เมื่อผีเสื้อขยับปีก ในมุม นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์


ทั้งหมดทั้งมวลที่เราทำ หวังที่จะลดช่วงโหว่ของปัญหาการขาดแคลนแพทย์ชนบท โดยหวังว่าอัตราตัวเลขการคงอยู่ของแพทย์จบใหม่จะเพิ่มขึ้น และทำงานอยู่ในพื้นที่/ชนบทอย่างน้อย 3 ปี จากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาแพทย์จาก รพ.มหาราชนครราชสีมา กว่า 95-100% ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่

จากที่ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางมาศึกษาดูงานกิจกรรม “ค่ายอาสาสร้างเสริมประสบการณ์นักศึกษาแพทย์ ครั้งที่ 58" ของโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้มีโอกาสพบกับ นายแพทย์สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษา งานพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน

ระหว่างเดินทางบนรถผมได้พูดคุยกับอาจารย์ ทำให้มองเห็นได้ว่างานขับเคลื่อนดังกล่าว ที่คุณหมอสรรัตน์ กำลังทำนั้น ก็เสมือน “ผีเสื้อ" อีกตัวหนึ่งที่ได้ขยับปีก และมีส่วนสำคัญของการช่วยแก้ไขปัญหากำลังคนในระบบสุขภาพ...คือ เมื่อโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ผ่านมากว่า 17-18 ปี ผีเสื้อตัวนี้ขยับปีกโครงการฯ ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หลังการพูดคุยผมจึงขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม และได้เรียบเรียงมุมมอง แนวคิดมาให้เพื่อนๆ ชาว GotoKnow ได้ร่วมรับฟังไปพร้อมๆ กันครับ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ช่วยเล่าการเริ่มต้นโครงการฯ ของโรงพยาบาล ?

เป็นโครงการที่ดี ที่โรงพยาบาลจะได้มีโอกาสคัดเด็กที่มีหัวใจพร้อมก้าวสู่การเป็นหมอของแผ่นดิน เราได้เด็กที่เติบโตจากท้องถิ่น พูดภาษาถิ่นได้ เข้าใจบริบทของพื้นที่ แต่ข้อไม่ดี คือ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกจากเราก็จะมีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัว คือ พอไปเรียน 3 ปีแรก ในคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ก็จะพบปัญหาเรียนไม่ดี จากเด็กที่เคยได้เกรดสูงๆในอำเภอ พอไปอยู่ กทม. ได้เกรดต่ำ เพราะไปอยู่ท่ามกลางเด็กเก่งๆ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นแบบ “หัวมังกุ ท้ายมังกร" คือ เอาเด็กชนบทไปเรียนแต่ใช้หลักสูตรระดับประเทศ (National License) จึงสอบตกกันเยอะ ผลการเรียนไม่ดี เด็กจึงเกิดการสูญเสียความเป็นตัวตน เสียความมั่นใจ เพราะสังคมการศึกษาแพทย์วัดผลจากผลสอบ ไม่ได้มาวัดว่าเด็กคนนี้มีความตั้งใจ มีเจตคติต้องการอยู่ชนบทแค่ไหน แต่เน้นการวัดความรู้ล้วนๆ

ขณะนั้นมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ?

เมื่อต้องเดินหน้าโครงการดังกล่าว ศูนย์แพทย์ฯ รพ.มหาราชนครราชสีมา จึงได้พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และพัฒนาเทคนิคเพิ่มเติม นอกเหนือจากหลักสูตรที่เราก้มหน้าก้มตาสอนกันไปซึ่งเป็นหลักสูตรที่สร้างมาแบบตะวันตก บางครั้งการเดินตามหลังเค้าบางอย่างก็ไม่เอื้อกับบริบทของบ้านเรา เพื่อแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว จึงค่อยๆปรับ เรียนรู้เพื่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยการเสริมทักษะให้กับนักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปี เช่น นศพ.ปี 3 เน้นการเข้าค่ายธรรมะ ฝึกสมาธิเบื้องต้น เพราะการมีสมาธิ มีสติ รู้จักการมีความสุขกับตัวเอง เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ดีไว้สำหรับเตรียมพร้อมกับการเรียนที่หนักขึ้น

กิจกรรมที่เน้น คือ การออกค่ายอาสาสร้างเสริมประสบการณ์นักศึกษาแพทย์ ปี 4-6 ในการออกชุมชน ดูคนทั้งคน ดูมิติสังคม และมีมิติพี่สอนน้อง อาจารย์สอนพี่ เรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรมนี้ถือว่าไม่มีในหลักสูตรไม่มีการบังคับไม่มีการประเมิน เพราะหากบรรจุเข้าไปในหลักสูตรเด็กสมัยใหม่จะไปคิดว่าเป็นวิชาหนึ่งที่ต้องฝืนคอฝืนใจปฏิบัติ การเรียนรู้จะขาดสปิริต ขาดความเป็นอิสระ ขาดจิตอาสา เชื่อว่ากิจกรรมนี้เมื่อจบออกมาพร้อมเด็กจะพร้อมเป็นหมอของแผ่นดินเป็นหมอชนบทควรค่าตามเจตนารมณ์ที่รัฐคาดหวังไว้ (อ่านเพิ่มเติมได้ทาง http://www.gotoknow.org/posts/566668)

ผลลัพธ์การดำเนินงานถึงปัจจุบันและมองอนาคต ?

ปัจจุบันอาจารย์แพทย์ในด้านแผนกจักษุหรือโรคตาของโรงพยาบาล ก็ที่ได้เปลี่ยนแนวทางการสอนโดยพัฒนาการแนวทางมาเน้นให้นักศึกษาแพทย์ลงชุมชนมากขึ้น แทนที่จะนั่งรอผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือรอให้คนไข้มาหา ซึ่งออกตรวจคนไข้หลายๆเคส นักศึกษาจะเห็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทำงาน รู้ว่าการเชื่อมโยงการทำงานกับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมถึง ผู้นำชุมชน อสม. มีขั้นตอนการทำงานกันอย่างไร นี่คือภาพรวมที่น่าจะสะท้อนภาพความสำเร็จของโครงการได้บ้าง
อนาคตเราหวังว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่ไม่ได้อยู่แค่ตำรา ฉะนั้นหลักสูตรวิชาปกติในวิชาชีพแพทย์ที่เรียนอยู่ทุกวัน น่าจะมีเรื่องแบบนี้ คือ มีกิจกรรมค่ายอาสา เสมือนเป็นการฝึกสมองซีกขวาที่ใช้ในการสร้างสรรค์ จินตนาการ ถ้าทำกิจกรรมได้เหล่านี้ได้ควรขยายผลทำร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น เภสัชกรรม ทันตแพทย์ นักกายภาพ ฯลฯ ให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ โดยไม่ต้องไปร่างกรอบหลักสูตรหรือไปสร้างกฎกติกาขึ้นมาใหม่ แต่วิธีนี้คือ การกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) และยึดคำนิยามว่า เราคือ บุคลากรด้านสาธารณสุข เมื่อประเทศชาติกำลังทุกข์ยาก จะต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาก่อน สิ่งเหล่านี้คืออุดมการณ์ กิจกรรมที่แพทย์ยุคก่อนๆ เคยทำมา

อัตราความคงอยู่ชนบทของแพทย์จบใหม่เป็นอย่างไร ?

ทั้งหมดทั้งมวลที่เราทำ หวังที่จะลดช่วงโหว่ของปัญหาการขาดแคลนแพทย์ชนบท โดยหวังว่าอัตราตัวเลขการคงอยู่ของแพทย์จบใหม่จะเพิ่มขึ้น และทำงานอยู่ในพื้นที่/ชนบทอย่างน้อย 3 ปี จากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา นักศึกษาแพทย์จาก รพ.มหาราชนครราชสีมา กว่า 95-100% ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เมื่อเทียบกับตัวเลขภาพรวมของประเทศหรือพื้นที่อื่นๆ อาจจะไม่มากเท่านี้ นั้นเป็นเพราะแพทย์ชนบทในปัจจุบันอยู่ยาก เพราะระบบระเบียบใหม่ๆ ที่มีเงื่อนไขมากกว่ายุคก่อนๆ ทำให้แพทย์ที่อยู่ชนบทไม่มีความสุข บางคนต้องทนอยู่

ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่อยู่กับเรานั้น สัมผัสได้ว่าเกิดจากอุดมการณ์ การปลูกฝังให้เด็กรักสถาบัน รักท้องถิ่น ทำยังไงให้รู้สึกว่านี่คือบ้านเรา และสามารถทำงานใช้ทุนครบในชนบท คือ เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี และใช้ทุนใน รพช. 2 ปี ซึ่ง 3 ปีที่ทำงานให้กับชนบทผมมองว่าคุ้มค่าแล้ว พอครบ 3 ปี แล้วถามว่าเด็กไปไหน...ปรากฏว่าเมื่ออยู่ใช้ทุนครบ ส่วนใหญ่ 70-80% ไปเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เกือบทั้งหมดเป็นเงินทุนจากโรงพยาบาลเล็กในพื้นที่ เพื่อกลับมาเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไปคิดต่อว่าทำยังไงให้เกิดอุดมคติหรือค่านิยมแบบนี้ให้แรงขึ้นในสังคมแพทย์ นี่ไง คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ชนบท

ความรู้สึกหรือมุมมองที่อยากจะฝากให้กับสังคม ?

เราเป็นผีเสื้อตัวเล็กๆ ก็ค่อยๆ ขยับปีกกันไป แต่ถ้าช่วยกันขยับปีกหลายๆตัว อาจจะเกิดพายุก็ได้นะ


HSRI_FORUM_2014_P.11.pdf

หมายเลขบันทึก: 566723เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2014 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เขียนได้ชัดเจนและน่าอ่านมาก

มาเขียนบ่อนๆนะครับ

จำได้ว่าเคยเห็นเขียนใน OKnation

ขอบคุณมากครับ พี่ขจิต และเพื่อนๆ ชาว gotoKnow จะนำมาลงเรื่อยๆ นะครับ ส่วนที่ OKnation ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้าเลย. ตอนนี้เพิ่งสมัคร GotoKnow อาจยังไม่รู้ลูกเล่นอะไรมากน่ะครับ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป , ผมคุ้นๆ พี่ขจิต อยู่นะครับ แต่จำไม่ได้ว่าเจอที่ไหน อิอิ

...มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีความแตกต่างกันนะคะ ระหว่างในเมือง กับชนบท...โดยเฉพาะการคำนึงถึงอาคารสถานที่ ของโรงพยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนแพทย์เฉพาะทาง...หากในชนบทสามารถจัดทำระบบ Family Clinic ได้อย่างทั่วถึง จะสามารถป้องกันโรคได้ดีกว่าการรักษาโรค ...ปรับโรงพยาบาลเล็กๆให้เป็นที่ทำงานของ Family Clinic รวมทั้งห้องแล็ปต่างๆ(ตรวจเลือด X-ray ฯลฯ...)  ส่วนที่เป็นโรงพยาบาลก็ขอให้มีคุณภาพจริงๆในแต่ละอำเภอ หรือจังหวัดนะคะ...แต่คงทำได้ยากเพราะ...มีผลประโยชน์มากมายมหาศาล...และการเห็นความสำคัญกับตำแหน่งต่างๆนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท