"เย็นนี้เราไปชิงเรือพระกัน"


เมื่อกี้ ผมได้เห็นมีรถหกล้อกำลังเอาเชือกคล้องเข้ากับเรือพระเตรียมลากจูงกลับวัด ซึ่งสิ่งที่ผมเล่าข้างต้นคงไม่มีอีกแล้ว ในวันนี้และในอนาคต...

     เมื่อวานเป็นวัน "ชักพระ" หรือลากพระที่หลาย ๆ คนรู้จัก ซึ่งจะมีขึ้นหลังวันออกพรรษาหนึ่งวัน (รายละเอียดหาอ่านกันได้ทั่วไปอยู่แล้วนะครับ) สำหรับที่จะขอเล่าให้อ่านในวันนี้จะอยู่ที่เมื่อแต่ละวัด (ที่มีความพร้อม) ได้จัดเตรียมเรือพระกันตั้งแต่ก่อนออกพรรษา มีการห่อโพนที่ใช้ดีให้ดี และแน่นขึ้น และมีการซ้อมตี นัยหนึ่งเพื่อระดมความพร้อมของทีม หรือการทดสอบเสียงโพน (อันนี้เลยมาเป็นประเพณีการแข่งโพนลากพระที่มีรายละเอียดที่ "แข่งโพน-ลากพระ ที่เมืองลุง" หนึ่งเดียวของไทย) มีการตกแต่งองค์เรือพระ เมื่อตอนเช้าของวันชักพระก็ คนในชุมชนก็จะชัก (ลาก) เรือพระแต่ละยอดมาพบกัน ณ จุดนัดหมาย ตลอดทางก็จะมีการแข่งกันตีโพน ชาวบ้านตามรายทางก็จะออกมาแขวนต้มที่เรือพระและช่วยกันลาก โดยถือว่าเป็นหน้าที่ (ชุมชนบัญญัติ) เมื่อไปถึงที่นัดหมายก็มักจะแข่งกันใน 2 เรื่อง คือ ความสวยงามขององค์เรืองพระ และเสียงโพน ที่บ้านผม (อำเภอบางแก้ว) ในอดีตจะมีเรือพระประมาณ 7-9 ยอด และค่อย ๆ ลดลง จนเหลือ 2 ยอด ในทุกวันนี้ที่จะลากออกมายังบริเวณตลาด (หน่วยเรียกของเรือพระ จะเรียกเป็น"ยอด")

          ตกลงแล้ว "เย็นนี้เราไปชิงเรือพระกัน" คืออะไร ความหมายคือ เมื่อเรื่องราวในตอนกลางวันที่เป็นการทำบุญฯ เรียบร้อยแล้ว ตกเย็นวัยรุ่นตั้งรุ่นเด็ก-รุ่นดึก ทั้งสาวทั้งหนุ่ม ก็จะชักชวนกันไปเอาเรือพระกลับวัด ที่เป็นของวัดจากชุมชนตัวเอง ก็จะมีการแกล้งกันลากของคนอื่นที่มีคนอยู่น้อยกว่าไปเสียให้ไกล ๆ แล้วกลับมาเอาของตัวเอง จะกลับวัด กลับมาถึงที่ไหนได้อีกกลุ่มก็มา "ชิงไปเสียเหมือนกัน" ก็ต้องไปทำยอดอื่นแทนอีก พออีกกลุ่มลากไปดูว่าพอแล้ว ก็ปล่อยไว้ แล้วกลับมาแกล้งยอดอื่น ๆ อีก (ถ้ามีคนมาเฝ้าอยู่น้อย) ทั้งนี้มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เงียบลงเลย คือเสียงโพนที่มีคนตีอยู่บนลำเรือพระ ไม่ว่าจะโดนลากไปถึงไหน ก็ตี พอจะเหนื่อยก็จะมีคนแทน (แย่งกันตีเสียด้วยซ้ำ) เป็นที่สนุกสนาน ส่วนคนที่อยู่บริเวณใกล้เรือพระลำที่ถูกเอาไปทิ้ง ก็พอเห็นเงียบไม่มีคนแล้ว แต่เสียงโพนจะดังอยู่ และรับรู้ได้ว่าเป็นเสียงแบบที่เรียกให้ออกมาช่วยกันลากกลับ ก็จะออกมาเพื่อช่วยกันลากเรือพระกลับไปสู่ที่บริเวณที่นัดไว้เดิม สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นประมาณ 14-17 ปี ก็ได้ร่วมสนุกสนานกันทุกปี แต่ไม่เคยนานกว่า 7 คืน และตั้งแต่เด็กมา จนมาเป็นวัยรุ่นก็ไม่เคยเห็นการทะเลาะกัน มีแต่หยอกล้อกันเท่านั้น และมีกติกาด้วย (หากนานกว่านั้นท่านเจ้าอาวาสจะมาทำตาเขียว ๆ ใส่ ต้องรีบชัก (ลาก) ไปส่งวัด)

          ที่เขียนขึ้นในทันทีเมื่อกี้ เพราะลงไปหน้าสำนักงาน และได้เห็นมีรถหกล้อกำลังเอาเชือกคล้องเข้ากับเรือพระเตรียมลากจูงกลับวัด ซึ่งสิ่งที่ผมเล่าข้างต้นคงไม่มีอีกแล้ว ในวันนี้และในอนาคต...

          จึงถือโอกาสเล่าไว้ที่นี่เพื่อให้ลูกสาวผมได้รู้ว่า
"มีอย่างนี้ด้วยเหอพ่อ!" คำที่เขาชอบพูดเวลาทำท่าจะไม่เชื่ออะไร

หมายเลขบันทึก: 5654เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2005 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
     น่าสนในและน่าจะรักษากันไว้นะครับ สิ่งดี ๆ
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ
     ยินดีที่ได้ ลปรร.กันะครับ แต่นึกไม่ออกว่าจะให้หวนกลับได้อย่างไร ต้องหมุนกลับด้วยแรง (พลัง) ที่มหาศาลนะครับ คงต้องช่วย ๆ กันคนละไม้คนละมือ ถึงช้าก็ดีกว่าไม่ได้ทำ (อย่างที่ผมเอามาเขียนไว้)

มันสุดๆๆๆๆๆๆคร๊าบเวลาทำโคดรยาก จากคนทำเรือพระ สตูล

ดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราว อันเป็นประเพณีที่งดงาม ดีมากๆที่มีการบอกเล่าให้ลุกฟัง สิ่งที่มีอยู่จะได้ไม่เลือนหายไปไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท