จาก กสทช. สื่อชุมชน สู่นักข่าวพลเมือง และคำถามถึงการปฏิรูป


ถ้าไม่ทบทวน ให้การออกแบบงานนโยบายหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อสอดรับกับหลักการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง หลักปฏิรูปทั้งหลาย ก็คงเป็นได้แค่แหล่งปฏิกูล.....

ในระหว่างที่นั่งประชุมสัมมนาวิชาการชนเผ่าพื้นเมือง วันนี้ (16 พ.ค.57) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคนพูดถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในการเผากระท่องของชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยมีสื่อหลายช่องถ่ายทอดข่าวโดยไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรม

ต่อเนื่องมาถึงการหายตัวไปของนักต่อสู้สิทธิชุมชนในพื้นที่ที่พยายามขุดคุ้ยเรื่องนี้ ที่พยายามรายงานออกสื่อในฐานะนักข่าวพลเมืองที่ชื่อ "บิลลี่"

 

ในขณะเดียวกัน ในหมู่คนทำงานวิทยุชุมชน ก็กำลังพูดถึง การที่ กสทช. เปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้กองทุนวิจัยและพัฒนาที่ กสทช. ดูแล โดยเจตนารมณ์นั้นอยากให้สื่อชุมชนเข้าถึงมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน กลับเขียนให้มีเงื่อนไขมากมายที่ทำให้สื่อชุมชน เสียงคนตัวเล็กๆเข้าไม่ถึง อาทิ เอกสารแสดงสถานะบุคคลที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐและหลักฐานการแสดงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าหนึ่งปี  ต้องมีการบันทึกข้อมูล อ้างอิงแนวคิดทฤษฎี การเขียนเปเปอร์อย่างเป็นวิชาการ มีรายงานรับรองสถานภาพทางการเงินที่เชื่อถือได้ ฯลฯ

สื่อชุมชน อาทิ วิทยุชุมชนที่ยากจน ไม่มีโฆษณา ทำเพื่อสาธารณกุศล  คนทำงานส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านตาสีตาสากันอยู่แล้ว ที่ไหนจะมีปัญญาไปเขียนโครงการ

มิพักต้องพูดถึงการประกาศเปิดรับทุนที่จะรู้ข่าวได้ก็ต้องเข้าเว็บ และปิดประกาศรับเพียงหนึ่งเดือน

สื่อชุมชนไม่ได้ต้องการเงินเป็นล้านมาทำงาน แค่ระดับหมื่นระดับแสนก็ชื่นใจแล้ว ทำไมต้องวางกรอบการยื่นเอกสาร หลักฐานและโครงการมากมายขนาดนั้น

ผมเป็นนักวิจัยอิสระมานาน ทำงานวิจัยเกือบทุกปี เห็นแล้วยังปวดหัวแทนชาวบ้านเลยครับ

ในมุมมองของนักวิชาการที่ทำงานสื่อชุมชน ผมคิดว่าปรากฏการณ์ "หนังฉายซ้ำ" ที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่างนี้สะท้อนอะไรบางอย่าง

แว่บหนึ่ง ผมคิดถึง หลักการสำคัญที่พูดถึงกันมาในช่วงทศวรรษนี้ คือ การปฏิรูป และหนึ่งในมิติที่มองข้ามไม่ได้คือการปฏิรูปสื่อ

ปฏิรูปสื่อ ในที่นี้ คือ ปฏิรูปการบริหารจัดการ , ปฏิรูปเนื้อหา , ปฏิรูปการมีส่วนร่วม จากที่เคยผูกขาดโดยอำนาจรัฐและแหล่งทุน มาเป็นการสร้างความเสมอภาค เป็นการกระจายอำนาจ

กรณี กสทช. สร้างกฏกติกามากมายโดยอ้างมาตรฐานความโปร่งใส มาตรฐานวิชาชีพสื่อกระแสหลัก จากมาตการกลายมาเป็นมาตรกัน คือกัน "คนของประชาชน" ออกไป จนทำให้สื่อชุมชนส่ายหน้าในการขอการสนับสนุนจากกองทุนสื่อ กสทช.. ก็ดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็ดี สะท้อนอะไร

หรือกรณีประเด็นร้อน ที่สื่อมวลชนท้องถิ่น นักข่าวพลเมืองอย่างบิลลี่ชาวกะเหรี่ยงหายสาบสูญหลังพยายามเปิดโปงความจริง สะท้อนอะไร

หากเอากรอบคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อและองค์ประกอบทั้งสามด้านมาจับ ก็จะเห็นคำตอบหลายอย่าง.......

งานนี้ สะท้อนภาพการปฏิรูปอะไรได้แค่ไหน ผมเชื่อว่าคงวิเคราะห์กันไม่ยาก

ถ้าไม่ทบทวน ให้การออกแบบงานนโยบายหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อสอดรับกับหลักการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง

หลักปฏิรูปทั้งหลาย ก็คงเป็นได้แค่แหล่งปฏิกูล.....

 "อร่อย" กันพอหรือยังครับ

หมายเลขบันทึก: 568159เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"อร่อย" กันพอหรือยังครับ...เป็นคำถามที่โดนใจมากๆครับ คุณครูยอดดอย

และการที่กสทช. สร้างกฏกติกามากมายก็ผิดเป้าประสงค์ตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ

คุณครูยอดดอยครับ เช้านี้ผมได้ฟังวิทยุชุมชนย่านบางแคในกทม.ซึ่งเน้นไปที่การขายยาทานแก้ปวดเข่า(ส่วนใหญ่จะผสมสเตียรอยด์เพื่อลดปวด)  บางทีการที่กสทช. สร้างกฏกติกามากมายนั้นหากเป็นไปเพื่อป้องกันการค้าเช่นนี้มากกว่าการให้สาระความรู้ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมดีนะครับ โดยเฉพาะการค้าที่หลอกลวงให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดเช่นนี้ ต้องเสียเงินซื้อยาที่แอบอ้างสรรพคุณเกินจริงแล้วยังต้องเสียสุขภาพอีกด้วยครับ 

คำว่า วิทยุชุมชน ตามกรอบที่แท้จริง หมายถึง วิทยุที่ไม่มีโฆษณานะครับ แต่มีคนแอบอ้างว่าเป็นวิทยุชุมชนจำนวนมาก แล้วเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง  กสทช. ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าจัดระบบ ซึ่งก็ยังมีการแอบอ้างตลอด ตำรวจไม่ไปจับกุมเพราะมันมีสี มีเงิน มีฝ่ายกฏหมายคอยแก้ต่างสารพัดครับ วิทยุพวกนี้มีเป็นพันๆสถานีในประเทศไทย ที่โดนฟ้องปิดไปมีน้อยมาก 

กฏกติกาที่มีมากมายที่ กสทช. ตั้งไว้ในปัจจุบัน จึงไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ เพราะคนทำผิดกฏหมายมีวิธีต่อรอง และค่าปรับก็ไม่แพงเมือเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ เหมือนที่เขาว่า คุกส่วนใหญ่มีไว้ขังคนจน ไปๆมาๆกรอบกติกาที่ทำละเอียดยิบ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังกลายเป็นอุปสรรคต่อคนตัวเล็กตัวน้อยที่เจตนาดี แต่ถูกจำกัดคุณสมบัติอีกด้วยครับ 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท