กรรมทำงง --- กรรมเก่า กรรมใหม่ แก้กรรม ดับกรรม ---ทำไง


หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช ทรงค้นหาโมกขธรรมนานถึง  ๖ ปี ในที่สุดก็ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งธรรมที่ตรัสรู้นั้น คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน

ปฏิจจสมุปบาทนั้นคือ สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น หรือ การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกันจึงทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา หรือ การที่ทุกข์เกิดจากปัจจัยต่อเนื่องกันมาเป็นทอดๆ ส่วนนิพพานนั้น ก็คือการดับของกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งธรรมทั้งสองที่ได้ตรัสรู้นี้ ทรงนำมาจัดเรียงใหม่ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในรูปของอริยสัจจ ๔

หลักธรรมต่างๆในพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้นค่ะ เพียงแต่ว่าหลักใดจะกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้เนื่องจากทุกหลักธรรมล้วนเป็นความจริงที่ไม่แปรเปลี่ยนด้วยกันทั้งสิ้น ต่างก็เป็นส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาททั้งสิ้น และต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือนิพพาน

หลักธรรมที่ชาวพุทธมักพูดถึงมากหลักหนึ่งก็คือหลักกรรม และนอกจากจะเป็นหลักที่ชาวพุทธใส่ใจถึงมากแล้ว ยังเป็นหลักที่ชาวพุทธสับสน เข้าใจคลาดเคลื่อนมากที่สุดอีกด้วย โดยมักเข้าใจว่ากรรมในศาสนาหรือลัทธินอกพุทธศาสนาเป็นกรรมในพุทธศาสนา

ดังนั้น รายการกรรมตามทันในวันที่ ๑๖ เม.ย. ๒๕๕๖ จึงเสนอเรื่องของหลักกรรมโดยอ้างอิงจากงานที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้รจนาไว้ ในหนังสือพุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย) และหนังสือ เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม (หนังสือสามารถรับฟรีได้ที่วัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย ๔ นครปฐม) โดยเสนอเรื่องของหลักกรรมในหัวข้อต่างๆคือ 

๑ความหมายของกรรมที่คนมักเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

๒ประเภทของกรรม

๓ความหมายที่แท้จริงของกรรม

๔ความเชื่อเรื่องกรรมในลัทธิอื่นๆที่ชาวพุทธสับสนว่าเป็นหลักกรรมในพุทธศาสนาและความเข้าใจในเรื่องของกรรมเก่า แก้กรรม ดับกรรม กรรมใหม่

๕สิ่งที่ส่งเสริมและขัดขวางการให้ผลของกรรม

๖การปฏิบัติต่อหลักกรรมอย่างไรจึงจะถูกต้อง

เริ่มพิจารณากันทีละหัวข้อนะคะ

๑.ความหมายของกรรมที่ชาวพุทธไทยมักเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

ชาวพุทธไทยมักมีเข้าใจในกรรมต่างๆกันออกไปจึงทำให้มีพูดในทำนองนี้คือ “ชาตินี้มีกรรมจึงต้องช้ำใจอย่างนี้” , “ทำอะไรไว้ก็ก้มหน้ารับกรรมไปก็แล้วกัน”, “กรรมของสัตว์”, “สุดแต่กรรมจะนำไป”, “เกิดมามีกรรม ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วทำอะไรไว้”เหล่านี้เป็นต้น

การที่ชาวพุทธกล่าวกันอย่างนี้ แสดงว่ามองกรรมคลาดเคลื่อนไปในแง่ของตัวธรรมเอง คือมองว่ากรรมเป็นเรื่องของผล ดังเช่น คำกล่าวที่ว่า “ก้มหน้ารับกรรมไป” ก็คือก้มหน้ารับผลของการกระทำของตนไป แต่อันที่จริง กรรมคือเหตุที่ส่งผลให้เกิดตามมา ซึ่งผลของกรรมเรียกว่า “วิบาก”

เพราะมองกรรมว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้ จึงพูดว่า “สุดแต่กรรมจะนำไป”จึงทำให้นอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาที่สาเหตุแล้ว ยังไปหาทางแก้ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง เช่น การทำพิธีทางไสยศาสตร์ต่างๆ (ข่าวเรื่องการลงนะหน้าทองเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ค่ะ ที่เป็นข่าวออกมาเพราะการลงนะไม่ได้ช่วยให้สามีกลับมาหาบรรดาหญิงที่ไปลงนะหน้าทองได้จริง จึงนำเรื่องราวออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อไม่ให้ใครถูกหลอกเหมือนพวกตนอีก)

หรือเพราะมองกรรมว่าหมายถึงเรื่องที่ไม่ดีเท่านั้น เช่นคำกล่าวที่ว่า“แล้วแต่บุญแต่กรรม” ก็คือมองบุญว่าเป็นเรื่องดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย หรือ “มีกรรมจึงช้ำใจ” ก็เป็นการมองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย การมองอย่างนี้นอกจากจะมองกรรมแต่เพียงด้านเดียวคือด้านที่ไม่ดีแล้ว ยังไม่มองสาเหตุที่ทำให้ตนได้รับผลที่ไม่ดีแล้วหาทางแก้ไขอีกด้วย จึงมักยอมรับความทุกข์อยู่อย่างนั้น หรือ หาทางแก้ไขด้วยไสยศาสตร์ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขได้จริง

มองกรรมว่าเป็นเรื่องของอดีตชาติ ดังจะเห็นได้ในคำกล่าว “ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วทำอะไรไว้” จึงไม่ได้ใส่ใจว่าเวลาในปัจจุบันเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่จะสรรค์สร้างผลอย่างที่ตนต้องการ

การมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อตัวธรรมอย่างนี้ จึงทำให้มีทัศนคติทั้งต่อตนและต่อผู้อื่นคลาดเคลื่อนไปด้วย เช่น หากเชื่อว่าที่ชีวิตเป็นอย่างนี้เพราะกรรมจากชาติที่แล้ว ก็จะทำให้ยอมรับสภาพยอมแพ้แก่ความเป็นไป ไม่ขวนขวายแก้ไขปัจจุบัน หรือเมินเฉยไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพราะเห็นว่านั่นเป็น “กรรมของสัตว์” เขาทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น เช่น เห็นคนกำลังจะจมน้ำ หากเราเห็นว่านั่นเป็นกรรมของสัตว์ ก็ปล่อยไป วางเฉยไม่เข้าช่วยเหลือ จึงกลายเป็นว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะเข้าใจผิดจึงเกิดการกระทำที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา

เพราะการวางเฉยนั้นมี ๒ ลักษณะ คือ เฉยรู้ เฉยด้วยปัญญาเห็นความเป็นไปจึงวางใจเป็นกลาง หรือ อุเบกขา กับ เฉยไม่รู้ เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว เฉยโง่ หรือ อัญญานุเบกขา อุเบกขานั้นเกิดต่อเนื่องมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ทำให้ต้องขวนขวายช่วยเหลือจนสุดกำลัง แต่ครั้นเห็นว่าทำเต็มที่แล้ว หรือ ทำตามธรรมแล้ว แต่ยังช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวาง เพ่งดูเฉยๆ เพราะไม่เช่นนั้นจะทุกข์ใจไปกับสิ่งที่ตนทำอะไรไม่ได้ ต่างจากอัญญานุเบกขา ที่ไม่เอาเรื่องราว หรือ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร จึงได้แต่เพ่งดูเฉยๆ

กรรมนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องของเหตุ ไม่ใช่ผลแล้ว ยังเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งผลของกรรมก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นไปตามความเป็นธรรมดา หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า “นิยาม”

อรรถกถาจารย์อธิบายนิยามไว้เป็น ๕ อย่าง ผลของกรรมจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติหรือนิยามนั้นๆ เช่น

-          อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุโดยเฉพาะความเป็นไปของธรรมชาติ สภาพแวดล้อม เช่น ลมฟ้าอากาศ เช่น หากเราอยู่กลางแจ้งในเวลาเที่ยงก็ย่อมร้อน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น

-          พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ เช่น หากเรามีการกระทำคือการปลูกมะม่วง ผลที่ได้ ก็คือได้ต้นมะม่วง

-          จิตตนิยาม กฎการทำงานของจิต เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบประสาท จิตมีการทำงานอย่างไร เมื่อจิตมีคุณสมบัติย่างนี้ จะมีเจตสิกอะไรประกอบบ้าง เป็นต้น

-          กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการกระทำ และผลของการกระทำนั้นๆ มองอย่างหยาบก็คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว จะต้องมองถึงเจตนา แม้ว่าจะยังไม่มีการกระทำทางกาย วาจา ให้เห็น ดังที่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม

-          ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ การเป็นเหตุผลแก่กันและกันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่น การที่สิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การที่สิ่งทั้งหลายมีสภาพไม่เที่ยง ทนการบีบคั้นไม่ได้ ไม่เป็นไปในอำนาจของใคร เป็นต้น

อันที่จริง กฎทั้ง ๔ ข้อแรก ก็รวมอยู่ในธรรมนิยามทั้งหมด อรรถกถาจารย์เพียงแยกออกมาเพื่อให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเมื่อพิจารณาตามนี้แล้ว จะเห็นว่ากรรมเป็นเรื่องของเหตุที่ทำให้เกิดผลทั้งหมดอย่างไรก็ดี มนุษย์กลับบัญญัติกฎมนุษย์ซ้อนขึ้นมาอีกกฎหนึ่งเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กฎนี้จึงเป็นกฎทางสังคม เช่น ระเบียบข้อบังคับ กติกา กฎหมาย จารีต ประเพณี เป็นต้น กฎทางสังคมนี้จึงเป็นเรื่องการปรุงแต่งของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกรรมและขึ้นต่อกรรมนิยามด้วย เพียงแต่ซ้อนเข้าไปในกรรมนิยามเท่านั้น และกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้จึงอาจเป็นไปหรือไม่เป็นไปตามกฎแห่งกรรมนิยามก็ได้ หากไม่มีการแยกกฎมนุษย์กับกฎแห่งกรรมออกจากกัน ก็อาจทำให้เราสับสนในเรื่องกฎแห่งกรรมจนถึงกับเข้าใจผิดไปเลยค่ะ

เช่น เราทำงานเพราะหวังว่าจะได้เงินเดือน ๑๕,๐๐๐.- บาท หากเรายึดกฎนี้ก็คือยึดตามกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น ว่าผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีหากทำงานให้องค์กรใดครบเหนึ่งเดือน จะได้รับค่าตอบแทนเท่านี้ แต่ตามกฎแห่งกรรม เมื่อเราทำงาน เราก็ได้ผลคืองานได้รับการทำ งานที่ทำสำเร็จเป็นรูปร่าง เงินเดือนเป็นเพียงข้อตกลงที่มนุษย์ตั้งซ้อนกฎแห่งกรรมขึ้นมาอีกทีหนึ่ง หากเราทำเหตุคือทำงานแต่กลับหวังผลคือเงินเดือน ถือว่าผลไม่ตรงกับเหตุ จึงอาจไม่ตั้งใจทำงานหรือทำงานอย่างไม่มีความสุข แต่หากเราทำงานเพราะอยากให้งานเสร็จ อยากให้งานได้รับการทำอย่างดี โดยไม่กังวลถึงเงินเดือน ก็ย่อมมีความสุขในการทำงานเพราะเหตุและผลต้องตรงกัน

เมื่อพิจารณาถึงกฎมนุษย์ควบคู่ไปกับกฎธรรมชาติ ก็ควรพิจารณาถึงคำว่า ดี ชั่ว กุศล อกุศล ควบคู่กันไปด้วยค่ะ เพราะ ดี ชั่ว นั้น เป็นสิ่งที่คนเรากำหนดขึ้น บางทีก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ บางทีก็ไม่เป็นไปตามนั้น แต่กุศล อกุศล นั้น เป็นไปตามกฎธรรมชาติล้วนๆ ดังนั้น การกระทำบางอย่างที่คนเราตัดสินว่าดี อาจไม่ใช่กุศลกรรมในทางธรรม เช่น เมื่อครั้งที่อังกฤษพิพาทกับอาร์เจนตินาเรื่องหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคือนางมากาเร็ต แทตเชอร์ สั่งโจมตีกองทัพเรือของอาร์เจนตินา การสั่งโจมตีก็คือการใช้ให้คนอื่นฆ่า ซึ่งแน่นอนค่ะว่าย่อมเป็นอกุศลกรรม แต่เมื่อกองทัพอังกฤษมีชัยต่ออาร์เจนตินา นางกลับได้รับการยกย่องจากชาวอังกฤษว่าเป็นคนดี การกระทำที่เป็นอกุศลกรรมของเธอกลับได้รับจากผู้คนในประเทศหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะนำชัยชนะมาสู่ประเทศ ตัวอย่างนี้แสดงว่าสิ่งที่มนุษย์กำหนดว่า ดี ชั่ว นั้น บางทีก็ขัดกับหลักกรรม สิ่งที่มนุษย์เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งดี อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นกุศลก็ได้

ดังนั้น เราจึงควรทราบว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล กุศลนั้นแปลว่าฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อหรือเกื้อกูล เหมาะ ดี งาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือสิ่งที่ชั่วร้ายน่ารังเกียจ ส่วนอกุศลก็มีความหมายในทางตรงข้าม ซึ่งเราพอจะอธิบายความหมายของกุศลที่ถือว่าเป็นหลักในการพิจารณาได้ ๔ อย่าง คือ

-          อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค ทำให้จิตไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย

-          อนวัชชะ ความไม่มีโทษ ภาวะจิตสมบูรณ์ ไม่มัวหมอง ผ่องแผ้ว

-          โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด หมายถึงภาวะจิตที่เกิดจากความเข้าใจ รุ้เท่าทันความเป็นจริง

-          สุขวิบาก มีสุขเป็นวิบาก คือเป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เพราะเมื่อมีกุศละรรมเกิดขึ้นในใจ ก็ย่อมเกิดความสุขสบาย คล่องใจในทันที  

 

๒.ประเภทของกรรม

กรรมแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้หลายลักษณะค่ะ แล้วแต่ว่าจะนำอะไรมาเป็นหลักในการแบ่ง เช่น

แบ่งตามคุณภาพ ตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้เป็น ๒ คือ

-          กุศลกรรม หรือกรรมดี อันได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

-          อกุศลกรรมหรือ กรรมไม่ดี อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ

แบ่งตามทางที่ทำกรรม แบ่งได้เป็น ๓ คือ

-          กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือ การกระทำทางกาย

-          วจีกรรม กรรมทำด้วยวาจา หรือ การกระทำทางวาจา

-          มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ หรือ การกระทำทางใจ

แบ่งตามความสัมพันธ์กับผลหรือวิบาก แบ่งได้เป็น ๔ คือ

-          กรรมดำ มีวิบากดำ ได้แก่การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่มีการเบียดเบียน เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น

-          กรรมขาว มีวิบากขาว ได้แก่ การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ไม่มีการเบียดเบียน เช่น กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐

-          กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เบียดเบียนบ้าง ไม่เบียดเบียนบ้าง อันเป็นการกระทำของมนุษย์ทั่วๆไป

-          กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมได้แก่เจตนาละกรรมทั้งสามอย่างข้างต้น โดยองค์รวมก็คือโพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

จะเห็นว่ากรรมนั้นมีความหมายไปในทางต่างๆ ไม่ใช่มีในความหมายว่าไม่ดีอย่างเดียวดังที่มักหมายถึงกัน

 

๓. ความหมายของกรรมที่ถูกต้องในพุทธศาสนา

กรรม แปลว่า การกระทำ การงาน มาดูที่แต่ละความหมายนะคะ 

กรรมในความหมายว่า “การกระทำ

กรรมนั้นแปลตามศัพท์ว่าการกระทำ แต่หากในความหมายที่ลึกลงไป ต้องหมายความว่าการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้วจึงกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” ดังนั้นความหมายของกรรมในแง่นี้ ในส่วนที่เป็นต้นตอก็คือเจตนานั่นเอง(๑) 

แต่เนื่องจากในกระบวนการของชีวิตเมื่อเรามีเจตนาที่จะคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราก็คิดถึงเรื่องนั้นๆไปในแง่มุมต่างๆ แล้วแสดงออกมาทางกาย วาจา ไปในลักษณะต่างๆ ซึ่งการคิด พูด ทำ การที่เราจะคิด พูด ทำ ไปในทางใด ดีหรือร้าย ก็อยู่ที่คุณสมบัติของจิต อันถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งที่พร้อมจะปรุงแต่งจิตให้เป็นไปในทางต่างๆเช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความลังเลสงสัย ความอิ่มใจ ปัญญา ความเพียร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสภาพพร้อมปรุงแต่งจิต หรือ เครื่องปรุงแต่งจิต หรือ ที่เรารู้จักกันในนามของ “สังขาร” ที่พร้อมจะปรุงแต่งจิตไปตามความเคยชิน หรือ พร้อมที่จะปรุงแต่งไปตามความตั้งใจที่จะปรุงแต่งไปในทางใหม่ที่ดีขึ้น จนบางทีท่านกล่าวว่า สังขารก็คือเจตนาทั้งหลาย ดังนั้น  กรรม ในความหมายว่าการกระทำนี้หากมองให้กว้างออกไป ก็คือสังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง(๑) 

เมื่อมองถึงความต่อเนื่องกัน ในชีวิตประจำวันเราต้องมีการติดต่อกับบุคคลภายนอก จึงมีการคิด พูด ทำ เพื่อสื่อสารหรือเพื่อปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆตามความรับผิดชอบและหน้าที่ที่มี และเราต้องรับผิดชอบต่อการคิด พูด ทำ เหล่านั้นด้วย หากการคิด พูด ทำ เป็นไปในทางดี ก็เรียกว่ากุศลกรรม หากเป็นไปในทางตรงข้ามก็เรียกว่าอกุศลกรรม กรรมในความหมายนี้จึงมองในแง่ของความประพฤติและการกระทำต่างๆโดยรวมทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่บุคคลต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น(๑) กรรมในความหมายนี้เอง ที่คนเรากล่าวถึงบ่อยที่สุด แต่มักมองว่าเป็นการกระทำในอดีตเท่านั้น ดังคำกล่าวที่มักได้ยินบ่อยๆว่า ชีวิตที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกรรมจากชาติที่แล้วบ้าง ก้มหน้ารับกรรมไปบ้าง 

กรรมในความหมายว่า “การงาน” 

ส่วนนี้คงต้องขอยกพุทธพจน์ในวาสเฐสูตรที่ ๙ ในขุททกนิกายมาเล่าค่ะ ในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ราวป่าอิจฉานงคลวันใกล้หมู่บ้านชื่อ อิจฉานังคลคาม มาณพสองคนชื่อว่าวาเสฏฐมานพและภารทวาชมานพมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของพราหมณ์ โดยภารทวาชมานพเห็นว่าบุคคลได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ก็เพราะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ฝ่ายวาเสฏฐมาณพเชื่อว่าบุคคลได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ก็เพราะเป็นผู้มีศีลและวัตร ในที่สุดจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ทูลถาม พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า บุคคลทำงานอะไรก็ได้ชื่อตามงานที่ทำ เช่น ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะผู้นั้นเป็นศิลปิน  ผู้ใดอาศัยการค้าเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นผู้รับใช้ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการลักทรัพย์ ผู้นั้นเป็นโจร เป็นต้น ดังนั้น กรรมในความหมายนี้ก็คือตัวการงานที่ทำ 

สมเด็จพระสังฆราชเคยบรรยายว่า กรรม มักแปลกันว่าการกระทำ หากที่ถูกควรแปลว่า การที่กระทำ หรือก็คืองานต่างๆที่เราทำนั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าการต่างๆที่เราทำในชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเจตนา หรือว่างานที่เราทำที่เป็นตัวอาชีพ ก็ล้วนถูกความหมายนี้ครอบคลุมไว้แล้วทั้งหมด 

๔ความเชื่อในเรื่องกรรมของลัทธิอื่นที่ชาวพุทธเข้าใจว่าเป็นคำสอนในพุทธศาสนา

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประกาศศาสนา ในสมัยนั้นมีคำสอนเกี่ยวกับกรรมที่พระองค์ตรัสเรียกว่า “ติตถายตนะ” อันหมายถึงที่ประชุมแห่งลัทธิ ๓ หมายถึงไม่ว่าลัทธิหรือศาสนานอกพุทธศาสนาใดๆก็ล้วนเป็นไปตามลักษณะใดลักษณะหนึ่งในสามลักษณะนี้ทั้งสิ้น ซึ่งลัทธิทั้ง ๓ ประกอบด้วยความเห็นดังนี้คือ 

-          การเห็นว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นกรรมเก่า หรือ ปุพเพกตวาท

-          การเห็นว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเกิดจากการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า หรือ อิศวรนิรมิตวาท

-          ารเห็นว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นไปเพราะความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยอะไร แล้วแต่โชค  หรือ อเหตุวาทะ       

ลัทธิทั้งสามนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ และยังตรัสเรียกว่า อกิริยาวาทะ อีกด้วย คือ เป็นเหตุให้ไม่มีการกระทำเพื่อแก้ไข ท้อถอย ได้แต่ยอมรับผลที่เกิดขึ้น หรือหากอยากได้ผลดีตามใจปรารถนาก็แสดงออกด้วยการสวดอ้อนวอน พึ่งพิงต่อปัจจัยภายนอก ไม่ลงมือกระทำเพื่อแก้ไขปัญหาที่สาเหตุด้วยตนเอง ซึ่งก็มีผลคือทำให้ปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ยังคงอยู่ จึงได้แต่ทนแบกรับความทุกข์ หรือ แก้ไขไม่ตรงเหตุ อันทำให้นอกจากตนจะลำบากแล้วยังไม่สามารถดับทุกข์ได้ ดังจะเห็นจากคำตรัสว่าที่ 

“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษทำกรรมอย่างไรๆ เขาย่อมได้เสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ’ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ เป็นอันมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้เลย

แต่ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษทำกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาอย่างไรๆ เขาย่อมได้เสวยวิบากของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ’ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้ การครองชีวิตประเสริฐ(พรหมจรรย์) จึงมีได้เป็นอันเห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้” 

พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องของกรรมเก่า และจากคำตรัสดังที่ยกมา แสดงว่าทรงเห็นทางที่จะแก้กรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้ได้ผลกรรมในทางที่ดีขึ้นอันเป็นการดับผลกรรมที่ไม่ดี โดยได้ทรงแสดงความหมายของ กรรมเก่า แก้กรรม ดับกรรม ไว้ในกรรมนิโรธสูตร นวปุราณวรรค ว่า

 “[๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมใหม่และกรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

 กรรมเก่า เป็นอย่างไร

คือ จักษุ (ตา) บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

ฯลฯ

นี้ เรารียกว่ากรรมเก่า 

กรรมใหม่ เป็นอย่างไร

คือ กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้

นี้ เราเรียกว่ากรรมใหม่ 

ความดับกรรม เป็นอย่างไร

คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมได้

นี้ เราเรียกว่าความดับกรรม 

ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม อะไรบ้าง

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)           ๒สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)

๓สัมมาวาจา(เจรจาชอบ)        ๔สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)

๕สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ)  ๖สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)

๗สัมมาสติ(ระลึกชอบ)           ๘สัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้ เราเรียกปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม”

สํ.สฬา.(แปล) ๑๘ / ๑๔๖ / ๑๗๙ - ๑๘๐ 

ดังนั้นจะเห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เองชื่อว่ากรรมเก่า ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ว่า  กรรมเก่าก็คือสภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้นั่นเอง ซึ่งก็คือผลจากรรมเท่าที่เราทำมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด และเราทั้งหลายใช้สภาพที่เป็นที่มีในปัจจุบันนี้สร้างกรรมใหม่ต่อๆไปจึงจะเห็นได้ว่ากรรมไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องในอดีตที่จบไปแล้ว แต่หมายถึงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต หากเราเข้าใจว่ากรรมหมายถึงเพียงอดีต เราก็จะไม่สามารถแก้กรรม ดับกรรมได้ 

ซึ่งการแก้กรรม ดับกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าการไปทำพิธีแก้กรรมอย่างที่ชาวพุทธบางกลุ่มเข้าใจแต่อย่างใด เพราะการเข้าใจอย่างนั้นคือ ได้ทำเหตุอย่างหนึ่งที่ให้ผลไม่ดีไปแล้ว แต่ไม่ยอมรับผลนั้น กลับอยากให้มีผลไปในทางตรงข้ามจึงไปทำพิธีแก้ผล ในเมื่อเหตุอย่างใดก็ให้ผลอย่างนั้น ก็ชวนสงสัยว่าการแก้กรรมจะสำเร็จได้อย่างไร เหมือนกับเราปลูกมะม่วง อย่างไรเสียผลของต้นไม้ที่เราปลูกก็ต้องเป็นผลมะม่วง ไม่มีทางเป็นผลไม้อย่างอื่นไปได้ 

แต่การแก้กรรมหมายถึงการกระทำอย่างจริงจังตามมรรคมีองค์ ๘ โดยการแก้กรรมนั้น และจะสำเร็จได้ก็ด้วยการเริ่มต้นยอมรับผลของกรรมเก่าเสียก่อน แล้วจึงแก้กรรม ด้วย “ปฏิกรรม” คือ กระทำคืน กระทำกรรมใหม่ไปในทางที่ดีเพื่อให้เกิดการสั่งสมการกระทำดีอันให้ผลดีใหม่ขึ้น เป็นการสั่งสมผลดีขึ้นแทนผลของการกระทำเก่าที่ไม่ดี อันมีผลทำให้ตนได้รับความรื่นรมย์จากสิ่งที่รับรู้ทางตา ห๔ จมูก ลิ้น กาย ใจ จนราวกับได้เกิดในสวรรค์ หรือหากจะทำให้ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือทำกรรมที่ไม่ทำให้เกิดการสั่งสมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว แต่เป็นกรรมที่ทำแล้วกลับทำให้ สิ้นกรรม ทำให้หมดกรรม นำไปสู่ความดับกรรม อันเป็นมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนาเลยทีเดียว ดังที่เรียกกรรมอย่างหลังนี้ว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมไม่มีการเกิดอีกต่อไป ซึ่งการทำกรรมให้สิ้นไป หรือ ดับกรรม นั้น พระอานนท์ได้อธิบายต่อเจ้าอภัยลิจฉวีและเจ้าบัณฑิตกุมารลิจฉวีไว้ตามที่ปรากฏในนิคัณฐสูตรคือ

 “ท่านอภัย ความบริสุทธิ์ที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ๓ ประการนี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ตรัสไว้โดยชอบ เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อล่วงพ้นความโศก ความร่ำไร เพื่อความสิ้นทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง 

ความบริสุทธิ์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ 

๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอไม่ทำกรรมใหม่ และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้นไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” 

๒.ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีล สงัดจากกาม  ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่ทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอไม่ทำกรรมใหม่และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้นไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” 

๓. ภิกษุนั้นเพียบพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ เพียบพร้อมด้วยสมาธิอย่างนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติที่ไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เธอไม่ทำกรรมใหม่ และรับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปโดยคิดว่า “ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ทำให้กิเลสสิ้นไป ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”

อ.ติก.(แปล) ๒๐/๗๕/๒๙๗ – ๒๙๘ 

 

๕สิ่งที่ส่งเสริมและขัดขวางการให้ผลของกรรม 

การกรรมจะส่งผลแก่ชีวิตอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ๔ คู่ คือ สมบัติ และ วิบัติ  ด้วย 

สมบัติ หมายถึงความเพียบพร้อมแห่งองค์ประกอบที่ช่วยสนับสนุนให้กรรมดีปรากฏผล ไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล มี ๔ อย่างคือ 

-          คติสมบัติสมบัติแห่งคติ ความถึงพร้อมด้วยคติ คือสมบัติที่ทำให้เกิดในถิ่นฐาน ในประเทศที่เกื้อกูล เอื้อต่อการดำเนินชีวิต

-          อุปธิสมบัติสมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย เช่น สมประกอบ รูปร่างดี หน้าตาดี กิริยาดี สุขภาพดี แข็งแรง

-          กาลสมบัติสมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยเวลา หรือ เวลาให้ เช่น ได้เกิดในกาลที่ดี บ้านเมืองสงบสุข ผู้คนมีศีลธรรม ผู้ปกครองดี หรือ แม้แต่ในระยะเวลาสั้นๆ ทำอะไรก็ถูกเวลา ถูกจังหวะ เป็นต้น

-          ปโยคสมบัติสมบัติแห่งการประกอบกิจ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือ กิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำงานตรงกับความสามารถของตน ทำงานอย่างเต็มที่ เป็นต้น      

ส่วน วิบัติ หมายถึง ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล เช่น 

-          คติวิบัติวิบัติแห่งคติ หรือ คติเสีย คือ เกิดในภพ ภูมิ ถิ่น ที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

-          อุปธิวิบัติวิบัติแห่งร่างกาย คือ รูปกายเสีย เช่น พิการรูปร่างไม่สมส่วน หน้าตาไม่ดี กิริยาไม่ดี

-          กาลวิบัติวิบัติแห่งกาล หรือ กาลเสีย เวลาไม่ให้ เช่น เกิดในยุคที่บ้านเมืองมีเภทภัย ไม่สงบ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรก็ไม่ถูกเวลา ไม่ถูกจังหวะ

-          ปโยควิบัติวิบัติแห่งการประกอบ หรือ กิจการเสีย  เช่น ฝักใฝ่ในเรื่องที่ผิด ทำงานไม่ตรงกับความสามารถ ใช้ความสามารถไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทำงานครึ่งๆกลางๆเป็นต้น 

ตัวอย่างขององค์ประกอบทั้ง ๔ คู่ ที่ทำให้ผลของกรรมดีชั่วส่งให้ไม่เต็มที่ เช่น คนที่ปัญญาดี แต่ไปเกิดในถิ่นที่ผู้คนไม่สนับสนุนการศึกษา ก็หาโอกาสพัฒนาปัญญาได้ยาก เนื่องจากการสั่งสมของปัญญานั้นเปรียบเหมือนสมบัติที่อยู่ในหีบ หากไม่มีการเริ่มเรียนรู้ ก็เหมือนไม่มีการเปิดหีบหยิบมาใช้ ก็ทำให้มีเหมือนไม่มี คือ ไม่รู้ว่าในหีบมีอะไรอยู่ภายในและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าคติวิบัติส่วนบางคนสติปัญญาไม่ดีสักเท่าใด แต่ได้ไปเกิดในที่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการศึกษา ก็มีโอกาสที่จะได้พัฒนาปัญญายิ่งๆขึ้นไป อย่างนี้เรียกคติสมบัติ 

บางคนรูปร่างหน้าตาดี แต่ไปเกิดในตระกูลยากไร้ ความถึงพร้อมของรูปกายก็สามารถช่วยพลิกฟื้นฐานะให้ดีขึ้นได้ อย่างนี้เรียกอุปธิสมบัติ แต่บางคน แม้รูปกายพิการ แม้จะเกิดในตระกูลที่พรั่งพร้อม ก็อาจไม่มีความสุข อย่างนี้เรียกอุปธิวิบัติ 

บางคนซื่อสัตย์ เกิดในช่วงเวลาที่สังคมอุดมศีลธรรม ยกย่องผู้ตั้งอยู่ในศีล ทรงตนไว้ในธรรม ผู้นำมีคุณธรรม ก็มีโอกาสได้รับความสุข ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏ อย่างนี้เรียกกาลสมบัติ แต่ถ้าไปเกิดในกาลเวลาที่สภาพสังคมเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็หาความสุขได้ยาก หรือไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ อย่างนี้เรียกกาลวิบัติ 

บางคนรู้วิธีการจัดการงานดี แต่ความประพฤติไม่ดี ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ทำงานตามความถนัดของตน อย่างนี้เรียก ปโยควิบัติ หรือบางคนไม่มีความรู้เรื่องการจัดการ แต่ขยัน รู้จักการเข้าหาผู้คน ก็ทำให้เจริญก้าวหน้าในการงานได้ อย่างนี้เรียก ปโยคสมบัติ เป็นต้น

๖เราควรปฏิบัติต่อหลักกรรมอย่างไรจึงจะถูกต้อง

เมื่อเราเข้าใจความหมายของกรรมที่แท้จริงในพุทธศาสนา การแก้กรรม ความดับของกรรมแล้ว จึงควรมีท่าทีและการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อหลักกรรมตามที่พระพุทธจ้าตรัส คือ

 -          ยอมรับผลของกรรมเก่า ยอมรับผลของการกระทำของเราเอง แล้วตั้งใจจะปรับปรุงกรรมให้ดีขึ้น ดังที่พระพุทธเจ้ามักตรัสบ่อยๆในเวลาที่ผู้ทำผิดมากล่าวยอมรับความผิดของตนแล้วตั้งใจจะไม่ทำซ้ำว่า เป็นความเจริญในอริยวินัย 

-          ใช้กรรมเก่าหรือสภาพชีวิตในปัจจุบันนี้สร้างกรรมใหม่ในทางที่เป็นกุศลหรือก็คือแก้กรรมนั่นเอง ซึ่งเราต้องไม่สับสนระหว่างกุศล อกุศล อันเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ และดี ชั่วอันเป็นเรื่องของกฎมนุษย์ อันจะทำให้ท้อถอยได้ว่าทำดีไม่ได้ดี ทั้งๆที่เมื่อทำดีก็คือทำในสิ่งที่เป็นกุศล ย่อมได้รับผลอันเป็นกุศลคือบุญ หรือ ความอิ่มใจ เกิดขึ้นทันทีอยู่แล้ว เพียงแต่ผลที่สัมพันธ์กับบุคคลภายนอก อาจเป็นไปตามสมบัติและวิบัติดังกล่าว 

-          กรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กับกฎมนุษย์ อาจหวังผลตามที่พึงมีพึงได้ อันเป็นการมีสันโดษในระดับต้น เช่น เมื่อทำงานแล้วได้รับเงินเดือนเท่าใด ก็ควรพอใจตามที่ตกลงกัน ไม่ใช่ทำงานเท่าเดิมแต่ต้องการเงินเดือนมากยิ่งขึ้น   

-          กรรมบางอย่างที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติล้วน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา อาจหวังผลตามที่พึงมีพึงได้หรือมีสันโดษในระดับต้นในช่วงแรกๆ แต่เมื่อทำต่อเนื่องและสูงขึ้นแล้ว ไม่ควรหวังผลจากการกระทำนั้นอันอาจทำให้ท้อถอยหรือไม่สามารถบรรลุได้ เช่น การปฏิบัติธรรม ควรปฏิบัติตามหลักธรรมต่างๆด้วยความเพียร ในช่วงต้นอาจหวังผลการปฏิบัติได้เพราะทำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ เช่น ตั้งใจปฏิบัติเพราะอยากบรรลุโสดาบันเป็นต้น แต่เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆแล้ว ไม่ควรหวังผลในการปฏิบัติ เพราะเมื่อยังมีความหวังก็คือยังมีความอยากอันเป็นตัณหา จึงต้องมีสันโดษในระดับสูง หรือขั้นเต็มความปรารถนา ด้วยการไม่หวัง เพราะเมื่อไม่หวัง ได้ผลเท่าใดก็เต็มทันที จึงไม่สร้างสมุทัยใหม่อันนำไปสู่ทุกข์เพราะการปฏิบัติ 

เหล่านี้คือเรื่องเกี่ยวกับกรรมที่ชาวพุทธควรรู้และทำความเข้าใจ ด้วยความเข้าใจและปฏิบัติต่อหลักกรรมอย่างถูกต้อง ชาวพุทธจึงจะใช้กรรมเก่าให้เกิดประโยชน์ แก้กรรม กระทั่งดับกรรม ได้ด้วยตนเองในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 566123เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2014 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2014 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จะกลับมาอ่านอีกครับ....สาธุ

พี่ตุ๊กตามาฝากบันทึกแต่ละครั้งต้องให้ดอกไม้ไว้ก่อน เนื้อหาละเอียด ต้องค่อย ๆ อ่าน คิดใคร่ครวญ

ฝากขอบคุณมาก ๆ ค่ะที่มีความเพียรเรียบเรียงมาให้ได้อ่านกัน

  • ขอขอบคุณ ที่ช่วยกรุณามาชี้นำ ชี้แนะ แหวะทาง สู่แสงสว่างแห่งปัญญาครับ

ขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ

ไม่ทราบว่าเครื่องที่บ้านมีปัญหาอะไร จึงอ่านความเห็นของทุกท่านไม่ได้ เห็นแต่รูปโลโก้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมกันนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท