"วิธีมอง..ตัวเอง"


                                          

                                                                pic. from www.dhammada.net

              ในโลกนี้เราจะเห็นเป็น ๒ มิติภาพ คือ "ภาพจากภายใน และภาพภายนอก" สื่อหรือเครื่องมือที่เราจะมองเห็นมิติทั้งสองคือ ตา สมอง ตานั้นอยู่ข้างในกาย มีหน้าที่มองออกข้างนอกอย่างเดียว ไม่สามารถมองเห็นข้างในได้ สรรพสิ่งที่เรารู้ เราเห็น เราคิด เราเคลื่อนไหว ฯ เพราะอาศัยตามอง

              ตาจึงทำหน้าที่นำเอาสิ่งข้างนอกเข้าไปด้านใน หากเราตาบอด โลกทั้งโลกก็มืดมน การเห็นก็พร่องไป การเคลื่อนไหวก็จะเชื่องช้าลง ในขณะตาก็มีอุปสรรคคือ แพ้แสงมากเกินไป หรือมืดเกินไป มีอายุไขหรือเสื่อมเมื่อมีอายุ

                "ตา" จึงมีหน้าที่ในการนำพาชีวิตให้เผชิญกับสิ่งต่างๆ มองเห็นสรรพสิ่งของโลก และช่วยยืนยันเป็นพยานของปรากฏการณ์ของตนเองด้วย นอกจากนี้ "ตา" ยังสื่อข้างนอก ไปสู่ข้างในคือ "ความคิด จินตนาการ" เราจึงรู้จักสรรพสิ่งว่า มีสี มีแสง มีลักษณะรูปทรงต่างๆ ได้  แต่ตากลับพร่องเมื่อมองตัวเองทั้งหมดไม่เจอ ไม่เห็น ต้องอาศัยกระจกช่วย

            สรรพสิ่งหรือธรรมชาติ จักรวาล โลก มนุษย์ สัตว์ พืช และปรากฏการณ์รูปธรรม ฯ อยู่ด้านนอกเรา เราอาศัยตาจับจ้องมองเห็น แล้วก็สื่อเข้าสู่เส้นประสาทไปถึงคลังสมอง แล้วก็กลายเป็นมวลข้อมูลสมอง จากนั้นสมองก็จะแปลงข้อมูลหรือย่อยสารเป็นความรู้ ความรู้สึก นึกคิด จินตนาการ ทัศนะต่อไป การนั้นก็สื่อออกมาเป็นภาษา เป็นเนื้อความ เป็นเจตจำนง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

              "สมอง" เป็นมวลสารแห่งมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตเช่นมนุษย์ ที่มีระบบการทำงานที่ซับซ้อนและมีมิติที่ก้าวล้ำนำสมัยมาก มันมีความพร้อม ความว่าง ความเป็นกลางอยู่เสมอ ที่จะเป็นสิ่งใดหรือพร้อมที่ยอมตามอิทธิพลข้างนอก ที่เราป้อนเข้าไป เหมือนกับชีวิตของเราทั้งหมด พร้อมที่จะเป็นหรือหลอมเป็นสิ่งนั้นได้

             ทั้งหมดนี้ เกิดมาจากสายตาเป็นส่วนหนึ่ง ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้างใน (สมอง) และข้างนอก (ตา) เมื่อเราอาศัยตาเสพจ้องมองสิ่งต่างๆ จนเพลิดเพลิน จนหลงลืมกับโลกภายนอก จึงทำให้เจ้าของตาดิ้นรนหาสิ่งเสพสิ่งใหม่ๆ อยู่ร่ำไป ลุ่มหลงสิ่งที่เสพ จนมองสิ่งรอบข้างไม่ชัดหรือขาดหลักในการมอง ที่ซ้ำร้ายคือ มองตัวเองไม่เห็น เหมือนกำลังลอยตัวไปตามตาเท่านั้น

              เราสังเกตได้ว่า ใครที่เพลิดเพลินกับกิจกรรมใดๆ มากไป จนอาจถูกมองไปว่า หลงหรือหลอมตัวไปกับกิจกรรมนั้น จนถอนตัวไม่ออก ทำให้เรามองไม่เห็นคนอื่นกล่าวเตือนหรือไม่เชื่อใคร บุคคลเช่นนั้นกำลังหลงตัวเอง หมายความว่า ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ลักษณะใด แยกตัวกับตาไม่ออก จึงกลายเป็นหลงลืมตัวตนที่บริสุทธิ์ไม่เจอ กลายเป็นว่า ตาครอบงำตัวเอง จนตัวเองหลงไปตามตาเหมือนชายหนุ่มเห็นหญิงสาวสวยนั่นแหละ  

             ในหลักการทางศาสนาพราหมณ์ เรื่อง โลกคือ "มายา" สายตาคือ "กลลวง" ความรู้เกิดจากสายตาหรือประสาทสัมผัส เป็นความรู้ไม่จริง เพราะสายตามีข้อบกพร่องได้ เช่น มีแสงไม่พอ สายมีปัญหา แก่ชรา เห็นเชือกเป็นงู เป็นต้น ผู้รู้จริงคือ "ปุรุษะ" ส่วน "ประกฤติ" คือ สายสัมพันธ์ระหว่างโลกที่เป็นมายา ส่วนปัญญาหรือโมกษะ คือ ผู้รู้อยู่เหนือปุรุษะและประกฤติ จนสามารถแยกปุรุษะออกจากประกฤติได้นั่นแหละคือ ผู้รู้ตัวเอง เรียกว่า เข้าสู่ "ภาวาตมัน" ซึ่งคือ บันไดไปสู่ "ปรมาตมัน" นั่นแล

            ส่วนในมุมพระพุทธศาสนา ตามอง มองตัวนั้นเอื้อต่อกัน โดยเน้นที่การรับรู้แบบ "ตาม" หรือ "นำ" ทันต่อปรากฏการณ์ของกาย (ตา) และใจ (รับรู้) ในหลักสมถะเน้นที่การควบคุมจิตมิให้หลงไปตามประสาทข้างนอก จนฟุ้งหรือวิ่งซ่านไปตามประสาทข้างนอก โดยหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นเครื่องอุบายหรือเครื่องเล่นให้จิตเล่นจนนิ่ง เหมือนลูกแมวที่ชอบซุกซน ไม่แน่นิ่ง จากนั้น เมื่อจิตเริ่มเหนื่อยหรือแน่นิ่ง ก็ยกมันเข้าสู่ขั้นวิปัสสนาคือ "กำหนด" (ตามรู้ จับให้ทันแล้วปล่อย) เอาปรากฏการณ์ทั้งหมดของกายและจิต ที่ผัสสะอย่างแผ่วเบากับสิ่งรอบข้างรอบตัว

            จากนั้นนำหลักการหรือกฎของธรรมขึ้นมาประกอบเป็นโครงสร้างทางดำเนินจิต หมายความว่า ต้องมีหลักเดินไปตามสูตรนั่นคือ พิจารณาปรากฏการณ์ของชีวิตที่ประกอบขึ้นจากกาย กายประกอบขึ้นจากธาตุ ธาตุประกอบจากกฎ กฏประกอบขึ้นจาก กลไลความว่าง พิจารณาอารมณ์ ที่เกิดจากกาย ความรู้สึกนึกคิด ยึดมั่นถือตน ว่านั่นกำลังถือ ที่ว่าง แล้วตัวตนจะวางที่ไหน จากนั้น ก็อาศัยอีก ๒ ขั้น คือ ธรรมกับจิต ซึ่งทั้งสองเป็นสิ่งละเอียดอ่อน ถ้าหลอมเข้าด้วยกันก็เรียกว่า "จิตแห่งพุทธะ" ถ้าแยกไม่ออกก็เป็น จิตไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้จิตแท้ ไม่รู้ว่าสิ่งข้อง สิ่งหลง สิ่งลวง คืออะไร หลักนี้เรียกว่า วิปัสสนาฐาน ๔ คือ "กาย เวทนา จิต ธรรม"

              การรู้จักตัวเอง จึงต้องอาศัยประสาทในเบื้องต้น อาศัยการฝึกตนในท่ามกลาง อาศัยตามรู้ดูตนด้านในสม่ำเสมอ จึงจะเกิดทักษะในตนเองได้ชัด แม้ว่าสังคมยุคใหม่จะเป็นอุปสรรคต่อการฝึกหัด ดัดตน ให้รู้กลไกของสิ่งล่อลวงจากโลกภายนอก จากสายตาก็ตาม แก่นแท้ของชีวิตคือ เข้าถึงตนได้สุดลึก ก็จะเข้าถึงรัศมีจักรวาลทั้งหมดได้ แล้วเราจะพบแหล่งบรมสุขอันปราศมายา ฉะนั้น เวลาฝึกสมาธิ โดยทั่วไปจึงต้องหลับตา มองตัวทั่วกาย เพื่อให้เห็นข้างในด้วยปัญญาเรียกว่า "ตาดวงที่สาม"

            ดังนั้น หากจะกล่าวให้เป็นรูปแบบทั่วไป ที่พอเข้าใจกันได้อย่างทั่งถึงว่า วิธีการเข้าถึงตนหรือมองตนอย่างไร คงพอประมวลขั้นได้ดังนี้

           ๑) ฝึกหัดอยู่คนเดียว เพื่อให้เราพ้นรัศมีความวุ่นวายจากสังคมบ้าง

           ๒) พยายามลดการยึดถือเครื่องชูรสแห่งชีวิตลงบ้าง จะได้เบาบางภาระทางใจ

           ๓) สร้างมุมมองช่องแย้งในตัวเองกับสิ่งที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าบ้าง

           ๔) หาหลักศาสนามาเป็นเครื่องกั้นหรือเป็นรั้วไว้ชั่วคราวในคราวิกฤติ

           ๕) มองสรรพสิ่ง สรรพเรื่องให้เป็นกลาง อย่างเอนเอียงหรือยืนยัน จนสุดโต่ง

           ๖) ฝึกบริหารจิตให้เกิดวะสีคือ "การเข้าใน การออกนอก" ในตนได้ทุกเวลา

           ๗) ระลึกอยู่เสมอว่า เราคือ เม็ดทรายแห่งความตายของธรรมชาติอยู่ทุกอณูแห่งลมปราณ

           ๘) โลกทั้งโลก จะเล็ก จะใหญ่ อยู่ที่เรามีชีวิต จงสงวนรักษาให้พ้นภัยและรู้จักคุณค่ามัน

           ๙) ไม่มีใครรู้เราอย่างแท้จริงเท่ากับ "เรารู้จักเรา เรารู้จักใจตนเอง"

           ๑๐) เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ ในการเดินทางไปสู่ปรโลกหน้าอย่างแน่นอน

             นี่คือ "การมองตน" (Insight) เหมือนส่องกระจกตัวเอง ให้เห็นตัวกาย และตัวใจ เพื่อมิให้หลงใหลในตนและโลก เพราะตัวตนกลกายคือ "มายา" (Illusion) ที่มีเยื่อใยยั่วยวนชวนให้เราหลงไปตามโลก เพราะโลกคือ พี่ใหญ่แห่งมายาที่แท้จริง แต่สิ่งที่เป็นมายานี้แหละคือ ต้นธาตุสายธารแห่งตัวตนของเรา เพียงเข้าใจตน ก็จะเข้าใจโลก และเข้าใจแหล่งสากลคือ "จักรวาล" (Universal Place)

------------------<>----------------------

คำสำคัญ (Tags): #มองตน#เห็นโลก
หมายเลขบันทึก: 562209เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2014 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2014 05:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณ ส.รตนภักดิ์

เนื่องด้วยทาง GotoKnow มีกำหนดจะจัดประชุมเสวนาทางวิชาการกลุ่มย่อยจำนวนประมาณ 30 ท่าน โดยใช้ชื่องานครั้งนี้ว่า "ปิยวาจา-ปัญญาสร้างสุขในโลกออนไลน์"

ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 9.00-13.00 น. ณ สสส. อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี เขตสาทร กทม. และพบกับวิทยากรนำการเสวนา 2 ท่านคือ คุณ (ศิลา) ภิรัชญา วีระสุโข และ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ แห่ง Happy Ba

งานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิก GotoKnow และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างพื้นที่ชุมชนแห่งความสุขในสังคมออนไลน์

ซึ่งจากสภาวะ ณ ปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยถ้อยคำรุนแรงและการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ค่อยๆแทรกซึมเข้าไปอยู่ในกิจกรรมการดำรงชีวิต ชุมชน GotoKnow จะมีส่วนในการช่วยลดความรุนแรงทางคำพูดที่ปรากฎในโลกออนไลน์ลงได้อย่างไรบ้าง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกชุมชนออนไลน์ค่ะ

ในการนี้ GotoKnow จึงขอเชิญชวนสมาชิกท่านเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าว ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับข้าราชการ พนักงานของมหาวิทยาลัยและพนักงานอื่นๆ ของรัฐ สามารถเข้าร่วมงานเสวนาได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและมีสิทธิ์เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของต้นสังกัด

ท่านสามารถแจ้งความประสงค์ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่อีเมล support (@) gotoknow.org หรือลงทะเบียนในบันทึกของ อจ.จันทวรรณ http://www.gotoknow.org/posts/562228 ภายในวันที่ 28 กพ.นี้

โดยทางทีมงานจะออกหนังสือเชิญเข้าร่วมงานให้กับท่านอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในการนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันและรับของที่ระลึกพิเศษจาก GotoKnow ด้วยนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท