การสร้างความตระหนักของจังหวัดต้นแบบในโครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัดของ สสค.


       ตามที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ได้สนับสนุนให้จังหวัดต้นแบบ 10 จังหวัดทั่วประเทศโดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมคิดร่วมทำเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในจังหวัดภายใต้โครงการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ระดับจังหวัด ซึง่แต่ละจังหวัดได้ดำเนินการกันมาร่วม 2 ปีแล้ว โดยเราได้มีการถอดบทเรียนในหลายๆมิติจากการดำเนินงานโครงการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
                       
     มิติหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการคือ "การสร้างความตระหนัก"  บทเรียนที่ผมลองวิเคราะห์ในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิติดตามการดำเนินงานโครงการ และจากการวิเคราะห์ของแต่ละจังหวัด ผลการดำเนินงานที่ปรากฏชัดเจนใน 10 จังหวัดต้นแบบ เกี่ยวกับการสร้างความตระหนัก พบว่า     
                      
         1. ในระยะเตรียมการ คณะกรรมการฯระดับจังหวัดได้ดำเนินการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการยกระดับการเรียนรู้ โดยประชุมภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาของเด็กและเยาวชนแล้วร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัด  ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดเป็นเวทีใหญ่  บางจังหวัดก็เน้นไปที่การประชุมในกลุ่มครูสอนดี เช่น จังหวัดชัยภูมิ กำแพงเพชร เพชรบุรี ลำพูน  บางจังหวัดมีการจัดเป็นเวทีใหญ่และเวทีย่อยหลายๆครั้งและเน้นลงในพื้นที่ระดับปฏิบัติ เช่น จังหวัดยะลาเน้นไปที่เครือข่ายและศูนย์การทำงานภาคส่วนต่างๆครอบคลุมทุกอำเภอ จังหวัดสุรินทร์เน้นไปที่ปัญจภาคีทุกภาคส่วน จังหวัดภูเก็ตใช้การปลุกกระแสให้เกิดความตระหนักผ่านทางคณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัด จัดตั้งมูลนิธิ ผ่านทางกิจกรรมระดมทุน ใช้ผู้นำนักเรียนและเยาวชน จังหวัดน่านจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักอย่างเป็นระบบโดยแบ่งพื้นที่เป็นน่านตอนเหนือและน่านตอนใต้ จังหวัดจันทบุรีมีการกำหนดเป็นกิจกรรมตั้งคณะทำงานจัดทำวิสัยทัศน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นต้น
         2. การใช้ข้อมูลสารสนเทศของเด็กและเยาวชนมาเป็นฐาน นำเสนอให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนกและเกิดความตระหนัก ซึ่งทุกจังหวัดก็พยายามใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการจำเป็นทั้งสิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นจริง น่าเชื่อถือของข้อมูลที่แต่ละจังหวัดนำมาเสนอ เช่น จังหวัดสุรินทร์มีระบบข้อมูลสารสนเทศเรื่องเด็กออกกลางคันที่ชัดเจนจนทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักตรงกันที่จะมาแก้ปัญหาร่วมกันเรื่องนี้ จังหวัดอำนาจเจริญก็ใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศจุดประกายแนวคิดให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันสะท้อนปัญหาเด็กและเยาวชนจนเกิดความตระหนักและยินดีเข้ามาร่วมทำงานแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่มากขึ้น  จังหวัดยะลามีระบบข้อมูลสารสนเทศที่ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักและร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัดเน้นไปที่การส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย เป็นต้น รวมทั้งการคืนข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักและร่วมแก้ปัญหาด้วย
         3. บทบาทของผู้นำในแต่ละจังหวัดมีอิทธิพลสูงต่อการสร้างความตระหนักและความสำคัญของการยกระดับการเรียนรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ จังหวัดใดที่ประธานคณะกรรมการฯมีภาวะผู้นำ มีบารมีเป็นที่เคารพศรัทธา มีความชัดเจน เสียสละทุ่มเทอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีผู้นำหน่วยงานระดับจังหวัดเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็มีแนวโน้มทำให้หน่วยปฏิบัติระดับพื้นที่เห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักทุ่มเทดำเนินการอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น  จังหวัดน่าน  ภูเก็ต ยะลา สุรินทร์ เป็นต้น  บางจังหวัดแม้ผู้นำในจังหวัดไม่ได้ลงมาเป็นผู้นำด้วยตนเองมากนักแต่คณะทำงานในแต่ละกิจกรรมก็ทุ่มเททำงานจนเกิดผลสำเร็จแล้วเกิดความตระหนักก็มีบ้างแต่ก็ไม่สามารถบูรณาการความตระหนักให้เกิดทุกภาคส่วนได้เต็มที่ 
          4. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและเผยแพร่ผลการดำเนินการสู่สาธารณะชนผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดงาน นิทรรศการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของแต่ละจังหวัดเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานโครงการ เป็นวิธีการสร้างความตระหนักที่ทุกจังหวัดนำมาใช้ จังหวัดที่สามารถดำเนินการได้ดีและประสบผลสำเร็จที่ชัดเจน เช่น  จังหวัดน่าน  ชัยภูมิ  ยะลา  ภูเก็ต อำนาจเจริญ ลำพูน กำแพงเพชร เป็นต้น รวมทั้งการกระตุ้นด้วยเรื่องที่โดนใจ หรือโดยกลุ่มเยาวชน เช่น เด็กตงห่อที่ภูเก็ต เด็กจันทน์สานฝันสู่อาเซี่ยน One Child OK ที่กำแพงเพชร  สภาเด็กและเยาวชนหัวตะพาน อำนาจเจริญ เป็นต้น     
         5.การนิเทศ ติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จังหวัดที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานนิเทศติดตามอย่างเป็นระบบ เช่น จังหวัดน่าน  เพชรบุรี เป็นต้น  นอกจากนี้คณะติดตามผลการดำเนินงานระดับจังหวัดจาก สสค.ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักด้วย
                          

หมายเลขบันทึก: 563972เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2014 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท