อพอลโล 11 กับแรงบันดาลใจของเด็กไทยที่ขาดหายไปตามกาลเวลา


"การไม่สานต่อ พัฒนาการที่ขาดตอน และการขาดซึ่งจุดเน้น มันหมายถึงความว่างเปล่าแห่งอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมนั้นๆขาดทิศทางในการพัฒนาตนเองไปอย่างสิ้นเชิง"

 

 

เห็นภาพยานลูน่าร์โมดูล (Apollo Lunar Module) ที่พานีล อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong August 5, 1930 – August 25, 2012) มนุษย์คนแรกที่มีโอกาสได้ไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ในอินเตอร์เน็ต ก็อดที่จะเข้าไปไล่เสิร์ชทบทวนความรู้สึกเก่าๆที่เคยนั่งหน้าทีวีขาวดำกันหน้าสลอนกับเพื่อนๆดูการถ่ายทอดสดวันที่ยานอพอลโล 11 พามนุษย์คนแรกคนนี้ไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จไม่ได้ นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์และเป็นความก้าวหน้าที่สุดขั้นหนึ่งของมนุษยชาติ ใครๆก็คิดไม่ถึงหรอกครับ ขนาดครูกับพวกผู้ใหญ่ที่ล้อมวงดูอยู่ด้วยกันยังแอบวิจารณ์กันเองว่า "สงสัยจะถูกไอ้กันต้ม" ซึ่งจากการไล่ค้นไปเรื่อยๆก็ได้พบเจอเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงอวกาศยุค '60-'70 อีกหลายอย่างรวมทั้งได้ทราบว่า นีล อาร์สรองแกก็เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อ 25 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมานี่เอง

ถ้าใครยังจำได้หลังจากไปเหยียบดวงจันทร์ได้ไม่กี่วัน คณะนักบินอวกาศชุดนี้ก็ออกตระเวณทัวร์ไปทั่วโลก และที่สำคัญคือพวกเขามาแวะเยี่ยมเยียนประเทศไทยของเรานี้ด้วยเป็นเวลา 3-4 วัน

นับตั้งแต่วันนั้นคือ 20 กรกฎาคม 1969 (ประเทศไทยน่าจะเป็นวันที่ 21 ก.ค. 2512) ถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้วเกือบห้าสิบปีคิดง่ายๆก็ครึ่งศตวรรษมาแล้วหลังจากนั้นการแข่งขันในเรื่องอวกาศได้เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องทางวิทยาศาสตร์ไปอย่างมากมายในทุกสาขาและได้เข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอย่างเรียกได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ลองนึกดูว่าถ้าวันนี้อยู่ๆดาวเทียมทุกดวงเกิดพร้อมใจกันหยุดทำงานจะสร้างความสับสนอลหม่านให้กับผู้คนบนโลกนี่อย่างไรบ้าง นั่นแสดงให้เห็นว่าในช่วงสามถึงสี่ชั่วอายุคนมานี้โลกเราพัฒนาการไปรวดเร็วมากเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ด้วยซ้ำไป จากยุคจรวด ยุคอวกาศ สู่ยุคคอมพิวเตอร์ ยุคดิจิตอล อินเตอร์เน็ตและโลกของไซเบอร์ในปัจจุบัน ใครจะคิดว่าเราทุกคนสามารถมีอุปกรณ์อันเล็กๆในฝ่ามือ แว่นตา นาฬิกาที่ใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพนิ่งภาพยนตร์ อุปกรณ์สั่งงานด้วยเสียงในตัวเดียวกัน ทั้งหมดสามารถติดต่อสื่อสารและสั่งงานผ่านเครือข่ายได้ทั่วโลก หรือแม้แต่การเนรมิตสิ่งของขึ้นตรงหน้าซึ่งส่งมาจากที่ใดๆในโลกผ่านเครือข่ายไร้สายสู่เครื่องพิมพ์สามมิติ

 

 

 

ผมสนใจเรื่องที่คณะนักบินอวกาศชุดนี้มาเยือนประเทศไทยพบว่าในวิกิพีเดียภาคภาษาไทย เมื่อสืบค้นคำว่า "นีล อาร์มสตรอง" เราจะพบประวัติส่วนตัวย่อๆ กับเรื่องการมาเยือนประเทศไทย โดยอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์มีบทความที่เขียนขึ้นหลังจากอาร์มสตรองเสียชีวิต เล่าถึงการที่มีนักเรียนของโรงเรียนมัธยมชื่อดังกลุ่มหนึ่งเขียนจดหมายถึงนักบินอวกาศกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษมีใจความว่า "เราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอพอลโล 11 และคิดว่า นักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้มากที่สุดและดีที่สุด" และยังได้บรรยายต่อไปว่า "หลังการประสานงาน เมื่อสำนักงานข่าวสารอเมริกัน ก็บรรจุ ร.ร.... จ.สุรินทร์ ไว้ในรายการเยือนประเทศไทยอีกจุดหนึ่งด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2512 นีล อาร์มสตรอง กลับจากดวงจันทร์ไม่นาน ก็ได้มายืนถ่ายรูปกับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคอีสาน นามว่า ร.ร.... จ.สุรินทร์"

พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันบทความนี้ แต่โชคไม่ดีครับ พยายามค้นหา(จากอินเตอร์เน็ต)อย่างไรก็ไม่พบอะไรมากไปกว่านี้ มีบ้างในเว็บบล็อก หรือเว็บบอร์ดดังๆบางแห่งที่กล่าวถึง แต่ข้อความล้วนคัดลอกมาจากบทความของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ทั้งสิ้น

เมื่อลองค้นโดยใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่กว้างมากขึ้นก็ได้พบว่า หลังภารกิจโครงการอพอลโลสำเร็จและได้เฉลิมฉลองภายในประเทศแล้วรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันได้วางหมายกำหนดการให้คณะนักบินอวกาศออกเยือนมิตรประเทศรอบโลกเพื่อเรียกความนิยมในโครงการ "Giantstep" และได้ขนานนามทัวร์นี้ว่า "The Giant Leap Tour"

เว็บไซต์ wingnet.org ได้ลงรายละเอียดหมายกำหนดการเยือนเมืองสำคัญในประเทศต่างๆทั้ง 24 ประเทศตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 1969 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 1969 (กรุงเทพฯ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 19 วันที่ 26-28 ตุลาคม 1969) รวมถึงได้บรรยายบรรยากาศการเยือนประเทศต่างๆ การพบบุคคลสำคัญเช่นสันตปาปาพอลที่ 6 (Pope Paul VI) และการมีแขกรับเชิญพิเศษอย่างบ็อบโฮปดาวตลกชื่อดังในยุคนั้นเป็นต้น

 

 

จาก google books หนังสือ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946 หน้า 168 มีรายงานข่าวและภาพถ่ายการมาเยือนในครั้งนี้โดยรายงานข่าวกล่าวถึงคนไทยที่ได้รับชมการถ่ายทอดมนุษย์คนแรกที่พิชิตดวงจันทร์ผ่านทางโทรทัศน์เมื่อเวลา 9.18 น.ตามเวลาในประเทศไทย คนไทยนับแสนรอต้อนรับคณะนักบินอวกาศ การเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การไปประทับรอยเท้าที่เกาะสาก และภาพถ่ายการพบครูและนักเรียนที่จังหวัดสุรินทร์ แต่ไม่สามารถหารายงานเรื่องการที่นักเรียนไทยเขียนจดหมายตามข้อมูลของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์

 

 

 

จากข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้เราอาจตีความว่าการมาเยือนประเทศไทยของนักบินอวกาศเหล่านี้น่าจะเป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์หรือถ้ามองทางลบหน่อยก็เป็นเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรของสหรัฐเอง เพราะในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงสงครามเย็นระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่าเรื่องนักเรียนเขียนจดหมายเป็นเรื่องจริงแต่การมาของบรรดาลูกเรืออพอลโล 11 เป็นการประจวบเหมาะเพราะพวกเขามีหมายกำหนดการอยู่แล้วมากกว่า

 

 

 

โครงการอพอลโลเป็นความก้าวหน้าระดับที่สำคัญ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียุคใหม่ไปอย่างก้าวกระโดด พัฒนาการของโลกในช่วงครึ่งศตวรรษหลังจากนั้นมีมากว่าพัฒนาการที่ผ่านมาแล้วของทุกอารยธรรมมนุษย์นับพันปี ก็ต้องถือเป็นเรื่องดีและเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการคิดของนักเรียนในยุคนั้น เพราะไม่ว่ากิจกรรมนี้จะได้รับการกระตุ้นหรือริเริ่มจากใคร(เช่นครู,ผู้ปกครอง)ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระบวนการคิดนอกกรอบที่ต้องอาศัยจินตนาการและแรงบันดาลใจที่มาจากภายในของนักเรียนเหล่านั้นเองด้วย และควรเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ในรูปแบบที่ก้าวหน้า เด็กจะมีความรู้สึกถึงความสำคัญในความคิดริเริ่มของตน มีความภูมิใจในความเป็นเจ้าของความคิดเหล่านั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จะถูกฝัง (embedded) เข้าไปใส่วนลึกของจิตใจและจะเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาความคิดและจินตนาการต่อไปในอนาคตข้างหน้าอย่างไม่รู้จบ ต่างจากการให้พวกเขาเรียนรู้โดยวิธีการ "สั่งสอน" ที่บางครั้งนอกจากเกิดความเบื่อหน่ายแล้วการต่อต้านที่ไม่ได้แสดงออกมาจะเป็นเครื่อกีดขวางการเรียนรู้ของตัวเด็กๆเอง กว่าที่เราจะรู้ตัว พัฒนาการสำคัญในช่วงชีวิตหนึ่งก็จะสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังสำหรับระบบการเรียนรู้จากตัวอย่างนี้ก็คือ สังคมของเราไม่ใส่ใจต่อการบันทึกและคัดสรรสิ่งที่ควรเป็นหมุดหมายของจุดเริ่มต้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์สำหรับกระตุ้นแรงบันดาลใจ และความจดจำต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรภาคภูมิใจ ทำให้เมื่อเปลี่ยนยุคของผู้คนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งสิ่งเล่านั้นก็ถูกทอดทิ้งให้สูญหายไป การไม่สานต่อ พัฒนาการที่ขาดตอน และการขาดซึ่งจุดเน้น มันหมายถึงความว่างเปล่าแห่งอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมนั้นๆขาดทิศทางในการพัฒนาตนเองไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

 

จดหมายของนักเรียนดังในจังหวัสุรินทร์ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่แต่ก็นำมาซึ่งการเยือนของทีมมนุษย์อวกาศและบุคคลที่เป็น "มนุษย์คนแรกของโลก" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ควรถูกจารึก สานต่อและให้ความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรหรือหน่วยงานทางการศึกษา

น่าเสียดายเว็บไซต์ซึ่งเปรียบเสมือนฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือหน้าบ้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษแห่งนี้ มีบันทึกประวัติความเป็นตัวตนของตนเองในช่วงเวลานั้นเพียงแค่..

.."พ.ศ. 2513 จัดทำห้องปฏิบัติการภาษาอังกฤษ"..

..ไม่มีเรื่องราวเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2512 ไม่มีภาพถ่าย ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง มีเพียง sub-folder ว่างเปล่าชื่อ "ต้อนรับ นีล อาร์มสตรอง" ใน folder ภาพเก่าในอดีตเท่านั้นที่พอเป็นร่องรอยให้เรารู้ว่า นีลอาร์มสตรองและคณะเคยมาที่นี่จริง

ก็ยังเชื่อว่าทั้งข้อมูล บุคคล ความภาคภูมิใจและประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ยังมีอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ณ สถานที่แห่งนี้ รอเพียงการรวบรวมและนำเสนอสู่สาธารณะอย่างองอาจในโอกาสต่อไปเท่านั้นเอง

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

Apollo Lunar Module http://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_Lunar_Module

Neil Alden Armstrong (August 5, 1930 – August 25, 2012) http://en.wikipedia.org/wiki/Neil_Armstrong

Apollo-11 Astronauts Goodwill Round-the-World Flight Tour http://www.wingnet.org/rtw/RTW005JJ.HTM

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ http://pr.prd.go.th/surin/ewt_news.php?nid=1510

เกาะสาก..วิมานใต้ท้องทะเลที่หลายๆคนยังไม่รู้จัก http://www.weekendhobby.com/camp/webboard/shtml/4748.shtml

Neil Armstrong Visits Surin, 1969 http://www.friendsofthailand.org/pcthailand/specialevents/armstongvisit/neilarmstrong/index.htm

จอมพลถนอมต้อนรับนักบินอวกาศ http://www.youtube.com/watch?v=vPS8PPDDZgY

หมายเลขบันทึก: 560152เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2014 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2014 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ปัญหาของการไม่เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ของไทยนั้นเป็นเรื่องสำคัญจริงครับ เราเลยเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำร้อยซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะเราไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วครับ

อาจจะเป็นเพราะว่าประวัติศาสตร์ในสังคมไทยต้องการ authority มาบอกว่าสิ่งไหนควรบันทึกและบันทึกอย่างไรเพราะเราคุ้นเคยกับการมี the one-and-only official version ดังนั้นสิ่งไหนไม่ได้มี authority มาบอกก็ไม่บันทึกจดจำครับ

การที่สังคมไทยต้องการ authority มาชี้นำอย่างที่ท่านอ.ธวัชชัยว่านั่นแหละครับที่ทำให้สังคมขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจตั้งแต่ในระดับปัจเจกไปจนถึงกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร วันนี้ผมว่าสังคมเราสั่งสมวัฒนธรรมแบบนี้มานานเกินไป จนสามารถตามใครก็ได้ที่ถืออำนาจอยู่แม้ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆเลยก็ตาม

สังคมแบบนี้พัฒนาไปไม่ได้หรอกครับ มันเหมือนกลุ่มคนที่กำลังจะจมน้ำ แทนที่จะต่างคนต่างเอาตัวรอดแต่กลับมาเกาะกอดอยู่กับ "authority" ให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของตน ในที่สุดก็ไม่พ้นที่จะพากันจมน้ำตายไปทุกคน

...การประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซด์หลายๆโรงเรียนไม่มี และหลายโรงเรียนมีแต่ไม่เป็นปัจจุบัน ...แม้แต่หน่วยงานใหญ่ๆหลายหน่วยงานก็เช่นกัน...กรณีที่โรงเรียนไม่ได้ลงเหตุการณ์สำคัญไว้ในเว็บไซด์...แต่ในสมุดบันทึกประจำวันของโรงเรียนต้องมีบันทึกไว้แน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท