การกำกับดูแลที่ดีตาม GRC กรอบคิดเบื้องต้นของการบริหารความเสี่ยง


 

อาจารย์ จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

แม้ว่าการกำกับดูแลที่ดี (Corporate Governance) จะเป็นกฎในภาคบังคับของหน่วยงานภาครัฐ ประชาคมและชุมชนที่มีต่อกิจการ ซึ่งทำให้ทุกกิจการละเลยคำคำนี้และไม่พิจารณาใส่ไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือพันธกิจของกิจการได้

แต่อันที่จริงแล้ว การกำกับดูแลที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่จะทำให้กิจการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจริงๆ แม้ว่าสภาพแวดล้อมและแรงกดดันในระดับโลกจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม

เมื่อมีแรงบันดาลใจที่จะกำกับดูแลที่ดี องค์ประกอบที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นบริบท นโยบาย กรอบแนวทาง กลยุทธ์หรือโครงการที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็นก็จะตามมาอย่างครบถ้วนเพียงพอตั้งแต่

(1)   การออกแบบกรอบแนวคิด

(2)   การจัดวางโครงสร้างองค์กร

(3)   การจัดทำระบบงาน

(4)   การวางแนวทางการปฏิบัติ

(5)   การปรับปรุงและค้นหานวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม

การดำเนินงานในส่วนของกรอบแนวคิดที่นำไปสู่การออกแบบการกำกับดูแลที่ดีถือว่ามีความสำคัญมากซึ่งมีประเด็นที่กิจการอาจจะมีความหลงลืมและควรจะให้ความสำคัญมากขึ้นอยู่หลายประการ

ประการที่ 1

องค์ประกอบที่เพียงพอของการกำกับดูแลที่ดีประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 การกำกับตนเอง การควบคุมการดำเนินงานของกิจการให้น่าเชื่อถือ

ส่วนที่ 2 การกำกับผลดำเนินงานให้ดีอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

ส่วนที่ 3 การดำเนินงานได้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องภายนอกและสังคม

ประการที่ 2

แนวคิดของการบริหารงานให้เกิดการกำกับดูแลที่ดี จึงต้องนำแนวคิดของการบริหารภาคีเครือข่าย “Network Governance” มาใช้ซึ่งหมายถึงการกำกับดูแลที่ดีตลอด Value Chain และ Supply Chain

ประการที่ 3

การบริหารงานที่เป็น การกำกับดูแลที่ดี ไม่ใช่วิธีการสั่งจากบนลงล่างและการควบคุมให้ทำตามคำสั่งตลอดเวลา แต่ต้องมาจากการมอบหมายให้แต่ละบุคคลกำกับตนเองให้มีศักยภาพและความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤติได้ด้วย

ประการที่ 4

การคัดเลือกและสรรหาบุคลากรเข้ามาร่วมงานในองค์กรจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากเลือกคนผิด คนที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเกิดการทุจริตหรือการคอรัปชั่นได้ง่ายและเป็นการยากที่จะวางระบบการควบคุมภายในที่ปิดช่องว่างทั้งหมดได้อย่างเบ็ดเสร็จ หากทำเช่นนั้นการดำเนินงานก็อาจจะขาดความยืดหยุ่น ไม่คล่องตัว และอาจจะยิ่งส่งผลเสียต่อกิจการจนมีผลดำเนินงานที่แย่ลง

ประการที่ 5

การกำกับดูแลที่ดีจะต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความสมเหตุสมผล และใช้แนวพึงปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการอ้างอิง ไม่ใช่คิดเองเออเองอยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจต่อมาตรฐานหรือแนวพึงปฏิบัติที่ดี

ประการที่ 6

การกำกับดูแลที่ดีในลักษณะภาคีเครือข่าย (Network Governance) อาจจะทำให้กิจการรู้สึกเหมือนเป็นการเพิ่มภาระจากเดิม เพราะต้องรับผิดชอบต่อเครือข่ายหรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมด้วย หากการดำเนินงานของกิจการมีผลกระทบไปถึงสิ่งแวดล้อม และมีส่วนทำให้ระบบงานที่ออกแบบไว้ต้องมีความซับซ้อนขึ้น

ประการที่ 7

การกำกับดูแลที่ดีไม่ได้หมายถึงคน หรือตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องเพิ่มความสำคัญของ IT Governance หรือไอทีภิบาลที่จะมีส่วนช่วยให้การบิดเบือน การปฏิบัติที่เบี่ยงเบนของบุคลากรลดลง และช่วยตรวจจับความผิดปกติในระหว่างการปฏิบัติงานที่ทำอย่างเท่าเทียมและทั่งถึงทุกคนด้วย

ประการที่ 8

ในส่วนของตัวบุคคลนั้น กิจการจะมีการกำกับดูแลที่ดีก็ต่อเมื่อ

(1)   ทำให้ผู้บริหารมีศักยภาพและความพร้อมในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจเหนือกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา

(2)   กล้าที่จะตัดสินใจในส่วนที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่กล้าที่จะตัดสินใจ

(3)   สามารถแก้ไขในสิ่งที่ผิดและบอกสิ่งที่ถูกต้องแทนได้อย่างชัดเจน

(4)   สามารถที่จะปฏิบัติงานที่ซับซ้อนในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำไม่ได้

(5)   สามารถที่จะถ่ายทอดวิธีปฏิบัติให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามได้ถูกต้องพร้อมเหตุและผล

(6)   สามารถบริหารจัดการในภาวะที่มีความเปลี่ยนแปลงและภาวะวิกฤติได้

(7)   สามารถคาดหมาย พยากรณ์ ระบุสมมติฐานในอนาคตได้นอกเหนืองานประจำวัน

ประการที่ 9

การกำกับดูแลที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลต้องเลิกยึดมั่นถือมั่นในสมมติฐานเดียวในประสบการณ์ในอดีต และมีทัศนคติที่เชื่อว่าโลกนี้และสภาพแวดล้อมมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้และบุคลากรในกิจการจะต้องมีความพร้อมเสมอที่จะค้นหาทางเลือกอื่นที่แตกต่างออกไป เพื่อที่จะดำเนินกระบวนการโดยยึดมั่นการบรรลุวัตถุประสงค์เดิมไว้

ประการที่ 10

การดำเนินการใดๆภายในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานจะต้องมาจากกระบวนการพิจารณาการแสวงหาข้อมูลที่ดีและเพียงพอ เมื่อมีความมั่นใจแล้วจึงจะตัดสินใจ หรืออีกนัยหนึ่งการคิดที่ดี จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่สะท้อนการกำกับดูแลที่ดีได้

การพิจารณาหรือดุลยพินิจที่ดียิ่งมีความสำคัญมากในภาวะที่กิจการเกิดทาง 2 แร่งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของกิจการโดยรวม หรือระหว่างผลประโยชน์โดยรวมของกิจการกับผลประโยชน์โดยรวมของสังคมที่ไม่ได้ตกอยู่กับกิจการ

ประการที่ 11

การประเมินตนเองว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่เป็นการกำกับดูแลที่ดีหรือไม่ อาจจะไม่เพียงพอหากประเด็นนั้นมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน การประเมินข้อมูลก่อนการตัดสินใจว่าจะใช้ทางเลือกใดดีกว่าหรือดีที่สุดอาจจะต้องมาจากการปะเมินจากภายนอก

ในกรณีนี้ ผู้ประเมินภายนอกก็จะต้องมีมาตรฐานหรือบรรทัดฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแลที่ดีที่กิจการยอมรับและเห็นว่าเพียงพอที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประเมินกิจการแทนการประเมินตนเองของกิจการ โดยเฉพาะต้องเป็นการประเมินในลักษณะการตรวจทานการปฏิบัติงานของกิจการด้วย

ประการที่ 12

การกำกับดูแลที่ดีเป็นโอกาสทางธุรกิจของทุกกิจการเพราะหากกิจการดำเนินงานกำกับดูแลกิจการไม่ดีเพียงพอ โอกาสในอนาคตในการสร้างคุณค่าของกิจการให้ยั่งยืนอาจจะสั้นลงหรือผ่านไปเลย

 

หมายเลขบันทึก: 560076เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2014 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2014 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความเสี่ยง(Risk) คือ โอกาสที่จะเกิดปัญหา อันตราย สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ นะคะ ความเสี่ยงจึงสำคัญและต้องทบทวน และบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ นะคะ ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท