ความแตกต่างระหว่างปลูกมะนาวแบบทรมานกับการผสมผสานจัดการซีเอ็นเรโชให้เหมาะสมกลมกลืนกับธรรมชาติปราศจากสารพิษติดผลนอกฤดู


ถ้าพูดถึงพืชเศรษฐกิจที่บ่งชี้สถานะประชาชนคนรากหญ้าว่าจะมีปฏิกิริยาที่พึงพอใจหรือหงุดหงิดเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นยามขาดแคลนหรือตามที่นักเศรษฐศาสตร์เขาชอบพูดกันว่าซัพพลาย (Supply) น้อยกว่าดีมานด์ (demand) สรุปง่ายให้เข้าใจไม่สับสนก็คือความต้องการขายมีไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อนั่นเอง ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพง ยุครัฐบาลไร้สเถียรภาพ รัฐบาลรักษาการณ์ รัฐบาลผีหัวขาดหรือมาถึงยุค คสช. เจ้าสิ่งที่ผมจะพูดถึงนี่ก็คือ "มะนาว" นั่นเองครับ เพราะตั้งแต่เดือนมีนา-เมษาโน่นมาทีเดียวที่มะนาวมีราคาแพง และสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ส่วนใหญ่จะชอบรับประทานอาหารที่มีรสจัด เช่นต้มยำ ตำบักหุ่ง ตำมะยม ตำถั่ว ตำซั่วและอีกหลายๆชนิดของอาหารที่ต้องมีการตำล้วนจะต้องมีมะนาวเป็นปัจจัยหลักมิฉะนั้นก็จะทำให้อาหารจานนั้นขาดอรรถรสไปอย่างมากทีเดียว


ด้วยเหตุฉะนี้จึงต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไมมะนาวจึงต้องมีราคาแพง และโดยเฉพาะหน้าแล้งนั้นถือว่าแพงมากขึ้นทุกปีๆทีเดียว ล่าสุดที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก็มีราคาประชาสัมพันธ์ผ่านทีวีมาให้ได้ยินได้ฟังกันสูงถึงลูกละ 16บาท (อืห์ม?!?! มีพืชอะไรบ้างน๊า! ที่ให้ดอกออกผลดก แถมขายเป็นลูก ไม่ใช่ทีละกิโลเหมือนเงาะ ลองกอง ลำไย น่าจะทำกำไรดีไม่น้อยถ้าทำให้ออกในช่วงหน้าแล้งได้)


ถ้าวิเคราะห์กันให้ดีๆแล้วมะนาวก็จัดเป็นพืชที่มีดอกและผลหลายรุ่นในต้นเดียวกัน จึงทำให้ดูคล้ายดังกับว่ามะนาวนั้นให้ดอกออกผลตลอดทั้งปีทีเดียวเชียวล่ะครับ แต่จริงๆแล้วนั้นมะนาวเขาจะออกดอกติดผลปีละประมาณสองรอบ คือในช่วงแรกมะนาวจะออกดอกในเดือนมีนาคมและเมษายน และให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในเดือนสิงหาคม-กันยายน ในระหว่างที่พี่น้องเกษตรกรกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลเพลินๆอยู่นี้ มะนาวเขาก็จะมีดอกรุ่นที่สองในห้วงช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคมออกมาอีกชุดหนึ่งและชุดนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในห้วงช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม หลังจากนั้นก็จะมีดอกที่ออกชุดสุดท้ายออกมาอีกรุ่นหนึ่งในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งจะให้ผลผลิตในช่วงต้นฤดูฝน เห็นมั๊ยละครับท่านผู้อ่านว่ามะนาวไม่ยอมให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เลยนะครับในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน (ฤดูแล้ง) จึงทำให้ราคาของมะนาวในช่วงนี้มีราคาแพงนั่นเอง


เมื่อทราบว่ามะนาวหลังเกิดดอกแล้วนับออกไปอีกหกเดือนก็จะให้ผลผลิตออกมาเก็บเกี่ยวนำไปจำหน่ายได้ จึงมีเซียนมะนาวใช้วิธีการบังคับ ทรมาน ด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆให้มะนาวนั้นติดดอกออกผลในช่วงที่ต้องการ ทั้งการควั่นกิ่ง ลมควัน อั้นน้ำ (งดการให้น้ำ) ใช้สารเคมียับยั้งการแตกใบอ่อน ทำลายน้ำย่อยไนโตรเจนไม่ไปเลี้ยงใบ ปลูกในวงซิเมนต์ ปิดฝาด้านล่าง (ทำให้ต้องเปลืองต้นทุนสูงในการเติมปุ๋ย เพราะกลัวว่าผืนแผ่นดินไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพียงทานเงาะแล้วบ้วนเม็ดทิ้งก็งอกได้ จะนำความสมบูรณ์มาสู่ต้นมะนาวมากเกินไปแล้วจะมีแต่ใบอ่อน ไม่เกิดดอก ) จำจึงต้องพรากรากมะนาวออกจากดินไปตลอดกาล สุดท้ายขายได้กำไรน้อย อายุสั้น เพราะใช้ปัจจัยการผลิตด้วยการซื้อทั้งหมด


การปลูกมะนาวด้วยวิธีทรมาน ด้วยวิธีการใช้สารเคมี ด้วยวิธีการไม่พึ่งพาทรัพยากรจากแผ่นดินไทย สารเคมีที่ตกค้างสะสมในดิน น้ำ และลำต้นของมะนาว ต้นที่ถูกทรมานจะทรุดโทรมจากวิธีการที่ทำให้เครียด ยาวนานเข้าจึงทำให้ต้นมะนาวเสื่อมโทรม อายุสั้น ใบหงิกงอ ไม่สมบูรณ์ แตกยอดชุดใหม่ก็ยังจะหงิกงออยู่จากสารที่ใช้ในการยับยั้งใบอ่อน อายุจะอยู่กับพี่น้องเกษตรกรได้ไม่ยั่งยืนยาวนาน อายุอานามก็จะอยู่ได้เพียง 5-6 ปี ยิ่งปลูกในวงซิเมนต์ยิ่งไปเร็วใหญ่


แล้วถ้ามีวิธีที่ปลอดภัยไร้สารพิษล่ะ จะมีพี่น้องเกษตรกรท่านใดสนใจกันหรือไม่ ถ้าสนใจก็จะขออนุญาตเล่าต่อไปแล้วกัน จากเหตุผลหรือสมมุติฐานที่รากพืชหลายชนิดที่จุ่มแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาแต่ยังให้ดอกออกผลได้จากสัดส่วนของ ซี เอ็น เรโช (C : N Ratio) ที่มีสัดส่วนกว้างหรือห่างกันนั่นเองครับ จึงนำเทคนิคเหล่านี้มาใส่ไข่ขยายความให้เกิดการปลูกมะนาวตามแบบธรรมชาติและสามารถทำให้ออกดอกติดผลนอกฤดูกาลได้โดยวิธีการที่ไม่ทรมานจากการทำให้ ซีเอ็นเรโชเขากว้างหรือห่างขึ้นนั่นเอง


โดยปรกติถ้าพืชหรือมะนาวมีค่าซีเอ็นเรโชแคบ คือมีค่าไนโตรเจนสูงมากกว่าคาร์บอนก็จะทำให้พืชพัฒนาเป็นใบอ่อน แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามทำให้พืชมีการสะสมคาร์บอนให้สูงกว่าไนโตรเจน เมื่อนั้นพืชก็จะพัฒนามาเป็นตาดอกได้ เงื่อนไขหลักที่สำคัญนี่เองเป็นเหตุผลที่จะทำให้มะนาวออกดอกและติดผลในห้วงช่วงที่เราต้องการได้นั่นเอง ทีนีก็ต้องไปดูกันล่ะครับว่าไนโตรเจนนั้นมีอยู่ที่ใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมูลสัตว์ อากาศ น้ำฝน ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0, ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0และแคลเซียมไนเตรท15-0-0 ล้วนแต่เป็นตัวที่ทำให้มะนาวนั้นเสี่ยงต่อการแตกใบอ่อนทั้งสิ้น ส่วนคาร์บอนนั้นเราจะได้จาก น้ำตาลทราย (sucrose), กลูโคส(dextrose) มีอยู่ในเครื่องดื่มชูกำลัง ในอดีตที่เครื่องดื่มชูกำลัง ยอดขายยังไม่ค่อยดีก็จะมีข่าวลือให้ชาวบ้านใช้เครื่องดื่มชูกำลังสองฝาใส่น้ำ 20ลิตรฉีดพ่นก็จะทำให้เกิดดอกติดผลได้สมใจ ฮอร์โมนไข่ (ไข่ไก่ 5 ก.ก. กากน้ำตาล 5 ก.ก. ลูกแป้งข้าวหมาก1ลูก ยาคูลท์หรือบีทาเก้นท์ 1ขวด) ตัวนี้ถือเป็นพระเอกที่ให้แหล่งพลังงานคาร์บอนตัวสำคัญทีเดียวเชียวล่ะครับ


ในห้วงช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนหลังจากตัดแต่งกิ่งบำรุงต้นจนสมบูรณ์เต็มที่ เทคนิคที่สำคัญคือจะต้องปล่อยให้มะนาวว่างทั้งดอกและผลในระหว่างนี้ หลังจากนั้นจึงรีบทำการสะสมคาร์บอนด้วยการฉีดพ่นฮอร์โมนไข่แหล่งพลังงานคาร์บอนที่สำคัญแต่ราคาประหยัดเพราะผลิตได้เองไม่ต้องซื้อนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มคาร์บอนให้แก่มะนาว และขจัดไนโตรเจนที่อยู่รอบโคนต้นหรือใต้ทรงพุ่มด้วยเก็บกวาดเศษไม้ใบหญ้าปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกและที่สำคัญจะต้องงดการใช้ปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูงทุกชนิดระหว่างนี้ ถ้าเป็นดินดำน้ำชุ่มมีการสะสมอาหารและไนโตรเจนไว้เยอะ ก็ควรจะต้องใส่หินแร่ภูเขาไฟ (Pumice) ที่มีความพรุนหรือค่าซีอีซี (Cation Exchange Capacity) ช่วยในการจับตึงไนโตรเจนไม่ให้รากมะนาวดูดกินแร่ธาตุไนโตรเจนมากเกินไป


ถ้ามีปัญหาไนโตรเจนท่ีมาทางอากาศ (ปรากฎการณ์ฟ้าร้องฟ้าผ่า (Ammonification). มีประจุของไนโตรเจนปนเปื้อนมาด้วย น้ำฝนจึงทำให้กระถิน ชะอมริมรั้วแตกช่อชูใบ หญ้าริมทางกลางท้องทุ่งเขียวขจีได้ด้วยก็เหตุนี้) จึงต้องฉีดพ่นระงับยับยั้งใบอ่อนด้วยน้ำตาลทรายหรือกลูโคสและมะพร้าวอ่อนทางใบ ระยะห่างความถี่ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่ฝนตกลงมา เพราะว่าทุกครั้งที่ฝนตกจะมีไนโตรเจนมาด้วยเสมอ ในกรณีที่ใบอ่อนเกิดขึ้นเยอะ (ทำให้ไนโตรเจนสูงกว่าคาร์บอน ซีเอ็นเรโชแคบ) อาจจะเติมแร่ธาตุที่สะสมแป้งและน้ำตาลเพิ่มเข้าไปด้วยอย่าง โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34)และโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50)ก็จะช่วยยับยั้งไนโตรเจนทางใบได้ชะงัดดีนักแล ด้วยหลักการคร่าวๆเพียงเท่านี้ตามความจำกัดจำเขี่ยของหน้ากระดาษก็สามารถที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านและพี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะปลูกมะนาวในรูปแบบที่ปลอดภัยไร้สารพิษแถมยังพิชิตต้นทุนเกื้อหนุนให้ติดดอกออกผลเก็บเกี่ยวได้ในห้วงช่วงฤดูแล้งได้ไม่ยากนะครับ อ้อ! เกือบลืมไปถ้าอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกมะนาวปลอดสารพิษไม่ใช้ยาฆ่าแมลงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือสารแปลกปลอมที่ทรมานต้นไม้ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างละเอียดก็โทรศัพท์มาคุยกันได้นะครับที่ 0-2986-1680-2 หรือ www.thaigreenagro.com



มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 570465เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท