การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะส่งผลต่อลักษณะของครอบครัวไทยภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน


          สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยตัวแทนรัฐบาลของประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๕ ประเทศ[1] และมีการเพิ่มจำนวนรัฐสมาชิกจนกลายเป็น ๑๐ ประเทศในปัจจุบัน และตัวองค์การอาเซียนเองก็ได้มีการยกระดับไปเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ภายหลังการลงนามในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ของรัฐสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศ[2]และกฎบัตรดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑

          นอกจากการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเพื่อยกระดับขององค์การในมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์แล้ว รัฐสมาชิกอาเซียนยังได้มีแผนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยต่อยอดจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้กรอบของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา (ASEAN Free-Trade Agreement: AFTA) จึงได้มีการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ ๒ (Declaration of ASEAN Concord II: Bali Concord II) ในการประชุมสุดยอดผุ้นำอาเซียนครั้งที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งเป็นรูปแบบของความร่วมมือระหว่างรัฐใน ๓ ด้าน กล่าวคือ

          ๑) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

          ๒) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community: APSC)

          ๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

          โดยในเริ่มแรกนั้น อาเซียนได้วางกรอบระยะเวลาดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกให้บรรลุผลภายในปี ๒๕๖๓ แต่ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ ๑๒ ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี ๒๕๕๐ บรรดาผู้แทนรัฐสมาชิกอาเซียนได้ลงนามรับรองสนธิสัญญาที่สำคัญ ๒ ฉบับ คือ

           ๑) ปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน (Cebu Declaration on the Blueprint of the ASEAN Charter)

           ๒) ปฏิญญาเซบูว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปีค.ศ.๒๐๑๕ (Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015)

ผลของสนธิสัญญาทั้งสองฉบับ ทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนมีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายของการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนทั้งสามด้าน และย่นระยะการดำเนินงานให้ต้องแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๘

 

๑. คุณลักษณะของประชาคมอาเซียน

 

          การสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบแนวคิดของการเป็นประชาคมนั้น อาเซียนได้จัดทำแผนแม่บท (Blueprint) ขึ้นมา ๓ ฉบับโดยล้อไปกับความร่วมมือทั้ง ๓ ด้าน กล่าวคือ

          ๑) แผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint: AEC Blueprint)

          ๒) แผนแม่บทประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community Blueprint: APSC Blueprint) และ

          ๓) แผนแม่บทประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint: ASCC Blueprint)

          โดยในแต่ละแผนจะมีการกำหนดคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการสร้างประชาคมนั้นๆเอาไว้ และได้วางกรอบการดำเนินการเพื่อให้รัฐสมาชิกอาเซียนร่วมกันแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวาง และส่งเสริมพัฒนาปัจจัยต่างๆที่จำเป็นต่อการสร้างคุณลักษณะดังกล่าว

 

          ๑.๑. คุณลักษณะของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน[3]

          การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมอาเซียนมีเป้าประสงค์ที่จะให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน พร้อมกันกับการลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มอาเซียน-๖[4] และกลุ่ม CLMV[5] ในแผนแม่บทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ระบุคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและวางกรอบการดำเนินการเพื่อบรรลุการมีคุณลักษณะดังกล่าวเอาไว้ สรุปเป็นสังเขปได้ดังนี้

          ๑) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single market and production base) ซึ่งเน้นไปที่การเปิดการเคลื่อนย้ายเสรีที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ ๕ ด้าน ได้แก่ การเคลื่อนย้ายเสรีในสินค้า, บริการ, การลงทุน, เงินทุน และแรงงานมีฝีมือ

          ๒) การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง จะเน้นไปที่การพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการทำพาณิชย์เชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการ การพัฒนามาตรการการจัดเก็บภาษี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และต้องไม่ลืมที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย

          ๓) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เพื่อคุ้มครองวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายในแต่ละประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของวิสาหกิจขนาดใหญ่และการเพิ่มจำนวนของคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่เข้ามาประกอบกิจการในตลาดเดียวกัน โดยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านั้นรู้จักการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง

          ๔) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนผ่านความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs) หรือความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPs) เพื่อให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าและบริการตามความต้องการของตลาดโลก

 

        ๑.๒. คุณลักษณะของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน[6]

          ความร่วมมือภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติทั้งภายในรัฐกลุ่มอาเซียนและรัฐภายนอก โดยการพัฒนาการเมืองตามหลักประชาธิปไตย หลักนิติธรรม การมีธรรมาภิบาล การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิ-เสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กฎบัตรอาเซียน ตามแผนแม่บทประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนได้ระบุคุณลักษณะที่สำคัญของประชาคมนี้ไว้ เล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

          ๑) การเป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และค่านิยมร่วมกัน โดยเริ่มจากการพัฒนาการเมืองให้รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับถึงระบอบการเมืองและประวัติศาสตร์ของรัฐสมาชิกอื่น จากนั้นจึงพัฒนาความร่วมมือไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การสร้างบรรทัดฐานด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเคารพในหลักนิติธรรม การมีธรรมาภิบาล และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตลอดจนสิทธิ-เสรีภาพขั้นพื้นฐาน

          ๒) การเป็นภูมิภาคที่มีเอกภาพ ความสงบสุข มีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ผ่านการสร้างมาตรการอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกัน เสริมสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาความมุ่นคงรูปแบบใหม่ เช่น การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ปัญหาภัยพิบัติระหว่างประเทศ

          ๓) การเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรและมองออกไปยังโลกภายนอกที่มีการรวมตัวและพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น โดยการริเริ่มเป็นเจ้าภาพในการประชุม หรือเข้าร่วมการประชุมกับประเทศภายนอก เช่น กลุ่มอาเซียน+๓[7] กลุ่มอาเซียน+๖[8] กลุ่มที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)[9] รวมไปถึงการแต่งตั้งผู้แทนถาวรของอาเซียนเพื่อประจำยังองค์การระหว่างประเทศต่างๆ

 

            ๑.๓. คุณลักษณะของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน[10]

ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนมีเป้าหมายที่จะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นประชาคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อมุ่งไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ซึ่งคุณลักษณะที่ระบุไว้ในแผนแม่บทของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมมีดังนี้

          ๑) การพัฒนามนุษย์ เริ่มจากการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการให้การศึกษา การจ้างงาน ส่งเสริมให้มีการประกอบการโดยสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ พัฒนาระบบราชการ และมีการใช้เทคโนโลยีทั้งด้านสารสนเทศและเชิงประยุกต์ร่วมในการพัฒนาดังกล่าวด้วย

          ๒) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม โดยเร่งขจัดความยากจนพร้อมทั้งวางมาตรการเพื่อรับมือผลกระทบเชิงลบจากการรวมตัวของอาเซียนและกระแสโลกาภิวัฒน์ สร้างปัจจัยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ความปลอดภัยด้านอาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ การควบคุมโรคติดต่อ แก้ปัญหายาเสพติด การป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น

          ๓) ความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่อาเซียนเห็นว่าควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กล่าวคือ สตรี เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และแรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐาน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้องค์กรธรุกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

          ๔) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก และการรับมือกับปัญหามลพิษข้ามแดน พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          ๕) การสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนอาเซียนมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของของอาเซียน และมีความเข้าใจอันดีระหว่างกันถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประชาชนแต่ละชาติพันธุ์ อนุรักษ์สิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อาเซียนมีอยู่อย่างมากมายเอาไว้ ขณะเดียวกันก็เร่งลดระดับของการพัฒนาระหว่างกลุ่มอาเซียน-๖ กับประเทศกลุ่ม CLMV ผ่านความร่วมมือระดับทวิภาคี หรือระดับอนุภูมิภาค

 

๒. การเปลี่ยนแปลงของสภาพครอบครัวไทยที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

          เมื่อการดำเนินการก่อตั้งประชาคมอาเซียนทั้งสามแล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในปี ๒๕๕๘ การเคลื่อนย้ายโดยเสรีของการให้บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีฝีมือย่อมนำไปสู่สภาพของการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามชาติของประชากร ไม่ว่าจะเป็นลักษณะชั่วคราว ระยะสั้น หรือถาวร ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อสภาพครอบครัวของประเทศไทย (หรืออาจกล่าวรวมไปถึงสภาพครอบครัวในประเทศกลุ่มอาเซียนด้วย) นั่นก็คือ ข้อเท็จจริงด้านครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น[11] ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบดังนี้

          ๑) สมาชิกในครอบครัวมีสัญชาติที่แตกต่างกัน เช่น การสมรสของคนสัญชาติเวียดนามกับคนสัญชาติไทย จากการที่ชาวเวียดนามเดินทางมาทำงานในประเทศไทยโดยผลจากการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานมีฝีมือและได้พบรักกับคนสัญชาติไทย

          ๒) สมาชิกในครอบครัวมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่คนละรัฐกัน เช่น ผู้ที่เป็นสามีจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในสิงคโปร์เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากบริษัทได้ขยายสาขาไปยังต่างประเทศโดยผลจากการเคลื่อนย้ายเสรีด้านการให้บริการ และการลงทุน และในระหว่างนั้นได้มีรายได้อันเป็นสินสมรสเก็บไว้ในธนาคารสิงคโปร์

          ๓) มีการทำนิติกรรมทางครอบครัวเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น การฟ้องหย่าของคู่สมรสไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในประเทศลาว โดยฟ้องต่อศาลลาว และบังคับตามกฎหมายลาว หรือในทางกลับกันคือมีการทำนิติกรรมทางครอบครัวของคนต่างด้าวในประเทศไทย เช่น การขอจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายไทยของคู่สมรสลาวที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในประเทศไทย

          จะเห็นได้ว่ารูปแบบของข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ที่ต้องปรับใช้กฎหมายผ่านกลไกของกฎหมายขัดกันซึ่งเกี่ยวโยงกับสารบัญญัติทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนของไทยและต่างประเทศ ซึ่งการใช้กฎหมายเหล่านั้นโดยเฉพาะที่เป็นกฎหมายต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องอาศัยความเข้าใจถึงความแตกต่างกันของกฎหมายสารบัญญัติของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายครอบครัวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรากเหง้าทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อตามหลักศาสนา แม้กระทั่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นในการใช้กฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนภายหลังจากนี้ผู้ใช้กฎหมายจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมที่จะรับมือกับข้อเท็จจริงที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศโดยเข้าใจและใช้กฎหมายขัดกันทั้งระบบได้อย่างเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกัน การสร้างความสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากฎหมายระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียนด้วยกันก็จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการทำงานภายใต้กรอบของประชาคมอาเซียนที่เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การสร้างความเข้าใจและวางแนวทางการใช้กฎหมายครอบครัวของแต่ละรัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันเป็นแนวคิดของการเป็นนิติประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และค่านิยมร่วมกันตามกรอบของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASPC) และการให้ความเคารพต่อสิทธิในครอบครัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศทั้งในระดับสากล[12] และในระดับภูมิภาคอาเซียนเอง[13]ตามกรอบของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)

          นอกจากนี้การปรับใช้กฎหมายครอบครัวภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือแนวทางใช้กฎหมายอิสลามด้านครอบครัว เนื่องจากกฎหมายอิสลามนั้นเป็นระบบกฎหมายที่มีคุณลักษณะเด่นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายบ้านเมือง (positive law) ที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐแต่ละรัฐ โดยกฎหมายอิสลามนั้นมีที่มาจากบทบัญญัติตามพระคัมภีร์อัลกุรอาน (Quran) ประกอบกับแนวทางปฏิบัติของท่านศาสดานบีมะฮะหมัด ที่เรียกว่า “ซุนนะห์” (Sunnah) และแนวทางตีความพระคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เรียกว่า “อิจมาอฺ” (Ijma) และ “กียาส” หรือ “อิจญ์ติฮาด” (Qiyas or Ijtihad) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ชาวมุสลิมทั่วโลกนับถืออย่างเคร่งครัดไม่แตกต่างจากกฎหมาย ดังนั้นในรัฐที่มีประชากรมุสลิมจึงมักจะมีกฎหมายบ้านเมืองที่รับรองการใช้กฎหมายอิสลามในหมู่ประชากรมุสลิม โดยในกลุ่มอาเซียน รัฐที่รับรองการใช้กฎหมายอิสลาม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม[14] มาเลเซีย[15] สิงคโปร์[16] ไทย[17]อินโดนีเซีย[18] และเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างประชากรโดยแบ่งตามเกณฑ์ของการนับถือศาสนาพบว่า ประชากรอาเซียนทั้งหมดมีประชากรมุสลิมราว ๓ ร้อยล้านคนจากประชากรอาเซียนทั้งหมด ๖ ร้อยล้านคน (นั่นคือประมาณร้อยละ ๕๐) และประชากรมุสลิมจำนวนมากมายเหล่านี้จะมีการเคลื่อนย้ายเสรีไปพร้อมกับประชากรอาเซียนทั้งหมดโดยผลของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นแม้ในปัจจุบันกฎหมายไทยจะรองรับการใช้กฎหมายอิสลามเฉพาะในกลุ่มประชากรมุสลิมในเขต ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ก็โดยสภาวการณ์ดังกล่าวก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะในทางข้อเท็จจริงย่อมไม่อาจที่จะควบคุมประชากรมุสลิมทั้งที่เป็นประชากรไทยและประชากรอาเซียนให้จำกัดอยู่แต่เฉพาะพื้นที่ ๔ จังหวัดภาคใต้ได้ และการปฏิเสธการใช้กฎหมายอิสลามก็ย่อมขัดต่อหลักปฏิบัติของชาวมุสลิมที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มรัฐสมาชิกอาเซียนหลายๆรัฐ

 

[1] ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย        

[2] ตามลำดับการเข้าเป็นสมาชิก ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (๒๕๒๗), เวียดนาม (๒๕๓๘), สปป.ลาว และพม่า (๒๕๔๐) และกัมพูชา (๒๕๔๒)

[3] ASEAN Economic Community  (AEC) Blueprint (A PDF version can be digital downloaded at http://www.asean.org/archive/5187-10.pdf)

[4] อันประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย

[5] อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

[6] ASEAN Political and Security Community (APSC) Blueprint  (A PDF version can be digital downloaded at http://www.asean.org/archive/5187-18.pdf)

[7] ได้แก่ กลุ่มรัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ รัฐ โดยเพิ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ร่วมด้วย

[8] ได้แก่ กลุ่มรัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ รัฐ โดยเพิ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ร่วมด้วย

[9] ประกอบด้วย รัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ รัฐ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย

[10] ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Blueprint  (A PDF version can be digital downloaded at http://www.asean.org/archive/5187-19.pdf)

[11] การมีองค์ประกอบระหว่างประเทศ (foreign element) หมายถึง การที่ข้อเท็จจริงมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างประเทศ อาจเพราะคู่กรณีมีสัญชาติต่างประเทศ หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ, นิติกรรมทำขึ้นในต่างประเทศ, ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น โปรดดูคนึง ฦๅไชย, คำอธิบายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, ๒๕๕๕) น.๑๙. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพาณิช, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๓) น.๑๐๙ และ Lawrence Collins, Dicey and Morris on Conflicts of Laws, 12th edition, (London: Sweet & Maxwell, 1996) p.3.

[12] ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights: UDHR) ข้อ ๑๖, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ ๒๓ เป็นต้น

[13] ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Declaration on human Rights: ADHR) ข้อ ๑๙

[14] บรูไนดารุสซาลามยังได้นำเอากฎหมายอิสลามมาใช้ในบริบทของกฎหมายอาญาด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างจากการใช้กฎหมายอิสลามในรัฐโดยทั่วไปที่มักจะใช้เฉพาะข้อเท็จจริงทางแพ่งเท่านั้น โปรดดู Ankit Panda, Brunei Becomes First East Asian State to Adopt Sharia Law, searched on 31 March 2013, from http://thediplomat.com/2013/10/brunei-becomes-first-east-asian-state-to-adopt-sharia-law/

[15] Constitution of Malaysia article 121(1) states that “Subject to Clause (2) the judicial power of the Federation shall be vested into High Courts of co- ordinate jurisdiction and status, namely-

(a) one of the States of Malaya, which shall be known as the High Court in Malaya and shall have its principle registry in Kuala Lumpur; and

(b) one in the States of Sabah and Sarawak, which shall be known as the High Court in Borneo and shall have its principle registry at such place in the States of Sabah and Sarawak as the Yang di- Pertaun Agong may determine; and in such inferior courts as may be provided by federal law.”

[16] Administration of Muslim Law Act (revised 2009)

[17] พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙

[18] The 1945 Constitution of the Republic of Indonesia article 24(2) states that “(2) The judicial power shall be implemented by a Supreme Court and judicial bodies underneath it in the form of public courts, religious affairs courts, military tribunals, and state administrative courts, and by a Constitutional Court.”

หมายเลขบันทึก: 565025เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท