การประชุมเชิงปฏิบัติการวิสัญญีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2557


เทคนิคการดมยาในผู้สูงอายุ : Low Dose Slow Flow

ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติการวิสัญญีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2557 ใน theme “ผู้สูงวัยไม่ใช่ปัญหา Geriatric patient & Anesthesia service team” ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2557 ณ อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 ขอเล่าเรื่องที่ฟัง พอสังเขปดังนี้

 

... ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาทุกระบบของร่างกาย โรคต่างๆที่เป็นและการตอบสนองต่อยาของการระงับความรู้สึก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการดูแลทั้งก่อนผ่าตัด ในห้องผ่าตัด และหลังผ่าตัด ดังนั้นทีมวิสัญญีและทีมสาขาวิชาชีพจึงจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ...

บรรยากาศการประชุม

 

 

 (ภาพบนขวา) ศ.นพ.เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ปาฐกถาเกียรติยศ "ชาววิสัญญีเดินหน้่า สู่ประชาคมอาเซียน"

โรคที่พบบ่อยและยาที่เกี่ยวข้อง

ในความเป็นจริงผู้สูงอายุมักเป็นโรคมากกว่า 1 โรค โรคที่พบบ่อย ประกอบด้วย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของโรคก็ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้น การประเมินความพร้อมและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ต้องกระทำโดยละเอียด กรณีเสี่ยงสูงหรืออาจเกิดความยากในการตัดสินใจควรพูดคุย ปรึกษาในทีมรักษาดูแลโดยละเอียด นอกจากนั้นยังต้องประเมินสภาพจิตใจทั้งของผู้ป่วยและญาติอีกด้วย

 

 

 

คุณนิ่มนวล มันตราภรณ์ เลขาธิการวิทยาลัยการพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย พูดคุยกับ ศ.นพ.เทวารักษ์ วีระวัฒกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

การระงับความรู้สึกและภาวะแทรกซ้อน

เทคนิคทางวิสัญญีมีความสำคัญในการตัดสินใจกระทำภายใต้ความปลอดภัย ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย และที่สำคัญคือ ความชำนาญของผู้ดูแลเอง และไม่ว่าจะเลือกยาหรือเทคนิคใด อย่าลืมลดขนาดของยา และใจเย็นที่จะรอดูผลของฤทธิ์ยา การลดขนาดของยาช่วยลดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย

ภาวะอุณหภูมิกายต่ำพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบช้า ติดเชื้อง่าย และอาจพบความผิดปกติของหัวใจตามมา

นอกจากนั้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่นสับสน และสูญเสียความทรงจำช่วงสั้นๆได้ การฟื้นสภาพจากสภาวะทางสมองที่เกิดเป็นไปได้ช้า การลดขนาดยาที่ให้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะรู้สึกตัวระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกได้ การนอนท่าเดียวนานๆ หรือจัดท่าไม่ถูกต้องขณะผ่าตัด อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทนั้นๆ

การเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจพบได้สูงถึงร้อยละ 40 ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย hypoxemia, lung atelectasis, hypoventilation, aspiration หรือ pneumoniaเป็นต้น แต่สามารถป้องกันหรือ ลดความเสี่ยงได้หากมีการประเมินและเตรียมให้พร้อม รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิด

ส่วนภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจพบได้ในลำดับรองลงมา เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น แต่กระนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็จะเป็นภาวะรุนแรง

ความปวดในผู้สูงอายุมักรุนแรง เพราะระยะเริ่มปวด ผู้สูงอายุจะรับรู้ได้ช้า และกว่าจะรับรู้ความปวดก็อยู่ในระดับปวดรุนแรงแล้ว

...

 

 ที่สรุปมา เป็นเพียงเรื่องที่ว่ากัน ตามทฤษฎี

แต่เวลาปฏิบัติจริงควรระวังให้มาก เพราะการดูแลที่เป็นทีม เป็นที่มาของการส่งต่อผลงานบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ได้ เช่น “คิดว่าผ่าตัดคราวนี้ผล lab น่าจะดี เพราะคราวก่อนดูดี” หรือ “คุณตา ดูดีนะ” ประเด็นเหล่านี้ แอบซ่อนความประมาทไว้ จากประสบการณ์ส่วนตัว พบมานักต่อนัก ที่ปรากฏความผิดพลาดของการประเมิน หรือการให้ข้อมูลว่าดี ไม่มีอะไร จากการไม่ตรวจประเมินเลย ก็มี

... ดูดีๆ จะได้ไม่ต้องยืนลุ้น ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ขณะเฝ้าระวัง เพียงเพราะเชื่อเพื่อนในทีม ว่า “ดูดี”

(ที่มา : ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2557)

 

(ขอขอบคุณ การ์ตูนดุ๊กดิิ๊กจาก http://www.gotoknow.org/posts/268143)

หมายเลขบันทึก: 564258เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2014 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2014 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท