ความตายออกแบบได้


ความตายออกแบบได้

 

บ่ายนี้นัดกับน้องสาวและหลาน 2 คนว่าจะไปงานเทศกาลชิมอาหารทะเลที่สมุทรสาคร ซึ่งจัดโดย ททท. แต่ก็พลาดจนได้ เพราะน้องสาวติดธุระไปด้วยไม่ได้

 

เลยคิดหากิจกรรมอื่นทำ นึกขึ้นได้ว่า 2-3 วันก่อน เปิดเว็บเข้าไปดูว่าเสาร์-อาทิตย์นี้ ที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ มีกิจกรรมอะไรบ้าง เหลือบไปเห็นกิจกรรม ความตายออกแบบได้ จัดโดยเครือข่ายชีวิตสิกขา วันนี้เลยคลิกเข้าไปดูใหม่ จึงตัดสินใจว่าบ่ายนี้จะลองไปเข้ากิจกรรมนี้ดู ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป ไม่ได้จองล่วงหน้า ไปถึงโต๊ะลงทะเบียน 10 นาทีก่อนบ่ายโมง ยังมีที่ว่างให้เข้าร่วมได้ แอบนึกดีใจเล็กๆ และแล้วก็ไม่ผิดหวังเลยที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ กะจากสายตาดูแล้วมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

 

ครูดล (ธนวัชร์ เกตน์วิมุต)  ประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา เป็นวิทยากร กิจกรรมนี้จัดที่ห้องนิพพานชิมลอง ชั้น 2 ครูดลบอกว่ากิจกรรมนี้ออกแบบให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ควรมีการเตรียมตัวเผชิญไว้ล่วงหน้า เริ่มต้นโดยฝึกเจริญสตินอนในท่าศพพิจารณาบทมรณานุสติยอมรับและเข้าใจความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลังจากนั้นฝึกภาวนาแบบคู่กับหนึ่งคำถามมหัศจรรย์ว่า ถ้าคุณมีชีวิตเหลือแค่ 3 วัน คุณอยากทำอะไรมากที่สุด โดยผลัดกันถามและตอบคำถามนี้ในเวลา 3 นาที ความรู้สึกตอนนั้นรู้ตัวว่าไม่มีอะไรเป็นห่วงอีกแล้ว ไม่คิดอยากทำอะไรเป็นพิเศษ คงดำเนินชีวิตตามปกติจนถึงวาระสุดท้าย

 

หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมที่ฉันชอบมากที่สุด ให้ฝึกตรวจสอบการยึดติด-ปล่อยวางที่มีต่อต้นทุนชีวิต โดยการแจกกระดาษสีต่างๆ 13 ใบ โดยใบแรกเป็นสีขาวใบเดียวแทนตัวเราเอง ให้เขียนชื่อหรือวาดรูปแทนตัวเราลงไป ถัดมาให้เลือกสีแทนคนที่เรารักที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่มาหนึ่งใบ แล้วเขียนชื่อลงไป  ฉันเลือกสีเหลือง แล้วเขียนชื่อตัวเองลงไป คิดว่าคนอื่นน่าจะเขียนชื่อคนใกล้ชิดมากกว่า ยังมีกระดาษเหลืองอีก 2 ใบ ครูดลบอกว่า ให้เขียนชื่อคนที่เรารู้สึกรักและห่วงใยรองลงมา ฉันเขียนชื่อน้องสาวและหลานสาวลงไป วางประกบไว้ข้างๆ จากนั้นให้เลือกกระดาษสีอื่นอีก 3 ใบ ฉันเลือกสีส้ม ครูดลให้เขียนงานอาชีพ หรือตำแหน่งปัจจุบันที่ภาคภูมิใจและยังดำรงตำแหน่งอยู่ 3 อย่าง เขียนลงไป จากนั้นฉันเลือกสีเขียวอีก 3 ใบ สำหรับเขียนทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ลงไปในกระดาษสีเขียวนั้น และ 3 ใบสุดท้ายเป็นสีฟ้า ให้เขียนกิจกรรม 3 อย่างที่ชอบทำมากที่สุด จากนั้นครูดลให้โจทย์ว่า เบื้องต้นนี้ถ้าจะเลือกเสียอะไรบางอย่างในชีวิตออกไป 3 สิ่งจะเลือกทิ้งอะไรไปบ้าง ถัดมาถ้ามีเหตุจำเป็นต้องตัดอะไรออกไปจากชีวิตอีก 3 สิ่ง จะเลือกตัดอะไรที่เหลืออยู่ออกไป และในที่สุดถ้ามีเหตุภัยพิบัติหรือเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่ทำให้เราต้องสูญเสีย คราวนี้ทีมงานเป็นคนมาเลือกกระดาษที่พวกเราเขียน เราไม่ได้เป็นคนเลือกเองแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร กิจกรรมแบบนี้ตรวจสอบใจเราได้เป็นอย่างดีในแง่มุมของการยึดติดและปล่อยวาง

 

กิจกรรมสุดท้ายเป็นละครชีวิตที่ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้เล่นเอง รู้สึกเองจากการสวมบทบาทเป็นตัวเองโดยไม่มีการรู้สคริปล่วงหน้างานนี้เป็นการอาสาขึ้นมาบอกเล่าถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมา ระหว่างที่ฟังเรื่องเล่าไป ได้เรียนรู้วัฏจักรของสิ่งมีชีวิตพร้อมทั้งฝึกให้รู้ทันการปรุงแต่งของจิต 

 

แล้วคุณหล่ะ เคยถามตัวเองบ้างไหม ถ้าคุณมีชีวิตเหลืออยู่แค่อีก 3 วัน คุณอยากทำอะไรมากที่สุด

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 563020เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2014 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2014 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แค่ได้อ่านยังรู้สึกดีมากเลยครับ กิจกรรมนี้ จะหาเวลาแวะไปครับ เคยไปนานมากแล้ว สวนโมกข์

ขอบคุณ คุณพิชัยค่ะที่ชอบ

กิจกรรมนี้จัดทุกวันเสาร์แรกของเดือน 13.00-17.00 น.ค่ะ

ขอบคุณที่นำมาเล่า ทำให้ได้คิดค่ะ

...เป็นที่มาของ...ทำวันนี้ให้ดีที่สุดนะคะคุณหมอ...เพราะทุกคนไม่รู้ว่าจะจากโลกนี้ไปวันไหน...ทำวันนี้ให้ดีที่สุด...ลืมตาตื่นขึ้นยังมีชีวิต ก็ทำให้ดีสุด...เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีโอกาสทำนะคะ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

กิจกรรมคล้ายๆที่เราทำให้พชท.พจบ.เลยครับ

ขอบคุณ คุณแก้วที่ติดตามค่ะ

จริงค่ะ ดร.พจนา ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะพรุ่งนี้อาจไม่มีโอกาสได้ทำ ไม่มีใครรู้จริงๆ แม้กระทั่งตัวเราเอง

ขอบคุณ อ.เต็มศักดิ์ค่ะ ที่ทำกิจกรรมคล้ายๆกันสำหรับ พชท. พจบ. อยากให้ลงไปถึง นศพ.ด้วยก็ดีนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท