รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา : โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม (๒)


บันทึก ๔ ตอนแรก ที่โรงเรียนเชียงขวัญเขียนส่งถึงทีมขับเคลื่อนฯ สำหรับผมแล้ว เป็นบันทึกที่ดีมากๆ ดีที่สุดบันทึกหนึ่งที่ผมเคยอ่านมา (ผมพูดประโยคเหล่านี้ หน้าเวทีก่อนจะเริ่มกิจกรรมด้วย) ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับทุกโรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนฯ ที่จะเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ขับเคลื่อนของตนเอง เพื่อแบ่งปันสู่กันและกัน...  ผมจึงขอ "คัด ตัด มาวาง" ผลงานของโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม มาไว้ให้อ่านกันครับ

ตอนที่ ๑ ก้าวสู่การผลัดใบ

ตอนที่ ๒ ผลิดอก ออกช่อ

ผลิดอก ออกช่อ
 
ภายหลังจากการได้รับการประเมินรับรองเป็นสถานศึกษาพอเพียงรุ่นแรกของกระทรวงศึกษาธิการภาระหน้าที่ที่จะก้าวต่อไปคือการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะก้าวไปอย่างมั่นใจให้กับบุคลากร นั่นคือเราได้สมัครใจเข้ารับการพัฒนาการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับและมูลนิธิสยามกัมมาจล  ธนาคารไทยพาณิชย์  โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นทางมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเป็นหน่วยพัฒนา โดยมี อาจารย์อนันต์  แม้นพยัคฆ์ เป็นผู้ประสานงาน ในช่วงต้นของการเรียนรู้ มีการอบรมพัฒนาผู้บริหาร  ครูแกนนำ  นักเรียนแกนนำ โดยเรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งวิทยากรที่ให้ความรู้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวคือ  อาจารย์ทรงพล  เจตนาวณิชย์  ผู้บริหารที่เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้แนวทางการบริหารตามหลัก  SBM ( School  Based  Management ) ครูที่เข้ารับการอบรมจะเรียกว่า ครู BP (Best  Practices ) หรือครูแกนนำของแต่ละโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการอบรมที่มีความเข้มข้น ผ่านการฝึกปฏิบัติ ในงานนี้ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง โดยท่าน ดร. ปรียานุช  ธรรมปิยา ร่วมกับท่านอาจารย์รจนา  สินที  หัวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  สำนักกิจการพิเศษ  สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกผู้บริหาร และครู จากสถานศึกษาพอเพียงทั่วประเทศเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นวิทยากร ขับเคลื่อนขยายผลปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องเขียนเรื่องเล่าการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตตนเอง ซึ่งโรงเรียนของเราผู้ที่ผ่านการคัดเลือกคือ ผู้อำนวยการระวี  ขุณิกากรณ์  และคุณครูฉลาด  ปาโส ได้เข้ารับการอบรมเป็นรุ่นแรกในจำนวน 40 คน ของกระทรวงศึกษาธิการ
 
ผลจากการได้รับการพัฒนาดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารและคณะครูมีความรู้ มีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงทำให้โรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากโรงเรียนต่างๆ  มาศึกษาดูงาน  และการได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาตนเป็นสถานศึกษาพอเพียง ในด้านการสร้างเครือข่ายก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ ผู้อำนวยการระวี  ขุณิกากรณ์ ให้นโยบายกับคณะครู โรงเรียนได้เชิญชวนโรงเรียนใกล้เคียงในเขตพื้นที่อำเภอเชียงขวัญ ที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาด้วยการจัดอบรมผู้บริหาร  ครู ในอำเภอเชียงขวัญจากการประสานงานของผู้อำนวยการนเรศร์สังฆพิลา  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหมูม้น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพอำเภอเชียงขวัญในขณะนั้น 
 
 จากการอบรมพัฒนาผู้บริหารและครูในอำเภอเชียงขวัญ ทำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ดเขต 1 เห็นความรู้ความสามารถของผู้บริหาร ครูแกนนำของโรงเรียนเรา ผู้บริหารและครูจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรอบรมผู้บริหาร ครูโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 และมีโรงเรียนที่สนใจและสมัครใจเป็นเครือข่ายกับโรงเรียนด้วยการทำข้อตกลงร่วมกัน ( MOU ) ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี  โรงเรียนบ้านป่านหนองอ้อ  โรงเรียนขี้เหล็กพิทยาคม โรงเรียนบ้านดงบังพิกุลศึกษาคาร  โรงเรียนบ้านหมูม้น  ส่งผลให้โรงเรียนเครือข่ายได้รับการประเมินผ่านเป็นสถานศึกษาพอเพียงในปีการศึกษา 2552
 
ผลจากการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องของเชียงขวัญพิทยาคม ทำให้โรงเรียนมีเครือข่ายและสถานศึกษาทั่วประเทศ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์กับเชียงขวัญพิทยาคม เป็นการเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง และในปีการศึกษา 2553  มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีแผนพัฒนาครูแกนนำให้เรียนรู้กระบวนการวิจัย เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนการสอน  เพื่อเป็นการยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับการจัดการเรียนรู้บูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  มูลนิธิสยามกัมมาจลได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหน่วยพัฒนาครูแกนนำจากโรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาพอเพียงที่สมัครใจเข้าร่วมพัฒนา ซึ่งมีจำนวน 17 โรงเรียน  หนึ่งในจำนวนนั้นคือโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมของเราเอง
 
โรงเรียนได้มอบหมายให้ครูแกนนำที่ประกอบด้วยนายฉลาด  ปาโส   นายแสน อนาราช นางสิรินุช  สุจริต  และนางไพวัน  ปาโส เข้าร่วมการพัฒนาร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีอาจารย์ รศ.ดร.เนาววัตน์  พลายน้อย เป็นหัวหน้าทีมในการเรียนรู้งานวิจัยครั้งนี้มูลนิธิได้กำหนดแนวทางให้โรงเรียนทำการวิจัยอย่างน้อย 1 เรื่อง ต่อ 1 โรงเรียน  โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมได้ตกลงร่วมกันทำการเรียนรู้บูรณาการกระบวนการวิจัยกับการเรียนการสอนคนละ 1 เรื่องตามปัญหาที่พบในรายวิชาที่สอน ดังนั้นเราจึงได้เรียนรู้การทำการวิจัยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการการเรียนการสอนคนละ 1 เรื่อง  ใช้เวลาในการพัฒนาพัฒนา 6 เดือน  สถานที่พัฒนาคือโรงแรมในกรุงเทพมหานคร เราทั้ง 4 คนต้องเดินทางเข้ารับการพัฒนา การอบรมจะเป็นช่วง วันเสาร์-วันอาทิตย์ ดังนั้นการเดินทางของเราจะเดินทางบ่ายวันศุกร์เดินทางกลับช่วงบ่ายสี่โมงของวันอาทิตย์   กลับถึงบ้านก็ประมาณ ตีหนึ่ง ตีสอง และวันจันทร์ก็ไปทำงานตามปกติ เราพัฒนาตนเองอย่างนี้ 6 เดือน และผลจากการพัฒนาจึงทำให้โรงเรียนได้ผลงานวิจัย 4 เรื่อง
  • เรื่องที่ 1 การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมโดยอาศัยหลักอรรถาธรรมเพื่อการเรียนรู้สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง  ผลงานของ นายฉลาด   ปาโส
  • เรื่องที่ 2  การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ นายแสน  อนาราช
  • เรื่องที่ 3  การปลูกฝังค่านิยมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโครงงานคุณธรรมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม  ของ นางสิรินุช  สุจริต
  • เรื่องที่ 4  การพัฒนาทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์บูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยหนังสือเล่มเล็ก : กรณีศึกษาโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม ของนางไพวัน  ปาโส

 เราได้นำความรู้มาขยายผลที่โรงเรียนกับเพื่อนครู  เพราะเราถือว่าการพัฒนาคือหัวใจของการศึกษา เราจึงพัฒนาคนและพัฒนาองค์กร ทำให้ก่อนที่เราจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นในช่วงนั้นคุณครูของเราจึงได้มีความเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงคือ 3 ห่วง ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวและ 2 เงื่อนไข  คือ เงื่อนไขความรู้ กับ เงื่อนไขคุณธรรม

 
กระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของเชียงขวัญพิทยาคม  คือการขับเคลื่อนโดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม พุทธศักราช 2552  ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนที่สำคัญ  เพราะเราเชื่อว่าการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียนให้ตระหนัก  เข้าถึง เข้าใจ และนำหลัก ปศพพ. ไปใช้ได้จริงและเกิดผล จะต้องผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน  ดังนั้นเพื่อกระบวนการพัฒนาที่เห็นผล โรงเรียนจึงได้ดำเนินการเป็นแนวเดียวกันดังนี้
1. ด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
  1.1 ประชุมครูทุกคนให้เข้าใจแนวปฏิบัติในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน
  1.2 จัดอบรมครูเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตร และปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาให้มีความครอบคลุม และใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระฯ ดังนั้นทุกกลุ่มสาระฯ จึงมีหลักสูตรของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
  1.3 จัดอบรมการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  วิทยากรคือครูแกนนำของโรงเรียนร่วมแลกเลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
  1.4 ครูแต่ละคนจะมีแผนบูรณาการอย่างน้อยคนละ ๑ รายวิชา
  1.5 ครูนำแผนการจัดการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้นไปใช้จัดการเรียนการสอน
  1.6 ครูมอบหมายให้นักเรียนถอดบทเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรายวิชาที่สอน ส่งผลให้นักเรียนของเรามีหลักคิดหลักปฏิบัติตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
 
 2. ด้านนักเรียน
2.1 โรงเรียนจัดอบรมนักเรียนแกนนำ  โดยคัดเลือกนักเรียนตัวแทนห้องเรียนละ 5 คน เข้าร่วมประชุมอบรมและฝึกปฏิบัติการวิทยากรครูคุณครูแกนนำของโรงเรียน
2.2 มอบหมายให้นักเรียนแกนนำที่ผ่านการอบรมขยายผลสู่เพื่อนในห้องเรียนในรายวิชาต่างๆ เช่น การถอดบทเรียนจากเรื่องที่เรียน  การทำหนังสือเล่มเล็กที่สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2.3 ส่งเสริมนักเรียนแกนนำเป็นวิทยากรให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักเรียน ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
2.4 ส่งเสริมให้นักเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ที่บ้านและชุมชนของตนผ่านโครงการบ้านน่าอยู่เคียงคู่เศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมการถอดบทเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
3. ด้านโรงเรียน 
               3.1 ส่งเสริมให้ครูทุกคนเรียนรู้และพัฒนาตนเองและสามารถเป็นวิทยากร
               3.2 พัฒนาสภาพแวดล้อมและบริบทเอื้อต่อการเรียนรู้ จัดเป็นฐานการเรียนรู้ที่ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนในห้องเรียนเน้นห้องเรียนคุณภาพ
               3.3 ขยายผลสู่โรงเรียนเครือข่ายทั้งภายในจังหวัดร้อยเอ็ดและต่างจังหวัดทั่วประเทศ
               3.4 ขยายผลสู่ผู้ปกครองและชุมชนของโรงเรียน โดยมีโครงการบ้านน่าอยู่เคียงคู่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้       ในชีวิตจริงและเชื่อมโยงถึงผู้ปกครองไปพร้อมๆ กัน
 

ตอนที่ ๓ ปาริชาตเบ่งบาน

ปาริชาตเบ่งบาน
 
การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อเป็นการปลูกหลักคิด หลักปฏิบัติให้กับลูกศิษย์ เพื่อหวังผลที่จะเกิดกับนักเรียนทุกๆ คนตามศักยภาพของการเรียนเรียนรู้ทั้ง ผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ของคุณครูในแต่ละรายวิชา ที่นำหลักการบูรณาการลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนเป็นคนดี มีปัญญา ดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข  ดุจดั่งดอกปาริชาติซึ่งเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนของเราที่ผลิดอกออกช่อและแย้มบานอย่างงดงาม ชูช่อล้อลมชวนชมสำหรับผู้มาเยือน
 
ดังนั้นภาพที่เห็นคือนักเรียนทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีความสุข  ครูมีส่วนร่วมสนับสนุนติดตาม  ความสุขที่ได้คือภาพของนักเรียนทำกิจกรรมจากประสบการณ์จริง ได้เห็นผลงานพืชผักที่สวย เกิดดอกออกผลได้กินได้จำหน่าย ได้แบ่งปันซึ่งกันและกัน นั่นคือความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วม
ด้วยในเวลานั้นเป็นสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมจึงเป็นที่สนใจของโรงเรียนต่างๆทั้งภายในเขตพื้นที่การศึกษา และในจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมทั้งต่างจังหวัด ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องพัฒนาและเตรียมความพร้อมในด้านโรงเรียนเป็นแหล่งศึกษาดูงาน  ผู้บริหาร ครู  และนักเรียนเป็นวิทยากร
 
การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทและภารกิจของเราเชียงขวัญพิทยาคม คือ
1.โรงเรียนทำหน้าที่ขยายผล คือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา
2.โรงเรียนได้รับโอกาสดีๆ จากโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง  และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ในการพัฒนาผู้บริหาร ครูและนักเรียน
 
ท่านผู้อำนวยการระวี  ขุณิกากรณ์เป็นผู้บริหารที่มองการณ์ไกล และมอบโอกาสดีๆ ให้กับโรงเรียนและบุคลากรในด้านพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับบุคลากรทุกๆ คน  ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา สิ่งแรกที่ท่านผู้อำนวยการสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรทุกคนคือ  ส่งเสริมให้บุคลากรทำหน้าที่เป็นวิทยากร ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยทางเราทำหน้าที่เป็นวิทยากรกับครูและโรงเรียนที่ประสงค์จะสมัครรับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียงรุ่นที่ 2 ในปีการศึกษา 2552  ดังนั้นโรงเรียนจึงทำหน้าที่ทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน   ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับ
 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด  เขต 1  ทำหน้าที่เป็นผู้จัดอบรมให้กับโรงเรียนและครูที่สมัครใจร่วมเรียนรู้กับชาวเชียงขวัญพิทยาคม  โดยโรงเรียนได้ใช้คำว่า เรียนรู้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์แทนคำว่ากาอบรม  รูปแบบการขยายผลของเรา  จะขยายผลไปพร้อมๆ กันทั้งองค์กร นั้นคือ ฝ่ายบริหาร  ครู และนักเรียน ซึ่งเราใช้คำว่า เวทีผู้บริหาร  เวทีครู และเวทีนักเรียน เมื่อโรงเรียนที่มาศึกษาดูงานหรือโรงเรียนมาประสานมาเพื่อให้เชียงขวัญพิทยาคมไปเป็นวิทยากร เราจะแนะนำให้โรงเรียนต่างๆ เหล่านั้นจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันทั้งสามเวที
 
หลักการง่ายๆ ที่เชียงขวัญพิทยาคมใช้เป็นรูปแบบของการขยายผลในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ  การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ตรงกัน เพราะแต่ละคนก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง แตกต่างกันตามมุมมอง ส่วนมากจะมองว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือการทำกิจกรรมด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  เพื่อเป็นการทำความเข้าใจของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เครื่องมือที่เชียงขวัญพิทยาคมทำให้ผู้มาศึกษาดูงานเข้าใจนิยามของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงขององค์ในหลวงได้ชัดเจน และอุทานว่าเป็นอย่างนี้นี่เอง คือการถอดบทเรียน
 
การถอดบทเรียนหรือพูดให้เข้าใจง่ายในรูปแบบของเชียงขวัญพิทยาคมก็คือ การคิดทบทวนกระบวนการทำกิจกรรมหรือวิธีการทำงานของตนเองทำได้ดี ทำได้สำเร็จ ทำแล้วเกิดความภูมิใจ เป็นต้นแบบคนอื่นได้ มีการ เชื่อมโยงกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และส่งผลสู่ความยังยืนใน 4 มิติอย่างไร  และเน้นย้ำว่า ต้องเป็นกิจกรรมที่ทำและงานนั้นบรรลุผลแล้ว
 
ผู้อ่านอาจจะสงสัยอยู่ว่า ทำไมจึงต้องถอดบทเรียนเกี่ยวกับสิ่งตนเองทำได้ดี ทำประสบความสำเร็จ หรือบรรลุเป้าหมาย ก็เราถือหลักการว่า  คนทุกคนย่อมพึงพอใจหรือหากจะเล่าอะไรสักเรื่อง ย่อมคิดถึงเรื่องที่ตนเองประสบความสำเร็จ ทำให้มีความสุขในการเล่าหรือพร้อมที่จะเล่าหรือถอดบทเรียนตนเองให้คนอื่นฟังเสมอ  ดังนั้นเมื่อทุกคนได้ถอดบทเรียนหรือถอดประสบการณ์ที่ตนทำ และเชื่อมโยงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ทุกคนเข้าใจว่า  หลักการหรือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้นแทรกซึมอยู่ในกระบวนการทำงาน  การดำเนินชีวิตของคนเราทุกคน หากใครคนใดคนหนึ่งทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ครบในหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขแล้วความสำเร็จค่อนข้างจะไม่บรรลุผลนัก พอทุกคนที่มาร่วมเรียนรู้กับวิธีการของเราแล้วจะเข้าว่าทันทีว่า  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกระบวนการคิด เป็นวิธีคิด วิธีปฏิบัติอย่างมีหลักการ ก่อนทำสิ่งใดให้ต้องคำนึงถือเหตุผลที่ถูกต้อง  สิ่งนั้นมีความเหมาะสมกับความสามารถ ความรู้ สติปัญญาของตนหรือไม่  เหมาะกับเวลา เหมาะกับโอกาส หรือพอประมาณกับภูมิสังคมหรือเปล่า และที่สำคัญสิ่งที่ทำนั้นไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน   ก่อนทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ วางแผนให้ครอบคลุม เมื่อทำแล้วมีความล้มเหลวหรือผิดพลาดน้อยที่สุดนั้นคือการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี   และเงื่อนไขสำคัญคือ การทำสิ่งนั้นต้องมีความรู้ในเรื่องที่ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาและหลักศีลธรรม นั่นก็คือผู้ที่ทำต้องมีคุณธรรมกำกับใจตนเองเสมอ พูดให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คือ คุณธรรมเป็นเหมือนหางเสือที่ควบคุมทิศทางการแล่นไปของเรือฉันใด คุณธรรมที่กำกับใจย่อมเป็นคุณธรรมกำกับการกระทำของบุคคลให้ทำภารกิจนั้นสำเร็จฉันนั้น
 
หากคิดกลับทางหรือมองกลับด้านและตั้งคำถามถามกลับว่า  ภารกิจหรืองานของเราที่ทำมาแล้วไม่บรรลุเป้าหมายที่ตังไว้ หรือพูดให้เข้าใจคือล้มเหลว  เมื่อถอดบทเรียนหรือคิดทบทวนถึงกระบวนการทำที่ผ่านมา สิ่งนั้นขาดหลักการใดในของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาจจะขาดความรู้ความเข้าใจเท่าที่ควรดังนั้นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ หลักคิด หลักปฏิบัติ หลักในการช่วยตัดสินใจ  ที่ผู้ปฏิบัติควรคำนึงและมีสติกำกับตนเอง ถ้าเราทำสิ่งใดบนหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นั่นคือเรามีและใช้หลักพอเพียงนั่นเอง และทราบภายหลังต่อมาโรงเรียนที่มาร่วมเรียนรู้กับเชียงขวัญพิทยาคมก็ยกระดับพัฒนาสถานศึกษาของท่านจากโรงเรียนทั่วไปเป็นสถานศึกษาพอเพียง ท่านที่เป็นสถานศึกษาพอเพียงก็ยกระดับขึ้นเป็นสถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ และบางโรงเรียนก็พัฒนาได้รับการประเมินรับรองเป็นศูนย์การเรียนรู้  และที่สำคัญโรงเรียนหรือสถานศึกษาเหล่านั้นก็เป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับพี่น้องโรงเรียนต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง  ดังนั้นท่านจึงเป็นส่วนหนึ่งในการขยายผล ปศพพ. แผ่เป็นวงกว้างออกไป ท่านผู้บริหาร และคุณครูผู้เป็นนักสร้าง สร้างคนดี สร้างคนเก่ง สร้างโรงเรียนเป็นโรงเรียนคุณภาพแผ่ขยายไปไม่มีที่สิ้นสุด ประดุจดอกปาริชาตเบ่งบาน สร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนมนุษย์ ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของคนไทยทุกคน
 
ช่วงนี้ขอสรุปว่า วิธีการที่โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม เป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับโรงเรียนที่ต้องการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาด้วยการทำความเข้าใจให้ตรงกันโดยใช้กระบวนการถอดบทเรียน  นำสู่การเรียนการสอนโดยการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงในหลักสูตรสถานศึกษา และพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักเรียนด้วยการถอดบทเรียนจากกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเราคิดและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ถือหลักที่ว่า เติมน้ำวันละนิด เติมไปทุกวันน้ำย่อมเต็มแก้ว เต็มตุ่มฉันใด ลูกนักเรียนหรือแม้ตัวเราเฉกเช่นกัน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนามธรรมเห็นผลได้ด้วยการนำมาปฏิบัติ จึงจะสัมผัสได้ว่า เป็นปรัชญาที่ทรงคุณค่าหาที่เปรียบมิได้
 
ตอนที่ ๓ สมสง่าแห่งความเป็นศูนย์การเรียนรู้
 
สมสง่าแห่งความเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ
                             
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา...คือความยั่งยืน ความยั่งยืนจะคงอยู่น่านเท่าไรแค่ไหนนั้นวัดจาก ความสม่ำเสมอของการนำหลักปศพพ. ทั้งด้านการบริหาร การจัดการเรียนการสอน และการส่งเสริมให้นักเรียนนำไปใช้ในการเรียนรู้และชีวิตประจำวันเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยพอเพียง ดังนั้นเส้นทางพัฒนาของสถานศึกษาพอเพียงขั้นที่ 3  คือการก้าวสู่ความเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
คำโบราณกล่าวไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดได้มาอย่างง่ายดาย  เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าคำกล่าวนี้จริงหรือไม่ สำหรับเชียงขวัญพิทยาคมได้พิสูจน์แล้วว่า คำกล่าวนั้นเป็นความจริง ท่านอาจจะสงสัยเป็นจริงอย่างไรขอนำเสนอกระบวนการของเราเล่าสู่ท่านผู้อ่านดังนี้
 
สิ่งแรกเราพบว่า การเกาะติด การให้ความสำคัญกิจกรรมโครงการ  การได้รับโอกาสดีจากหน่วยงาน องค์กรที่ท่านดูแลและเป็นผู้ส่งเสริมการขับเคลื่อน อย่างเชียงขวัญพิทยาคมได้รับคือ การได้รับโอกาสและการส่งเสริมจากโครงโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีท่านดร.ปรียานุช  ธรรมปิยา เป็นหัวหน้าโครงการ   สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีท่านรจนา  สินที และนางสาวพิมพ์ชนก  มงคลรัตน์ เลขานุการคณะกรรมการศูนย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง  กระทรวงศึกษาธิการ  ที่ท่านได้เป็นผู้ประสานงานกับโรงเรียนมาโดยตลอด  และมูลนิธิสยามกัมมาจล  ธนาคารไทยพาณิชย์ คุณปิยาภรณ์มัณฑะจิตร  กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล  คุณศศินี  ลิ้มพงษ์  ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  มูลนิธิสยามกัมมาจล  ที่ได้สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้โรงเรียนด้วยดีตลอดมา  และองค์กรและหน่วยงาน และบุคคลสำคัญที่กล่าวมา  ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและจัดทำโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมได้รับโอกาส  และเราก็ตอบสนองโอกาสที่องค์กรดังกล่าวหยิบยื่นให้ คำว่า  ปฏิเสธ  รอไว้โอกาสหน้า  จึงไม่มีสำหรับเรา   ดังนั้นในการพัฒนาบุคลากรไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร   ครู  และนักเรียน ที่จัดขึ้นโรงเรียนจะส่งครูหรือผู้เกี่ยวข้องเข้าไปเรียนรู้เสมอ เพื่อเป็นการเติมพลังและสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียน
 
สิ่งที่สอง คือ การขยายผล   คือหลังจากที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ารับการอบรมมาแล้ว  ท่านผู้อำนวยการระวี  ขุณิกากรณ์ มีนโยบายคือ ให้ทำการขยายผลสู่เพื่อนครู  เช่น อบรมปฏิบัติการ   นำเสนอ
ในการประชุมประจำเดือน  แล้วแต่โอกาส ดังนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และครูทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นวิทยากรเต็มตามศักยภาพของแต่ละคนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
 
สิ่งที่สาม  คือ การเตรียมความพร้อม  คือบุคลากรต้องเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมของเราคือการนำหลักการของ ปศพพ. ไปประยุกต์ใช้ในงานที่รับผิดชอบ เช่นจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการ  การเรียนการสอนแบบสอดแทรกหลักคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการส่งเสริมให้นักเรียนคิดเชื่อมโยงถึงผลที่จะเกิดขึ้นสู่ 4 มิติ คือด้านวัตถุ  ด้านสังคม  ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรม จากที่ครูได้เสริมสร้างหลักคิดสู่นักเรียนทุกสาระการเรียนรู้ และยังให้นักเรียนฝึกคิดทบทวนหรือคิดย้อนกลับถึงกระบวนการเรียนรู้กระบวนการทำงาน ด้วยกระบวนการถอดบทเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างซึมลึก   จึงส่งผลให้ครู นักเรียนเกิดกระบวนการคิดและตัดสินใจที่ยึดหลักพอเพียงในตนเอง ซึ่งเราถือว่าเป็นการพัฒนาทักษะการคิดให้กับบุคลากรของเชียงขวัญพิทยาคม ที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนและการเตรียมพร้อมภายในองค์กรของเรา เพื่อเป้าหมายของโรงเรียนที่จะรับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา
 
ในส่วนการมีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนเครือข่าย  เชียงขวัญพิทยาคมได้รับความไว้วางใจ ได้รับความเชื่อถือ และเชื่อมั่น จากสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัย  ระดับโรงเรียน และสถานบันของชุมชนท้องถิ่นในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนา  เราถือหลักว่าการพัฒนาองค์กรในทุกวันนี้ การสร้างเครือข่ายคือเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา   ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรทางด้านวิชากร จึงทำให้เราได้รับโอกาสจากสถานบัน  โรงเรียนตั้งแต่ระดับโรงเรียนขนาดใหญ่  จนถึงขนาดเล็กมาร่วมเรียนรู่กับเราและให้เราออกไปเรียนรู้กับโรงเรียนท่าน
 
จากการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกระบวนการวิจัยที่ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจหลักคิดยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีการบูรณาการยิ่งขึ้นเช่นกัน จากผลงานตรงนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ครูทั้ง  4  ท่านนี้ ได้นำสู่เพื่อนครูในโรงเรียนและเพื่อนครูต่างโรงเรียนที่มาเรียนกับเราเอง และการนำเสนอผลงานผ่านตลาดนัดความรู้ที่ทางมูลนิธิฯ จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา และอีกสถาบันหนึ่งที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนและพัฒนาครูในการนำ หลัก ปศพพ.สู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนคือ  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เราได้รับการส่งเสริมการพัฒนาครูเกี่ยวกับการการจัดทำแผนการเรียนรู้บูรณาการที่เน้นการจัดการความรู้ด้วยกระบวนการถอดบทเรียนตามหลักปศพพ.  มีท่านอาจารย์อนันต์  แม้นพยัคฆ์ เป็นผู้ประสานงานและมาดูแลโรงเรียนเป็นประจำ ส่วนท่านวิทยากรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริสร้างอุปนิสัยพอเพียง และการจัดการความรู้ (Knowledge  Management: KM) โดยเครื่องมือที่เรียกว่า  การถอดบทเรียน หรือถอดประสบการณ์งานที่สำเร็จและภาคภูมิใจ เวทีนี้ โรงเรียนให้ครูแกนนำกลุ่มสาระการเรียนรู้ละ 2 คนเข้าร่วมเรียนรู้  เราจึงมีครูแกนนำจำนวน 16 คน นำความรู้มาใช้และขยายผลเพิ่มขึ้น
 
ในโอกาสที่ท่านกำลังอ่านเรื่องเล่าเล่มนี้ โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมจึงขอกราบขอขอบคุณผู้บริหาร  คณะครู  นักเรียน จากโรงเรียนต่างๆ ที่มาร่วมเรียนรู้กับเราและให้เราไปเป็นวิทยากร ทำให้เราได้พัฒนาตนเองเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็ง และเราก็ยินดีที่ได้รับโอกาสเหล่านั้นจากท่านทุกโรงเรียนและคิดว่า ดอกปาริชาตคงเบ่งบาน ชูช่อ สมสง่าในใจคนพอเพียงทุกคน 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565028เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท