วัชรินทร์ เขจรวงศ์
นาย วัชรินทร์ เขจรวงศ์ วัชร์ เขจรวงศ์

มะนาวไร้เมล็ดกลิ่นหอมผลโตขนาดลูกเทนนิสปลูกง่ายโตไวทางเลือกเกษตรกรผลิตสู่ตลาด นายวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอเมืองสรวง



มะนาวไร้เมล็ดกลิ่นหอมผลโตขนาดลูกเทนนิสปลูกง่ายโตไวทางเลือกเกษตรกรผลิตสู่ตลาด
นายวัชรินทร์ เขจรวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภออาจสามารถ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำ เส้นทางเลือก ทางรอดของเกษตรกร ของประเทศไทย การผลิตต้องสอดคล้องกับการตลาด “มะนาว" และ “ไข่ไก่" คือปัญหาของภาครัฐที่แก้ไม่ตก เพราะเป็นปัจจัยต้นๆของกระบวนการอาหาร ทุกครัวเรือนต้อง ใช้ต้องนำมาเป็นองค์ประกอบของอาหาร มะนาว วันละ ๓ ลูก ไข่ไก่วันละ ๓ ฟอง/ครัวเรือน คน ๖๕ ล้านคน เราใช้มะนาววันละกี่ล้านลูก ไข่ไก่วันละกี่ล้านฟอง เป็น ผลผลิตทางการเกษตรที่หาอย่างอื่นมาทดแทนไม่ได้


วันนี้ แนะนำ มะนาวไร้เมล็ด ลูกดก ผลโต ขนาดลูก “เทนนิส" หากปลูกในพื้นที่ อุดมสมบูรณ์ ใบดก ปลูกง่าย ภาษาเกษตรกรที่บอกว่า “ขอให้เอารากลงดินได้กินแน่นอน" เดิมต้นแม่ ไปขอซื้อกิ่งพันธุ์จากจังหวัดสุพรรณบุรี ราคา ๒๕๐ บาท ปลูกไว้ข้างเล้าเป็ด เล้าไก่ ริมสระน้ำ แบบให้ธรรมชาติดูแล หลายปีผ่านไป ต้นมะนาวไร้เมล็ดให้ผลผลิตดกมากๆ ออกเป็นช่อ ๆ เป็นพวงๆละ ๕-๑๐ ผล ลูกขนาดลูกปิงปองหรือใหญ่กว่า หากเกิดเดี่ยว ผลโตขนาดลูกเทนนิส ในฤดูฝนลูกโตมากๆจนกิ่งหัก ในตลาดทั้งอำเภออาจสามารถ เสลภูมิ ในเมืองร้อยเอ็ด ร้านลาบเป็ด ทั้งใน กรุงเทพมหานคร สั่งจองไว้ล่วงหน้าลง กทม.ครั้งละ ๒-๓ ถุงปุ๋ยมัดปาก ราคา ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท มองเห็นช่องทางการตลาด จึงทำการขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ติดง่าย ๒๕-๔๐ วันออกราก ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ มองเป็นทิวแถวยาว ๑๐๐ วงบ่อ กำลังให้ผลผลิต


มีการปลูกลงในดิน ต้องเตรียมดินปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ป้องกันน้ำท่วมขัง ขุดหลุมกว้าง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ระยะห่าง ๔X๔ เมตร ผสมดินปลูก ๓ ส่วน ปุ๋ยคอกแห้ง จำนวน ๑ ส่วน แกลบดิบ ๑-๒ ส่วน ผสมคุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงไปในหลุมจนเต็ม หรือทำเป็นลักษณะนูนๆรูปหลังเต่า รดน้ำให้เปียกชุ่ม แล้วปลูกกิ่งตอน ลงกลางหลุมให้ลึกเท่ากับเบ้าเดิม ใช้ไม้ปักเชือกฟางผูกกิ่งพันธุ์มะนาวกับหลัก กันโยกคอน นำใบไม้ หญ้าแห้ง ฟางแห้ง คลุมรอบโคนมะนาวรดน้ำให้ชุ่มอีกรอบ ดูแลรักษา ๘-๑๒ เดือนให้ผลผลิตครับ


ข้อดีของการปลูกลงดิน ต้นจะเจริญเติบโตแข็งแรงดีมาก ประหยัดต้นทุน แต่กำจัดวัชพืชยาก
จากนั้นเป็นการสาธิตการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ ซึ่งปลูกได้ ๒ วิธี คือ
๑.ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ที่มีฝารองก้นบ่อ (สามารถบังคับให้ออกนอกฤดูกาลได้) ใช้วงบ่อขนาด ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร วางบนฝาวงบ่อ แต่อย่าเชื่อมติดกันเพราะต้องการให้น้ำไหลซึมออกได้ ผสมดิน โดยใช้ดินร่วนซุย ๓ ส่วน ปุ๋ยคอกแห้ง ๑ ส่วน แกลบดิบ ๑-๒ ส่วน ผสมคุกเคล้าให้เข้ากัน นำใส่ในวงบ่อจนเต็ม หรือให้นูนรูปกระทะคว่ำ รดน้ำให้ชุ่มแล้วปลูกกิ่งพันธุ์มะนาวเหมือนปลูกลงดิน


๒.การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ที่ไม่ใช้ฝารองก้น บังคับให้ออกนอกฤดูกาลไม่ได้ ใช้สูตรดิน เดียวกับการปลูกในวงบ่อที่มีฝารองก้นหลุม หากจะให้ดีต้อง เตรียมหลุมแบบปลูกลงในดิน แล้วตั้งวงบ่อครอบ อาหารมะนาวมีมากเจริญเติบโตดี อายุการเก็บผลผลิตยาวนานกว่า ข้อดีของการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ กำจัดวัชพืชได้ง่าย บังคับให้ออกนอกฤดูกาลได้ แต่ต้นทุนการเพิ่มขึ้นคือวงบ่อซีเมนต์
การบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูกาล ควรบังคับต้นมะนาวที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ มีใบแก่ทั้งต้น หรือไม่มียอดอ่อน ปลิดผลที่ออกตามฤดูกาลทิ้งให้หมดแล้วทำให้ต้นมะนาวอดน้ำ เหตุผลคือ มะนาวจะติดดอกออกผล ต้องผ่าน “แล้ง๑ครั้ง" โดยใช้พลาสติกคลุมโคนต้นมะนาว คุลมรอบวงบ่อซีเมนต์ มัดพลาสติกจุดกลางที่ต้นมะนาว ทำให้เป็นรูปหลังเต่า หากไม่เป็นให้นำฟางแห้ง หญ้าแห้งใส่ลงไปที่โคนต้นมะนาว พลาสติกที่ย้อยลงมาโดยรอบ ใช้เชือกผูกรอบกับวงบ่อ ป้องกันลมพัด การดำเนินการวิธีนี้ในช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกหรืออยู่ในฤดูฝน น้ำไม่เข้าวงบ่อ ประมาณ ๒๐-๓๐ วัน ใบมะนาวจะเหี่ยว หรือใบเริ่มร่วง ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เอาพลาสติกออก รดน้ำให้ชุ่ม จนมะนาวฟื้นตัว ปุ๋ยเคมี ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ หรือ ๘-๒๔-๒๔ หรือ ๑๒-๒๔-๑๒ จำนวน ๑ ช้อนแกง ระยะเวลา ๑๐-๑๕ วัน/ครั้ง ดูแลรักษาตามปกติ มะนาวจะแตกยอดออกดอกออกผล ในปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน มะนาวจากเริ่มติดผล สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือประกอบอาหารได้ ๕-๖ เดือน คือให้ผลผลิต เดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงมะนาวราคาแพง ลูกละ ๕-๑๐ บาทหรือ ๑๕ บาท ในปัจจุบัน ผลผลิต มะนาว ๔๐๐-๕๐๐ ผล/วงบ่อ หากมะนาวอายุ ๓-๔ ปี ผลผลิตมากขึ้น เป็น ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ ผล/วงบ่อ


การดูแลรักษาโดยทั่วไป วันนี้เราดูแลมะนาว วันข้างหน้า มะนาวดูแลเรา การให้น้ำพอเปียกชุ่มประมาณ ๑ เดือน เริ่มแตกยอด ให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และเพิ่มปุ๋ยเคมี สูตร ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ หรือ ๑๒-๒๔-๑๒ ประมาณ ๑ ช้อนแกง เดือนละ ๑ ครั้ง จะใช้ฮอร์โมนหรือปุ๋ยทางใบด้วยยิ่งดีมาก ฉีดพ่นยากำจัดแมลงและหนอนกินใบอ่อน เดือนละ ๒ ครั้ง สารเคมีที่ใช้ มี แลนเนท,แอคทารา,อะบาเม็กติน หรือสารสกัดพืชหมักขับไล่แมลง)


ปัญหาที่มักพบ ใบมะนาวหงิกงอ ยอดพันเป็นเส้นขาวๆบนใบ นั่นคือมะนาวมีโรค มีแมลง หรือหนอนรบกวน ควรใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชใบมะนาวจะสดชื่นดีเหมือนเดิม งานง่ายๆ เกษตรกรทำได้ มะนาวหน้าบ้าน ๒ ต้น หลังบ้าน ๔ ต้น พออยู่พอกิน พอเพียง ไม่ขาดแคลน ปัญหามะนาวไม่เกิด ติดต่อสอบถามได้ครับ โทร.๐๘๕-๗๕๖๗๑๐๘ ครับ...............ทีมข่าวเกษตร

หมายเลขบันทึก: 566888เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2015 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลูกเล็ๆ ลูกละห้าบาท

ลูกใหญ่น่าจะเกินสิบบาทแน่นอนนะครับ

แป้งข้าวหอมมะลิผลิตภัณฑ์จากชาวนาเบเกอรี่อาหารว่างทรงคุณค่าสู่รัฐสภา

นายวสันต์ สวัสดิ์รัมย์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดย ท่าน ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ จัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาข้าวหอมมะลิ โดยมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพ ใน 20 อำเภอ 192 ตำบล 2,444 หมู่บ้าน ตามหลักการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ Good Agricultural Practice : GAP รวมถึงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ (Organic) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้ มีการขับเคลื่อนหน่วยงานภาคี ทำให้การผลิตข้าวหอมมะลิได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จังหวัดร้อยเอ็ดมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนจัดตั้งโรงงานผลิตแป้งข้าวหอมมะลิเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ที่บ้านเล้า ม.3 ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด สถาบันเกษตรกรดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างต่อเนื่องมากกว่า180 กลุ่ม

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุก นำผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ จัด ROAD SHOW ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานครฯ ในวันที่ 17 มีนาคม 2558 ให้คณะรัฐมนตรี เดิน ดม ชม ชิม อร่อยหอมกลุ่น ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น โดนัท เค้ก คุกกี้ บราวนี่ จากข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ด เพื่อเปรียบเทียบว่า จากแป้งสาลี กับข้าวหอมมะลิ ชาวนาไทย แต่แป้งสาลีต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียเงินตราในการนำเข้าคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี สารกลูเตน (Gluten) จากแป้งข้าวสาลีที่บางคนเกิดอาการแพ้ สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำแป้งข้าวหอมมะลิของเกษตรกรทดแทนแป้งสาลี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต จากผลงานวิจัยของรศ.วิชัย หฤทัยธนาสันติ์ และรศ.เพ็ญขวัญ ชมปรีดา จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าแป้งข้าวหอมมะลิ มีความหอมนุ่มตามคุณสมบัติของข้าวหอมมะลิ ทำให้สามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เค้ก โดนัท ขนมปัง และขนมอื่นๆจำนวนมาก

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด กล่าวอีกว่า การใช้แป้งข้าวหอมมะลิ ต้องสั่งซื้อจากจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หรือ บริษัทปทุมไรซ์มิลฯ จังหวัดปทุมธานี ต้นทุนสูงขึ้นและไม่สะดวกในการสั่งซื้อ สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด โดย นายเสกสรรค์ ศรีสุธัญญาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร นางสาวยวงเพชร อิฐรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ได้ผลักดันให้มีการตั้งโรงงานผลิตแป้งข้าวหอมมะลิในชุมชน ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตบ้านเล้า หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยรับการสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด ปัจจุบันทำการผลิตแป้งข้าวหอมมะลิเดือนละประมาณ 2 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 70,000บาทต่อเดือน ปัจจุบันเป็นโรงผลิตแป้งข้าวหอมมะลิแห่งเดียวในประเทศที่ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชน

และได้รับการพัฒนาจนได้รับมาตรฐาน GMP

ผังการผลิตแป้งข้าวหอมมะลิของวิสาหกิจชุมชนผลิตแป้งข้าวขาวดอกมะลิ105 บ้านเล้า

ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด



การส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ

จังหวัดร้อยเอ็ดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิในผลิตภัณฑ์เค้ก โดนัท และขนมไทย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ในจังหวัดที่กลุ่มชุมชนทำการผลิต โดยนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร(เคหกิจเกษตร)ได้มีการคิดค้นสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ผลิตภัณฑ์เบอเกอรี่และผลิตภัณฑ์ขนมไทยที่กลุ่มชุมชนทำการผลิต ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิที่ส่งเสริม มีจำนวน 21 ชนิด ได้แก่ เค้กเนย บราวนี่ เค้กกล้วยหอม

ชิฟฟ่อนเค้ก ขนมโดนัท ขนมทองม้วน ขนมดอกจอก ขนมสาลี่ โรตีกรอบ คุ๊กกี้สอดไส้ คุกกี้เนย ขนมปัง-หวาน ขนมปุยฝ้าย ครองแครงกรอบ ขนมปังโรลมะพร้าว ขนมปังอบกรอบ ขนมผิง ข้าวตังข้าวหอมมะลิขนมน้ำดอกไม้ ขนมไข่และมัสฟิ่น สามารถสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเฉลี่ยเดือนละ 7,824 บาท

แนวทางในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิในจังหวัดร้อยเอ็ด

1.พัฒนาและปรับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น

2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

3.ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิให้เป็นที่รู้จัก

4.พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานการผลิต

5.พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม

6.ส่งเสริมการผลิตแป้งข้าวหอมมะลิใช้เองในบางผลิตภัณฑ์

ค่าคุณภาพแป้งข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด

คุณภาพทางโภชนาการต่อแป้งข้าวหอมมะลิ 100 กรัม

ปริมาณ

ความชื้น

9.20 กรัม

โปรตีน

6.10 กรัม

ไขมัน

6.10 กรัม

คาร์โบไฮเดรต

83.30 กรัม

เส้นใย

1.72 กรัม

เถ้า

0.32 กรัม

Calcium

10.05 มิลลิกรัม

Phosphorus

37.35 มิลลิกรัม

Iron

< 0.650 มิลลิกรัม

วิตามิน B1 (Thiamin)

0.04 มิลลิกรัม

วิตามิน B3 (Niacin)

1.56 มิลลิกรัม

วัชรินทร์ เขจรวงศ์/รายงาน โทร.085-7567108

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท