Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อยากชวนอธิการบดีม.แม่โจ้มาผลักดันการรับรองสิทธิทำงานตามวุฒิการศึกษาของบัณฑิตไร้สัญชาติที่จบจากมหาวิทยาลัยของท่าน


ตอบคุณมล บัณฑิตไร้สัญชาติแห่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้เรื่องการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติและปัญหาความไร้งานทำ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗


------------------------

คำถาม/ข้อเท็จจริง

-----------------------

คุณมล บัณฑิตไร้สัญชาติ แห่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อีเมลล์ผ่าน [email protected] มาหา อ.แหววตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดยตั้งชื่อหัวข้ออีเมลล์ว่า “ขอสัญชาติไทยค่ะ” และมีใจความของอีเมลล์ดังนี้

“คือเรื่องของหนู มีอยู่ว่า ตอนนี้ หนูอายุ ๒๒ ปี ซึ่งจะจบในเทอมนี้ แต่หนูยังไม่ได้บัตรประชาชน หนูมีแต่บัตรสีชมพู ซึ่งเวลานี้หนูต้องออกไปทำงานอ่ะค่ะ หางานยากเพราะไม่มีบัตรประชาชน หนูเรียนด้านการตลาด เกรด ๓.๐๔ ค่ะ ซึ่งพ่อหนูเป็นคนไทยใหญ่ทั้งสองเข้ามาอยู่ประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๓๑ ซึ่งหนูเกิดปี ๒๕๓๕ หนูมีใบที่รับรองใบเกิดว่า เกิดที่ประเทศไทยค่ะ ครอบครัว หนูเคยทำเรื่องขอแล้ว เขาบอกให้รอมติแต่บางคนก็ได้ไปแล้วบางส่วนค่ะ ตามบัญญัติกฏหมายเขาว่า หนูมีสิทธิเป็นคนไทยแต่ต้องรอ แต่มันนานแล้วค่ะเพราะอีก ๒ เดือนหนูจะจบปริญญาตรีแล้วค่ะ แล้วหนูต้องการทำงาน แต่ไม่มีที่ไหนรับหนู เพราะหนูไม่มีบัตรประชาชนค่ะ หนูเครียดมากเลยค่ะ ทุกวันนี้หนูได้แต่เฝ้ารอหวังว่า จะได้บัตรประชาชนเพราะหนูอยากทำงานเลี้ยงครอบครัวค่ะ ซึ่งหนูก็พยายามเรียนจบมาหนูไม่อยากให้มันสูญเปล่า ช่วยพิจารณาข้อมูลหนูหน่อยน่ะค่ะขอบคุณค่ะ หนูเดือนร้อนจริงๆน่ะค่ะ เบอร์หนูค่ะ 081XXXXXXXX  มล จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ”

อ.แหววถามกลับไปในวันเดียวกันว่า “เรียนที่ไหนคะ อ.แหววค่ะ และคุณมลตอบกลับมาในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ ว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ค่ะ เบอร์หนูค่ะ 081XXXXXXX ขอโทษที่หนูตอบช้าน่ะค่ะ พอดีหนูกำลังตกงาน หางานอยู่อ่ะค่ะ ตอนนี้หนูเพิ่งเรียนจบที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ค่ะเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ตอนนี้ก็รอเรื่องบัตร และกำลังหางานทำไปด้วยค่ะ หนูอยากได้งานทำแต่ติดเรื่องบัตรประชาชนทำให้หนูอาจไม่มีสิทธิเหมือนคนอื่น ที่ผ่านมาเครียดมากค่ะเพราะถูกปฏิเสธหลายที่”

ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ คุณมลอีเมลล์มาบอกอีกว่า “อ.แหววคะ ช่วยหนูเรื่องขอสัญชาติด้วยน่ะค่ะ 081XXXXXXX  หนูอยากจะปรึกษาเรื่องขอสัญชาติไทย รบกวนขอเบอร์ติดต่อด้วยน่ะค่ะ

ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ อ.แหววตอบไปอีกว่า “คุณมลคะ คงไม่อาจติดต่อกับทุกท่านทางโทรศัพท์ได้นะคะ โปรดเล่าเรื่องมาทางอีเมลล์เถอะค่ะ ขอดูบัตรประจำตัวของคุณ/ทะเบียนบ้าน/แบบพิมพ์ประวัติ/หนังสือรับรองการเกิด สแกนหรือถ่ายรูปมาให้ดูนะคะ อ.แหววค่ะ

---------------------------------------

คำตอบ/ความเห็นทางกฎหมาย

---------------------------------------

  • (๑)การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของคุณมล

โดยประสบการณ์ แม้ข้อเท็จจริงที่คุณมลให้มาจะไม่ละเอียดนัก อ.แหววก็เดาว่า คุณมลน่าจะเป็นบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากคนไทยใหญ่ไร้สัญชาติที่อพยพจากประเทศเมียนม่าร์เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้น การได้มาซึ่งสัญชาติไทยก็จะมีผลเป็นการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่คุณมลที่ไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติเมียนม่าร์ตามบุพการี ซึ่งไม่อาจหรือยังไม่อาจพิสูจน์สัญชาติเมียนม่าร์ ซึ่งเป็นสัญชาติของรัฐต้นทาง

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่คุณมลเล่ามา ก็พอสรุปได้ว่า คุณมลย่อมจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หากเป็นการเกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ก็จะเป็นสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่หากเป็นการเกิดตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา ก็จะเป็นสัญชาติไทยโดยผลของคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

เพื่อที่จะทราบว่า กรณีจะเป็นไปในกรณีใดนั้น จึงต้องรอคำตอบในเรื่องวันเกิดของคุณมลอีกครั้ง

  • (๒)การจัดการปัญหาความไร้งานทำของคุณมล

ในส่วนความทุกข์ของคุณมลในเรื่องการหางานทำในช่วงที่กระบวนการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของคุณมลยังไม่ได้รับการจัดการให้แล้วเสร็จนั้น ก็เป็นที่น่าเห็นใจมาก เพราะแม้ประเทศไทยจะมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องยอมรับให้มนุษย์ได้มีโอกาสทำงานตามวุฒิการศึกษาของตนเอง และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ก็มีบทบัญญัติที่อาจใช้ในการรับรองสิทธิในการทำงานตามวุฒิการศึกษาได้ แต่ด้วยยังไม่มีประกาศของกระทรวงแรงงานเพื่อรับรองสิทธิดังกล่าวเลย อีกทั้งกลับมีประกาศของกระทรวงแรงงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒[1] ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบพิเศษอาจร้องขอใบอนุญาตทำงานได้เพียง ๒๗ อาชีพซึ่งเป็นงานไร้ฝีมือหรืองานใช้แรงงาน[2] โดยไม่สนใจว่า บุคคลดังกล่าวจะจบการศึกษาในสาขาใด จะเห็นว่า ปัญหาความไม่เอื้อของนโยบายของกระทรวงแรงงานจึงสร้างอุปสรรคในการทำงานของเหล่าคนไร้สัญชาติที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อคุณมลยังไม่ได้รับการจัดการปัญหาสัญชาติไทย แม้เกิดในประเทศไทย เธอจึงยังถูกถือเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว อันทำให้ตกเป็นคนที่มีสิทธิทำงานในเงื่อนไขที่จำกัดดังกล่าว ดังจะเห็นว่า แม้คุณมลจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาการตลาด ด้วยเกรดที่สูง ก็จะหางานทำได้ยาก ไม่เพียงแต่จะต้องร้องขอใบอนุญาตทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ เท่านั้น แต่ยังมีอุปสรรคที่กฎหมายไม่เปิดให้ทำงานตามวุฒิการศึกษาอีกด้วย

การแก้ไขปัญหาสิทธิในการทำงานของบัณฑิตไร้สัญชาติดังคุณมล จึงควรจะต้องมีการปฏิบัติตามมาตรา ๑๓ (๕) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ เสียที บทบัญญัติดังกล่าวเป็นดังนี้

คนต่างด้าวซึ่งไม่อาจขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๙ เพราะเหตุดังต่อไปนี้อาจขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อทำงานตามประเภทที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ[3] โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและผลกระทบต่อสังคม

(๑) ถูกเนรเทศตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศและได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศหรืออยู่ในระหว่างรอการเนรเทศ

(๒) เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๓) ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ หรือตามกฎหมายอื่น

(๔) เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

(๕) เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ประกาศตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดไว้ด้วยก็ได้

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสในการทำงานตามวุฒิการศึกษาของเหล่าบัณฑิตไร้สัญชาติอย่างตรงประเด็น ก็คือ การผลักดันให้เกิดมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อรับรองสิทธิในการทำงานตามวุฒิการศึกษาของเหล่าบัณฑิตไร้สัญชาติ ซึ่งน่าจะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ (๑) การเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าวให้ทราบถึงความเดือดร้อนของเหล่าบัณฑิตไร้สัญชาติ (๒) หากคณะกรรมการนี้เห็นชอบด้วย ก็จะต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติรับรองสิทธิของเหล่าบัณฑิตไร้สัญชาติในการทำงานตามวุฒิการศึกษา และ (๓) การประกาศมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา

ประเด็น ก็คือ การผลักดันดังกล่าวนี้ ควรจะทำโดยใคร ?

อ.แหววเสนอให้เหล่านักศึกษาไร้สัญชาติซึ่งจะเป็นอนาคตบัณฑิตไร้สัญชาติ และบัณฑิตไร้สัญชาติ มาช่วยกันเสนอการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสดังกล่าวนี้ไปยัง (๑) คณะรัฐมนตรี ซึ่งตอนนี้ ทำหน้าที่โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ (๒) เหล่าอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาไร้สัญชาติและบัณฑิตไร้สัญชาติ

คุณมลเป็นคนหนึ่งที่จะผลักดันเรื่องนี้ได้ค่ะ เรามาคิดวิธีการผลักดันกันดีไหมคะ


[1] ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๒ แห่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๒๑ ทำได้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ โดย พลเอก เล็ก แนวมาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%a149/%a149-2e-2522-002.pdf

มาตรา ๖๐ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งของรัฐมนตรีหรืออธิบดี ซึ่งได้ออกหรือสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๔ และยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือเสมือนเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งของรัฐมนตรีหรืออธิบดีที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้

[2] กล่าวคือ (๑) งานช่างซ่อมจักรยาน (๒) งานช่างประกอบและซ่อมเบาะรถ (๓) งานช่างประกอบและซ่อมตัวถุงรถ (๔) งานช่างประกอบและซ่อมท่อไอเสียรถ (๕) งานช่างบัดกรีโลหะแผ่นด้วยมือ (๖) งานช่างไม้เครื่องเรือน (๗) งานช่างไม่ก่อสร้างอาคาร (๘) งานเลื่อยไม้ในโรงงานแปรรูปไม้ (๙) งานช่างปูน (๑๐) งานช่างทาสี (๑๑) งานช่างประกอบและซ่อมประตูหน้าต่าง (๑๒) งานช่างติดตั้งมุ้งลวด (๑๓) งานช่างย้อมผ้า (๑๔) งานช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ยกเว้นการตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี (๑๕) งานซักรีดเสื้อผ้า (๑๖) งานทำสวนผักและผลไม้ (๑๗) งานเลี้ยงสัตว์ ยกเว้นงานเลี้ยงไหม (๑๘) งานขายปลีกสินค้าที่มิใช่เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครื่องอะไหล่ (๑๙) งานขายอาหารหรือเครื่องดื่ม (๒๐) งานผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม (๒๒) งานช่างซ่อมนาฬิกา ปากกา และแว่นตา (๒๓) งานช่างลับมีด และของมีคมอื่น ๆ (๒๔) งานช่างทำกรอบรูป (๒๕) งานช่างเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องโลหะมีค่าอื่น ๆ (๒๖) งานช่างทอถักไหมพรมและทอผ้าด้วยมือ ยกเว้นงานทอผ้าไหมและงานทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นไหม และ (๒๗) งานกรรมการ

[3] อันได้แก่ “คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว” ตามมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรนายจ้างและผู้แทนองค์กรลูกจ้างฝ่ายละไม่เกินสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสี่คนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน การอุตสาหกรรม และกฎหมาย เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

การได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้แทนองค์กรนายจ้างและผู้แทนองค์กรลูกจ้าง และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมายเลขบันทึก: 570439เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 01:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2014 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท