ฉบับที่ ๐๑๓ แถลงข่าว “เตือนมะกันอย่าชวนไทยเข้า TPP เพราะย่ำยีศักดิ์ศรีและอธิปไตยยาสูบของชาติ”


เมื่อวานผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับฟัง การแถลงข่าวจากภาคีเครือข่ายของศจย. โดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในหัวข้อ “เตือนมะกันอย่าชวนไทยเข้า TPP เพราะย่ำยีศักดิ์ศรีและอธิปไตยยาสูบของชาติ” ณ โรงแรม สุโกศล กรุงเทพฯ เวลา 9.00-12.00 น.

 

นักวิชาการชี้ อย่าชวนไทยเข้า TPP เสี่ยงตกเป็นเหยื่อทางการค้าของมะกัน ซ้ำถูกย่ำยีอธิปไตยการควบคุมยาสูบของชาติ ขัดขวางการออกกฎหมายบุหรี่ หากฟ้องร้องมีสิทธิแพ้คดีความ เหตุถูกโยนให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน เตือน โอบามา” อย่าชวนไทยเข้าร่วมอีก เผยพร้อมแจงเหตุผลข้อคัดค้านต่อ คสช. หากจะมีการพิจารณาเรื่องนี้

นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลก ขององค์การอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาพยายามชวนไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP (Transpacific Partnership) หรือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีสมาชิกแล้ว 12 ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ คือ บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แถลงขอให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ เม.ย. 2555 จากนั้นนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ พ.ย. 2555 เพื่อชวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งการจะทำสัญญาระหว่างประเทศนั้นตามมาตรา 190 ระบุว่า จะต้องขออนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามจะยกเลิกมาตรานี้ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเกิดการยุบสภาเสียก่อน ซึ่งตนก็ได้ทำจดหมายขอร้องประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้วว่า อย่าชวนไทยเข้าเป็นสมาชิก เพราะจะเป็นบาปอย่างยิ่ง
 
“ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการตั้งทีมเศรษฐกิจขึ้นมาแล้ว ถ้าพบว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีก สถาบันฯ พร้อมที่จะนำเสนอเหตุผล ข้อคัดค้านที่มั่นคงว่า TPP เป็นอันตรายต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย เหมือนการสูญเสียอำนาจอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของชาติ” นพ.หทัย กล่าว
 
รศ.สุชาดา ตั้งทางธรรม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ของไทยจะส่งผลต่อการค้ากับสหรัฐฯเป็นหลัก เพราะไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศซึ่งเป็นสมาชิก TPP อยู่แล้ว ดังนั้น กรณีของ TPP ต้องพิจารณาว่าไทยต้องการทำข้อตกลงเสรีการค้า (FTA) กับสหรัฐฯหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีการเจรจาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และต้องพิจารณาว่าข้อตกลงจะส่งผลต่อไทยเหมือนการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ หรือไม่

“ไทยไม่ควรเข้าร่วมกลุ่ม TPP เพราะปัจจุบันเป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจอยู่แล้วหลายกลุ่ม มองว่าควรสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มอาเซียนมากกว่า และอย่ามองแค่ GDP แต่ควรมองว่าคนไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน รวมถึงควรคำนึงถึงผลกระทบการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่หันกลับมารุกในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เป็นเพราะต้องการถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิทางการค้าไปทั่วโลกด้วย” รศ.สุชาดา กล่าว
 
นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ไทยไม่สมควรเจรจาเรื่อง TPP กับสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ มักสอดไส้ข้อตกลงทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs Plus) เข้ามาเป็นเงื่อนไขในกรอบการเจรจาเสมอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย เพราะในต่างประเทศมีงานวิจัยเชิงประจักษ์แล้วว่า บริษัทบุหรี่ต่างชาติพยายามผลักดันให้ TRIPs Plus เข้ามามีบทบาทในกรอบเจรจา TPP ซึ่งจะมีข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมยาสูบในการใช้เป็นเครื่องมือโต้เถียง เมื่อมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ตลอดจนการกำหนดกฎเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมยาสูบ เช่น ถ้าไทยจะออกกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงบริษัทบุหรี่ต่างชาติด้วย และอาจต้องใช้ความเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงกฎหมาย จึงคล้ายกับเป็นการแทรกแซงการควบคุมยาสูบของไทย นอกจากนี้ กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทบุหรี่กับหน่วยงานของไทย คดีจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการอาจปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง เข้าข้างบริษัทบุหรี่ เพราะสามารถถูกซื้อตัวได้ ไม่มีระบบตรวจสอบจริยธรรมที่ชัดเจน อีกทั้งการต่อสู้คดีเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาท และหากไทยเป็นฝ่ายแพ้คดีก็ต้องเสียเงินค่าชดเชยจำนวนมหาศาล
หากไทยเข้าร่วม TPP บริษัทบุหรี่จะสามารถฟ้องร้องเพื่อยับยั้งกฎหมายควบคุมยาสูบได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มว่าหน่วยงานด้านสุขภาพจะแพ้คดีความ นอกจากนี้ คดีเหล่านั้นจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลไทย แต่จะใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ที่เรียกว่า Investor3State Dispute Settlement หรือ ISDS ซึ่งมีลักษณะเป็นการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย” นายไพศาล กล่าว

ข่าวที่ปรากฏ : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000064918

โดย รติกร เพมบริดจ์ [email protected]

11 มิ.ย.57

คำสำคัญ (Tags): #tpp#fta#การค้า#who
หมายเลขบันทึก: 570214เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2014 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2014 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

...ถึงจะมีพิษภัย และผลเสียมากมาย...แต่คนก็ยังสูบบุหรี่อยู่ทั่วโลกนะคะ

ขอบคุณครับ อเมริกาที่ย้ำเสมอว่าไทยเป็นมิตร แต่การกระทำมักสวนทางกันเสมอ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท