท) และจิตดี (สมองไม่พิการ) การคิด การรับรู้กอปรข้อมูลมากพอ การทำงานทั้งหมดจะตกผลึกมาเป็น "จิต" 

                จิตนี้หมายถึง ความรู้ ความนึกคิด ซึ่งมาจากกระบวนที่กล่าวแล้ว เมื่อจิตมีข้อมูลจากการสะสมมาในอดีตมาก ก็ทำให้จิต (สมอง) นำเอาข้อมูลเก่าและใหม่มาย่อย มาเล่น มาทบทวน พลิกแพลงอยู่เสมอ ทำให้ต้องฝังใจ ติดใจ ค้างใจ ไหลหลงอยู่กับกระเปาะแห่งอดีตใด อดีตหนึ่งได้ เช่น ถูกตี อกหัก ได้ของขวัญ หวาดกลัวสุดขีด ฯ จิตย่อมรีเวอร์ข้อมูลเก่าๆนี้ได้

                  ดังนั้น ยิ่งโต เราก็ยิ่งฟุ้งซ่าน  ยิ่งอยู่คนเดียว ก็อาจถูกดึงไปสู่หลุมดำอดีตได้ง่าย ในขณะเดียวกัน หากเราอยู่กับปัจจุบัน เราก็อาจเพลิน เตลิดไปกับปรากฏการณ์ที่ตา หู จมูก ลิ้น พาไปด้วยเช่นกัน ดูเหมือนว่า สมองเรามิได้พักผ่อนเลย ถูกก่อกวน ถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรจะทำให้สมองพักบ้าง ทำอย่างไรจะทำให้จิตเราซึมซาบเอาความสงบสุขบ้าง

                จึงต้องบริหาร จัดการสมอง จิต ด้วยฝึกฝนอยู่เสมอครับ เนื่องจากว่า เราปล่อยให้จิตเตลิดมาแล้วตั้งแต่เกิด เราไม่รู้ว่าจะบริหารอย่างไร เมื่อแก่ชรามา ศักยภาพของจิตกลับแย่ลง จำเลอะเทอะ เลอะเลือน กฏของจิตจึงต้องอาศัยหลักการทางศาสนาหรือหลักสากลารมณ์ ที่จะต้องเตรียมตัว จัดการให้สอดคล้องกับเส้นทางของชีวิตจริงๆ นั่นคือ เตรียมตัวมิให้จิตประมาทในกาล ในวัย ในโลก ในสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งที่ใจเกาะกุมล้วนเป็นพิษยามปั้นปลายชีวิต ก่อนจากโลกท่านยังอยากแบกโลก แบกร่างกายไว้อยู่หรือไม่ อะไรคือ เป้าหมายจิตใจในโลกละ

                  ๕) "กฏแห่งกรรม" เป็นกฏที่ทางศาสนาพุทธ และเชน สอนไว้ ขออธิบายในสองมิติคือ ๑) มิติของการกระทำแบบสามัญสัตว์โลก ๒) มิติในแง่ชีวกรรม อันแรก "การกระทำ" (กรรม) เป็นเรื่องกลไกของระบบโลก ที่ต้องเข้าใจได้ว่า โลกเป็นแดนเกิดของสรรพชีวิต เพราะมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิต เรียกว่า "ปัจจัยให้เกิด"

                เมื่อโลกเป็นแดนเกิดสิ่งมีชีวิต ชีวิตก็ต้องอาศัยพ่อแพันธุ์ แม่พันธุ์กำเนิด พ่อแม่ สายพันธุ์นั้นคือ ต้นกำเนิดที่สอง เพราะเราต้องอาศัยเบ้าหลอมหรือแม่แบบในการกำเนิด ซึ่งการกระทำของพ่อแม่คือ "สหกรรม"  ร่วมกันในการแสดงออก ผลคือ เกิดลูกหลานต่อมา และชีวิตก็ถูกกำหนดด้วยสามกฏอีกทีคือ กฏแห่งเผ่าพันธุ์ กฏแห่งโลก และกฏแห่งกรรม (ที่เสี่ยง)

                ส่วนข้อสอง เป็นมิติชีวกรรม ที่มองในกรอบกว้างๆ ในรัศมีแหล่งภพ แหล่งชาติ มองกันในระยะยาวๆ มองกันด้วยปัญญาญาณ มิใช่มองแค่ตาเนื้อเท่านั้น การกระทำนี้ มิใช่เกิดมาจากกระบวนกรรม อย่างใด อย่างหนึ่ง แต่เกิดมาจากพหุกรรมร่วมกันหลายฝ่าย ตั้งแต่จักรวาล โลก สรรพสิ่งในโลก ชีวิต และจิตวิญญาณ ทั้งหมดมีผลร่วมกันทั้งสิ้น

                ข้อนี้เป็นเรื่องต้องใช้สหวิชาการ บูรณาการการมองชีวิตให้รอบคอบและรอบด้าน จึงจะเข้าใจระบบชีวิตแบบนี้ได้ แต่คนทั่วไปไม่มองเช่นนี้จะทำอย่างไร คำตอบคือ สัตว์ย่อมเป็นไปตามอำนาจของการไม่รู้ เมื่อไม่รู้ จึงดำเนินไปแบบผิดๆ เพราะอาศัยข้อมูลสมอง ข้อมูลโลก สังคม สิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ด้านเดียวของตน

                จึงเรียกว่าว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามยถากรรมของจริตตนเอง ทุกคนอุบัติมา ย่อมถูกโลก สังคม สิ่งแวดล้อม ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี ฯ หล่อหลอมให้ดำเนินไป แล้วเราจะดำเนินไปตามครรลอง หรือให้สอดคล้องกับโลก และความจริงแบบปรวิสัยอย่างไร  ขึ้นอยู่ความสามารถมันสมอง สติ ปัญญา ของสัตว์โลกครับ 

                เรามิอาจบังคับใครให้ดำเนินตามเจตจำนงเราได้ สุดท้ายทุกคนต้องตัดสินวิถีชีวิตของตนเองว่าจะดำเนินชีวิตแบบใด เหมือนพรศักดิ์ ส่องแสง ร้องว่า "สุดแท้แต่วาสนา ชีวิตเกิดมา ไม่แน่นอน โลกนี้เหมือนดั่งละคร..." ครับ 

                ดังนั้น นี่คือ ทฤษฎีที่โลกสอนเราให้รู้จักว่า เรากำลังถูกสั่งให้หัน เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ในสี่แยก และสั่งให้ทำโน่น ทำนี่ในสำนักงานหรือชุมชนแห่งโลก ขอเรียกอำนาจนี้ว่า "ทฤษฎีกังหัน" (ปฏิบัติตามแรงสั่งให้หมุนติ้วๆ)

-------------------<๒๓-๖-๕๗>-------------------

คำสำคัญ (Tags): #กังหันชีวิต
หมายเลขบันทึก: 570877เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2014 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะ ..... ทฤษฎีกังหัน  อ่านแล้วได้อะไๆ มากมายค่ะ .... ชอบมากๆ ตรงที่ ...จิตมีพลังกลที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก ...ใช่เลยค่ะ

ชอบค่ะ...ทฤษฏี..กังหัน..หมุน..ตามแรงลม...มั้กๆๆเจ้าค่ะ..

...กังหันในใจคน หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มากกว่ากังหันลมนะคะ...

...กังหันต้องลม หมุนวน
ไม่รู้กี่หน ต่อวัน
แต่ใจคน หมุนเวียน  ผัน
ไม่รู้ว่าวัน ละกี่หน...

ชอบบันทึกนี้ค่ะ ให้สติและสาระในหลาย ๆ มิติ มาเห็นบันทึกนี้เมื่อดึกแล้ว อ่านจบแล้ว แต่ยังอยากอ่านใหม่ จะกลับมาอ่านพรุ่งนี้เวลาสมองแจ่มใส ขอมอบดอกไม้ไว้ก่อนนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ชอบมากเลยค่ะ โดยเฉพาะตอนสรุป 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท