ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : 7. นักเรียนเป็นครูซึ่งกันและกัน


         บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessmentเขียนโดย Dylan Wiliamเพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment)ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

         บันทึกตอนที่ ๗ นี้ตีความจากบทที่ ๖ Activating Students as Instructional Resources for One Another เป็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ ใน ๕ ยุทธศาสตร์ของการประเมินเพื่อการพัฒนาที่ดีคือ ยุทธศาสตร์การให้นักเรียนร่วมมือกัน หรือช่วยเหลือกันที่เรียกว่า Collaborative Learning คือการให้นักเรียนประเมินผลการเรียน และให้ข้อมูลป้อนกลับซึ่งกันและกันหรือที่เรียกว่า peer tutoring และ peer feedback

         หนังสือบทนี้เริ่มต้นด้วยการบอกผลของการทบทวนผลงานวิจัยด้าน collaborative learning (CL)และอธิบายว่า CL ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนอย่างดีเยี่ยมด้วยปัจจัย ๔ ประการ

1.แรงจูงใจ (motivation)เมื่อจัดอย่างถูกต้อง CL จะเป็นความพร้อมใจ หรือความสนใจของนักเรียนทำให้นักเรียนเพิ่มความ
   พยายามมากขึ้น
2.ความกลมเกลียวกัน (social cohesion)นักเรียนช่วยกันเพราะต้องการให้ผลงานกลุ่มดีทำให้พยายามมากขึ้น
3.ให้และได้เป็นรายคน (personalization)มีการช่วยเน้นตรงประเด็นที่นักเรียนคนนั้นไม่เข้าใจ
4.คิดอย่างชัดเจน (cognitive elaboration)คนที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้เรียนรู้ ตนเองต้องคิด อย่างทะลุตรงนี้ผมนึกถึง
  learning pyramid ซึ่งบอกว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการสอนคนอื่น

          การทบทวนผลงานวิจัย ๙๙ รายงานบอกว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งชั้นบวกกัน ในชั้นเรียนแบบ CL เป็น ๔ เท่าของชั้นเรียนที่ไม่ใช้และพบว่า ผลของ peer tutoring เกือบเท่าการที่ครูสอน นักเรียนตัวต่อตัวและในบางกรณี peer tutoring ดีกว่าเพราะนักเรียนพูดภาษาเดียวกันและเข้าใจบริบท ของเพื่อนนักเรียนดีกว่าที่ครูเข้าใจ นอกจากนั้นนักเรียนยังกล้าถามกันเองมากกว่า รวมทั้งเกรงใจกันน้อยกว่าและมีความสัมพันธ์แนวราบไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แบบความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน

          มีปัจจัยสำคัญที่สุดต่อผลสำเร็จของ CL 2 ประการ

1.มีเป้าหมายของกลุ่มเพื่อให้นักเรียนเรียนเป็นกลุ่มอย่างแท้จริง อย่างมีเป้าหมายของกลุ่มและเกิดพลังกลุ่มไม่ใช่แค่เรียน
   เป็นกลุ่ม ผมเรียกข้อนี้ว่า วิญญาณกลุ่ม
2.ความรับผิดรับชอบในการเรียนของนักเรียนแต่ละคนให้ตัวเองเข้าใจจริงๆไม่ใช่แค่เรียน แบบกล้อมแกล้ม อาศัยเคลื่อนไป
   ตามกลุ่มโดยไม่ได้รับผิดชอบเรียนให้ตนเองรู้จริงผมขอเรียกว่า วิญญาณการเรียนให้รู้จริง

         ผลการวิจัยบางชิ้นบอกว่า CL ให้ผลดีต่อเด็กเรียนอ่อน มากกว่าต่อเด็กเรียนเก่งแต่ก็มีผลการวิจัย ที่ให้ผลตรงกันข้ามรวมแล้วสรุปได้ว่า CL ให้ผลดีต่อการเรียนรู้ของทั้งเด็กอ่อน และเด็กเก่ง

         ผมแปลกใจที่หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญของ 21st Century Skills น้อยไปเวลาพูดถึงผลการเรียน จะเน้นที่ผลด้านรู้วิชา (พุทธิปัญญา) เท่านั้นผมเชื่อว่า CL มีคุณค่าฝึกฝนปลูกฝังทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑โดยเฉพาะทักษะความร่วมมือ ทักษะความเข้าใจเห็นใจผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร และการสร้างนิสัยเห็นแก่ส่วนรวมซึ่งไม่ได้เอ่ยในหนังสือ ผมเชื่อว่าคุณค่าของ CL ส่วนที่หนังสือไม่ได้เอ่ยถึง มีคุณค่ามากกว่าส่วนที่เอ่ยถึง

         จากการค้นคว้ารวบรวมผลงานวิจัยเรื่อง CLผู้เขียนคือ Dylan Wiliam สรุปว่า ครูที่บอกว่า ตนสอนแบบ CL นั้นส่วนใหญ่ใช้วิธีการที่จะไม่ทำให้ผลการเรียนรู้ดีขึ้นเพราะครูไม่ได้ใช้วิธีการ ที่ทำให้เกิดเป้าหมายของกลุ่มและความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียนแต่ละคน

         นอกจากนิยาม CL ด้วยเกณฑ์ ๒ ข้อข้างบนแล้วยังมีคนให้นิยาม CL แบบที่เคร่งครัดยิ่งขึ้น ว่าต้องมี องค์ประกอบ ๔ ประการ

1.มีการทำกิจกรรมปลายเปิด (open-ended task) ที่เน้นการคิดระดับสูง (higher-order thinking)
2.กิจกรรมกลุ่ม ที่ต้องการบทบาทของสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม
3.กิจกรรมหลายอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการเรียนรู้
4.มีการมอบหมายบทบาทหน้าที่ต่างๆ กันแก่สมาชิกในทีม

เทคนิคเชิงปฏิบัติ

         มีเทคนิคมากมายและตัวครูเองก็สามารถคิดวิธีการขึ้นเองได้

นักเรียนลับ (secret student)เป็นเทคนิคสร้างจิตวิญญาณรวมหมู่ให้แก่นักเรียนทั้งชั้นว่านักเรียนต้องร่วมมือกันประพฤติดี (ตามกติกาที่ตกลงกัน) ก็จะได้รางวัลว่าวันนั้นเป็น “วันดี” (good day)ไม่ใช่เพื่อยกระดับผลการเรียนโดยตรงเป็นเหมือนการเล่นเกมกลายๆ ว่า ใน ๑ เดือน ชั้นเรียนจะได้ “วันดี” กี่วันโดยครูประจำชั้นจะเลือกนักเรียคนหนึ่งแบบสุ่ม ให้เป็นตัว “นักเรียนลับ”แล้วครูประจำชั้นบอกครูผู้สอนวิชาต่างๆ ที่สอนชั้นเรียนนั้นในวันนั้น ว่าใครเป็นนักเรียนลับครูผู้สอนจะสังเกตความประพฤติของนักเรียนคนเดียว ตามกติกาแล้วให้คะแนนหากคะแนนรวมถึงเกณฑ์หนึ่งชั้นเรียนก็ได้รับ “วันดี”เนื่องจากนักเรียนลับนั้นลับจริงๆ คือตัวเองก็ไม่รู้นักเรียนทั้งชั้นไม่รู้ว่าครูจับตามองใครซึ่งอาจเป็นตนเองก็ได้จึงตั้งใจประพฤติดี

นี่คือการใช้ แรงกดดันกลุ่ม (peer pressure) ต่อการกำกับความประพฤติดีของนักเรียนทั้งชั้นซึ่งผลงานวิจัยบอกว่านักเรียนยอมรับมากกว่าใช้กับการกำกับผลการเรียนขอย้ำว่านี่คือผลการวิจัยในเด็กฝรั่งนะครับจะให้ผลดีต่อนักเรียนไทยแค่ไหน น่าจะมีการทดลองและวิจัย

เทคนิค C3B4Meเป็นข้อตกลงง่ายๆ ว่าเมื่อนักเรียนมีปัญหาหรือคำถามต้องปรึกษาเพื่อน ๓ คน ก่อนมาถามครูC3B4Me = See three (students) before (coming to see) me

เพื่อนตรวจการบ้านครูสามารถให้เพื่อนนักเรียนตรวจการบ้านกันเองได้หลากหลายแบบเช่น ให้จับคู่ตรวจการบ้านซึ่งกันและกัน โดยครูมอบเกณฑ์ตาม rubrics ให้,ให้จับกลุ่ม ๔ แล้วร่วมกันตรวจการบ้านของเพื่อนกลุ่มอื่น เป็นต้นผลงานวิจัยบอกว่า เมื่อครูใช้วิธีการนี้ไประยะหนึ่ง พบสิ่งที่น่าแปลกใจ ๒ ประการ(๑) นักเรียนเอาใจใส่ทำการบ้านมากขึ้นคนที่ในอดีตไม่ค่อยทำ กลับตั้งใจทำทั้งนี้เพราะมีข้อตกลงว่า คนที่ไม่ทำการบ้านห้ามเข้าร่วมกลุ่มตรวจการบ้านนักเรียนกลัวการถูกกีดกันออกจากกลุ่มเพื่อนๆ(๒) นักเรียนมีความละเอียดประณีตมากขึ้นตีความว่านักเรียนแคร์การสื่อสารระหว่างกันมากกว่าสื่อสารกับครู

กระดานช่วยการเรียนรู้จากการบ้านตกลงกันว่าเมื่อถึงเวลาส่งการบ้าน นักเรียนคนไหนมีปัญหา หรือไม่เข้าใจตรงไหน ให้ไปเขียนไว้บนกระดาน พร้อมบอกชื่อเจ้าของปัญหาตกลงกันว่า ให้นักเรียนที่เข้าใจเรื่องนั้น ไปช่วยอธิบายแก่เพื่อนในภายหลัง

สองดาวหนึ่งหวัง(Two Stars and a Wish)ทำข้อตกลงว่า ในการตรวจผลงานของเพื่อน ต้อง “ให้ดาว ๒ ดวง” ซึ่งหมายถึงบอกประเด็นที่น่าชื่นชม ๒ ประเด็นและแจ้ง “ความหวัง” หนึ่งข้อซึ่งหมายถึงข้อแนะนำให้ปรับปรุง เทคนิคที่ควรใช้เพิ่มเติมคือ ให้เขียน “สองดาวหนึ่งหวัง” ลงบน กระดาษ Post-it ที่ลอกออกได้ หากผู้รับไม่เห็นประโยชน์ของทั้ง ๓ ข้อและครูอาจรวบรวม กระดาษ Post-it มาฉายขึ้นจอ (โดยไม่บอกชื่อเจ้าของ)แล้วให้นักเรียนโหวตว่า ข้อเขียนใดบ้างคุณภาพดีเยี่ยมแล้วช่วยกันหาเกณฑ์ของ “สองดาวหนึ่งหวัง” ที่ดีเอาเกณฑ์ติดไว้เตือนใจใน บอร์ด ของห้อง

คำถามท้ายเรื่องเมื่อใกล้จบ session แทนที่ครูจะถามว่า “ใครมีปัญหาบ้าง”ซึ่งมักไม่มีคนถาม เพราะมีจิตวิทยาว่าเด็กไม่อยากแสดงตัวว่าหัวทื่อ หรือกรณีเด็กไทยก็เกรงใจครูหรือเกรงใจเพื่อนครูจึงใช้วิธีแบ่งเด็กเป็นกลุ่ม ให้คุยกันเองว่ามีตรงไหนไม่เข้าใจหรืออาจมีข้อตกลงว่าให้แต่ละกลุ่ม เขียนคำถามกลุ่มละอย่างน้อย ๑ คำถามแล้วครูเก็บคำถามเอามาแจกแจงแล้วร่วมกันตอบคำถาม ในห้อง โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างประเด็นคำถามด้วย เขาพบว่า การให้นักเรียนเขียนคำถามมีข้อดี คือช่วยฝึกให้นักเรียนคิดชัดขึ้น ถามชัดขึ้น

จำแนกกลุ่มความรู้ที่ผิดใช้กับการตรวจชิ้นงาน โดยครูตรวจแล้วขีดเส้นใต้ส่วนที่ผิดหรือยังไม่ดีพอแล้วคืนให้นักเรียนทำความเข้าใจปัญหา แล้วจัดกลุ่มปัญหาแล้วให้นักเรียนจับคู่หาทางช่วยกันแก้ไข ชิ้นงานการจับคู่ที่ดี คือให้นักเรียนที่เก่งด้าน กอ่อนด้าน ขจับคู่กับเพื่อนที่ อ่อนด้าน กเก่งด้าน ข

เราได้เรียนอะไรในวันนี้เท่ากับร่วมกันทบทวนการเรียนรู้ในคาบนั้นโดยก่อนจบคาบ ๕ นาที แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ทำรายการที่ได้เรียนในคาบนั้นแล้วแต่ละกลุ่มรายงานต่อชั้น กลุ่มละ ๑ รายการโดยไม่ซ้ำกันโดยจำนวนกลุ่มเท่ากับจำนวนรายการเพื่อให้ทุกกลุ่มมีโอกาสได้รายงาน

ผู้สื่อข่าวนักเรียนตอนต้นคาบเรียน ครูเลือกนักเรียคนหนึ่งเป็น “กัปตัน” ของคาบทำหน้าที่สรุปบทเรียนและตอบคำถามถ้ากัปตันตอบไม่ได้ ก็ขอให้เพื่อนๆ ในชั้นช่วยกันตอบครูคนหนึ่งรายงานผลการใช้เทคนิคนี้ว่าใหม่ๆ เด็กจะเกร็ง แต่เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งพบว่าเด็กมาเข้าคิวขอเป็นกัปตันเพราะเห็นเป็นโอกาสได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนในชั้นวิธีการที่มีครูปรับปรุงต่อไปอีกคือ แทนที่จะให้กัปตันสรุปให้กัปตันตั้งคำถามให้เพื่อนๆ ตอบ

รายการเพื่อตรวจสอบผลงาน (Pre-flight Checklist) ใช้กับผลงานที่ต้องมีโครงสร้างที่แน่นอน ครบถ้วนเช่นรายงานการทดลองในห้องปฏิบัติการต้องมีหัวข้อเรียงตามลำดับคือ ชื่อเรื่อง (ขีดเส้นใต้) คำถามสมมติฐานวิธีการผลวิจารณ์ผลและสรุปรวมทั้งมีผังของหน้ากระดาษ ว่าที่ว่างทางซ้ายกี่ ซ.ม.ที่ว่างทางขวากี่ ซ.ม.วิธีจัดตารางฯลฯ ครูจัดให้มีเอกสาร checklistและตัวอย่างแบบรายงานเมื่อนักเรียนทำเสร็จ ก่อนส่งครู ต้องเอาไปให้เพื่อนที่เป็น บั๊ดดี้ ตรวจตาม checklist และแบบรายงานและเซ็นชื่อรับรองโดยมีข้อตกลงว่า หากครูพบว่าเอกสารรายงาน ไม่เรียบร้อย บั๊ดดี้ ต้องเป็นผู้แก้ไข

รายการตรวจสอบฉัน-เธอ-เรา(I-You-We Checklist)ในแต่ละคาบเรียน นักเรียนทุกคนต้องเขียนว่า ตนเองได้ให้ข้อคิดเห็นอะไรดีๆ แก่ชั้นบ้างบั๊ดดี้ ได้ให้อะไรบ้างและประเมินกระบวนการเรียนของทั้งชั้น

ผู้สื่อข่าวแบบสุ่ม(Reporter at Random) ครูจัดให้ในแต่ละคาบเรียน มีทีมนักเรียนทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ประธานคุณอำนวย (facilitator)ผู้บันทึกเป็นต้นแต่ไม่กำหนดผู้รายงาน (ต่อชั้นเรียน)แต่เมื่อใกล้จบคาบจะสุ่มเรียกนักเรียน ๑ คนจากทั้งชั้น ให้เป็นผู้รายงานเป็นกุศโลบายให้นักเรียน ทุกคนตั้งใจเรียน

เตรียมสอบเป็นทีม(Group-Based Test Prep)เพื่อเตรียมตัวสอบ ครูจัดทีมนักเรียนทีมละ ๕ - ๖ คนให้แต่ละกลุ่มทบทวนหัวข้อหนึ่งโดยมอบหมายนักเรียนแต่ละคนทบทวน ๑ หัวข้อย่อยเป็นการบ้านนักเรียน แต่ละคนได้รับแจกกระดาษอธิบายวิธีทบทวนหัวข้อย่อยนั้นๆเช่นในหัวข้อใหญ่เรื่องพืช ชั้น ม. ๑มีหัวข้อย่อยการผสมเกสรการสังเคราะห์แสงการทดสอบแป้งการกระจายเมล็ดการงอกดอกในกระดาษบอกวิธีทบทวนหัวข้อย่อยเรื่องการผสมเกสร มีข้อความต่อไปนี้“เธอได้รับ การร้องขอ ให้อธิบายให้เพื่อนทั้งชั้นฟังว่า เกิดอะไรบ้าง เมื่อพืช (ที่ผสมพันธุ์ผ่านการช่วยเหลือ ของแมลง) สืบพันธุ์เธอควรอธิบายได้ว่า ละอองเกสรออกจากไหนไปไหนและการผสมเกสรทำให้ เกิดเมล็ดได้อย่างไร”

วันรุ่งขึ้น สมาชิกกลุ่มแต่ละคนเสนอผลงานต่อกลุ่มเพื่อนในกลุ่มให้คะแนน ๓ แบบ โดยยกถ้วยสีตามไฟจราจรคือ สีเขียว = ดีกว่าที่ฉันจะทำได้สีเหลือง = พอใช้ได้สีแดง = ไม่ดีเท่าที่ฉันจะทำได้ หลังจากนั้น จึงปรึกษากันในกลุ่ม ว่าจะปรับปรุงคำตอบอย่างไร

จิตวิญญาณช่วยเหลือเพื่อน

           ข้อโต้แย้งต่อ CL คือ คิดว่ามันไม่ช่วยส่งเสริมเด็กเรียนเก่งคำอธิบายคือ ต้องมีเป้าหมาย ฝึกฝนการคิดระดับสูง (higher-order thinking) และการเรียนให้รู้จริง (mastery learning)แล้วทั้งเด็กอ่อนและเด็กเก่งจะได้รับประโยชน์และข้อโต้แย้งของผมคือ (๑) เด็กไม่ได้เรียนเฉพาะวิชา แต่ต้องเรียนฝึกทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ซึ่งรวมทั้งจิตใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวมรวมทั้งทักษะ การสื่อสารด้วยนักเรียนเก่งที่ทำโจทย์ได้คล่องแคล่วจะมีโอกาสฝึกการสื่อสาร ผ่าน peer tutoring(๒) การสอนผู้อื่นเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ตามใน learning pyramidทั้งนี้ การช่วยเหลือเพื่อนต้องไม่ใช่ แค่บอกถูกผิด ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนการได้ฝึกอธิบายให้ชัดเจน เป็นการเรียนรู้ที่ดียิ่ง

          เรื่อง CL หรือนักเรียนเป็นครูซึ่งกันและกันนี้ครูและนักการศึกษาไทยมีโอกาสทดลองใช้ และทำวิจัยได้หลากหลายประเด็นมาก

วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๕๗

  

   

หมายเลขบันทึก: 570750เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2014 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณมากค่ะ อาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท