สวนหมัดปฏิรูปการศึกษา


 

สวนหมัดปฏิรูปการศึกษา

 

ประเทศเราผ่านการปฏิรูปการศึกษามาแล้วเป็นระยะ ครั้งที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

ครั้งที่ ๑ ....สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันสมัย ธำรงเอกราชไว้ ท่ามกลางลัทธิล่าเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจยุคนั้น

ครั้งที่ ๒.... เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ (หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖) จากผลการตื่นตัวทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมรับรู้โลกาภิวัฒน์ กระแสการปฏิรูปการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมจึงเกิดขึ้น

ครั้งที่ ๓..... เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. ๒๕๔๕เป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติ มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในกระแสโลกาภิวัตน์ ควบคู่ไปกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ครั้งที่ ๔....ปัจจุบัน ระหว่างช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑ ซึ่งถือเป็นทศวรรษที่ ๒ แห่งการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้น การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย อย่างมีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน ในทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา 

 

บทสรุปของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก ก็คือ ปรับโครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษา กระจายอำนาจส่วนกลางสู่ท้องถิ่นใช้หลักสูตรแกนกลางที่เน้นมาตรฐาน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนทศวรรษที่สองก็เห็นจุดเน้นของการปฏิรูป ได้แก่ คุณภาพ และโอกาส เทียบเคียงกับมาตรฐานชาติ กลุ่มประชาคมอาเซียนหรือสากล 

 

ในมุมกว้างเราก็พอมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ถือเป็นผลสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาอยู่บ้าง  แต่ถ้ามองย้อนจากล่างขึ้นบน จากโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา สพฐ. ในกระบวนทัศน์ของผู้ปฏิบัติปลายทาง ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนพูดคุยทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กับกลุ่มครูผู้คร่ำหวอดกับการสอนเด็กมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ มารุ่นพี่ รุ่นน้อง กลับได้บทสรุปที่ตรงกันอยู่ข้อหนึ่งคือ... เด็กทุกวันนี้สอนยากกว่าเมื่อก่อน ด้วยกระแสอันรุนแรงของโลกาภิวัฒน์ ครูต้องเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้นในการสร้างวินัยการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรม ต้องใช้ทักษะการสอน ใช้จิตวิทยา ใช้เทคนิควิธีมากมายกว่าเขาจะซึมซับความพอดี พอเพียง มีสติ รู้คิด รู้แก้ปัญหา รู้ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เห็นคุณค่าของตนเอง เห็นประโยชน์ของสิ่งที่เรียน ....หากทุกวันนี้เน้นสอนแบบกวดวิชา หรือเรียนเพื่อกาข้อสอบให้ถูก แล้วก็พากันภูมิใจกับค่าเฉลี่ยสูงๆ จากการประเมินระดับชาติ...แล้วได้อะไร?? ยังเป็นการปฏิรูปการศึกษาอยู่หรือไม่???....

 

 ....อีกอย่างกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกวันนี้ โครงการพัฒนาที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางคิดไว้ดีๆ ลงทุนประชุมปฏิบัติการตามโรงแรมใหญ่ๆ กันอย่างมโหฬาร ก็ยังลงไปไม่ถึงห้องเรียน ดูเหมือนจะเป็นลักษณะโครงการเบี้ยหัวแตก ลงไปให้เขตพื้นที่ทำ ให้โรงเรียนทำแล้วรายงานข้อมูลกลับ จึงปรากฏว่าปีหนึ่งๆ มีโครงการประชุม ประกวด แข่งขัน ประเมิน นิเทศติดตาม โดยครูส่วนใหญ่ต้องทิ้งห้องเรียนออกมา แล้วเกิดความอ่อนล้าก่อนที่จะนำไปขบคิดทดลองใช้ในชั้นเรียน สุดท้ายผลก็ได้แต่ภาพลวงตาไปก็มากมาย แล้วโครงการประเภทตามไปดูครูสอนดี ผู้บริหารมือทอง กลับถูกเบียดโดยโครงการชื่อวิชาการ งานกลวง ห่วงวิทยฐานะ ประมาณนั้น.....

 

เขียนไปก็เหมือนย้อนเข้าตัว...ในฐานะกลไกเล็กๆตัวหนึ่ง....แต่ช่างเถอะ ดีกว่าเก็บไว้สุมหัวใจ ....ระบายออกซะบ้าง...สร่างจริงๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 561048เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

...หากมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แนวทางการปฏิรูปการศึกษามีขั้นตอนการดำเนินงานที่ดีมาก...แต่หลายคน หลายฝ่ายไม่เข้าใจ ผลที่ออกมาจึงไม่ถูกต้อง และไม่ถูกใจนะคะ

-สวัสดีครับ

-ผมน่าจะทันกับการเปลี่ยนแปลงและใช้หลักสูตรปี 2520 ครับ

-ขอบคุณครับ

นายประยงค์ ธรรมมะธะโร

เป็นกำลังใจให้นะครับ

ยุคสมัยที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป...ต้องรู้เท่าทันเพื่อปรับวิถีปฏิบัติ แต่ยังควรอนุรักษ์สาระแก่นความรู้ที่สะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ เป็นรากฐานอันมั่นคงไว้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน...เป็นกำลังใจให้ค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท