คิดเรื่องงาน (81) : อะไรดีก็ต่อยอด ...


จริงๆ แล้วผมว่าในวิถีการจัดการความรู้นั้น แต่ละองค์กรล้วนมีอิสระในการออกแบบบนฐานคิด หรือฐานวัฒนธรรมของตนเอง 

เช่นเดียวกับที่ระยะหลังผมได้ยิน “พี่ต่อ” (นายสุนทร  เดชชัย :  ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต) เอ่ยเอื้อนต่อเนื่องต่อบุคลากรในสังกัดว่า

              “...  อะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ขอให้ต่อยอด สูญหายไปก็รื้อฟื้น อะไรที่เป็นปัญหาก็สะสาง แก้ไขร่วมกัน...”





ครับ, โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าถ้อยคำเหล่านั้น  ถือเป็นหลักคิด หรือหมุดหมาย หรือแม้แต่ “แนวปฏิบัติที่ดี” ในการพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย

ก็ด้วยถ้อยคำของ “พี่ต่อ”  นั่นแหละที่ผมและน้องๆ ได้ตัดสินใจรื้อค้นภูมิหลัง หรือความทรงจำอันดีงามเกี่ยวกับ “การงาน” ที่เกิดเกิดขึ้นในอดีต  ซึ่งที่สุดได้ปิดตัวลงเมื่อหลายปีก่อน  นั่นก็คือการกลับไปทบทวนถึงการทำ “จดหมายข่าว-วารสารขององค์กร”  โดยผมเคยได้เป็นแกนนำบุกเบิกกับน้องๆ (จันเพ็ญ ศรีดาว,อติรุจ อัคมูล)  ในปี ๒๕๕๑  จากนั้นผมก็ถอยห่างออกมา  เพื่อให้น้องๆ ได้บริหารจัดการกันเอง  ก่อนจะปิดตัวลงในปี ๒๕๕๔

การบุกเบิกครั้งนั้น  บอกตามตรงว่าใช้ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” เป็นที่ตั้ง  เพราะในยุคสมัยนั้น
ผู้บริหารในองค์กรไม่ได้มีนโยบายเหล่านี้ แต่ผมและน้องๆ แสดงตนและขันอาสาที่จะแบกรับเพื่อให้งานเกิดขึ้น  โดยไม่งอแงกับงบประมาณอันน้อยนิด  หากแต่พลิกสภาวะนั้นไปสู่การเชื้อเชิญองค์การนิสิตได้เข้ามามีส่วนร่วม  ทั้งในด้านงบประมาณและการเขียนข่าว  เพื่อใช้เอกสารดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร “กิจกรรมนอกหลักสูตร” ของ “มมส” ไปสู่สาธารณะที่ประกอบด้วยภายใน มมส และภายนอก อันหมายถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย





ล่าสุดเมื่อไม่นาน  เราได้ทบทวนถึงข้อดีข้อเด่นที่เกิดจาการจัดทำ “จดหมายข่าว-วารสารข่าว”  ซึ่งหลักๆ เห็นพ้องตรงกันว่า  การทำงานเช่นนั้นได้ฝึกทักษะของแต่ละคน  ได้พัฒนาการคิด การเขียน การถ่ายภาพ  การจัดรูปเล่ม  การสังเกตและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาปรับแต่งเป็นข่าวสารเพื่อสื่อสารต่อผู้อ่าน  หรือแม้แต่การช่วยให้แต่ละคนมีมนุษยสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่และนิสิตในแต่ละโครงการฯ มากยิ่งขึ้น  เพราะต้องติดตามเอาข้อมูลมาจัดทำเป็นข่าว  รวมถึงการได้เรียนรู้รายละเอียดเชิงลึกของกิจกรรมต่างๆ ว่ามีแนวคิดหลักอะไร หรือแม้แต่ในแต่ละกิจกรรมมีกระบวนการทำงานอย่างไร...

สิ่งนี้คือการ "พัฒนาตนเอง" ผ่าน "การงานบนหน้าตัก"  ของตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย !

เช่นเดียวกับจุดเด่นในเชิงระบบและกลไกการพัฒนางานและองค์กรนั้น  เราต่างเห็นพ้องไม่ต่างกันว่าการจัดทำจดหมายข่าว-วารสารข่าวเช่นนี้เป็นการสร้างคลังความรู้ให้กับองค์กรในมิติหนึ่ง เป็นจดหมายเหตุองค์กร  เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นไปขององค์กร  เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ “สิ่งอันดีงาม” ต่อสาธารณะ  ทั้งเผยแพร่ในมิติการสื่อสารทั่วไป และเผยแพร่ในการสร้างชื่อเสียงขององค์กรให้แพร่หลาย  จนทำให้หลายสถาบันเดินทางมาศึกษาดูงานกับเราอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเดือนละครั้งก็ว่าได้ -

ในทำนองเดียวกันนี้  เราเองก็เห็นข้อจำกัดของเรากันเองว่า  ไม่มีใครสันทัด หรือร่ำเรียนวิชาชีพการสื่อสาร หรือจัดทำข่าว  หรือแม้แต่ไม่มีใครรู้และจัดรูปเล่มเอกสารข่าวเหล่านี้เลยก็ว่าได้ หากแต่ทุกคน "รักในการอ่าน การเขียน รักในการถ่ายภาพ และรักที่จะเรียนรู้เพื่อตนเองและองค์กร"  เท่านั้นแหละถึงได้ “แบกรับ-ขับเคลื่อน”  จนเกิดเป็นปรากกฏการณ์อันสำคัญในการงานแห่งเรา  และการงานที่ว่านี้ ก็เห็นได้ชัดว่า “เรา” ไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะ “เรา” (สองสามคน) ตรงกันข้ามกลับพยายามสร้าง "เครือข่าย" การทำงานให้มากขึ้น  โดยการมอบหมายภารกิจให้บุคลกรในสายงานอื่นๆ  เข้ามาร่วมเป็นกองบรรณาธิการ  รวมถึงการประสานไปยังคณะต่างๆ  เพื่อส่งข้อมูลมาสู่การจัดทำข่าวในภาพรวมของ “กิจกรรมนิสิต” ในระดับมหาวิทยาลัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง






ครับ, นี่คือจุดเด่นจุดแข็งที่เราค้นพบในเชิงระบบคิดและการจัดการที่ทำให้เราได้ทำงานอย่างมีพลังและมีความสุข  และกลายเป็นดอกผลขององค์กรสืบมา  -

และปัจจุบันนี้  การได้บุคลากรมาเพิ่มเติมอีก ๒ คน (บรรจง บุรินประโคน,ปรีชา ศรีบุญเศษ)  ที่เชี่ยวชาญด้านการทำรูปเล่มหนังสือ หรืองานออกแบบต่างๆ ได้ช่วยให้ความฝันเก่าๆ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง  และการได้รับฟังแนวคิดของ “พี่ต่อ”  ในฐานะ “พี่ชาย” และ “ผู้บริหาร” เช่นนั้น  ยิ่งทำให้ความฝันดูมีพลังมากยิ่งขึ้น  ซึ่งได้ช่วยให้ “เรา” ตื่นตัวที่จะทบทวนอดีตอันดีงามกันอีกรอบอย่างมี "สติ"  เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนางานและองค์กรไปพร้อมๆ กันบนฐานคิดการจัดการความรู้ผ่านถ้อยคำของ “พี่ต่อ” ดังว่า

“...  อะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ขอให้ต่อยอด สูญหายไปก็รื้อฟื้น อะไรที่เป็นปัญหาก็สะสาง แก้ไขร่วมกัน...”

ครับ, ผมว่านี่แหละวิธีการจัดการความรู้ง่ายๆ ในองค์กรที่ใครๆ ก็สามารถออกแบบได้ตามวิถีองค์กรของตนเอง  และยิ่งผู้บริหารมีนโยบาย ยิ่งง่ายต่อการบรรลุเป้าหมาย  เพราะเราไม่จำเป็นต้องแบกรับ “วิ่งสู้ฟัด” โดยลำพังเหมือนในอดีต




แน่นอนครับ  เหตุการณ์ หรือถ้อยคำที่ผมบอกเล่าผ่านบันทึกนี้  ผมยืนยันว่ามันเป็นวิธีคิดและกระบวนการในการจัดการความรู้ในองค์กรได้เป็นอย่างดี  เพราะมันช่วยให้เราได้ทบทวนรอยเท้าที่ประทับไว้ในเส้นทางที่ผ่านมา  มิใช่การดุ่มเดินโดยปราศจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในเส้นทางสายนั้น  และผมก็เห็นด้วยอย่างหนักแน่นว่า “...อะไรที่ดีอยู่แล้วก็สมควรต่อยอด  อะไรที่ล้มเหลวก็ควรเรียนรู้ที่จะสะสางและข้ามพ้นให้จงได้...”

ครับ, แต่ก็อย่างว่าล่ะ  ต้องไม่ลืมว่า  คนจำนวนไม่น้อยในองค์กรที่จดจำอะไรไม่ได้เลย  ทำซ้ำๆ ในแต่ละปีแต่ก็จดจำแนวปฏิบัติที่ดีไม่ได้ –   เข้าทำนอง “จำไม่ได้ว่าเคยทำอะไร ทำอย่างไร  อะไรดี  อะไรไม่ดี  ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวอย่างไร...”

หรือไม่ก็ “จำได้”  แต่ไม่ประสงค์ที่จะสานต่อเพราะคิดว่า “ธุระไม่ใช่” หรือ “ไม่อยากเดินตามรอยเท้าใคร”

ผมว่านี่แหละคือปัญหาใหญ่ของการจัดการความรู้ในตัวตนของคนนั้นๆ และเป็นปัญหาที่ยึดโยงมาสู่การจัดการความรู้ในองค์กรโดยปริยาย ...

แต่ที่แน่ๆ จดหมายข่าว-วารสารข่าวกำลังกลับมา
ครับ -  ไม่ได้แค่กลับมาเหมือนเก่าก่อน  แต่กลับมาและต่อยอดเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ebook) เลยแหละ

ซึ่งมันท้าทายจริงๆ !

หมายเลขบันทึก: 561973เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ...."อะไรที่ดีอยู่แล้วก็สมควรต่อยอด  อะไรที่ล้มเหลวก็ควรเรียนรู้ที่จะสะสางและข้ามพ้นให้จงได้...” เรียนรู้ ลงมือทำ ปรัับ พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเหมือนพลังการบอกเล่าเรื่องราวสิ่งดีๆขององค์กรสู่สาธารณะได้รับรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คลังความรู้ คลังปัญญา ดีใจที่ผู้บริหารชุดนี้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า สนุบสนุนิ ผลักดันให้ฟื้นคืนกลับมาเติมเต็มอันเป็นกระบอกเสียงอันดีให้สังคมรับรู้ความเข้มแข็งขององค์กรค่ะ และก็ได้แปลงสื่อนี้เป็นเสมือนมีชีวิตและหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ในรูปสื่ออิเล็คทรอนิกส์ E-book สามารถสืบค้นข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะทุกพลังการขับเคลื่อนค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ...."อะไรที่ดีอยู่แล้วก็สมควรต่อยอด  อะไรที่ล้มเหลวก็ควรเรียนรู้ที่จะสะสางและข้ามพ้นให้จงได้...” เรียนรู้ ลงมือทำ ปรัับ พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเหมือนพลังการบอกเล่าเรื่องราวสิ่งดีๆขององค์กรสู่สาธารณะได้รับรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คลังความรู้ คลังปัญญา ดีใจที่ผู้บริหารชุดนี้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า สนุบสนุนิ ผลักดันให้ฟื้นคืนกลับมาเติมเต็มอันเป็นกระบอกเสียงอันดีให้สังคมรับรู้ความเข้มแข็งขององค์กรค่ะ และก็ได้แปลงสื่อนี้เป็นเสมือนมีชีวิตและหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ในรูปสื่ออิเล็คทรอนิกส์ E-book สามารถสืบค้นข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะทุกพลังการขับเคลื่อนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท