"อธิบาย" และ "ให้ความหมาย" แตกต่างกันอย่างไร?


ผมต้องยอมรับว่า ตัวผมเองก็อ่อนเรื่องการเรียน ขณะเดียวกัน ชั้นเรียนที่รับผิดชอบก็น่าจะเป็นเด็กอ่อนการเรียนเหมือนกัน เพราะมิฉะนั้น เขาคงได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศกันหมดแล้ว (เมื่อเช้าเห็นข้อความที่ผู้ช่วยอธิการฯโพสน์กรณีไม่เก่ง ไม่เรียน สาย ไม่สนใจ ของเด็กไทยวันนี้ อารมณ์ที่บอกคือ "เห้อ") ดังนั้น วิธีการเรียนของเด็กราชภัฏจำนวนหนึ่ง จะให้สุดยอดทฤษฎีคงไม่ได้ ส่วนผู้รับผิดชอบวิชา เรียนทฤษฎีมาพอควร เมื่อไม่ได้มีการนำไปใช้ ก็หายจ้อยไปคงเหลือแต่ไร้ทฤษฎี ดังนั้น จึงพบว่า เมื่อชาวราชภัฎ (บางแห่ง) ไปที่ไหน จะถูกเบ้ปากบ่อยๆ ก็ต้องเห็นใจกันเถอะ เพราะจะให้คนเก่งเหมือนกันทั้งหมดคงไม่ได้ ถ้าเก่งกันหมด ป่านนี้ก็คงเอาสมบัติชาติไปขายโดยไม่มีใครรู้แล้วละมั้ง

วันนี้ผมมีปัญหาอันหนึ่งคือข้อความว่า "ขอให้อธิบายมา" แต่สิ่งที่ผู้เรียนเขียนออกมาคือข้อความไม่ถึงบรรทัด เกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์เห็นจะได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้

ผมจึงถามไปว่า คำว่า "อธิบาย" และ "ให้ความหมาย" แตกต่างกันอย่างไร ทุกคนนั่งงง คำที่ผมจะชี้ข้อแตกต่างนี้ หากผิดพลาดประการใด ขอให้อาจารย์สายภาษาไทยเสนอแนะด้วยจะดีนะครับ ผมจะได้นำไปปรับปรุงให้เด็กๆได้พัฒนากันต่อไป

ให้ความหมาย จะเป็นข้อความสั้นๆ เพื่อจะบอกว่า สิ่งที่พูดถึงคืออะไร เช่น องคาพยพ หมายถึง สิ่งต่างๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งหนึ่ง (คำนี้ เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งถามผมหลังจากออกจากห้องสัมมนา เธอบ่นเสียงดังแบบอารมณ์เสียว่า วิทยากรที่พูดมา ไม่รู้พูดอะไร องคาพยพ ๆ พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งผมก็งงเหมือนกันว่า ทำไมจึงไม่เคยได้ยินคำนี้) สมุด หมายถึง กระดาษสำหรับเขียน เป็นต้น แต่ "อธิบาย" แตกต่างตรงที่ ต้องให้รายละเอียดมากกว่าการให้ความหมาย และการให้ความหมายจะเป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบาย เช่น วาจาสุภาษิต หมายถึง การพูดดี... การพูดดีประกอบด้วย การไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบคาย ยกตัวอย่างของการพูดเท็จ เช่น นาย ก. บอกกับศาลว่า ตนไม่ได้ฆ่าคน แต่ในความเป็นจริงคือตนฆ่าคน เพราะมีหลักฐานและพยานรู้เห็นชัดเจน เป็นต้น ดังนั้น คำอธิบายนั้น จะประกอบด้วย (๑) หลักการ อันได้แก่ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เขาวางไว้ หนึ่งในนั้นคือความหมายของคำ ที่เราหาได้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต และ (๒) วิธีการ เราหาได้จากคำอธิบายๆต่างๆจากแหล่งค้นคว้าที่หลากหลายและประสบการณ์รอบตัวที่เราจะยกตัวอย่างได้ ในตอนท้าย ผมบอกนักศึกษาว่า ไม่ว่าเราจะเรียนวิชาอะไร โดยเฉพาะวิชาเอก หากมีข้อสอบที่เป็นอัตนัย และเขาให้เราอธิบาย เราต้องอธิบายไม่ใช่ให้ความหมาย การอธิบายดังกล่าวประกอบด้วย (๒) หลักการ (๒) วิธีการ ถ้าเราจะตอบข้อสอบ ก็อย่าลืมสรุปด้วย

ผมคิดว่า ผมคงต้องย้ำเด็กๆกันอีก เพราะเด็กๆ เป็นคนลืมง่าย เหมือนกับคนแก่อย่างผมที่ลืมบ่อย บางวันลืมเอากระเ๋ป๋าสตางค์มา ต้องปั่นจักรยานกลับไปเอามาก็มี ผมคิดว่า สิ่งที่เขียนไปนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับ เด็กราชภัฏบางคนอยู่นะครับ ขอให้มีความสุขจากการใช้ชีวิตด้วยกันทุกคน

หมายเลขบันทึก: 560658เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2014 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2016 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท