เรียนรู้จากเทศกาล ละครเมืองคาม ครั้งที่ ๑ ตอน "มดสร้างโลก"


วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมเดินทางกลับจากเชียงคานด้วยความตื่นเต้นเพื่อมาร่วมงานเทศกาล "ละครเมืองคาม" และร่วมเป็นผู้แสดงทัศนะในการเสวนาเรื่อง "เรียนรู้นอกห้องเรียน" ซึ่งผมถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่ง ผมระลึกในใจว่าคงเป็นเพราะคุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า แนะนำผมกับทีมผู้จัดงานเป็นแน่ อย่างไรก็แล้วแต่ ผมตั้งใจมาทั้งวันว่า เย็นนี้จะทำให้ดีที่สุด ....  (ขอบคุณคุณอา กับ อ.ปั้บ ไว้ ณที่นี่ด้วยครับ)

ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ในขณะที่นั่งดูละครเร่ของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ และได้เรียนรู้จากมุมมองที่คมกริบของ อาจารย์ "ก๋อย" วิทยากรอีกท่านจาก "กลุ่มมะขามป้อม" ที่เป็นต้นโพธิ์ใหญ่ในเรื่องนี้ ที่มีเครือข่ายเป็น อ.ปั๊บ ซึ่งเป็นผู้นำมาสู่ มหาสารคาม และทำให้เกิด "ละครเมืองคาม" ในวันนี้

ละครของเด็กจากโรงเรียนบ้านส่องตอนหนึ่งสะท้อนความจริงจากใจเด็กๆ ผมทราบมาว่าละครที่แสดงวันนี้เด็กๆ เป็นผู้เขียนบทเอง ผมจึง "หยิบ" เอาฉากนี้ไปพูดบนเวที ดังนี้ครับ

...ก่อนถึงเวลาเรียน เด็กๆ กำลังเล่นกันอยู่ใต้ต้นหูกวางใบใหญ่ แต่ละคนร่าเริงแจ่มใส ใบหน้ามีรอยยิ้มและส่งเสียงหัวเราะ แต่พอสัญญาณเข้าเรียนของโรงเรียนดังขึ้น มีเสียงจากเด็กดังขึ้นว่า "...ว้า หมดสนุกแล้วซิ"..... ด้วยบทละครประโยคนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในความเห็นของเด็ก การเรียนในห้องเรียนเป็นเรื่องไม่สนุก  สำหรับเด็กแล้ว การทำอะไรที่ไม่สนุกจะทำให้พวกเขามีความสุขกับสิ่งนั้นย่อมยากยิ่ง ส่งผลไม่เกิดการเรียนรู้ (ผลงานวิจัยทั่วโลก ทั้งทางด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา ชี้ตรงกันว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อสมองผ่อนคลายไม่เครียด หรือก็คือการเรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียนนั่นเอง)

ผมไม่รู้ว่าเด็กจากโรงเรียนไหนบ้างที่สามารถเชื่อมโยง "ละคร" กับ "การเรียนรู้" เป็น "การเรียนรู้แบบรู้จริง" ซึ่งต้องใช้สถานการณ์จริงหรือปัญหาจริงๆ ของชีวิต เพราะผมไม่ได้สัมผัสและติดตามโรงเรียนที่มาแสดงทั้งหมด แต่สำหรับเด็กๆ กลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม  ที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้กับเขาพอควร (อ่านได้ที่นี่ และที่นี่ครับ) พวกเขาได้เรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านละครเร่ครั้งนี้มากโขทีเดียว...

กว่าจะมาเป็นละคร "วิถีชีวิตอินทรีย์" นักเรียน "ฮักนะเชียงยืน" กลุ่มนี้ ได้ลงศึกษาปัญหาจริงในพื้นที่ชุมชนบ้านแบกเรื่องการทำเกษตรตามพันธะสัญญาที่ใช้สารเคมีมาหลายปี พวกเขาพยายามพิสูจน์สมมติฐานต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการเรียนรู้ด้วยโครงงาน (PBL) มีการนำดินไปตรวจสภาพ ตรวจเลือดของชาวบ้าน ศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือเกษตรอำเภอ รวมถึงการทดลองเปรียบเทียบการงอกของเมล็ดพันธุ์จากบริษัทด้วยโครงงานแบบทดลองของพวกเขาเอง ฯลฯ กิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูกกับปัญหาจริง สถานที่จริงแบบนี้ ทำให้ทักษะด้านการเรียนรู้ของพวกเขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการชวนลูกหลานบ้านแบกมาเป็นน้องใหม่ในทีมเพื่อแก้ปัญหาด้วยใจอาสา ทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าและความหมายของกิจกรรมนี้ กอปรกับการนำเอาประสบการณ์ด้านกระบวนการและการทำงานทำงานเป็นทีมของรุ่นพี่ "ฮักนะเชียงยืน" มาใช้ ทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำความดีร่วมกัน...

การแสดงละคร "วิถีชีวิตอินทรีย์" จึงเป็นขั้นตอนสะท้อนผลการเรียนรู้ของทั้งตนเองและนำเสนอสาระสู่ผู้อื่นและชุมชน ผมฟังว่า เด็กๆ ต้องปรับบททดลองแสดงกันหลายรอบกว่าจะมาเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมในวันนี้  การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญพิจารณาเป็นวงจรแบบนี้ จะทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้ของตนเอง หรือก็คือการเรียนรู้ตนเองนั่นเอง ปลายทางของกระบวนการนี้ พวกเขาจะค้นพบความสามารถของตนเอง เข้าใจในความถนัดและความชอบของตนเอง สิ่งนี้จะส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาโดยตรง .... แน่นอนครับ...ผมกำลังพูดถึง กำลังสำคัญของประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีครูเพื่อศิษย์ที่รู้วิธีการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้  โอกาสที่เด็กๆ จะตกลงไปในร่อง "น้ำเน่า" ผมหมายถึงละครน้ำเน่า ที่มักจะเกิดจากการ "นั่งคิดเอา" แม้บทจะดี เรื่องราวดีอย่างไร แต่เด็กๆ จะได้เฉพาะ "ทักษะการนำเสนอ" เราจะได้แต่เด็กที่อยากเป็นดารา นักแสดง แทนที่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวตของพวกเขา

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 561897เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทละคร..เวทีชีวิต..เล่นกันได้ตลอดกาล...นะเจ้าคะ...ขอบคุณกับเวที..ที่จัดให้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท