คนต่างด้าวในประเทศไทย


กรณีศึกษาคนต่างด้าวในประเทศไทย“ดวงตา หม่องภา”

          "ดวงตา หม่องภา"นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนึ่งในบุคคลที่ยังตกอยู่ในช่องว่างของกฎหมาย และถือเป็นกรณีตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยที่เราควรทำความเข้าใจ ขณะนี้ "ดวงตา" นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วัย 22 ปี มีสถานะเป็นบุคคลไม่ไร้รัฐ แต่ยังไร้สัญชาติ เธอถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตของเธอเป็นภาษาไทยที่ชัดเจนทั้งภาษา สำเนียง แถมยังเข้าใจง่ายกว่าคนไทยหลาย ๆ คนเสียอีก....

"ครอบครัวของดิฉันเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากพม่า พ่อเป็นคนชาติพันธุ์ยะไข่ที่อยู่ในรัฐยะไข่ ที่ออกจากรัฐตั้งแต่ราว 7 ขวบหลังผู้เป็นพ่อและแม่เสียชีวิต ส่วนแม่เป็นคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่อยู่ในรัฐฉาน พ่อและแม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาที่รัฐฉานมาโดยตลอด

พ่อ แม่ ดวงตา และน้องชาย ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2543 ด้วยเหตุผลคือเข้ามาหาคุณยายที่เข้ามาก่อนแล้วกว่า 20 ปี และมาหางานทำ ขณะนั้นเธออายุได้ 9 ขวบ จุดแรกที่เข้ามาในประเทศไทยคือที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

"ตอนที่เข้ามา ฟัง พูด ภาษาไทยไม่ได้เลย ไม่มีเอกสารแสดงตัวใด ๆ ตอนนั้นจึงอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้รัฐก็คือการที่ไม่มีรัฐใด ๆ ในโลกนี้บันทึกข้อมูลว่า มีบุคคลคนนี้อยู่ และไร้สัญชาติก็คือยังไม่มีการยอมรับความเป็นชาติของบุคคลนั้น ๆ"

หลังจากที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว ได้ทำงานรับจ้างต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ในปี 2544 พ่อกับแม่ของดวงตา ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อทำบัตรอนุญาตทำงาน ทันทีที่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ความไร้รัฐของพ่อกับแม่ก็หายไป เพราะรัฐไทยมีการบันทึกข้อมูลไว้แล้ว ในขณะที่ ดวงตากับตัวน้องชาย ก็ยังมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เช่นเดิม กระทั่งในปีนั้นเอง ดวงตาได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แต่ก็มีความโชคดีตรงที่ ครูที่โรงเรียนมีความเข้าใจในสิทธิด้านการศึกษา แม้ว่าเธอจะมีสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติก็ตาม

"ดิฉันได้เรียนเช่นเดียวกันเด็กคนไทยทุกคน เมื่อเรียนชั้น ม. 3 จากเชียงใหม่ ก็ได้มาต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนมูลนิธิวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับมูลนิธิพุทธรักษา ที่เป็นผู้ให้ทุนการศึกษามาจนถึงทุกวันนี้

ในปี 2554 รัฐมีนโยบายขจัดความไร้รัฐในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทำให้ดิฉันได้รับบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่รหัสประจำตัวจะขึ้นต้นด้วยเลข"0"นั่นทำให้สถานะความไร้รัฐของดิฉันหายไปกลายเป็นบุคคลที่มีรัฐแต่ยังไม่มีสัญชาติ และเมื่อปีที่แล้ว (2555) รัฐบาลมีนโยบายให้มีการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว พ่อ แม่ ได้ไปทำการพิสูจน์สัญชาติ และได้รับสัญชาติพม่าแล้ว ทำให้"ไม่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ"อีกต่อไป ในขณะที่ดวงตา ยังคงสถานะเป็นคนไร้สัญชาติอยู่ ส่วนน้องชายของดวงตา ก็ยังอยู่ในสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ไม่ได้มีการพูดถึงในเรื่อง"การแก้ปัญหาบุตรแรงงานต่างด้าว"

"หากจะพิสูจน์สัญชาติ ก็จะต้องใช้ทะเบียนประวัติในการทำ จึงอยากจะได้ความชัดเจนในเรื่องการแก้ปัญหาบุตรแรงงานจากรัฐบาลไทยและพม่า จะเห็นว่าครอบครัวของดิฉัน คือ พ่อแม่ ดิฉันและน้องชาย ก็ยังมีสถานะกันไปคนละทาง" ดวงตา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และเห็นว่า...

สภาพความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ นั้นสร้างปัญหาและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่อง"การศึกษา" และ "การรักษาพยาบาล"

"ดิฉันไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ในขณะที่เพื่อน ๆ และเด็ก ๆ อีกหลายคนไม่ได้รับสิทธินี้ ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีเอกสารใด ๆ บวกกับค่ายาราคาสูง รวมทั้งการไม่ได้รับความใส่ใจจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เวลาเจ็บป่วยจึงเป็นการซื้อยามากินเองและหาหมอในหมู่บ้าน

นอกจากนี้เรื่องสิทธิในการเดินทาง เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวของดิฉันถูกบันทึกอยู่ที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนจะควบคุมเขตพื้นที่ด้วยว่า สามารถอยู่ได้เฉพาะในเขต อ.ป่าโมก การที่ดิฉันได้มาเรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ก็จะต้องไปทำเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อใช้สิทธิในการศึกษา ก็คือขอสิทธิในการเดินทางเพื่อมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุดโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจะมีการไปทัศนศึกษาที่ประเทศกัมพูชา ดิฉันก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตไปต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการทำนั้น ก็ต้องไปยื่นเรื่องตั้งแต่ที่ อ.ป่าโมก ต่อมาต้องไปยื่นเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่และกลับเข้ามายังประเทศไทยต่อกระทรวงมหาดไทย จากนั้นเมื่อได้รับอนุญาตเข้า-ออกประเทศไทยแล้ว ก็จะต้องไปขอทำหนังสือเดินทางสำหรับคนไร้รัฐจากสถานกงสุล ก่อนจะไปขอวีซ่าเข้าประเทศที่สถานทูตกัมพูชา กระบวนการทั้งหมดนี้มันยุ่งยากซับซ้อน เวลาไปติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ค่อยเข้าใจเอกสารหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานะของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเท่าไหร่นัก

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักจากข้อกฎหมายคือ บุตรที่สืบสายจากบิดามารดา ก็มีสิทธิได้สัญชาตินั้น ดังนั้นตัวดิฉันและน้องชายก็ควรมีสิทธิได้รับสัญชาติพม่าเช่นเดียวกัน แต่ว่าทั้งไทยและพม่ายังไม่มีข้อกฎหมายหรือประกาศใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องบุตรของแรงงานต่างด้าวเลย[1]

          เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดวงตา หม่องภา เป็นคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย ทำให้มีอุปสรรคแก่การใช้สิทธิต่างๆ สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเดินทาง โดยดวงตาไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิในการศึกษาและสิทธิในการรักษาพยาบาลเพราะครูที่โรงเรียนมีความเข้าใจในสิทธิด้านการศึกษา ส่วนในเรื่องสิทธิในการเดินทาง ก็ก่อให้เกิดความยุ่งยากหากดวงตาจะเดินทางไปในที่ต่างๆ ต้องมีการขออนุญาตออกนอกพื้นที่ก่อน และอีกสิทธิหนึ่งซึ่งอาจมีผลกระทบต่อดวงตาในอนาคตเนื่องจากการเป็นคนต่างด้าวก็คือสิทธิในการประกอบอาชีพ

          สิทธิในการประกอบอาชีพนั้นเป็นสิทธิมนุษยชน การประกอบอาชัพนั้นก็เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว เพื่อความอยู่รอด ซึ่งได้มีกฎหมายรับรองสิทธิในการประกอบอาชีพ เช่น

         ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[2]

ข้อ 23 (1) ทุกมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และการคุ้มครองแห่งการว่างงาน

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐[3]

ส่วนที่ ๖ สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

           การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

มาตรา ๔๔ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

         จะเห็นได้ว่าทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังมีเงื่อนไขอยู่ในมาตรา43วรรค2 การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

        และก็ยังมีการจำกัดการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522[4] ซึ่งได้กำหนดงานในอาชีพ และวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำถึง39อาชีพ ดวงตา หม่องภา ซึ่งเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยจึงต้องจำกัดการประกอบอาชีพบางประเภท ซึ่งดวงตาเป็นคนเรียนเก่ง สามารถพูดได้ถึง4ภาษา ก็อาจไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการประกอบอาชีพที่ตนต้องการ


[1] เสกสรร โรจนเมธากุล. เสียงจากเด็กไร้สัญชาติ วอน ‘ไทย-พม่า’ ร่วมมือแก้ปัญหาเสียที. สำนักข่าวอิศรา. [Website] 2013 May [cited 2014 May 16]. Available from: http://www.isranews.org/component/content/article/...

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. [PDF] [cited 2014 May16]. Available from: http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. [PDF] [cited 2014 May 16]. Available from: http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliamen...

[4] อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ. กระทรวงแรงงาน. [Website] [cited 2014 May 16]. Available from: http://www.mol.go.th/employee/occupation%20_prohib...

หมายเลขบันทึก: 568139เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท