วิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)


วิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยตามทัศนะของ

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.  ปยุตโต)

                                                                                                วรากรณ์    พูลสวัสดิ์

บทคัดย่อ

 

บทความนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.  ปยุตโต) โดยศึกษาประเด็นสำคัญคือ ปัญหาของประชาธิปไตยในสังคมไทย ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน หลักการที่แท้จริงของประชาธิปไตย รูปแบบของการปกครอง วิถีประชาธิปไตยและผลสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตย จากการศึกษาพบว่าพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันยังมีความคลาดเคลื่อนจากหลักการที่แท้จริงเพราะถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยมทำให้ความหมายของประชาธิปไตยคลาดเคลื่อนไปจากอุดมคติที่แท้จริงคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้นประชาธิปไตยจะบรรลุอุดมคติได้จะต้องมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน โดยที่ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเกิดขึ้นภายหลังผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งสมาชิกในสังคมทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและ ผลประโยชน์จากสังคมนั้นสะท้อนกลับเป็นผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งต่างจากประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเกิดก่อนผลประโยชน์ของสังคม  หรือแต่ละบุคคลมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของตนก่อนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคม เพื่อจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงและเกิดความเห็นที่ตรงกันอันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมต่อไป

                                                                       

บทนำ

            ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทยตลอดระยะเวลา ๔ – ๕ ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องสังคมที่เป็นธรรม ความเสมอภาค ความแตกต่างทางชนชั้น แนวคิดเรื่องสังคมที่ดี ระบอบการปกครองที่ดี และมีการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยที่แต่ละฝ่ายก็มีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันตามฐานความคิดของตน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนำมาซึ่งความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีความเกลียดชังคนไทยกันเองและสร้างความรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยจะต้องกลับมาทบทวนฐานคิดเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงและเกิดความเห็นที่ตรงกันอันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในบทความนี้จะศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.  ปยุตโต) บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องสังคมอุดมคติในทัศนะของพระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต)

            ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ สังคมที่พึงประสงค์คือ สังคมที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการที่มนุษย์จะได้พัฒนาศักยภาพของตนให้เข้าถึงความสมบูรณ์สูงสุดคือ เข้าถึงธรรมและสมาชิกทุกคนจะต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่เป็นอุดมคติในการดำเนินชีวิต พระพรมหคุณาภรณ์เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์มากที่สุด(พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต),๒๕๔๓,น.๑๓) แต่พระพรหมคุณาภรณ์ไม่เห็นด้วยกับระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ท่านเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน ในที่นี้เราจะพิจารณาว่า ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานต่างจากประชาธิปไตยทั่วไปอย่างไร

๑.      ความหมายของประชาธิปไตย

คำว่า ประชาธิปไตย (Democracy) มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Demos แปลว่า ประชาชน กับ Kratos แปลว่า อำนาจ รวมกันจึงเป็น อำนาจของประชาชนหรือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ หมายความว่า การปกครองโดยประชาชนหรือประชาชนปกครองตนเอง (Edwards Paul,1972,P.338)มีหลักการพื้นฐานคือ ยอมรับในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและมีความสามารถที่จะปกครองตนเองและปกครองกันเองได้ และมนุษย์มีความสามารถในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมได้ (คาร์ล เอล เบคเกอร์,๒๕๐๖,น. ๑๗) มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต จุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยคือ ประชาชนปกครองตนเองและปกครองกันเองเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากที่สุด ดังความหมายที่เป็นอุดมคติของประชาธิปไตยว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

ระบบประชาธิปไตยปัจจุบันเรียกว่า ระบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดของนักปรัชญาในศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ คือ  จอห์น ล็อค, สจวต มิลล์และฌ็องฌาร์คร์ รุสโซ เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งสูงสุดโดยเชื่อว่า มนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาติและเสรีภาพมาแต่กำเนิด ใครจะล่วงละเมิดมิได้ รัฐบาลเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนปกครองตนเองให้มากที่สุด รัฐบาลจะต้องจำกัดตัวเองและเกี่ยวข้องกับประชาชนให้น้อยที่สุดเพื่อให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายคือ ประโยชน์ร่วมกัน แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ก็ยังไปไม่ถึงจุดหมายหรืออุดมคติที่แท้จริง มีผู้วิจารณ์ข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้มากมายโดยเห็นว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยเหตุผล แต่เหตุผลก็มีบทบาทเพียงเป็นเครื่องเสนอสนองความต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์” (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,๒๕๓๓, น.๑๖) ครอฟอร์ด แมคเฟอร์สัน ชี้ให้เห็นว่า ความคิดพื้นฐานของทฤษฎีเสรีนิยมและประชาธิปไตยที่เน้นการมุ่งครอบครองเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสาเหตุทำให้สังคมไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง(อ้างใน,ชัช กิจธรรม,๒๕๒๗,น. ๑๐)

เบคเกอร์เห็นว่าประชาธิปไตยแบบอุดมคติจะเป็นจริงได้ก็เพียงแต่ในสรวงสวรรค์เท่านั้น เขาได้นิยามความหมายประชาธิปไตยในโลกที่เป็นจริงว่า “เป็นการปกครองของประชาชนโดยนักการเมืองและทำเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้กลุ่มอิทธิพล(Groups influence)ได้รับผลประโยชน์(คาร์ล เอล เบคเกอร์,๒๕๐๖,น.๕)

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยยังมีข้อบกพร่องที่ห่างไกลจากอุดมคติ เพราะมนุษย์มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และใช้เหตุผลเพื่อให้ตนได้ประโยชน์มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม พระพรหมคุณาภรณ์ได้วิพากษ์ประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำโดยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่า ทำให้ความหมายและหลักการของประชาธิปไตยคลาดเคลื่อนไปคือทำให้มีความหมายไปในทางที่เป็นการแก่งแย่งและแบ่งแยก(พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต,๒๕๔๒,น.๓๒) เพราะประชาชนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ได้คำนึงถึงความสุขของสังคมที่เป็นเช่นนี้เพราะประชาชนขาดธรรมซึ่งหมายถึง ประชาชนยังปกครองตนเองไม่ได้ ความเห็นของพระพรหมคุณาภรณ์นี้สอดคล้องกับความเห็นของเบกเกอร์ ที่กล่าวถึงจุดอ่อนของประชาธิปไตยว่าอยู่ที่ “ประชาธิปไตยถือว่ามนุษย์มีความสามารถ มีคุณธรรมและสภาวะในด้านวัตถุและจิตใจของมนุษย์ในทุกวันนี้อยู่ในระดับสูงพอที่จะเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้ความสามารถและเจตนาดีของตนในการปกครองตนเอง ถ้าความคาดหมายนี้ไม่ถูกต้องประชาธิปไตยก็เป็นอันล้มเหลว” (คาร์ล เอล เบคเกอร์,๒๕๐๖,น.๘) ความเห็นของบุคคลทั้งสองนี้สอดคล้องกับความเป็นความจริงที่ว่าในสังคมประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน ประชาชนยังขาดคุณธรรมทางด้านจิตใจที่จะปกครองตนเอง ทำให้หลักการของประชาธิปไตยมีปัญหาและมีความคลาดเคลื่อนจากอุดมคติเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุดังกล่าวพระพรหมคุณาภรณ์จึงเห็นว่า ประชาธิปไตยจะดำเนินไปถึงอุดมคติที่แท้จริงได้จะต้องมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน

๒.    ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน

ความหมายของประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นั้นท่านได้ให้ความหมายโดยวิเคราะห์จากความหมายของประชาธิปไตยที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยท่านขยายความว่าเป็น “การปกครองแบบที่จะทำให้สาระแห่งชีวิตของคนทุกคน ปรากฎผลงอกงามออกมาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและให้ผลประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกอย่างนั้นสะท้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของทุกๆคน”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๐,น.๓๒) จากความหมายนี้จะเห็นได้ว่า ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเกิดขึ้นภายหลังผลประโยชน์ของสังคม นั่นคือทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม แล้วผลประโยชน์จากสังคมนั้นสะท้อนกลับไปเป็นผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล ซึ่งต่างจากประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเกิดก่อนผลประโยชน์ของสังคม หรือแต่ละบุคคลมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของตนก่อนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคม

หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือ หลักการปกครองตนเองและปกครองกันเอง ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นั้นหมายถึง การที่ประชาชนแต่ละคนสามารถปกครองตนเองและรับผิดชอบตนเองได้ เมื่อประชาชนแต่ละคนปกครองตนเองได้แล้วร่วมกันปกครองก็จะได้การปกครองที่ดี นั่นคือ ประชาชนรับผิดชอบชีวิตและสังคมได้เอง ดังนั้นคุณภาพของประชาธิปไตยจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี คือ ปกครองตนเองได้ แล้วมาร่วมกันปกครองก็จะเป็นการปกครองระบบประชาธิปไตยที่ดี

การที่ประชาชนจะปกครองตนเองได้นั้น พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าประชาชนจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยนี้เป็นคุณสมบัติของประชาชนแต่ละคน นั่นคือประชาชนแต่ละคนจะต้องถือหลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความยุติธรรมเป็นใหญ่ในการตัดสินวินิจฉัยกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ โดยมุ่งประโยชน์ร่วมกันเป็นประมาณ ดังนั้นเมื่อประชาชนที่มีธรรมาธิปไตยมาอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะเกิดระบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด พระพรหมคุณาภรณ์เรียกประชาธิปไตยเช่นนี้ว่า ประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน(Phra Brahmagunabhorn (P.A. Payutto).,2010,P.21)  เมื่อพิจารณาแนวความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตยไม่ได้แยกจากกันเพราะประชาธิปไตยเป็นระบบหรือรูปแบบในการปกครอง ส่วนธรรมาธิปไตยนั้นเป็นสาระหรือเป็นคุณสมบัติของประชาชนที่จะร่วมกันปกครองตามรูปแบบประชาธิปไตย เมื่อระบบประชาธิปไตยมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานในการปกครองแล้วก็จะทำให้หลักการของประชาธิปไตยถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้นดังท่านกล่าวว่า “ธรรมาธิปไตยมันสำคัญตรงนี้มันสำคัญที่เป็นเกณฑ์การตัดสินใจในกิจกรรมทุกอย่างของประชาธิปไตยเป็นตัวกำหนดการใช้อำนาจตัดสินใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญในขั้นรากฐานที่สุดเป็นตัวแกนเป็นตัวยันเป็นตัวสำเร็จเด็ดขาด”(พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๙,น.๓๖)

 

๓.    หลักการของประชาธิปไตย

ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ การเข้าใจหลักการของประชาธิปไตยที่คลาดเคลื่อนจากอุดมคติที่แท้จริงทำให้สังคมประชาธิปไตยประสพกับปัญหาเป็นอย่างมากและเป็นที่มาของปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยปัจจุบันด้วยดังท่านวิเคราะห์ที่มาของปัญหาว่า “ตามปกติเรามักจะมองปัญหาว่าเริ่มจากเสรีภาพก่อนคือ ไล่จากข้อ ๑ ไปข้อ ๒ แล้วไปข้อ ๓ ตามลำดับว่าเมื่อมีเสรีภาพไม่เท่าเทียมกัน เขาทำอย่างนั้นได้ แต่ทำไมฉันทำบ้างไม่ได้ พวกนั้นทำได้มีได้เอาได้อย่างนั้น แต่ทำไมพวกฉันไม่มีไม่ได้ เอาไม่ได้ทำไม่ได้อย่างนั้น ก็แสดงว่าไม่ได้รับความเสมอภาค เมื่อไม่มีความเสมอภาคกัน ก็สามัคคีเอกีภาพกันไม่ได้ ก็เพราะไม่ได้รับความเสมอภาค ที่ไม่เสมอภาคก็เพราะมีเสรีภาพไม่เท่าเทียมกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาแบบหนึ่ง”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๖๗) จากข้อความนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของสังคมประชาธิปไตยมาจากการตีความหลักการของประชาธิปไตยในความหมายของการมีเสรีภาพในการแสวงหาผลประโยชน์ เสมอภาคในการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์คือมองในแง่ที่ว่าจะต้องได้อย่างเท่าเทียมกันและมองภราดรภาพไปในแง่ของพวกพ้องของตนอันนำมาซึ่งความแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ นอกจากนั้นพระพรหมคุณาภรณ์ยังวิเคราะห์ปัญหาของสังคมประชาธิปไตยโดยเฉพาะสังคมไทยว่า “แต่บางทีปัญหากลับในทางตรงข้าม คือเริ่มปัญหาจากหลักการข้อที่ ๓ (ภราดรภาพหรือสามัคคีเอกีภาพ)ก่อนแล้วจึงลงมาที่ข้อ ๒ (ความเสมอภาค) และข้อที่ ๑ (เสรีภาพ)  คือ เมื่อประชาชนแตกแยก ไม่รักใคร่สามัคคีกัน มีความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อกัน เขาก็จะเพ่งจ้องมองกันทันทีว่า พวกนั้นได้ พวกนั้นมีอย่างนั้นๆ ทำไม่พวกเราทำไม่ได้เป็นไม่ได้ ปัญหาในข้อที่ ๒ ว่าไม่ได้รับความเสมอภาค และข้อที่ ๑ ว่า ขาดเสรีภาพอย่างนั้นอย่างนี้ คือได้เสรีภาพไม่เท่ากับพวกนั้นพวกโน้น ก็ตามมาทันที แม้แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา ก็มองให้เป็นปัญหาขึ้นมาจนได้ เพราะเมื่อใจไม่รักกันแล้ว ญาติดีกันไม่ได้ก็คอยเพ่งมองเห็นแง่ร้ายกันอยู่เรื่อย...”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๖๗-๖๘)

พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าปัญหาต่างๆเกิดจากความเข้าใจหลักการของประชาธิปไตยที่คลาดเคลื่อน ปัญหาต่างๆจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจหลักการของประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานคือ

๑. เสรีภาพที่แท้จริงตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นั้นต้องมาจากการที่บุคคลปกครองตนเองได้ การปกครองตนเองได้สามารถทำให้บุคคลใช้เสรีภาพได้อย่างถูกต้อง คือ “เสรีภาพที่จะอยู่ในสังคม ในสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งตนมีส่วนร่วมปรับปรุง” เสรีภาพจึงเป็นอุปกรณ์ที่จะทำให้บุคคลใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นส่วนร่วมที่ดีของการปกครองระบบประชาธิปไตย ดังนั้น เสรีภาพที่เกิดจากประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์หมายถึง “ช่องทางหรือโอกาสอย่างเต็มที่ที่จะเอาสติปัญญา ความสามารถของตนออกมาใช้ในการร่วมปกครองให้สังคมนั้นดีงามและสันติสุข”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒, น.๓๑ )

๒. ความเสมอภาคที่แท้จริงที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานนั้นจะมีความหมายเป็นความเสมอภาคในการร่วมสร้างสรรค์ร่วมแก้ปัญหา คือ เป็นการมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะนำศักยภาพของแต่ละบุคคลมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์สุขร่วมกัน(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๘๓)เป็นความเสมอภาคในการร่วมสุขร่วมทุกข์ทำให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน

    ๓. ภราดรภาพ  พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่า สังคมประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้ละเลยภราดรภาพซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญมากและมนุษยชาติปัจจุบันก็ต้องการภราดรภาพมากเพราะถ้าไม่มีภราดรภาพซึ่งหมายถึงเอกภาพหรือความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ก็จะทำให้เสรีภาพและความเสมอภาคมีความหมายไปในทางการแก่งแย่งแบ่งแยกทำให้เกิดปัญหา เสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริงจะเกิดไม่ได้ ภราดรภาพที่แท้จริงตามความหมายของพระพรหมคุณาภรณ์จึงหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความรักใคร่ปรองดองเป็นพี่เป็นน้องกันซึ่งคอยสมานความแตกแยก(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๑,,น.๑๒) ภราดรภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ประชาชนจะต้องมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน

นอกจาการทำความเข้าใจความหมายของหลักการประชาธิปไตยอย่างถูกต้องแล้วพระพรหมคุณาภรณ์ได้เสนอแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาสังคมประชาธิปไตยว่า “เพราะฉะนั้น การป้องกันและแก้ปัญหาจะต้องทำจากจุดเริ่มทั้งสองทาง คือทั้งจากต้นไปหาปลาย และจากปลายมาหาต้น เริ่มจากต้นมาหาปลายคือ ไล่จากข้อ ๑ ต่อ ๒ ไป ๓ ตามลำดับ ก็ต้องจัดให้ประชาชนมีเสรีภาพอย่างถูกต้อง และให้ได้มีเสรีภาพนั้นอย่างเท่าเทียมกัน เกิดความเสมอภาคแล้วจะได้ไม่ทะเลาะวิวาทแก่งแย่งขัดแย้งกันและอาจจะสามัคคีกันได้ ขอให้ข้อสังเกตว่าในที่นี้ ลงท้ายว่าอาจจะสามัคคีกันได้ คือเพียงอาจจะเท่านั้น เพราะความมีเสรีภาพและสมภาพ/เสมอภาคอย่างที่พูดกันมานี้ ไม่ใช่เหตุปัจจัยอย่างเดียวและเพียงพอที่จะทำให้คนรักใคร่สามัคคีมีภราดรภาพกันได้... ด้านที่สอง เริ่มจากปลายมาหาต้นคือ ย้อนจากข้อ ๓ ลงมาข้อ ๒ จนถึงข้อ ๑ วิธีแก้และกันปัญหาได้แก่ พยายามสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้ประชาชนมีความรักใคร่พร้อมเพรียง มีความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดุจเป็นญาติพี่น้อง เมื่อประชาชนมีภราดรภาพ หรือสามัคคีเอกีภาพนี้แล้ว ก็จะปรับเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพให้เข้าที่ลงตัวสอดคล้องไปกันได้อย่างดี”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๖๙-๗๐)

๔. รูปแบบการปกครอง 

พระพรหมคุณาภรณ์ได้วิจารณ์ระบบการปกครองในสังคมปัจจุบันว่าประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่เอาประโยชน์ของบุคคลเป็นใหญ่กับสังคมนิยมที่เอาสังคมเป็นใหญ่กลายเป็นสุดโต่งไปทั้งสองฝ่าย ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะทำให้บุคคลกับสังคมประสานประโยชน์กันให้ได้โดยเป็นตัวเอื้อแก่กัน นั่นคือ สังคมยิ่งดีก็ยิ่งช่วยให้บุคคลมีโอกาสบรรลุความดีงามและประโยชน์สุขยิ่งขึ้นและยิ่งคนพัฒนาดีก็ยิ่งมาช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ดียิ่งขึ้น บุคคลและสังคมจึงเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒น.๔๒)

พระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่ารูปแบบของประชาธิปไตยนั้นไม่จำกัดตายตัว มนุษย์สามารถคิดรูปแบบขึ้นมาเพื่อสื่อสาระและจุดหมายของประชาธิปไตยให้ได้ รูปแบบย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัยและปัจจัยแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายคือ รักษาสาระของประชาธิปไตยไว้(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๔)เพราะพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นถ้าประชาชนทุกคนหรือประชาชนส่วนใหญ่เป็นธรรมาธิปไตยแล้ว การปกครองโดยประชาชนทุกคนหรือโดยเสียงส่วนมากก็จะทำให้ได้สียงส่วนมากที่ดีมาปกครองก็จะเกิดการปกครองที่ดีขึ้นเอง  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจำกัดรูปแบบในการปกครอง จากทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นี้เราจะเห็นได้ว่าต่างจากประชาธิปไตยในสังคมปัจจุบันที่มุ่งเน้นแต่รูปแบบการปกครองโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือสาระที่เกิดขึ้นได้จริงคือ คนที่จะมาปกครองทำให้การปกครองระบบประชาธิปไตยมีปัญหามากมาย

๕. วิถีประชาธิปไตย 

ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๗๗)ของประชาธิปไตยที่จะสื่อสาระของประชาธิปไตยที่แท้จริงออกมาดังท่านกล่าวว่า “ตัวประชาธิปไตยก็คือ วิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันและช่วยกันจัดสรรค์ความเป็นอยู่ให้เป็นไปด้วยดีเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตัวแท้ของประชาธิปไตยอยู่ที่การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ นำเอาสติปัญญา ความสามารถของแต่ละคนออกมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ร่วมกันให้เป็นสุขและเจริญงอกงาม”               (พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น. ๗๗)จากคำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์นั้น เป็นระบบการจัดสรรค์สังคมเพื่อให้เกิดโอกาสที่ดีที่สุดในการร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้บรรลุประโยชน์สูงสุด(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๑,น. ๑๑)โดยพระพรหมคุณาภรณ์เห็นว่าการปกครองหลายรูปแบบปิดกั้นหรือตัดโอกาสของมนุษย์ที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาศักยภาพของตน ประชาธิปไตยเปิดโอกาสที่สำคัญให้แก่มนุษย์ กล่าวคือ โอกาสที่มนุษย์จะพัฒนาตัวเองและมนุษย์ทุกคนมีโอกาสที่จะนำศักยภาพของตนมาร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่สังคมด้วย(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น.๑๑)

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยตามทัศนะของพระ          พรหมคุณาภรณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ประชาชนจะต้องมีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยโดยมีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน พระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องเกิดจากปัญญาที่มนุษย์แต่ละคนได้พัฒนาตนเอง ให้รู้เข้าใจความจริงมีเหตุผลและสามารถดำเนินวิธีการต่างๆที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยดี มีสันติสุข นอกจากมีปัญญาความสามารถแล้วแต่ละคนต้องมีจิตที่ปรารถนาดีต่อกันจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้”(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น. ๓๕) ดังนั้นวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์จึงเป็นสังคมที่เปิดโอกาสที่ดีที่สุดที่จะให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตนและร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคม จะเห็นได้ว่า พระพรหมคุณาภรณ์มุ่งประโยชน์ของบุคคลควบคู่ไปกับผลประโยชน์ของสังคมซึ่งต่างจากแนวคิดของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มุ่งประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก

๖. สรุป

ผลสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตย ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ สังคมประชาธิปไตยจะเข้าถึงจุดหมายที่แท้จริงได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน ประชาชนจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่ โดยได้รับการศึกษาพัฒนาที่ถูกต้อง ดังพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “ประชาธิปไตยจะประสบผลสำเร็จได้ คุณภาพของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน(พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),๒๕๔๒,น. ๔๓) นั่นหมายความว่าเมื่อประชาชนได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง รู้จักแยกแยะวินิจฉัยและเลือกกระทำการต่างๆโดยยึดถือธรรมเป็นใหญ่ เพราะถ้าไม่มีธรรมเป็นใหญ่แล้ว ประชาชนจะใช้ปัญญาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้ ดังนั้นประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์จึงเป็นระบบที่จัดสรรค์สังคมเพื่อให้เกิดโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สูงสุดโดยใช้เสรีภาพในการสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาตนเอง

เอกสารอ้างอิง

คาร์ล เอล. เบคเกอร์เขียน,ปรัชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน,เดชชาติ  วงศ์โกมลเชษฐ์แปล,กรุงเทพมหานคร :

สภาวิจัยแห่งชาติจัดพิมพ์.๒๕๐๖

ชัช  กิจธรรม,ประชาธิปไตยและสังคมนิยม : วิวัฒนาการของเอกภาพแห่งหลักการมนุษยนิยม

                ,กรุงเทพมหานคร : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๗

พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย,กรุงเทพมหานคร :   

              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๓

พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต),การศึกษาวิวัฒน์หรือวิบัติในยุคโลกไร้พรมแดน,กรุงเทพมหานคร :

มูลนิธิพุทธธรรม,๒๕๔๒

______________, การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิก จำกัด

              ,๒๕๔๒

______________,พุทธศาสนากับชีวิตและสังคม กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภาจัดพิมพ์,๒๕๔๐

______________, การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน, กรุงเทพมหานคร : สหธรรมิก จำกัด,๒๕๔๒

_____________, กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย,นิตยสารพุทธจักร,ฉบับที่ ๑๒ ธันวาคม

 ๒๕๔๑

_____________, กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย,นิตยสารพุทธจักร,ฉบับที่ ๑ มกราคม

                ๒๕๔๒

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.  ปยุตโต), ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ,กรุงเทพมหานคร :

              มูลนิธิพุทธธรรม,๒๕๔๙

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,ปรัชญาการเมือง,กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,๒๕๓๓

Edwards Paul, The Encyclopedia of Philosophy Vol. 1.3-4, New York : A.S.A Macmmill, Inc.,1972

Phra Bramgunabhorn(P.A.  Payutto), No DHAMMADHIPATEYYA NO DEMOCRACY ,Thailand : 

University,2010

 

ประวัติผู้เขียน

อาจารย์โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา(ปรัชญาและศาสนา) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

หมายเลขบันทึก: 564489เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2014 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2014 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ครับ

มีเรื่องยาวให้อ่านด้วย

ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท