ล้อมวงคุย “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ในสวนพุทธธรรม


การเดินทางของ มดงานเพื่อเป็นพลัง /// รวมเพื่อแผ่นดิน

พบแหล่งเรียนรู้

ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนาและวัฒนธรรม อีกแห่งหนึ่ง

30 มกราคม 2557 ท่านอาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กรุณาแวะเยี่ยมเยือนฉันที่ห้องทำงาน และท่านเอ่ยชวนให้ฉันร่วมไปด้วยกันในกิจกรรมสุนทรียเสวนา ณ อาณาบริเวณวัดร้างซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) โดยไม่คาดฝันว่าฉันจะได้พบสถานที่อัศจรรย์ในความรู้สึกเมื่อไปถึงสถานที่แห่งนี้ในบ่ายวันนั้น
การเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งถูกเรียกเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ในสวนพุทธธรรม และพบผู้คนที่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจการฟื้นฟู การออกเอกสารสิทธิ์เพื่อให้วัดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยกฎหมาย กับดำริกิจกรรมเพื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างโบราณอายุกว่า 500 ปี

ผู้คนเหล่านี้มาจากไหน เหตุใดมารวมตัวกันได้ ณ ที่นี้ และเมื่อกิจกรรมล้อมวงสนทนาอย่างสุนทรีย์เริ่มต้นขึ้น โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมหารือบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้าง แนะนำสมาชิกวงในสนทนา ประกอบด้วย พระครูสุคันธศีล (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดอุโมงค์ พระครูบุญเลิศ คุณปัาแอและคุณปัาปุก ทายาทเจ้าชื่น สิโรรส (พ.ศ. 2439-2538) เจ้าของที่ดิน ผู้นำจากหน่วยงานต่างๆ อันมี ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ นายกเทศบาลตำบลสุเทพ เจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่สำนักพุทธธรรม รศ.สมโชติ อ๋องสกุล หัวหน้าโครงการส่วนประวัติศาสตร์ โครงการ “ศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม เพื่อการจัดทำผังแม่บทของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ส่วนสมาชิกวงนอก มีพระสงฆ์จากวัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) อาจารย์ นักวิจัย และคณะบุคลากร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิจิตรศิลป์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และฉันกับน้องทีมงานประชาสัมพันธ์ (ที่มาทีหลัง)

 


เรื่องราวการสนทนาที่จับประเด็นได้นั้นพอสรุปคือ
จากปณิธานของ เจ้าชื่น สิโรรส และคณะพุทธนิคม (ก่อตั้งโดยเจ้าชื่น สิโรรส ในปี พ.ศ. 2490 สำนักงานพุทธนิคมตั้งอยู่ที่บ้านหลิ่งห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันคือสถานที่ตั้งของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. ) ในการบูรณะฟื้นฟูเนื้อที่ดิน 130 ไร่ วัดประมาณจากแนวรั้วลวดหนามและไม้ที่ใช้ปักไว้ (เมื่อตอนบุกเบิก พ.ศ. 2491)ให้เป็นสำนักพุทธธรรม และอยากให้เป็นปอดและเป็นป่าของเชียงใหม่ (เจ้าชื่น และทายาท ได้มอบที่ดินให้วัดอุโมงค์และมีการออกโฉนดไปแล้วประมาณ 68 ไร่ ยังเหลือที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ คือ อาณาบริเวณ ที่ค้นพบ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แห่งนี้)

การร้องเรียนของวัดอุโมงค์ (พ.ศ. 2495 – 2555) เป็นหกสิบปีที่ร้องเรียนเพื่อให้มีการคืนพื้นที่ให้วัด ที่ได้ดำเนินมาอย่างชอบธรรมและมีหลักฐานอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมาที่มีการพบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น 4 แห่ง โดย 3 แห่งอยู่ด้านหลังวัดอุโมงค์ เป็นพื้นที่เดิมที่อยู่ในเขตรั้วที่ เจ้าชื่น สิโรรสและคณะพุทธนิคมล้อมไว้ ทางวัดอุโมงค์ดำเนินการขอจัดการ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่พบใหม่ โดยมีแผนเชื่อมโยง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ทั้งห้าแห่งในสวนพุทธธรรม ในเขตรั้วที่เจ้าชื่นและคณะพุทธนิคมล้อมไว้ โดยขอออกโฉนดเป็นพื้นที่ของวัดอุโมงค์ แต่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้อ้างกฎหมายคัดค้าน 5 ฉบับ เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อยู่ในเขตหวงห้ามล่าสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร (รายละเอียดเพิ่มเติม สอบถาม รศ.สมโชติ อ๋องสกุล หัวหน้าโครงการส่วนประวัติศาสตร์ฯ)


ผู้ร่วมการสนทนาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้รู้ทางกฎหมายรับจะกลับไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งในการดำเนินการนั้นมีความมุ่งหมายให้ คนได้เข้าถึง “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แห่งใหม่ ที่ขุดค้นขุดแต่งโดยกรมศิลปากรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ทั้งโดยนักวิชาการ เข้ามาช่วยเรื่องการวางผังแม่บท การหาโอกาสให้คณาจารย์และนักศึกษาเข้าศึกษาเรียนรู้ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แห่งใหม่ในสวนพุทธธรรม รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ความรู้เรื่องนี้ขยายในวงกว้างแลเชิงลึกลงไปให้เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ นอกจากนี้ ในทุกภาคส่วนราชการอาจจัดให้มีกิจกรรมสัญจร กิจกรรมในโอกาสพิเศษต่างๆ วัดอุโมงค์เองอาจจัดกิจกรรมทางธรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เทศบาลตำบลสุเทพอาจจัดสรรงบประมาณทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเข้าหนุนเสริมกิจกรรมธรรมใน “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แห่งใหม่ในสวนพุทธธรรม

การเดินทางของ มดงานเพื่อเป็นพลัง /// รวมเพื่อแผ่นดิน

แต่สิ่งสำคัญอันทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายข้อบังคับห้าม เรามาชื่นเรื่องราวที่เป็นปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เราคงต้องติดตามกันต่อไป ชมกับการศึกษาตามอัธยาศัยผ่านสื่อภาพดีกว่าค่ะ
ชม“พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” แห่งใหม่ในสวนพุทธธรรม


ขณะที่รอสมาชิกในวงสนทนาทยอยมารวมกัน ณ โบราณสถานพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ รศ.สมโชติ อ๋องสกุล ซึ่งได้มารออยู่ก่อนแล้ว ได้นำคณะท่านอาจารย์หมอเกษม เยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้ ฉันจึงพลอยได้รับความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์โบราณสถานไปด้วย

ท่านอาจารย์หมอเกษมเริ่มต้นเล่าให้พวกเราฟังว่าร่องรอยโบราณสถานหลังวัดอุโมงค์แห่งนี้ ประกอบด้วย 3 วัดร้างเล็กๆ ที่พบเมื่อปี พ.ศ. 2551 มี วัดพระธาตุเถรจันทร์ วัดฤาษีชีวก และวัดพระนอน โดย กรมศิลปากร ได้เข้ามาขุดค้น/ขุดแต่งทางโบราณคดีเพื่อการอนุรักษ์กลุ่มโบราณสถานวัดร้างในเขตอรัญญิกเมืองเชียงใหม่(พ.ศ. 2551-2553) และออกหนังสือรับรองความเป็นวัดร้าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบ ยืนยันว่าเป็นวัดในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1839 – 2101) ทั้งสามวัดยังมีบันไดเชื่อมโยงถึงกันสะท้อนให้เห็นชัดว่าสร้างในสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน


ร่องรอยบันไดที่เชื่อมระหว่างวัดร้างทั้งสาม สู่แนวคิการวางผังแม่บทบนพื้นที่สวนพุทธธรรม
รศ.สมโชติ อ๋องสกุล อธิบายร่องรอยโบราณคดีในวัดอุโมงค์ขึ้นมาถึงพระธาตุเถรจันทร์ เป็นเนินสูงขึ้นตามลำดับ ผ่านแหล่งโบราณคดีสองแห่งคือ บริเวณวัดฤๅษีชีวก และบริเวณวัดพระนอน โดยมีบันไดอิฐเรียงสันอย่างประณีต เพื่อขึ้นสู่อุโบสถ (วัดพระนอน) ที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทั้งหมดเป็น “เขตพุทธาวาส” ใน “ป่าวิเศษ” เชิงดอยสุเทพ
โดยเหตุที่คติชั้นอริยบุคคลมี 4 ชั้น เป็นแม่แบบสากลของโลกพุทธศาสนา เมื่อนำแนวคิดชั้นอริยบุคคลมาเทียบกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม 4 แห่ง เทียบได้ดังนี้
• บริเวณวัดอุโมงค์ เทียบได้กับ ชั้นโสดาบัน (พบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 4 บริเวณด้านหน้าวัดอุโมงค์ กรมศิลปากรขุดแต่ง พ.ศ. 2555)
• บริเวณวัดฤๅษีชีวก เทียบได้กับ ชั้นสกิทาคา (พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 2)
• บริเวณวัดพระนอน เทียบได้กับ ชั้นอนาคามี (พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 3)
• บริเวณพระธาตุเถรจันทร์ซึ่งตั้งบนเนินสูงสุดเทียบได้กับชั้นอรหันต์ (พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งที่ 1)
แนวการพัฒนาพื้นที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรมให้เป็นหนึ่งวัด จึงต้องเชื่อมโยงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่ง เข้าด้วยกัน ถือเป็นเขตพุทธาวาสของวัดที่มี 4 ลำดับชั้นตามเส้นทางสู่พระนิพพาน และในการพัฒนพื้นที่ในแนวทางนี้ วัดสามารถดำเนินการได้เลย เพราะอยู่ในเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้วัดอุโมงค์ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพเพื่อประกอบศาสนกิจและการศึกษาของพุทธศาสนา

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม จาก

รศ.สมโชติ อ๋องสกุล (เอกสารการเสวนาเรื่อง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ส่วนประวัติศาสตร์ นำเสนอในงานวันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 8 วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้องรับรองสงฆ์ หอประชุม มช.

เอกสารโครงการ "ศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม เพื่อการจัดทำผังแม่บทของวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) คณะวิศวกรรมศสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี งบประมาณ 2554

 

หมายเลขบันทึก: 566111เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2014 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2014 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพิ่งไปเยือนวัดอุโมงค์มาครับ สวยมาก

ชอบวัดอุโมงค์

ไปตอนพี่ๆยุ่งๆ

เลยไม่ได้ไปทักทายครับ

ขอให้พี่มีความสุขในวันปีใหม่ไทยนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท