การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่: เกณฑ์อนาคต PA: Performance Agreement


ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นวิชาชีพชั้นสูง สามารถก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ด้วยการมีและเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งในปัจจุบัน มีช่องทางสำหรับก้าวหน้าได้ 2 ช่องทาง คือ

ช่องทางแรก คือ การมีและเลื่อนวิทยฐานะสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว17 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยผู้รับการประเมินจะต้องถูกประเมิน 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องมีผลงานทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่ง ในการขอรับการประเมิน ใช้ในการมีและเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการถึงวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

ช่องทางที่สอง การมีและเลื่อนวิทยฐานะสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว13 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ซึ่งมาทดแทน ว5 โดยผู้รับการประเมินจะต้องถูกประเมิน 3 ด้าน สำหรับด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีผลงานดีเด่นที่เป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ใช้ในการมีและเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษถึงวิทยฐานะเชี่ยวชาญ

สำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การมีและเลื่อนวิทยฐานะสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายด้านและหลากหลายสาขา เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางความก้าวหน้าในวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีกช่องทางหนึ่ง โดยไม่ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการที่มีอยู่เดิม ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการใหม่ที่พัฒนา เรียกว่า เกณฑ์อนาคต (ยังไม่แน่นอน ห้ามใช้เพื่ออ้างอิงใดๆ เพราะต้องมีการประชุมอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนสูงสุดต่อไป) หลักเกณฑ์ใหม่นี้ เรียกว่า แนวทางการประเมินสมรรถนะ (Theoretical Pedagogical Knowledge: TPK) และการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) เพื่อมีและเลื่อนวิทยฐานะสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

เหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องด้วยการประเมินผลงานทางวิชาการผ่านมา มีจุดอ่อนหลายประการ เช่น มีการลอกผลงานทางวิชาการ มีการรับจ้างทำผลงานทางวิชาการ ทิ้งห้องเรียนไม่สอนผู้เรียนเพื่อทำผลงานทางวิชาการ คุณภาพของผลงานทางวิชาการไม่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นแต่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับผู้เรียนกับสวนทางกันคือคุณภาพผู้เรียนลดลง ผลงานทางวิชาการที่ทำไม่ได้นำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนจริง ผู้ประเมินผลงานทางวิชาการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ถูกประเมิน เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกมากมาย เพื่อเป็นแก้ปัญหาในการประเมินเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยฐานะดังกล่าวและสร้างทางเลือกเพิ่มขึ้นทางเลือกใหม่อีกทางเลือกหนึ่งให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะก้าวหน้าในวิชาชาชีพ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีการนำเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกณฑ์อนาคตไว้ 2 แนวทาง โดยสรุป คือ

1. แนวทางการประเมินสมรรถนะ (Theoretical Pedagogical Knowledge: TPK) สรุปสาระสำคัญ คือ ใช้สำหรับการประเมินสายงานการสอนกับสายงานการนิเทศ ในวิทยฐานะชำนาญการถึงเชี่ยวชาญ ซึ่งจะถูกประเมินโดยการทดสอบ 2 ด้านคือ ด้านที่ 1 ด้านความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี (TheoreticalKnowledge: TK) และด้านที่ 2 ด้านวินัยคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพและประสบการณ์วิชาชาชีพ (Pedagogical Knowledge: PK) และมีคณะกรรมการประเมิน 1 ชุด โดยทำการประเมิน 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ส่วนที่ 2 รายงานผลการปฏิบัติงานการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (ไม่เกิน 50 หน้า) คะแนนเกณฑ์การผ่านใช้เช่นเดียวกับ ว ต่างๆ ที่ผ่านมา

2. การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) สรุปสาระสำคัญ คือ ใช้สำหรับการประเมินสายงานบริหารสถานศึกษาและสายงานการบริหารการศึกษาในวิทยฐานะชำนาญการถึงเชี่ยวชาญพิเศษ โดยมีข้อตกลงในการพัฒนางานไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งจะถูกประเมิน 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านการประพฤติตน ด้านที่ 2 ด้านผลการปฏิบัติงาน พิจารณาจากกระบวนการและผลการพัฒนา สามารถยื่นคำขอได้ปีละ 1 ครั้ง มีคณะกรรมการประเมิน 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 คณะกรรมการกลั่นกรองข้อตกลงในการพัฒนางาน ชุดที่ 2 คณะกรรมการประเมินเพื่อพัฒนางาน โดยประเมินด้านที่ 1 และด้านที่ 2 ประเมินเป็นระยะ ภาคเรียนละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง ชุดที่ 3 คณะกรรมการประเมินผลตามข้อตกลงเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามข้อตกลง

การประชุมของผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มีการอภิปรายถึงรูปแบบการประเมินทั้ง 2 แนวทางดังกล่าว ได้ข้อสรุปในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักเกณฑ์ใหม่หรือหลักเกณฑ์อนาคต ดังนี้

1. จัดหลอมรวมทั้ง 2 แนวทางที่นำเสนอ ให้เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกันทุกสายงาน โดยไม่มีการแยกสายงานใดโดยเฉพาะใช้เกณฑ์เดียวกัน โดยเน้นให้มีการจัดทำข้อตกลง ในการพัฒนางาน (Performance Agreement: PA) และข้อตกลงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประเมิน ในการจัดทำข้อตกลง ในการพัฒนางาน สำหรับระยะเวลาในการพัฒนางาน ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใช้เวลาในการพัฒนางาน 1 ปี หรือ 2 ปี แต่ผู้รับการประเมินต้องถูกประเมินเป็นระยะๆ เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด

2. ในการประเมินสมรรถนะของผู้รับการประเมิน ทุกสายงาน ต้องครอบคลุมสมรรถนะของการปฏิบัติงาน นั่นคือ ด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะ ในการปฏิบัติงานของแต่ละสายงานและแต่ละตำแหน่งที่มีความแตกต่างกันไป

3. รูปแบบวิธีการประเมินสมรรถนะ ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสมรรถนะนั้นๆ เช่น การทดสอบโดยใช้ข้อสอบอาจใช้ได้กับด้านความรู้ สมรรถนะบางด้านอาจใช้ข้อสอบวัดไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป

4. หลักเกณฑ์และวิธีการจะไม่มีการจัดทำผลงานทางวิชาการ แต่ต้องมีการจัดทำรายงานผลตามข้อตกลงในการพัฒนางาน

5. คณะกรรมการประเมินจะต้องมีอย่างน้อย 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 คณะกรรมการประเมินผลตามข้อตกลงในการพัฒนางานเป็นระยะๆ และ ชุดที่ 2 คณะกรรมการประเมินรายงานผลตามข้อตกลง ซึ่งในชุดที่ 2 ต้องมีผู้แทนจากชุดที่ 1 จำนวน 1 คน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นผลการปฏิบัติงานและพัฒนางานเป็นระยะๆ หรือมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองจัดทำข้อตกลง ในการพัฒนางาน

6. หลักเกณฑ์และวิธีการ ต้องใช้ประเมินตั้งแต่วิทยฐานะชำนาญการถึงวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ และต้องประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามลำดับไม่มีก้าวกระโดด (ข้ามวิทยาฐานะ)

7. การยื่นคำขอรับการประเมินยื่นได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับการพัฒนางานตามข้อตกลงที่เป็นปีการศึกษา

8. คุณสมบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะ

9. การย้ายสถานที่ทำงานใหม่หรือเปลี่ยนสายงานใหม่ ถือว่า หมดสิทธิ์ในการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นขอรับการประเมินใหม่เมื่อมีคุณสมบัติได้

ผู้ทรงคุณวุฒิได้นำเสนอข้อคิดในที่ประชุมที่เกี่ยวกับเรื่อง วิทยฐานะว่า วิทยฐานะนั้นไม่ใช่เป็นการเยียวยา ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์ วิทยฐานะเป็นศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ ศักดิ์ศรีแห่งการปฏิบัติวิชาชีพชั้นสูง หัวใจของการเลื่อนวิทยฐานะต้องเกิดผลสำเร็จที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องเทียบเคียงได้กับตำแหน่งข้าราชการส่วนอื่นๆ

หลักเกณฑ์หรือวิธีการจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนางานของแต่ละตำแหน่งและแต่ละสายงานนั้นต้องส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ถ้าผลการพัฒนาไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนก็คงจะไม่ได้รับการพิจารณาให้มีและเลื่อนวิทยฐานะได้

หมายเลขบันทึก: 570687เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2014 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2014 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แนวทางใหม่ได้รับความเห็นชอบแล้วจากการประชุม ขอชื่นชมท่านรัตนา ที่มาปุบก็ทำเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูนะคะ....จะเป็นฝันร้ายดังเช่นรุ่นเชิงประจักษ์ปี 46 หรือไม่ต้องติดตามเพราะว่าในครั้งนั้นไม่สนใจคะแนนของคณะกรรมการชุดที่ 1 เลยนะคะ ครั้งนี้จะให้มาประเมินอีกและตั้งเกณฑ์ออกมาแล้วแต่ต้นสังกัด...คิดดูเถอะว่าจะออกมารูปแบบไหน สอบจากข้อสอบใครแต่งคงไม่ใช่อาจารย์ใน ม. นะคะที่ไม่ได้สัมผัส ไม่รู้ก็มาออกข้อสอบดั่งเช่น สอบครูผู้ช่วยที่ผ่านมา...ฯลฯ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท