ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 12 - (คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร - ราชคฤห์), INDIA


ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 12 - (คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร - ราชคฤห์ )

วันที่ 7- ของการเดินทาง (23 พย. 2556)

คุกที่ขังพระเจ้าพิมพิสาร (Bimbisara’s  Jail) ทัณฑสถาน  หรือ คุกที่ขังพระเจ้าพิมพิสารนั้นอยู่ไม่ไกลจาก บ่อน้ำร้อนตโปธาราม (Tapodarama)   มีป่าละเมาะอยู่ 2 ข้างของทางเข้า ด้านหน้า  มีขอทานนั่งอยู่เป็นระยะ เช่นเดียวกับทุกสถานที่ที่เราไปชม  กรมโบราณคดีของอินเดียได้ทำป้ายทั้งภาษาฮินดี และอังกฤษ มีข้อมูลย่อ ๆ เกี่ยวกับสถานที่ที่เคยเป็นคุก  ร่องรอยของคุกที่เห็นในปัจจุบัน เป็นกำแพงสูงเกือบ 1 เมตร พื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด กว้างคูณยาว 60 x 60 เมตร กำแพงสร้างด้วยหินจากภูเขา มุมของกำแพงมีลักษณะเป็นป้อมทรงกลมที่ยื่นออกมาจากกำแพง (Bastions) ทั้ง 4 มุม

มุมขวาทางทิศใต้ของคุกมีหลุมที่ขุดพบสิ่งของเก่า ๆ ที่แตกหัก เช่น ไห ถ้วย ชาม และของใช้อื่น ๆ   นอกจากนั้นยังขุดพบห่วงเหล็กขึ้นสนิมสำหรับใส่ขานักโทษภายในบริเวณคุกด้วย

พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่ ที่สุด รุ่งเรือง และร่ำรวยที่สุดในสมัยพุทธกาล มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์ (Rajgir) พระองค์ครองราชสมบัติเป็นเวลา ๕๒ ปี   มีอัครมเหสีมีพระนามว่า เวเทหิ (Vedehi) เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามหาโกศล แห่งแคว้นโกศล (Kosala) มีเมืองหลวงชื่อสาวัตถี (Sravasti) มีพระราชโอรสซึ่งประสูติจากพระนางเวเทหิหนึ่ง พระองค์ คือพระเจ้า อชาตศัตรู(Ajatshatru) โหราจารย์เคยทำนายว่า พระโอรสองค์นี้จะปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังคำทำนาย พระนางเวเทหิพยายามทำแท้งลูกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะพระเจ้าพิมพิศาลห้ามไว้

เมื่อพระโอรสเกิดมา พระเจ้าพิมพิสารก็รักใคร่เลี้ยงดูพระโอรสเป็นอย่างดี ครั้นพระโอรสเจริญวัยขึ้น ก็เลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ของพระเทวทัต (Devadatta) จึงถูกพระเทวทัตชักชวนให้ทำปิตุฆาต โดยขังพระราชบิดาของพระองค์ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าพบนอกจากพระนางเวเทหิเท่านั้น ต่อมาก็ทรงห้ามเข้าพบเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นหนทางมิให้พระนางเวเทหิมีโอกาสซุกซ่อนอาหารเข้าไปถวายพระสวามี แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นอริยบุคคล สามารถเสวยสุขมีความสุขและเบิกบานพระทัย ได้ด้วยการมองเห็นพระพุทธเจ้าเดินขึ้นลงทุกเช้าค่ำบนเขาคิชฌกูฏ   เมื่อทราบเช่นนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงสั่งปิดประตูและหน้าต่างทุกบานที่จะมองเห็นเขาคิชฌกูฏ พระเจ้าพิมพิสารจึงเดินจงกรมแทน ทำให้มีพระชนม์อยู่ต่อไปได้อีก ในขั้นสุดท้ายพระเจ้าอชาตศัตรูจึงให้กรีดพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารเสียทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้เสด็จจงกรมได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์สวรรคต

วันดียวกับที่พระเจ้าพิมพิสารสิ้นพระชนฆ์ พระเจ้าอชาตศัตรูทราบว่าพระโอรสประสูติแล้ว ก็ดีพระทัยมาก เกิดความรักพระโอรสอย่างท่วมท้นตั้งแต่วินาทีแรก จึงสำนึกได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารก็คงมีความรักต่อพระองค์เช่นเดียวกับพระองค์ที่มีต่อพระโอรส แต่ก็สายไป เมื่อทราบว่าพระราชบิดาสิ้นพระชนฆ์เสียแล้ว พระเจ้าอชาติศัตรูจึงเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก พระองค์ จัดงานพระศพของพระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ

เมื่อเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม หมอชีวกจีงได้นำทางให้พระเจ้าอชาตศัตรูได้พบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า จนเกิดความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนา กลายเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธและอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาพุทธเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา

คำสำคัญ (Tags): #.
หมายเลขบันทึก: 560442เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2014 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

.... ขอบคุณเรื่องราวดีดี และภาพสวยให้ได้ชม นะคะ ..... ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ Dr. Ple พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ อาจารย์ ดร. พจนา แย้มนัยนา และอาจารย์ kanchana muangyai

ที่ให้ดอกไม้ค่ะ ขอบคุณ อาจารย์ Dr. Ple ที่ให้ความเห็นเป็นกำลังใจมากค่ะ ขอบคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณที่ให้พรอันเป็นมงคลยิ่ง เช่นกันนะคะ ขอให้ชีวิตของพี่และครอบครัวเป็นดังหลอดไฟที่ อบอุ่น รุ่งโรจน์ โชติช่วงตลอดกาลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท