Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

งานให้บริการทางกฎหมายเพื่อจัดการสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย อาจเป็นงานที่มีค่าตอบแทนหรือไม่ ก็ได้ค่ะ


ตอบคุณอาแผ่เรื่องการทำงานให้บริการทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152502501628834

---------

คำถาม

--------

คุณอาแผ่เฟซมาตั้งคำถามเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ ว่า

สวัสดีค่ะ อาจารย์ หนูชื่ออาแผ่ อยู่เชียงใหม่นะคะ หวังว่าอาจารย์จะพอจำหนูได้นะคะ พอดีหนูมีคำถามจะรบกวนอาจารย์ค่ะ

คำถามแรก เกี่ยวกับผลของการทำรัฐประหาร อยากถามอาจารย์ว่า พอไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว กฏหมายต่างๆจะมีผลอย่างไรคะ ยังบังคับใช้ได้เหมือนเดิมหรือเปล่าคะ?

คำถามที่สอง อยากขอความเห็นจากอาจารย์เกี่ยวกับการรับดำเนินการและเดินเรื่องเกี่ยวกับการพิสูจน์สถานะบุคคล โดยการรับมอบอำนาจนั้น ทำได้หรือไม่คะอาจารย์ โดยมีค่าใช้จ่ายและค่าจ้างด้วยนะคะโดยส่วนที่เจ้าตัวปัญหาต้องทำเองและเป็นเรื่องเฉพาะตัวนั้น ก็ให้เจ้าตัวทำเองค่ะ รวมทั้งทำสัญญาจ้างอย่างชัดเจน อาจารย์ว่า ทำได้อย่างถูกกฎหมายรึเปล่าคะ ?

ขอบคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ ขอบคุณค่ะ

---------

คำตอบ

--------

อ.แหววยังจำคุณอาแผ่ได้ดีค่ะ สำหรับคำถามของคุณอาแผ่ อ.แหววขอมีคำตอบดังต่อไปนี้ค่ะ

ในคำถามแรกที่คุณอาแผ่ถามว่า “เกี่ยวกับผลของการทำรัฐประหาร อยากถามอาจารย์ว่า พอไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว กฏหมายต่างๆจะมีผลอย่างไรคะ ยังบังคับใช้ได้เหมือนเดิมหรือเปล่าคะ ?” นั้น

อ.แหววขอมีคำตอบว่า กฎหมายต่างๆ ที่คณะรัฐประหารไม่ได้ยกเลิกก็ยังมีผลตามเดิมค่ะ รัฐธรรมนูญที่หายไป ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นปกติประเพณีการปกครองประเทศมิได้หายไป อีกทั้งหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยก็ยังคงอยู่ ดังนั้น การทำงานด้านกฎหมายโดยทั่วไปก็ยังทำได้อยู่ค่ะ จะเห็นว่า กลไกทางกฎหมายต่างๆ ก็ยังทำงานไปตามเดิม ยกเว้นสถาบันทางการเมืองที่ถูกยกเลิกไป โดยเฉพาะรัฐบาลและวุฒิสภา แต่สังเกตนะคะ แม้องค์กรจะถูกยกเลิกไป แต่หน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก็ยังทำอยู่โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ในคำถามที่สองที่คุณอาแผ่ถามว่า “อยากขอความเห็นจากอาจารย์เกี่ยวกับการรับดำเนินการและเดินเรื่องเกี่ยวกับการพิสูจน์สถานะบุคคล โดยการรับมอบอำนาจนั้น ทำได้หรือไม่คะอาจารย์ โดยมีค่าใช้จ่ายและค่าจ้างด้วยนะคะ โดยส่วนที่เจ้าตัวปัญหาต้องทำเองและเป็นเรื่องเฉพาะตัวนั้น ก็ให้เจ้าตัวทำเองค่ะ รวมทั้งทำสัญญาจ้างอย่างชัดเจน อาจารย์ว่า ทำได้อย่างถูกกฎหมายรึเปล่าคะ ?” นั้น

อ.แหววเห็นว่า งานให้บริการทางกฎหมายเป็นงานที่ทำได้อยู่แล้วค่ะ เป็นที่ยอมรับในทุกประเทศของโลก จึงสำนักงานทนายความที่รับจ้างทำของในเรื่องการให้บริการทางกฎหมาย งานพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายก็เป็นงานที่ทนายความอาจเข้าให้บริการทางกฎหมายได้ค่ะ

การสนับสนุนการร้องขอสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ ก็ไม่น่าจะต่างไปจากการสนับสนุนการใช้สิทธิในการรับมรดกตามพินัยกรรม งานสนับสนุนทั้งสองลักษณะก็เป็นงานให้บริการทางกฎหมายที่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิอาจว่าจ้างทนายความให้สนับสนุนการจัดการสิทธิได้ค่ะ สัญญาจ้างทำของที่เกิดขึ้นก็น่าจะชอบด้วยกฎหมายค่ะ

แต่โดยทั่วไป หากเป็นการสนับสนุนคนไร้สัญชาติที่ยากจนเพื่อพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ก็มักเป็นงานของสถาบันการศึกษาหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจึงมักจะไม่มีการเรียกค่าตอบแทนจากเจ้าของสิทธิ แต่ในประสบการณ์ ก็เห็นกรณีที่เจ้าของสิทธิมีกำลังทางเศรษฐกิจที่จะจ้างทนายความมาทำงานกฎหมายเหมือนกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 570442เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 01:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 01:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท