เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๗ - ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗


 

๑๓  เมษายน ๒๕๕๗

เรียน. เพื่อนครู ผู้บริหารและผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่๗. เมษายน. ๒๕๕๗เป็นวันหยุดชดเชยใช้เวลาไปกับงานบ้านเล็กๆน้อยๆ การซ่อมแซมของใช้ที่สึกหรอไปตามเวลา  เมื่อคราวที่อยู่ชุมพรลูกน้องที่นั่นเขาเป็นช่างกันหลายคน ผมก็เลยบ้าเครื่องมือช่างไปกับเขาด้วย ซื้อสว่านไฟฟ้าและอื่นๆอีกหลายรายการไว้อำนวยความสะดวกเวลาจะใช้งาน. มาอยู่ปทุมธานียกเทินไว้ที่สูงตอนน้ำท่วมใหญ่ปี๒๕๕๔  วันนี้เอาลงมาใช้งานสภาพปกติ ที่ผิดปกติคือเส้นเอ็นมือเราที่ไม่ค่อยใช้งานปวดเหลือกำลังเหมือนกล้ามเนื้อฉีกขาด แต่ก็ได้ผลงานหลายชิ้น เย็นปั่นจักรยานเล่นรอบหมู่บ้านได้รสชาติดีเหมือนกันแต่อากาศร้อนไปหน่อย

 วันอังคารที่๘. เมษายน. ๒๕๕๗. เช้ามีประชุมที่กระทรวงก่อนเที่ยงกลับ.เลยไปดูการก่อสร้างอาคาร ผู้รับจ้างบอกว่าเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงมาเตือนว่ายังไม่ได้ขออนุญาตเชื่อมทางเข้าออกกับถนนหลวง กลายเป็นประหลาดเพราะส่งหนังสือไปหลายวันแล้ว จึงให้เจ้าหน้าที่ไปติดต่อโดยตรง  เลือกสีเลือกวัสดุปูพื้นและผนังเลือกแบบเรียบๆคลาสสิคจะได้ไม่ล้าสมัย. หลังคาสีน้ำตาลหรือเทาเป็นสีหลังคาที่เลือกสีทาอาคารได้ง่ายที่สุดเนื่องจากสามารถเข้าได้กับเกือบทุกเฉดสี แต่หากต้องการให้อาคารดูหรูหรามีรสนิยมมากขึ้นไปอีก ให้เลือกสีเฉดน้ำตาลอ่อนเอริ์ธโทนหรือกลุ่มสีที่มีการลดความสดโดยการเจือสีเทาลงไป  นอกนั้นได้ชี้แนวปรับปรุงการกั้นห้องของผอ.เขตให้สอดคล้องกับการอยู่และการทำงาน  บ่ายทำงานแฟ้มเอกสารและต้อนรับแขกที่ห้องสโมสรหนักไปเรื่องการเตรียมวาระประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเพราะรู้ว่ากำลังจะไปขายขนมหน้าแตกในที่ประชุมพรุ่งนี้  ก็ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าเราผิดอยู่ด้วยเกินครึ่งจึงไม่ไว้ใจใครอีกต้องขอดูทุกตัวอักษรพบบกพร่องก็ต้องแก้จนกว่าจะพอใจ

 

วันพุธที่๙เมษายน๒๕๕๗  เช้าประชุมกตปน.ครั้งที่๑ของปีพ.ศ. ๒๕๕๗ นำเรื่องคุณภาพการศึกษามาพูดคุยกันเพราะค่าเฉลี่ยของเราจากการสอบระดับชาติต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แม้จะอยู่ไม่ห่างกันมากก็ต้องถือว่าต่ำ  ปีนี้ต้องปรับกระบวนการใหม่ทั้ง ๓ระบบ คือ กระบวนการเรียนการสอน กระบวนการบริหารและกระบวนการนิเทศ. ผู้บริหารโรงเรียนคือกุญแจของความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียน ต้องตระหนักว่าหลวงจ่ายเงินเดือนเรามาเพื่อทำงานให้สำเร็จ. บ่ายประขุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นการพิจารณาเรื่องคำขอจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่ซุกงานจนถูกฟ้องเป็นคดีปกครองเจองานนี้ผมเองเหมือนขนมหน้าแตก. ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาโฮมสคูลดูจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่และผู้คนในแวดวงการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ. ทุกวันนี้ผลผลิตของคนกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมและการเรียนรู้ในระบบอย่างเต็มตัว พวกเขาเป็นอย่างไรสถานการณ์และแนวโน้มของโฮมสคูลดีขึ้นหรือไม่หลังได้รับสิทธิทางกฎหมายในช่วงหลายปีมานี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๒ตามมาตรา๑๒เปิดโอกาสให้บุคคลองค์กรเอกชนชุมชนสถาบันศาสนาสถานประกอบการและสถาบันทางสังคมอื่นๆจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รวมไปถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่เรียกกันว่าโฮมสคูล (Home School) แต่ในความจริงการศึกษารูปแบบนี้เริ่มมีมานานมากกว่า๒๐ปีโดยพ่อแม่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนในระบบก่อนที่พ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมา

โฮมสคูลหรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว  หมายถึง การจัดการศึกษาที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงโดยพ่อแม่อาจสอนเองหรือจัดการให้เกิดการเรียนการสอนเช่นจ้างครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้านผสมผสานกับการสอนด้วยตัวพ่อแม่เองหรือมีข้อตกลงในการจัดการศึกษาร่วมกันกับโรงเรียนเช่นสัปดาห์หนึ่งเรียนในโรงเรียน๓วันที่เหลือเรียนกับพ่อแม่ที่บ้านหรืออาจจะรวมกลุ่มกันหลายครอบครัวเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันบทบาทของโฮมสคูลในสังคมไทยจึงเริ่มมีภาพรางเลือนให้เห็นอยู่เป็นระยะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปี๒๕๔๗ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงเรื่อง‘สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว’ ซึ่งกำหนดให้ครอบครัวที่ต้องการจะจัดการศึกษาเองมาขออนุญาตที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่โดยพ่อแม่จะต้องเรียนจบไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเว้นแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการศึกษาการจัดการศึกษารูปแบบนี้ครอบครัวจะต้องวัดผลการเรียนรู้ลูกตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและจัดทำรายงานการวัดผลส่งที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและให้ทางสำนักงานประเมินผลการเรียนรู้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งแล้วจึงจะได้รับหนังสือรับรองการจบการศึกษาแม้จะมีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นทางการแต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่เสมอระหว่างครอบครัวและภาครัฐบางครอบครัวถึงกับออกมาระบุว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนทำลายระบบโฮมสคูลเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการเรียนการสอนแบบนี้จึงทำให้ผู้จัดการศึกษาไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ควรจะได้รับจนกระทั่งวันที่๑๐มกราคม๒๕๕๐หนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้รายงานว่าศ.ดร.วิจิตรศรีสอ้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่๙มกราคมเรื่องที่ครม.อนุมัติตามที่ศธ.เสนอให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับครอบครัวบุคคลหรือหน่วยงานที่จัดตั้งการศึกษาด้วยตนเองพร้อมทั้งอนุมัติให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาอีกด้วย. เรื่องนี้เรารับคำร้องเขาไว้เกิน๙๐วันโดยไม่แจ้งผลการพิจารณาจึงเข้าข่ายล่าช้าที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้และเขาก็ใช้ช่องทางนี้แล้วเราจึงมีหน้าที่ต้องเร่งรัดดำเนินการไม่ต้องคอยให้ศาลสั่งจิตสำนีกตรงนี้ขาดหายไปจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐมักอ้างกฎหมายเพื่อจะไม่บริการหรือหาข้อแก้ตัวหาทำยายากที่จะยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดเราจึงต้องมาวางระบบกำกับดูแลกันใหม่เพื่อลดช่องว่างนี้  เลิกประชุมเดินทางไปลาดหลุมแก้ว พร้อมเจ้าหน้าที่ ๒ คันรถ เพื่อเยี่ยมนายแสงทอง เจ็งสวัสดิ์ ที่ป่วยทางสมองมาเกือบ ๒ ปี จนต้องลาออกรับบำนาญ พวกเรารวบรวมปัจจัยไปเยี่ยมในโอกาสเทศกาลสงกรานต์

  

วันพฤหัสบดีที่๑๐เมษายน๒๕๕๗  เช้าประชุมพิจารณาหลักสูตรปวช.ใหม่ของศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ลาดหลุมแก้วทางศูนย์มาชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นสรุปแล้วเป็นหลักสูตรใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา วัตถุประสงค์ของบริษัทซีพีออลล์จำกัด(มหาชน)ในการเปิดศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกชุมชนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนสู่มืออาชีพทางธุรกิจค้าปลีกและให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อและมีงานทำและสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจค้าปลีกครบวงจรและสร้างงานในท้องถิ่นชนบท. ปัจจุบันเปิดสอนอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาธุรกิจค้าปลีกเป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียน  ได้มีความรู้ในด้านการค้าปลีกอย่างครอบคลุมและครบวงจรของการบริหารธุรกิจ  เป็นการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมและความสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ  ส่วนตัววิชาที่สอนในหลักสูตรนี้จึงครอบคลุมในหลายๆด้านเช่น บัญชี การขาย ธุรกิจค้าปลีก คอมพิวเตอร์เพื่องานอาชีพ ศิลปการขาย การจัดแสดงสินค้า การบริหารงานคุณภาพและเพิ่มผลผลิตเป็นต้น. ปีการศึกษา๒๕๔๘นะเปิดสอนเพิ่มสาขาไฟฟ้ากำลัง. ที่ประชุมเห็นชอบ. บ่ายประชุมอกคศ.เขตเป็นการพิจารณาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุครูผู้ช่วย. การตั้งกรรมการประเมินวิทยฐานะและเรื่องอื่นๆอีกสองสามเรื่อง

 

วันศุกร์ที่๑๑เมษายน. ๒๕๕๗. วันนี้สำนักงานเขาจัดกิจกรรมวันสงกรานต์กันล่วงหน้า. มีการกินการเล่นกันตามธรรมเนียม  เช้าให้เจ้าหน้านำขนมตาลเจ้าอร่อยจากสามโคกไปสมทบเลี้ยงคนที่สพฐ. เพราะสพฐ.เขาจัดรดน้ำดำหัวท่านเลขาธิการ.ประมาณเที่ยง  ผมยังติดภารกิจที่ต้องไปเองในวันนี้สายๆเดินทางไปอบต.บางกระบือ อำเภอสามโคกเพื่อรับมอบอาคารเรียนโรงเรียนวัดเชิงท่าจากพระราขวรเมธาจารย์เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี(ธรรมยุติ)และนายกอบจ.ปทุมธานีนายชาญ. พวงเพ็ชร เรียกว่างานเดียวรับ ๓หลัง อาคารเรียน๒หลัง ห้องน้ำ๑หลัง ราคากว่า ๑๐ล้านบาท ได้กราบเรียนท่านเจ้าคุณว่ากำลังคิดการสร้างร้านกาแฟที่สำนักงานใหม่  คงต้องพึ่งบารมีปัจจัยจากท่าน ท่านเจ้าคุณบอกว่าเรื่องเล็กเดี๋ยวจัดให้ เลยจบข่าว พิธีเสร็จเกือบเที่ยงแต่ไม่ได้อยู่ร่วมรับประทานอาหารกลางวันเพราะที่สำนักงานมีงานเลี้ยงและมีคนรออยู่เหมือนกัน มีครูผู้บริหารมาอวยพรตามประเพณีอยู่บ้าง ได้จัดให้สรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลผมเองไม่ถนัดที่จะให้ใครมารดน้ำอย่างเป็นพิธีรีตองเพราะตามปรกติตามธรรมเนียมไทยแต่โบราณซึ่งผูกพันกับธรรมเนียมจีนต้องอายุหกสิบปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะมีการรดน้ำกัน. เช่นเดียวกับการทำบุญฉลองอายุสมัยก่อนต้อง๖๐ก่อนจึงฉลองได้เทียบกับจีนคือวัยที่ทำบุญแซยิดได้แต่ก่อนเชื่อกันว่าถ้าทำก่อนวัยอันสมควรจะไม่เป็นมงคลเช่นอาจทำให้อายุสั้น แต่ต่อมาประเพณีได้คลี่คลายไปคือในสมัยรัชกาลที่๕เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่๕ ท่านอายุได้๖๐ปี ก็มีการจัดงานทำบุญฉลองอายุ(ก่อนหน้านั้นไม่ได้จัด) และความที่ท่านเป็นผู้มีอำนาจงานวันเกิดของท่านมีผู้มาร่วมงานและมาช่วยงานเป็นจำนวนมาก ถือกันว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องมาร่วมงานงานก็จัดใหญ่โตขึ้นทุกทีเหมือนงานของแผ่นดินจนจัดฉลองเป็นสิบวัน - กว่าครึ่งเดือนมีงานเลี้ยงเอิกเกริกมีมหรสพจุดพลุดอกไม้ไฟฯลฯ แม้งานในราชสำนักบางงานก็ไม่เท่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระดำริจะจัดการพระราชพิธีทำบุญฉลองอายุบ้าง ครั้งนั้นทรงเจริญพระชนมายุได้ราว๒๐กว่าพรรษา (หรือ๓๐กว่า) สมเด็จเจ้าพระยาฯทราบก็ให้คนมาห้ามและมาห้ามด้วยตนเองไม่ให้จัดบอกว่าผิดประเพณีอายุยังไม่ถึง และอ้างเหตุผลต่างๆอีกมากมายแต่รัชกาลที่๕ ท่านไม่ทรงเห็นด้วยเนื่องจากท่านทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินถือเป็นมงคลกับแผ่นดินและทรงถือตามรัชกาลที่๔พระราชบิดาที่ว่าการมีอายุเพิ่มขึ้นปีหนึ่งคือการได้มีโอกาสอยู่ทำความดีอีกปีหนึ่งถือเป็นเรื่องดีก็ทรงยืนยันจะจัด ท่านสมเด็จเจ้าพระยาก็บ่นตุบตับๆกลับไปก็ทรงจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาและทรงทำบุญฉลองพระชนมายุสืบมาเป็นงานสำคัญของแผ่นดินซึ่งก็มิได้ทำให้พระชนมายุสั้นอย่างไร ตอนหลังพวกผู้ใหญ่ในยุคนั้นก็ค่อยๆทำใจกันได้เอง สรุปผมก็เชื่อว่าตามประเพณีไทยแต่เดิมจะถือว่าต้องอายุ๖๐ปีก่อน จึงรับการรดน้ำดำหัวขอพรจากลูกหลานได้ สมัยก่อนที่บ้านทั้งทางพ่อและแม่ก็ถือตามนี้โดยเคร่งครัดแต่ปัจจุบันประเพณีได้คลี่คลายไปโดยจะถือกันว่าเป็นผู้อาวุโสในสายงานในสายความรู้เช่นครูอาจารย์ พระสงฆ์ที่น่านับถือหรือมีฐานานุฐานะหรือเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ(แก่กะโหลกกะลาแก่เพราะกินข้าวเฒ่าเพราะอยู่นานไม่นับ) ก็สามารถรับการรดน้ำจากลูกหลานหรือผู้อ่อนอาวุโสและให้พรแก่พวกเขาเหล่านั้นได้ คือต้องดูที่ความน่านับถือไม่ได้ที่อายุอย่างเดียวเพราะการรดน้ำดำหัวนั้นคือรดนำขอพรก็ควรขอพรจากผู้ใหญ่ที่มีความดีงามมีสิริมงคลจะมอบให้เด็ก (แต่เอาเถอะบางทีมันก็ต้องรดๆกันไปตามประเพณีเพราะเขาแก่เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่เพราะเขาเป็นผู้บริหารก็กัดฟันรดๆกันไป) ความเชื่อของผมเป็นผลดีกับคนรอบข้างที่ไม่ต้องมาเป็นภาระกับเราในเรื่องนี้จนเกษียณอายุราชการ สำหรับคนอื่นเราก็ตามโลกไม่ไปขวางโลก

บ่ายเดินทางเข้าสพฐ. เพื่อขอพรจากท่านเลขาธิการกพฐ. ด้วยรักนับถือเกื้อกูลกันมานานกว่า๒๐ปี อยู่แค่นี้ท่านไม่เห็นหน้าจะรู้สึกว่าเราช่างเลวเสียเหลือเกินมีทีมงานไปด้วยเต็มคันรถ บรรยากาศชื่นมื่นมีความสุขทั้งสองฝ่าย ขากลับดูถนนหนทางเริ่มแน่นไปด้วยรถที่มุ่งหน้าออกต่างจังหวัดเพราะมีวันหยุดต่อเนื่องจนถึงวันที่๑๖เมษายน๒๕๕๗ ขออย่าประมาทจงแคล้วคลาดปลอดภัยทุกคนทุกท่านเทอญ

 

 แนวการสอบสัมภาษณ์เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 ผู้สัมภาษณ์ - บอกเหตุผลหน่อยซิว่าข้าราชการเราเรียนมาเพื่ออะไร?

ผู้สอบ - เรียนมาเพื่อได้ทำงานดีๆ

ผู้สัมภาษณ์ - ผิด

ผู้สอบ - เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต

ผู้สัมภาษณ์ - ผิด

ผู้สอบ - เพื่อให้รู้เท่าทันคนอื่น

ผู้สัมภาษณ์ - ผิด

ผู้สอบ - เฉลยเถอะผมยอมแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ - คนเราเรียนมามีเหตุผลอยู่ 2 อย่างคือ

  1. เรียนมาเพื่อโปรดทราบ
  2. เรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา        

นายกำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 565981เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2014 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2014 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนมาตลอดชีวิตนะคะ "เพื่อโปรดทราบ"และ "เพื่อโปรดพิจารณา" :)

สุขสันต์วันสงกรานต์๒๕๕๗ ค่ะ

ผมได้สาระหลากหลายจากการติดตามผลงานของท่าน ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท