แพ้ได้ แต่ยอมแพ้ไม่ได้


เรื่องบางเรื่องอาจจะแพ้ได้ แต่ "ยอมแพ้ไม่ได้"

นักกีฬากระโดดไกล จะกระโดดไปได้ไกลมากที่สุด จะต้อง "ถอย" ก่อน เพื่อให้พื้นที่ถอยนั้น กลายเป็นพื้นที่ส่งแรงให้ไปไกลยิ่งกว่าเดิม
นักกีฬากระโดดน้ำ ก่อนจะกระโดด จะต้องโถมกดสปริงบอร์ดให้ลงต่ำเสียก่อน ยิ่งกดลงต่ำมากเท่าไร สปริงจะยิ่งดีดกลับให้ลอยตัวสูงมากขึ้นเท่านั้น
จะฟันดาบให้ได้แรง ต้องเงื้อเสียก่อน
จะตีกอล์ฟได้ไกล ต้องมีวงสวิงก่อน
เนลสัน แมนเดลา ติดคุกอยู่ 26 ปี กลับมาได้เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศอาฟริกาใต้ และได้กลายเป็นรัฐบุรุษของโลก ท่านได้ "สะสม" อะไรมาในระหว่างที่ท่าน "พ่ายแพ้" ถูกจำขังในช่วงนั้น ท่านทำได้อย่างไร?

การถอย การ setback หรือแม้กระทั่งการผิดพลาด พ่ายแพ้ สามารถกลายเป็นการ "สะสมพลังงานศักย์" เพื่อให้มีพลังงานมากขึ้นก็ได้ หรืออาจจะกลายเป็นการกัดกินพลังงาน เพราะเกิดความท้อแท้ เกิดการหมดหวังไปก็ได้ ดังนั้นที่น่าสนใจมากก็คือ จะเปลี่ยนเป็นอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับอะไร?

ทัศนคติในการมองความพ่ายแพ้ ผิดหวัง ผิดพลาดในชีวิต จะเป็นตัวกำหนดว่าคนๆหนึ่งจะเป็นใครในที่สุด ความสามารถในการนำเอา "ประสบการณ์ชีวิต" ทุกรูปแบบให้กลับกลายมาเป็น "ต้นทุน" หรือ "สปริงบอร์ด" ส่งพลังงานให้กับชีวิตที่เหลืออยู่นั้น เป็น choice ที่คนเราแต่ละคน "ต้องเลือกเอง" คนอื่นจะเลือกให้ไม่ได้

คนที่ล้มเยอะๆมาในชีวิต และยังอยู่ต่อไปได้อีก จึงมักจะสะสมเรื่องแบบนี้เอาไว้ในตัว ตรงกันข้ามกับคนที่มี "ชีวิตง่ายๆ" ไร้อุปสรรค ไร้เรื่องราวที่ผิดหวัง ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่ำต่อเหตุการณ์ผิดพลาด ผิดหวัง และพ่ายแพ้ เมื่อเจอเข้าไปที ก็จะเริ่มท้อถอยอย่างรวดเร็ว หมดกำลังใจอย่างรวดเร็ว

การจะสร้างภูมิคุ้มกันนั้น ไมไ่ด้อยู่ที่ "ทำอย่างไรจะไม่แพ้ ไม่ผิดหวัง" แต่เป็นเรื่องของการสร้างทัศนคติว่า "เมื่อแพ้ หรือผิดหวัง ควรจะทำอย่างไรต่อไป" มากกว่า เพราะโลกนี้ไม่ใช่ perfect world แต่เป็น imperfect world เป็นโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ ที่เหมาะสำหรับคนที่ถูกออกแบบมาให้ปรับตัวกับความไม่สมบูรณ์ มากกว่าเหมาะสำหรับคนที่หวังจะอยู่แต่ในความสมบูรณ์แบบเท่านั้น

ประเด็นสำคัญก็คือ สำหรับชีวิตของเราเองนั้น มีอะไรที่เราจะขีดเส้นไว้ว่า "เรื่องนี้ เราต้องไม่ยอมแพ้ แต่จะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ" ไหม? เมื่อนั้น สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมา เราก็จะรับได้หมด ถ้าชนะ เราก็จะไม่หลงระเริง เพราะเราจะต้อง keep fighting สู้ต่อไปไม่อยู่เฉย ถ้าแพ้ เราก็จะไม่ท้อแท้ เพราะความหายนะจากการไม่ทำอะไรนั้นมากมายมหาศาลกว่าความรู้สึกหมดหวังของเรา ในตอนนี้ และด้วยจิตใจที่ "จะไม่ยอมแพ้" นี้เองที่ทรงพลังกว่าการ "แพ้ไม่ได้"

"ยอม/ไม่ยอม" เป็น will power เป็นความมุ่งมั่น ความศรัทธาต่ออะไรบางอย่าง ที่สำคัญยิ่งไปกว่าความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ของร่างกายหยาบของเราเอง

สงครามบางสงคราม จะเป็นสงครามระยะยาว อย่ามักง่ายมองหาทางลัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียสละต้นทุนสำคัญไป ได้แก่ "ความเป็นมนุษย์" เพราะในการเสาะแสวงหาทางลัดนั้น มักจะหมายถึงการใช้ความรุนแรง ใช้ความเกลียดชัง ใช้วาทกรรมแห่งความกลัว มาผลักดัน ยุแยง เพื่อหลอกล่อจิตใจที่เหนื่อยล้าเข้าไปตะครุบความ "ง่าย/มักง่าย" นี้ไป

มาหัด "แพ้ได้ แต่ไม่ยอมแพ้" กัน เพื่อจิตที่ทรงพลัง เปี่ยมความมุ่งมั่น

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
๙ นาฬิกา ๓๓ นาที วันอังคารที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗
วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง

คำสำคัญ (Tags): #แพ้#ยอมแพ้
หมายเลขบันทึก: 563627เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนรับรู้ว่าแพ้ คงมีปฏิกิริยาเชิงลบเกิดขึ้น จะเล็กใหญ่ สั้นยาวแค่ไหน แล้วแต่...

ตอนยอมรับว่าแพ้ จึงสำคัญ

แต่ตอนบอกตนเองว่าไม่ยอมแพ้นั้นสำคัญยิ่ง

หากชัดเจนว่า ชอบธรรมแล้ว การลุกขึ้นสู้อย่างไม่ยอมแพ้ จึงมีคุณค่า

.

ขอบคุณบทความดีๆ ที่ให้โอกาสทบทวนตนเองครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท