Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อคุณยอด นักศึกษาไร้สัญชาติ แห่ง ม.บูรพา คุยกับคุณธงชัย แห่ง ม.แม่ฟ้าหลวง เรื่องปัญหาสิทธิในการเข้าสู่การศึกษา


คำบ่นและคำอธิบายระหว่างสองนักศึกษาไร้สัญชาติเกี่ยวกับปัญหาสิทธิในการเข้าสู่การศึกษา

: ระหว่างนายธงชัย แซ่ลี แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนายยอด ปอง แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152483988803834

---------------------------------

  • คุณธงชัยบ่นว่า “ผมคงไม่สามารถไปสอบเพื่อเรียนในสาขาวิชาแพทย์ และ เภสัช ในมหาวิทยาลัยของรัฐใช่หรือไม่ ?
  • คุณยอดตอบว่า “การเรียนไม่มีปัญหา เพราะเราสามารถเรียนได้ รัฐบาลไม่ได้จำกัดเรื่องการศึกษาแล้ว ให้ทุกคนได้ศึกษาเท่าเทียมกับคนสัญชาติไทย มันมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ไม่ต้องกังวล
  • ในส่วนนี้ อ.แหววขอสนับสนุนว่า คุณยอดตอบถูกค่ะ แต่อยากขอแก้ไขว่า กฎหมายไทยในระดับรัฐสภาก็ไม่เคยจะเลือกปฏิบัติต่อเด็กในประเด็นสิทธิในการศึกษา แต่อาจมีนโยบายของรัฐบาลในบางสมัยสร้างเลือกปฏิบัติทางการศึกษา แต่ใน พ.ศ.๒๕๔๘ มีการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายทางการศึกษาให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางการศึกษา ทั้งนี้ โดยการปรากฏตัวของ (๑) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. .... (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย)[1] และ (๒) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘[2]
  • และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ สิทธิในการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนทางสังคมที่ได้รับการยืนยันโดยข้อ ๒๖[3] แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๓ (๑)[4] แห่ง กติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๙๙/พ.ศ.๒๕๔๒
  • ในกรณีของสิทธิในการศึกษาของเด็ก กล่าวคือ คนที่มีอายุตั้งแต่ ๑ วินาทีจนถึง ๑๘ ปีบริบูรณ์ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ยังได้รับการยืนยันโดย ข้อ ๒๘ (๑)[5] แห่ง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๙๒/พ.ศ.๒๕๓๕
  • พันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสามประการนี้ ย่อมหมายความว่า การให้การศึกษาแก่มนุษย์โดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น “หน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” สำหรับประเทศไทย
  • ในที่สุด อ.แหววจึงเสนอให้คุณยอดและคุณธงชัยโปรดมีกำลังใจที่จะตั้งใจเรียน และแสดงให้เห็นว่า ปัญหาความไร้สัญชาติไม่อาจเป็นอุปสรรคที่จะทำให้พวกคุณไม่สามารถปรากฏตัวเป็น “ต้นทุนทางการศึกษา” ของประเทศไทย แม้ปัญหาความไร้สัญชาติ พวกคุณก็ควรแสดงตนที่จะเป็น “บัณฑิตไร้สัญชาติที่เป็นต้นทุนในการพัฒนาสังคมไทย” ให้ได้อย่างดีที่สุด
  • นั่นล่ะคือ ภารกิจของพวกคุณ...เหล่านักศึกษาไร้สัญชาติ

[1] https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTOHBDRHZhTU8tbVE/edit?usp=sharing

[2] https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTOHBDRHZhTU8tbVE/edit?usp=sharing

[3] ซึ่งบัญญัติว่า

“(๑) บุคคลมีสิทธิในการศึกษาการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า, อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน. ชั้นประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับขั้นเทคนิคและขั้นประกอบอาชีพเป็นการศึกษาที่จะต้องจัดมีขึ้นโดยทั่วๆไปและขั้นสูงเป็นขั้นที่จะเปิดให้ทุกคนเท่ากันตามความสามารถ (Everyone has the right to education. Education shall be free, at least in the elementary and fundamental stages. Elementary education shall be compulsory, Technical and professional. Education shall be made generally available and higher education shall be equally accessible to all on the basis of merit.)
(๒) การศึกษาจะมุ่งไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และเพื่อเสริมพลังการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานให้แข็งแกร่งทั้งจะมุ่งเสริมความเข้าใจ, ขันติและมิตรภาพในระหว่างประชาชาติกลุ่มเชื้อชาติหรือกลุ่มศาสนาและจะมุ่งขยายกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการธำรงสันติภาพ (Education shall be directed to the full development of the human personality and to the strengthening of respect for human rights and fundamental freedoms. It shall promote understanding, tolerance and friendship among all nations, racial or religious groups, and shall further the activities of the United Nations for the maintenance of peace.)
(๓) ผู้ปกครองมีสิทธิก่อนผู้อื่นที่จะเลือกชนิดของการศึกษาสำหรับบุตรหลานของตน (Parents have a prior right to choose the kind of education that shall be given to their children.)”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา รัฐภาคีเห็นพ้องกันว่าการศึกษาจะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเพิ่มพูนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รัฐภาคีเห็นพ้องกันอีกว่า การศึกษาจะต้องทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ความอดกลั้นและมิตรภาพระหว่างชาติ และกลุ่มเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มศาสนาทั้งปวง และสานต่อไปถึงกิจกรรมของสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินี้ฉบับเกิดผลตามลำดับ และบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน รัฐภาคีจะ (ก) จัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ข) สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน และดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่น การนำมาใช้ซึ่งการศึกษาแบบให้เปล่า และการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จะเป็น (ค) ทำให้การศึกษาในระดับสูงเปิดกว้างแก่ทุกคนบนพื้นฐานของความสามารถ โดยทุกวิธีการที่เหมาะสม (ง) ทำให้ข้อมูลข่าวสาร และการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพเป็นที่แพร่หลาย และเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน (จ) ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน”

หมายเลขบันทึก: 569973เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท