ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรพ์ _ ๐๑ : อาสาไปดูกับครูทรงศักดิ์


วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมรับอาสาไปเยี่ยมโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรพ์ หนึ่งในโรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไปร่วมชมผลงานของนักเรียนที่โรงเรียนจัดขึ้นพร้อมกันทั้งโรงเรียน
 
ผมเดินทางไปถึงหลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการประมาณ ๑ ชั่วโมง ทราบว่าในพิธีฯ มีการมอบรางวัลให้กับสภานักเรียนซึ่งได้รับรางวัลระดับประเทศ นับเป็นความภูมิใจยิ่งของทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ผมแจ้งท่าน ผอ. ว่า อดีตประธานนักเรียนที่ไปสมัครเข้าร่วมโครงการเด็กดีมีที่เรียน ผ่านการคัดเลือกในสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์  ท่านบอกผมว่านักเรียนคนเดียวกันนี้ผ่านการสอบหลายที่ หนึ่งในนั้นคือวิทยาลัยพยายบาลแห่งหนึ่ง  เกือบบ่ายโมง ผมพอดีเดินสวนทางเจอนักเรียนคนนั้นพอดี ผมทักทันทีว่า ยินดีด้วยนะ เราผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน.....  แล้วจะไปรายงานตัวหรือยังครับ...  ได้รับคำตอบว่าไม่ไปเรียนที่ มมส. แล้ว เพราะรอรับทุนเรียนพยาบาล...  ใจจริงก็ยินดีด้วย แต่การไปสมัคร  ผ่านแล้วไม่ไปเรียนแบบนั้น ทำให้เพื่อนของเขาเสียโอกาส (เพราะได้โควต้าเพียงโรงเรียนละคนต่อสาขาเท่านั้น) และยังทำให้น้องๆ เสียโอกาสด้วยในปีถัดไป ตามกติกาที่ได้วางไว้ ....
 
ผลงานของนักเรียนในปีนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ซึ่งแตกต่างไปตามช่วงชั้นและระดับชั้น กลุ่มที่ ๑) เป็นการนำเสนอผลงานจากการทำโครงงานจากรายวิชาค้นคว้าอิสระ (Independent Study; IS)  ซึ่งแม้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนมีอิสระในการกำหนดหัวเรื่อง แต่ลักษณะของกระบวนการยังคงได้รับอิทธิพลจากความเชี่ยวชาญของอาจารย์ที่รับผิดชอบแต่ละระดับชั้น ม.๖/๔  กลุ่มสาระคอมพิวเตอร์ ม.๒ กลุ่มสาระวิชาการงานพื้นฐานอาชีพที่ปีนี้เน้นด้านอาหารพื้นถิ่น เป็นต้น  กลุ่มที่ ๒) เป็นการนำเสนอผลการถอดบทเรียนของนักเรียนระดับชั้น ม.๑ และ ม.๔  ที่ได้รับมอบหมายให้เลือกหัวเรื่องที่น่าสนใจ ไปศึกษาแล้วถอดบทเรียนให้เข้ากับหลัก ปศพพ.  ... ผมเห็นด้วยว่าหากทำกันจริงจังและต่อเนื่องๆ นักเรียนจะเข้าใจหลัก ปศพพ. เพื่อการศึกษา ได้อย่างถูกต้อง ไม่เนิ่นช้าแน่นอน...
 


วิธีการและขั้นตอน คือ แบ่งกลุ่มนักเรียนตามระดับช่วงชั้น แยกสถานที่นำเสนอกันอย่างชัดเจน แต่งตั้งคณะอาจารย์เป็นกลุ่มๆ ละ ๔-๕ คน ตามที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแต่ละช่วงชั้น ทำหน้าที่ประเมินผลตามแบบฟอร์มที่กำหนดขึ้นและซักถาม หลังจากที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนำเสนอประมาณ ๑๐ นาที  โดยอาจารย์แต่ละคนรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่มของนักเรียน

จากการสุ่มร่วมกับอาจารย์จากระดับชั้น ม.๔ ม.๖ ม.๓ ผมมีข้อความเห็นที่อยากสะท้อนทั้งเชิงชื่นชมและวิพากษ์ ดังนี้ครับ

๑) ผมเห็นชัดถึงความมุ่งมั่น จากการลงมือขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจังของโรงเรียน  ทราบว่า ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางโรงเรียนได้เรียนเชิญ ทีมขับเคลื่อนฯ จากโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด มาฝึกอบรมการ "ถอดบทเรียน"  และเป็นที่มาของการนำเสนอ "ผลการถอดบทเรียน" ในวันนี้ .... ผมแปลกใจว่า ทำไมโรงเรียนไม่เชิญทีมขับเคลื่อนฯ จากเชียงขวัญมาช่วย "สะท้อน" ในวันนี้ .....

๒) เห็นการให้ความสำคัญของ "ความสามัคคี"  ผมถามนักเรียนหลายกลุ่มว่า "อะไรที่ต้องมี ที่จะทำให้งานของพวกเขาสำเร็จ" พบว่าตอบตรงกันทุกกลุ่มเป็นคำแรกว่า "ความสามัคคี".... คำถามสำหรับครูคือ อะไรคือวิธีที่ "ความสามัคคี" เกิดขึ้น เกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร ...ทั้งหมดนี้ นักเรียนมักไม่ค่อยมีคำตอบ...

๓) ความเข้าใจของนักเรียนส่วนใหญ่ ที่ได้สัมผัส อยู่ในระดับ "มูลค่า" "ความรู้" กำลังจะเข้าสู่ขั้น "หลักคิด"... ยังไม่ถึงระดับ นำไปใช้ในการดำเนินชีวิต จนเกิดผลระดับเปลี่ยนจิตใจตนเอง... (อ่านระดับความเข้าใจ ที่ผมสังเคราะห์ไว้ จากประสบการณ์ ที่นี่ครับ)

๔) สิ่งที่นักเรียนควรได้นำเสนอหรือแลกเปลี่ยน คือ "ประสบการณ์" ไม่ใช่เพียง ผลจากการคิดหรือผลจากการจำ แต่ควรเป็นผลจากการทำแล้วนำมาวิเคราะห์ และผลจากการสังเคราะห์ความรู้ที่บูรณาการในตนเอง.... เป้าหมายสำคัญคือ "เรียนรู้" ไม่ใช่ "นำเสนอ" ดังนั้น ควรต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่าเรื่อง กระบวนการทำงาน การแก้ปัญหา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น พูดถึงความยั่งยืนหรือเปลี่ยนแปลง โดยใช้หลัก ปศพพ.

๕) คงต้องมาคิดกันต่อไปครับ ว่า ทำอย่างไร จะทำให้ "กิจกรรม" ไม่ใช่เพียง "กิจกรรม หรือ พิธีกรรม" แต่นักเรียนเข้าใจและเข้าถึง "คุณค่า ความหมาย" จนเกิดการ "พัฒนา" ยกระดับจิตใจ จิตวิญญาณให้สูงขึ้น....


 


 



ดูรูปทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 563615เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 02:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านถ้อยคำ และรูปประกอบมีความสุขมากครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท