ข้อสังเกต : ๔ งดออกเสียงทำไม?


     อ่านข่าวศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พออ่านแล้วก็แปลกใจเพราะว่าทำไมมติประเด็นหลังจึงเป็น 6 ต่อ 2 ก็พบว่ามีตุลาการท่านหนึ่ง งดออกเสียง โดยให้เหตุผลว่า “ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งมีผลทำให้ (ร่าง) กฎหมายฉบับนี้ตกไป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายอีก”

     ผมเองอ่านข่าวแล้วก็ค่อนข้างจะแปลกใจ ว่าทำไมลงมติแปลกๆ เหตุที่ว่าแปลกเพราะดูเหมือนว่าจริงๆ การพิจารณาประเด็นดังกล่าว ถ้าผมจะคิดแบบตุลาการท่านที่งดออกเสียงว่ามตินั้นเป็นเอกฉันท์ไปแล้วไม่ต้องพิจารณาประเด็นถัดมาอีก เพราะสุดท้ายผลเหมือนกันคือ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตกไป ถ้าคิดแบบนี้ผมก็ว่าทำได้นะ แต่การเรียงลำดับประเด็นการพิจารณาจะต้องแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ต้องพิจารณาก่อนว่ากระบวนการในการตรากฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วจึงค่อยพิจารณาประเด็นว่าเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

     ทำไมจึงต้องเรียงประเด็นเช่นนี้หรือ ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๕๔ วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป” และมาตราเดียวกัน วรรคสี่ บัญญัติว่า “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตาม มาตรา ๑๕๐ หรือมาตรา ๑๕๑ แล้วแต่กรณี ต่อไป”

     จากที่ยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มานั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นต้องพิจารณาอยู่ด้วยกัน ๒ ประเด็นหลัก และ ๑ ประเด็นย่อย (ถ้ามี) กล่าวคือ

     ประเด็นแรก ศาลควรพิจารณาก่อนว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหตุที่ต้องพิจารณาประเด็นนี้ก่อนเพราะถ้ากระบวนการไม่ถูกต้องเสียแล้ว จะมีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นอันตกไปในทันที แล้วก็จะเป็นดังความเห็นที่ตุลาการฯ ที่งดออกเสียงให้เหตุผลว่าทำไมจึงงดออกเสียง เพราะเรื่องมันจบไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องหยิบอีกประเด็นมาพิจารณาอีก

     ประเด็นที่สอง ศาลควรพิจารณาต่อว่าเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลจะต้องเอาเนื้อหารายมาตรามาพิจารณาแล้ววินิจฉัยลงไปว่าเนื้อหาในมาตราใดหรือหลายมาตราขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

     ประเด็นสุดท้าย (ถ้ามี) คือหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีเนื้อหาในมาตราใดหรือหลายมาตราขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลจะต้องพิจารณาต่อไปว่า เนื้อหาหรือข้อความดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นหรือไม่ หากเป็นสาระสำคัญก็จะมีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ แต่หากไม่เป็นสาระสำคัญ ก็จะมีผลเพียงข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป หาได้ทำให้ร่างพระราชบัญญัติตกไปทั้งฉบับไม่

     ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อสังเกตในการตั้งประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยความเป็นจริงศาลรัฐธรรมนูญอาจได้มีการกำหนดประเด็นไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หรืออาจจะกำหนดประเด็นได้ดีกว่าที่กล่าวมานี้เสียอีก ข้อเท็จจริงนี้ผมไม่อาจทราบ เพราะเป็นการตั้งข้อสังเกตจากข่าวเท่านั้น ในความเป็นจริงผมยังคงรออ่านคำวินิจฉัยในส่วนตนของตุลาการแต่ละท่าน และคำวินิจฉัยกลางต่อไป

     ท้ายที่สุดผมขอตั้งข้อสังเกตอีกเล็กน้อยว่า ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาและลงมติในทุกๆ ประเด็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่งของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเพื่อให้รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นศาลที่ต้องทำหน้าที่วางหลักการสำคัญในการตีความรัฐธรรมนูญอีกด้วย (ผมไม่ได้บอกว่ามีเพียงศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญนะครับ แต่ไม่ขออธิบายเพราะจะเกินเลยไป) ด้วยเหตุที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ผูกพันเฉพาะแค่คู่กรณีเหมือนดังกรณีศาลอื่น แต่ผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นการวินิจฉัยในทุกข้อเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความกระจ่างในการให้เหตุผลและยังถือได้ว่าเป็นหลักการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วางให้แก่องค์กรอื่นในการตีความรัฐธรรมนูญอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 563758เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2014 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2014 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...อ่านแล้วได้ข้อคิด ข้อสังเกตที่มีประโยชน์นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท