ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๑. กวาดล้างอำนาจทมึนออกจากหัวใจ


          สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจ มีอำนาจแนวดิ่งกดทับผู้คนอยู่โดยไม่รู้ตัว มีผลให้ผู้คนขาดอิสรภาพ ไม่กล้าแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง สภาพเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ที่อยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ผู้คนจะอยู่ดีได้ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และด้วยบรรยากาศแห่งอิสรภาพ เสรีภาพ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวกำกับ

          คนไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการกวาดล้างอำนาจทมึนออกจากหัวใจ กวาดล้างสิ่งกดทับทั้งหลายออกไป ไม่ให้มันลดทอนมิติของความเป็นมนุษย์ของเรา รวมทั้งต้องระมัดระวังตัวเอง ให้ไม่ไปกดทับคนอื่นโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ยิ่งผู้สูงอายุอย่างผมยิ่งต้องระวัง เพราะสังคมไทยเชื่อถือวัยวุฒิมากเกินไป

          ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ “ความจริง” มันดิ้นได้ หรือกล่าวในภาษาสละสลวยว่า “เป็นพลวัต” (dynamic) จริงวันนี้ในสถานการณ์นี้ ในวันข้างหน้าไม่นาน และสถานการณ์ต่างออกไป ความจริงนั้นกลับใช้ไม่ได้

          ยิ่งกว่านั้น “ความจริง” มันมีความลึกและความเชื่อมโยง ซับซ้อนยุ่งเหยิง และมักมีคนเอา “มายา” มาพ่วงหรือโดยสาร “ความจริง” นั้น ในบางกาละเทศะ กลายเป็น “ความจริงปนมายา” ตัวอย่างคือคำโฆษณาทั้งหลาย

          ชีวิตคือการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้รู้ทัน “ความจริง” ทั้งหลาย

          หนังสือทางการศึกษา ชื่อ Teaching at Its Bestบอกว่า วุฒิภาวะด้านการเรียนรู้ของคนเรา บรรลุจุดสูงสุดเมื่อตระหนักว่า “ความรู้เป็นมายา” ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่จะพัฒนาถึงขั้นตอนนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ๙ ต้องผ่านขั้นตอนต้นๆ มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้น ที่การมองโลกเป็นสองขั้ว ถูก-ผิด ขาว-ดำผ่านสู่ความเข้าใจว่ามีมากขั้ว หรือเป็น spectrum จนยึดมั่นถือมั่นความคิด บางแบบ และนำแนวคิดแบบนั้นไปทดลองใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จนในที่สุดตระหนักด้วยตนเองว่าความรู้ที่แน่นอนตายตัวนั้น ไม่มี

          การเรียนรู้ที่แท้ เป็นการเดินทางเข้าสู่มหาสมุทรแห่งความรู้ จนในที่สุดหลุดพ้นจากอำนาจกดทับของความรู้ ในทำนอง “อยู่ในน้ำโดยไม่เปียกน้ำ”

          สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา เป็นสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 568709เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่นับถือ

ผมไม่เคยผิดหวังกับบันทึกของอาจารย์เลยครับ อาจารย์เข้าใจนำสิ่งดีๆที่เป็นความรู้มาเผยแพร่ให้คนไทยได้เรียนรู้ ผมติดตามผลงานของอาจารย์ทุกวัน โดยทางผู้บริหาร gotoknow จะมี e-mail มาถึงผมทุกครั้งเมื่อผู้ที่ผมติดตามได้เขียนบันทึกใหม่ ดังนั้นผมจึงได้เข้าไปดูบันทึกของอาจารย์แทบทุกวัน วันละหลายบทความโดยกดจาก link ทาง  e-mail แต่น่าเสียดายที่เมื่อผมกด link เข้าไปแล้ว ระบบควรจะรู้แล้วว่าผมเป็นสมาชิก แต่ในระบบจะไม่ยอมให้ผมทำอะไรในบันทึกของอาจารย์ ไม่ว่าจะให้ดอกไม้ หรือจะแสดงความคิดเห็น เนื่องจากระบบคิดว่า ผมยังไม่เข้าระบบ ดังนั้นผมจึงกดเพื่อเข้าระบบ พอผมกดเข้าระบบ ก็จะนำผมไปสู่ blog ของผม ไม่สามารถให้ดอกไม้หรือแสดงความคิดเห็นในบันทึกของอาจารย์ได้ ทำให้ผมขาดการแสดงความคิดเห็นในบันทึกของอาจารย์ และให้ดอกไม่กับอาจารย์ อย่างไรก็ตามผมจึงได้แค่ copy บทความของอาจารย์ไปเผยแพร่ในเวปไซด์ของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ และในเวปไซด์ของผม  

สำหรับวันนี้ผมต้องเข้าระบบก่อนแล้วค่อยไปค้นหาบันทึกของอาจารย์ พอผมเปิดบันทึกของอาจารย์ได้แล้วในครั้งนี้ผมจึงสามารถให้ดอกไม้และแสดงความคิดเห็นได้ 

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่เผยแพร่ความรู้ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ และขออนุญาตนำเผยแพร่ ด้วยครับ ผมอยากให้คนไทยทุกๆคนมีโอกาสได้อ่านบทความของอาจารย์ทุกคนเพราะเป็นบทความที่สั้นเข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์อย่างมากและสำคัญกับการสร้างคุณค่าของคนไทยครับ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท