ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๓. ชีวิตที่มีความหมาย


 

          วันที่ ๑๑ ก.พ. ๕๗ มีคนมาสัมภาษณ์เรื่องการพัฒนาครู    ในโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๑” 

          ผมเสนอว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการพัฒนาครู คือการทำให้ชีวิตการเป็นครูเป็นชีวิตที่มี ความหมาย     เป็นชีวิตที่เมื่อสิ้นสุดความเป็นครูอย่างเป็นทางการ มองย้อนหลังสิ่งที่ได้ทำมาในชีวิต รู้สึกปลาบปลื้มใจ    ชีวิตครูมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีเช่นนั้นได้ทุกคน    แต่ระบบการพัฒนาครูที่ใช้มาในช่วง ๔๐ - ๕๐ ปีที่ผ่านมาเดินผิดทาง     ทำให้ชีวิตครูตกอยู่ในสภาพไร้ความหมาย ไร้ความภูมิใจ     เพราะผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาตกต่ำ  และมีเยาวชนที่มีปัญหาความประพฤติเพิ่มขึ้นมาก

          ครูตกเป็นเหยื่อของระบบที่ผิดพลาด    อาชีพที่ตามธรรมชาติเป็นอาชีพที่มีเกียรติสูง และเป็นชีวิตที่มีความหมาย    กลับตรงกันข้าม

          ผมจึงเสนอต่อท่านที่มาสัมภาษณ์ว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาครูคือ (๑) ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่มีคุณภาพสูง ของศิษย์    และ (๒) ชีวิตที่มีความหมายของครู

          ในโลกยุคปัจจุบัน Learning Outcome ไม่ใช่ความรู้    ไม่ใช่รู้วิชา    แต่ต้องเลยไปสู่ทักษะในการใช้ วิชาความรู้ในชีวิตจริง     และทักษะที่สำคัญอื่นๆ ต่อการดำรงชีวิตที่ดี    ที่เรียกรวมๆ กันว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ครูต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    และต้องเอื้ออำนวยให้ศิษย์พัฒนาทักษะชุดนี้ ขึ้นในตัว     โดยที่ครูไม่เน้นสอน ไม่เน้นถ่ายทอดความรู้  

          สถาบันพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา  ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เราเรียกชื่อสั้นๆ ว่าสถาบันวัดไร่ขิง นั้น    ถือได้ว่าทำงานผิดพลาดมาตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี    คือพัฒนาครู แบบผิดๆ    จึงมีผลทำลายชีวิตครู ให้กลายเป็นชีวิตที่ไม่มีความหมาย     และทำให้ผลงานของครูมีคุณภาพต่ำ

          กล่าวอย่างนี้ ไม่ยุติธรรม     เพราะความตกต่ำของครูอยู่ที่ระบบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหลัก    รวมทั้งอยู่ที่วิธีการผลิตครูของคณะศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ ด้วย

        ที่กล่าวหาไม่ได้ต้องการตำหนิติเตียน    แต่ต้องการให้มีการแก้ไข    เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในด้านปัญญา

          ที่จริง ไม่ใช่ว่าชีวิตของครูไทยทั้ง ๖ แสนคน ไม่มีความหมาย     เรายังมีครูเพื่อศิษย์ ที่ทำหน้าที่ครู อย่างมีความสุข เอาจริงเอาจัง และเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง     ครูเหล่านี้คือคนที่ชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า น่าภาคภูมิใจ

          แต่ครูแบบนี้มีน้อยไป     และอยู่อย่างแปลกแยก ไม่เป็นกระแสหลัก

          การพัฒนาครู ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษาครู หรือก่อนหน้านั้น    โดยต้องไม่หลงเน้นเฉพาะวิชา หรือความรู้     ที่ยิ่งใหญ่กว่าความรู้ คือคุณค่าภายในจิตใจ     เราต้องการครูที่รักเด็ก พร้อมที่จะช่วยเป็นกำลังใจ ให้ศิษย์ฟันฝ่าความยากลำบากของการเรียน     เพราะการเรียนที่ให้ปัญญาสูงนั้น ไม่มีทางราบรื่นสะดวกสบาย อยู่ตลอดเส้นทาง     นักเรียนนักศึกษาต้องได้ฝึกเผชิญความยากลำบาก     เพราะนี่คือบทเรียนจริงที่จะต้องเผชิญ ต่อไปในชีวิตจริง     ครูที่ช่วยให้ศิษย์ได้เรียนรู้ฝึกตนเป็นคนเต็มคน คือครูที่มีคุณค่า

          การพัฒนาครูที่แท้จริง จึงต้องผูกพันอยู่กับการทำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์     “ผลงาน” ของครู คือศิษย์     ไม่ใช่กระดาษ อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 563334เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2014 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2014 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอสนับสนุนแนวคิดดีๆแบบนี้ครับ

ต้องยกเลิกระบบประเมินที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยครับ

รวมบุคคลที่คิดแบบนี้ เสนอความเห็น เกี่ยวกับการประเมินต่าง ๆ ที่ทำให้ครูต้องทิ้งการสอน ทำเอกสาร มาพูดคุยกันเพื่องด ลด การประเมินให้เหลือน้อยที่สุด เพราะ ปีหนึ่ง ๆ ครู ต้องทำเอกสารเพื่อการประเมินโรงเรียนและประเมินตัวอครูเอง มากมาย เช่น ประเมินผู้บริหารดีเด่น ประเมินโรงเรียนมีคุณภาพ ประเมินโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ดีเด่น ประเมินเพื่อขอรับโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง (แต่ทุ่มเงิน ทุ่มทุนทำเอกสารและสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้มีตามเกณฑ์ประเมิน .... ฯลฯ นอกจากนั้น ประเมินเพื่อขอรับรางวัล (ตนเอง)ดีเด่น ครูเกียรติยศ ครูผู้มีอุดมการณ์ ครูปฐมวัยดีเด่น ....ฯลฯ นอกจากนั้นครูต้องทำงานธุรการต่าง ๆ ของโรงเรียน แล้ว ครูจะได้สอนวันละกี่นาที

ในความคิดเห็นส่วนตัว(เฉพาะโรงเรียนเท่านั้น)นะคะ...การประเมินฯอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ต้องมีต้องทำ และต้องมีเอกสารเผยแพร่ จะประเมินฯด้วยการมอง การพูด ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วนะคะ...สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือวิธีการประเมินฯมากกว่า...ผู้ประเมินฯ จะต้องเป็นฝ่ายจัดทำเอกสารเอง อยากประเมินฯอะไร?ก็เข้ามาศึกษา มาแนะนำ กันเป็นระยะๆทั้งปีการศึกษา และจัดนำเป็นเอกสารเผยแพร่ของหน่วยงาน/องค์กรการประเมินฯต่อไป ...ทุกวันนี้ทุกหน่วยงาน/ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา(โรงเรียน) จะโยนภาระงานให้โรงเรียน(ครู) ทำหมด แม้แต่เอกสารการประเมินฯยังให้โรงเรียนเตรียมเอาไว้ให้เป็นชุดๆตามจำนวนคณะกรรมการที่จะมาประเมินฯ ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท